AI อันตราย? ผู้เชี่ยวชาญหลายสิบคนออกแถลงการณ์บนหน้าเว็บไซต์ศูนย์ความปลอดภัยของเอ.ไอ. (Center for AI Safety) พวกเขาระบุว่า เอ.ไอ. สามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่น ใช้สร้างอาวุธเคมี เผยแพร่ข้อมูลปลอมและผิดพลาดเพื่อทำให้สังคมปั่นป่วน
ขณะเดียวกัน พลังในการประมวลผลของ เอ.ไอ. อาจกระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้เกิด “ระบอบการปกครองที่บังคับใช้ค่านิยมอันคับแคบ ให้แพร่หลายผ่านการเซ็นเซอร์และกดขี่”
อลิซาเบท เรไนเอริส (Elizabeth Renieris) นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันจริยศาสตร์สำหรับ เอ.ไอ. (Institute for Ethics in AI) ของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดกล่าวว่า เธอกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่ใกล้เข้ามาในปัจจุบัน
“ความก้าวหน้าของ เอ.ไอ. จะขยายขอบเขตของการตัดสินใจโดยอัตโนมัติที่มีความลำเอียง เลือกปฏิบัติ กีดกัน หรือไม่ยุติธรรม ขณะเดียวกัน (มนุษย์) ก็ไม่อาจเข้าใจได้และไม่สามารถโต้แย้งได้” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่า เอ.ไอ. จะ “ผลักดันให้มีการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิดเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ”
ข่าวปลอมและข้อมูลปลอมเหล่านั้นจะสร้างความแตกแยกในสาธารณชน และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในโลกดิจิตอลและยังไม่สามารถแยกแยะอะไรได้มาก “คล้ายกับสถานการณ์ที่แสดงในภาพยนต์เรื่อง ‘Wall-E’”
“การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จาก เอ.ไอ. ควรมีความสำคัญระดับโลกควบคู่ไปกับความเสี่ยงอื่น ๆ ในระดับสังคม เช่น โรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์” แถลงการณ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนมองว่าหายนะจาก เอ.ไอ. ที่ทำให้เกิดวันสิ้นโลกนั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกินจริง หลายฝ่ายเชื่อว่าความน่ากลัวของ เอ.ไอ. ที่จะกำจัดมนุษยชาตินั้นแบบนิยายวิทยาศาสตร์นั้นไม่สมจริง และทำให้เรามองข้ามปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว
“เอ.ไอ. ในปัจจุบันไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะให้ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ผลก็คือ มันหันเหความสนใจไปจาก ‘อันตรายระยะใกล้’ ของ เอ.ไอ.” อาร์วินด์ นารายานาน (Arvind Narayanan) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันกล่าว
แต่การหาทางป้องกันไว้ก่อนคงเป็นเรื่องที่ดีกว่า เนื่องจากเครื่องมือ เอ.ไอ. ปัจจุบันที่แพร่หลายในคนทั่วไปเช่น ChatGPT นั้นอยู่ในสถานะฟรี ซึ่งมีการรับเข้าข้อมูลมหาศาลจากทั่วโลก แต่ข้อมูลเหล่านั้นกลับไหลไปหน่วยงานเอกชนเพียงไม่กี่แห่ง และมันเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกมองข้าม
“การจัดการบางประเด็นในวันนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับการจัดการความเสี่ยงในภายหลังในวันพรุ่งนี้” แดน เฮนดรายค์ (Dan Hendrycks) ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยของ เอ.ไอ. ระบุ เขาเสริมว่าความเสี่ยงและความกังวลไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องเกินจริง
ริชิ ซูนัค (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรกล่าวว่าตอนนี้ได้หารือกับทางผู้บริหารของบริษัท เอ.ไอ. รายใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและกฎระเบียบให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
“ผมต้องการให้มั่นใจว่ารัฐบาลกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างรอบคอบ” เขากล่าว
ตอนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมประเทศชั้นนำหรือ G7 ได้ตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับ เอ.ไอ. แล้ว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.bbc.com/news/uk-65746524
https://www.cbsnews.com/news/ai-risk-of-extinction-warning/
https://www.pbs.org/newshour/science/artificial-intelligence-raises-risk-of-extinction-experts-warn