ก่อนเคยมี แอมโมไนต์ ขนาดเท่าคน เวียนว่ายอย่างอุดมสมบูรณ์อยู่ทั้งสองด้านของมหาสมุทรแอตแลนติก และเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก
การค้นพบนี้เกิดขึ้นในเยอรมนีเมื่อปี 1895 มันเป็นซากฟอสซิลที่รูปร่างไม่ได้สมบูรณ์ แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะแสดงให้เห็นถึงความใหญ่มหึมาของแอมโมไนต์ สายพันธุ์ ‘Parapuzosia seppenradensis’ มันมีความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1.8 เมตร
จากการวิเคราะห์ใหม่ที่ถูกเผยแพร่ในวารสาร PLOS One นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ถ้าเป็นฟอสซิลตัวที่รูปร่างสมบูรณ์ มันอาจใหญ่ได้ถึง 2.5 ถึง 3.5 เมตร ทำให้เกิดคำถามว่าพวกมันวิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่ที่น่าประทับใจเช่นนี้ได้อย่างไร เมื่อไหร่ และเพราะอะไร?
“เรามีซากดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกนี้ในเยอรมนี และตอนนี้เราสามารถบอกเล่าเรื่องราวของมันได้” คริสตินา อิฟริม (Christina Ifrim) นักวิจัยและหัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์จูรา (Jura-Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเยอรมนีกล่าว
จากการตรวจสอบฟอสซิลแอมโมไนต์กว่า 154 ชิ้นรวมถึงตัวที่ใหญ่ที่สุดนี้ เผยให้เห็นว่าแอมโมไนต์สามารถมีขนาดที่แตกต่างกันได้อย่างมากมาย ตั้งแต่เล็กไปจนถึงมหึมา แต่ส่วนใหญ่สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่นั้นวิวัฒนาการมาจากยุคจูราสสิคตอนปลาย
และสิ่งที่น่าแปลกใจคือ แอมโมไนต์ที่มีขนาดใหญ่ทั้งหมดสามารถพบได้ทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก นักวิทยาศาสตร์พบว่าที่อังกฤษและเม็กซิโกมีพวกมันที่เป็นตัวเต็มวัยอยู่มากผิดปกติ ซึ่งอาจบ่งบอกได้ว่าเป็นแหล่งผสมพันธุ์ของพวกมัน
“เห็นได้ชัดว่ายักษ์เหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันไม่มากก็น้อย ในทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก” อิฟริมกล่าว “ต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างประชากรของทั้งสองฝ่าย เพราะพวกเขาแสดงวิวัฒนาการเดียวกัน เวลาเดียวกัน”
แม้แอมโมไนต์จะดูเหมือน ‘หอยงวงช้าง’ (Nautilus) ที่ว่ายน้ำในอยู่ปัจจุบัน แต่อันที่จริงแล้วพวกมันไม่ได้เป็นญาติสนิทกัน แอมโมไนต์กลับมีความใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตในกลุ่มย่อย ‘โคลออยเดีย’ (Coleoidea) มากกว่า ซึ่งเป็นกลุ่มของหมึกยักษ์ (Octopus), หมึก (Squid) และหมึกกระดอง (Cuttlefish)
สิ่งนี้อาจเป็นเบาะแสของพฤติกรรมแอมโมไนต์ ที่เมื่อมันผสมพันธุ์หรือฟักไข่เรียบร้อยแล้ว มันจะเข้าสู่กระบวนการตาย เช่นเดียวกับหมึกยักษ์และหมึกปัจจุบันหลายสายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมพวกมันถึงมีขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ และพวกมันปรากฎขึ้นทั้งสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกได้อย่างอย่างไร
เป็นไปได้ว่าเมื่อนักล่าในอดีตมีขนาดใหญ่ขึ้น แอมโมไนต์ก็ต้องใหญ่ขึ้นและพัฒนาเปลือกของมันให้ใหญ่ขึ้นตาม เพื่อให้นักล่ากินพวกมันยากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักฐานฟอสซิลในช่วงเวลาถัดมาก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อแอมโมไนต์ถึงจุดสูงสุด มันก็ค่อย ๆ เล็กลง แต่โมซาซอรัส (Mosasaurus) นักล่าแห่งท้องทะเลกลับยังคงขยายขนาดขึ้นไป
สิ่งที่เรารู้แน่ชัดคือพวกมันสูญพันธุ์หายไปพร้อมกับไดโนเสาร์ในเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน แล้วทิ้งไว้แต่เพียงซากฟอสซิลให้เราเรียนรู้อดีตที่ยิ่งใหญ่ของ แอมโมไนต์
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph: Public Domain, via Wikimedia Commons
ที่มา
https://www.iflscience.com/the-biggest-ammonite-fossil-ever-found-was-a-whopping-18-meters-69332
https://www.fossilera.com/pages/what-is-the-large-ammonite-ever-found
https://www.livescience.com/largest-ammonites-evolved-80-million-years-ago
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371%2Fjournal.pone.0258510
https://www.geologyin.com/2019/05/the-largest-ammonite-ever-found.html