เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – ชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง ระเบิดปรมาณู

Oppenheimer (ออพเพนไฮเมอร์) ผลงานล่าสุดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ บิดาแห่ง ระเบิดปรมาณู พร้อมกับคำถามที่ต้องร่วมกันหาคำตอบว่าจริง ๆ แล้วเขารู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ – การค้นพบใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์สามารถจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ อธิบายสิ่งที่ไม่รู้จักมาก่อน หรือแม้แต่ทำให้โลกดีขึ้นได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ที่รู้สึกเสียใจเพราะเผยแพร่ความรู้ที่ตนเองค้นพบออกสู่สาธารณชน

คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างระเบิดปรมาณู ณ ห้องปฏิบัติการลับกลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project) ของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Julius Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน นอกจากนั้นแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถ่ายทอดความรู้สึกผิดที่เกิดจากการเป็นผู้ริเริ่มยุคสงครามนิวเคลียร์ซึ่งติดอยู่ในใจออปเพนไฮเมอร์มาตลอดชีวิตควบคู่ไปด้วย

นักฟิสิกส์ชื่อดังคนนี้รู้สึกเสียใจที่เป็นผู้สร้างอาวุธนิวเคลียร์จริงหรือ แม้ว่าคำตอบที่แท้จริงของคำถามนี้จะซับซ้อนพอ ๆ กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการสร้างระเบิด แต่เราสามารถร่วมไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการสร้างระเบิดปรมาณูที่มีอานุภาพทำลายล้างมหาศาล และสิ่งที่ทำให้ออปเพนไฮเมอร์ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเป็นผู้คิดค้นไปพร้อมกันได้ในบทความนี้

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีผู้เฉลียวฉลาดถูกเลือกให้เป็นผู้อำนวยการของห้องปฏิบัติการลับลอสอาลาโมสในรัฐนิวเม็กซิโกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา แม้จะประสบความสำเร็จในหน้าที่แต่เขากลับเลือกที่จะคัดค้านต่อการพัฒนาระเบิดปรมาณูที่ทรงพลังกว่าระเบิดที่ใช้ในการโจมตีญี่ปุ่น ภาพถ่ายโดย CORBIS HISTORICAL, GETTY IMAGES

จากเด็กอัจฉริยะสู่ผู้อำนวยการโครงการแมนแฮตตัน

จูเลียส โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เกิดเมื่อปี 1904 ในนครนิวยอร์ก เขาเป็นลูกชายของผู้ลี้ภัยชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่ร่ำรวยจากการนำเข้าและค้าขายผ้า ออปเพนไฮเมอร์จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหลังจากเรียนเพียงสามปี จากนั้นเขาได้ศึกษาต่อด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎีในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Göttingen University) ในเยอรมนีด้วยวัย 23 ปี

ต่อมานักฟิสิกส์หนุ่มออปเพนไฮเมอร์หรือ “ออปพี” ของบรรดาเพื่อนร่วมงานก็ได้พบเจอและได้ทำความรู้จักกับเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้น นอกจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของเขาจะมีส่วนในการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมแล้วสิ่งที่เขาค้นพบยังมีส่วนช่วยในการตั้งทฤษฎีเพื่อคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่นิวตรอนไปจนถึงหลุมดำ ยิ่งไปกว่านั้น ออปเพนไฮเมอร์ยังเป็นคนที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนในศาสตร์อื่น ๆ ที่หลากหลาย นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์แล้วเขายังศึกษาภาษาสันสกฤต ศาสนา และคอยติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เสมอ

หลังสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1941 ออปเพนไฮเมอร์ได้ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้เข้าร่วมโครงการแมนแฮตตันซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่เขาพยายามศึกษาวิธีที่จะเร่งและคงปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ที่จำเป็นต่อการเกิดของระเบิดอยู่นั้น เหล่าหัวหน้าและผู้บัญชาการต่างก็ประทับใจในศักยภาพของเขาไม่ว่าจะเป็นความรอบรู้ ความทะเยอทะยาน ความสามารถในการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ  หรือการที่ออปเพนไฮเมอร์สร้างแรงบรรดาลใจให้กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยเหตุนี้ในปี 1942 กองทัพบกสหรัฐจึงร้องขอให้ออปเพนไฮเมอร์ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการของห้องปฏิบัติการลับซึ่งต่อมาเป็นสถานที่ในการทดสอบระเบิดที่ถูกสร้างขึ้น

เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์, ระเบิดนิวเคลียร์
นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่เฉพาะทางกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในห้องปฏิบัติการลับลอสอาลาโมส หลังจากที่กองทัพสหรัฐเลือกให้ออปเพนไฮเมอร์เป็นผู้จัดตั้งห้องปฏิบัติการลับสำหรับโครงการแมนแฮตตันที่มีรหัสลับว่าโครงการ Y (Project Y) ขึ้นในปี 1942 ฐานทัพลับแห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์รวมของนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีที่มากไปด้วยความสามารถ ซึ่งทุกคนในที่นี้มีจุดมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ ภาพถ่ายโดย CORBIS HISTORICAL, GETTY IMAGES

ลอสอาลาโมสและการทดสอบทรินิตี

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารตระเวนหาพื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างห้องปฏิบัติการลับอยู่นั้น ออปเพนไฮเมอร์ที่ชื่นชอบภูมิภาคแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกาและมีฟาร์มในรัฐนิวเม็กซิโกก็ได้แนะนำโรงเรียนลอสอาลาโมส (Los Alamos Ranch School) โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองแซนตาเฟให้เป็นสถานที่ตั้งของห้องปฏิบัติการ เวลาผ่านไปไม่นาน นักจำนวนของคนงานที่เข้ามาทำงานในฐานปฏิบัติการลอสอาลาภายใต้การกำกับดูแลของออปเพนไฮเมอร์ก็เพิ่มขึ้นจากหลักร้อยเป็นหลักพันคน

ออปเพนไฮเมอร์ไม่เพียงแค่รวมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เฉลียวฉลาดและมีความสามารถมากที่สุดในยุคนั้นเข้าด้วยกันแต่เขายังสร้างแรงบรรดาลใจ แรงผลักดัน รวมไปถึงจัดสรรหน้าที่และสนับสนุนให้พวกเขาสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปได้ วิคเตอร์ ไวส์สคอฟ (Victor Weisskopf) นักฟิสิกส์ที่เคยร่วมงานกับออปเพนไฮเมอร์ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเขาไว้ว่า “เขาเป็นคนที่ใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีในการประกอบการตัดสินใจแต่ละครั้ง บางทีก็ใช้แรงกายด้วย” ซึ่งลักษณะนิสัยของเขาสะท้อนผ่านบรรยากาศเฉพาะในการทำงานที่มีทั้งความกระตือรือร้นและท้าทาย และสะท้อนผ่านการค้นพบความรู้ใหม่เกี่ยวกับปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ที่ทำให้เกิดอาวุธนิวเคลียร์ชิ้นแรกของโลกขึ้น

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
หลังการทดสอบทรินิตี พลเอกโกรฟส์ หัวหน้าฝ่ายกองทัพของโครงการแมนแฮตตัน และโรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของโครงการ รู้สึกพึงพอใจกับความสำเร็จของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ แต่ก็ต้องตะลึงกับอำนาจการทำลายล้างของมัน ภาพถ่ายโดย THE GRANGER COLLECTION, NEW YORK 

ในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ออปเพนไฮเมอร์และนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ รวมตัวกัน ณ สถานที่ทดสอบทรินีที (Trinity) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของลอสอาลาโมสเพื่อทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของโลก ทว่าการทดสอบกลับผ่านไปอย่างตึงเครียด แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์จะทราบอยู่แล้วว่าระเบิดที่พวกเขาตั้งชื่อให้ว่า “แก็ดเจ็ต (Gadget )” นั้นเปลี่ยนแปลงอนาคตของโลกได้

พวกเขาต่างก็เชื่อว่านี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองปิดฉากลงได้ แม้ว่าสงครามในยุโรปจะยุติลงแล้วแต่รัฐบาลอเมริกายังคงกังวลว่าหากมีการโจมตีโต้ตอบกับญี่ปุ่นอยู่ ในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์นองเลือดจากสงครามที่รุนแรงที่สุดขึ้น ดังนั้น ความหวังในการยุติสงครามของอเมริกาจึงเอนไปที่การบังคับให้ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยการใช้อาวุธชนิดใหม่เข้าข่มขู่

ผลการทดลองระเบิดของปฏิบัติการณ์ลับนั้นเป็นไปด้วยดี ดังที่ออปเพนไฮเมอร์ได้เล่าเรื่องราวภายหลังสงครามผ่านบทสัมภาษณ์ในปี  1965 ว่าเหตุการณ์นั้นทำให้เขานึกถึงประโยคหนึ่งจากคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาฮินดูซึ่งเขียนไว้ว่า “พระวิษณุนั้นอวตารลงมาเป็นพระกฤษณะเพื่อเกลี้ยกล่อมให้องค์ชายอรชุนปฏิบัติหน้าที่ของตน และเพื่อเน้นย้ำคำสอนนั้น พระวิษณุได้แปลงกายกลับสู่ร่างเดิมซึ่งมีสี่กรและตรัสว่า ‘บัดนี้เรานั้นคือความตาย เราคือผู้ที่จะทำลายล้างโลกให้ม้วยมอด’ และผมก็คิดว่าใคร ๆ ก็คงจะคิดแบบนี้เช่นกัน”

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์, ระเบิดปรมาณู
การระเบิดของระเบิดปรมาณูลูกแรกในประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1945 ณ ทะเลทรายไวท์แซนด์ในรัฐนิวเม็กซิโก ภาพที่ถ่ายจากทางทิศใต้ของการระเบิดเป็นภาพเดียวที่สามารถบันทึกสีที่แท้จริงขณะที่ทดลองการระเบิดได้ ในส่วนของภาพขาวดำอื่น ๆ ที่ถ่ายจากทางทิศเหนือของการระเบิดนั้นจะถูกนำมาปรับสีในภายหลัง (โดยปกติแล้วภาพสีที่ถ่ายไว้ได้จะถูกปรับสีเพื่อให้เข้ากับภาพขาวดำอื่น ๆ) ซึ่งภาพถ่ายการระเบิดที่เป็นภาพสีนั้นเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีทรูแมนเห็นเมื่อเปิดดูรายงานผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการลับลอสอาลาโมส ภาพถ่ายโดย JACK W. AEBY, DOD PHOTO/ALAMY

การทิ้งระเบิดในญี่ปุ่นและบทเรียนที่ตามมา

ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ปี  1945 ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้สั่งให้ทิ้งระเบิดปรมาณูซึ่งออปเพนไฮเมอร์มีส่วนช่วยในการพัฒนาจำนวนสองลูกลงที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ เมื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงระเบิดแล้วคาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 110,000 คน นอกจากนี้ พลังทำลายล้างที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนและไม่มีสิ่งใดเทียบได้ยังทำลายเมืองทั้งสองจนราบเป็นหน้ากลอง

ในขณะนั้น ออปเพนไฮเมอร์ที่ทำหน้าเป็นกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ได้แนะนำให้กระทรวงการสงครามของสหรัฐส่งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกไปยังญี่ปุ่นให้เร็วที่สุด การถกเถียงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ โดยหัวข้อเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์ที่เป็นที่ถกเถียงนั้นแบ่งได้เป็นสองประเด็น คือในขณะนั้นรัฐบาลอเมริการับฟังคำร้องขอจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่แนะนำให้ใช้ระเบิดปรมาณูกับเป้าหมายทางทหารเพียงอย่างเดียวหรือไม่ และรัฐบาลอเมริกาได้พิจารณาให้มีการทดสอบระเบิดอย่างเปิดเผยก่อนจะนำไปใช้จริงเพื่อเป็นการกดดันให้ญี่ปุ่นยอมแพ้หรือไม่

เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
ยุคสงครามนิวเคลียร์เริ่มได้เพียง 0.016 วินาทีเท่านั้นเมื่อกล้องความเร็วสูงฟาสต์แท็กซ์ (Fastax camera) ซึ่งสามารถบันทึกภาพได้ถึง 10,000 ภาพต่อวินาทีสามารถจับภาพของมวลอากาศร้อนที่ลอยขึ้นเป็นโดมทรงกลมจากผืนทะเลทรายอันร้อนระอุได้ ตามระยะการระเบิดในภาพหน้าเปลวไฟและคลื่นกระแทกที่เกิดจากแรงระเบิดจะมีค่าเท่ากันจึงทำให้โดมมีลักษณะคล้ายกับว่ามีอะไรครอบไว้อีกหนึ่งชั้น ภาพถ่ายโดย GETTY

ในคืนที่ระเบิดถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมะบรรดาเพื่อนร่วมงานและนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันแสดงความยินดีให้กับความสำเร็จออปเพนไฮเมอร์ และในคืนนั้นเองเขาได้เผยว่าตลอดการปฏิบัติภารกิจนี้ สิ่งเดียวที่เขาเสียดายคือการที่ระเบิดปรมาณูผลิตไม่ทันใช้ในช่วงที่สามารถโจมตีเยอรมนีได้

ถึงแม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จะตื่นเต้นกับความสำเร็จของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่พวกเขาก็ตกใจกับจำนวนประชาชนที่ถูกระเบิดเหล่านี้คร่าชีวิตไป และกังวลว่าการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดสงครามแทนที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นองเลือดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่กี่อาทิตย์หลังการทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ญี่ปุ่น ออปเพนไฮเมอร์ก็ได้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงครามเพื่อแจ้งว่า “ความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกานั้น…ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเหนือกว่าทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับวิธีที่จะป้องกันไม่ให้สงครามเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”

โดย เอริน เบลกมอร์ (Erin Blakemore)

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม สหรัฐฯ หวังทิ้ง ” ระเบิดนิวเคลียร์ ” ใส่ 5 เมืองใหญ่ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน

Recommend