อนรรฆ พิทักษ์ธานิน 5 เรื่องที่ ‘คนไร้บ้าน’ ถูกเข้าใจผิด และทำไมปัญหา ‘ไม่มีบ้าน’ ถึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน 5 เรื่องที่ ‘คนไร้บ้าน’ ถูกเข้าใจผิด และทำไมปัญหา ‘ไม่มีบ้าน’ ถึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ระหว่างที่คนส่วนหนึ่งต่างโฟกัสกับความสำเร็จ การทำงาน ความมั่นคง และการลงทุน เวลาเดียวกันนี้มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะ “คนไร้บ้าน” หรืออธิบายได้ง่ายๆ ว่า พวกเขาไม่มีบ้านให้กลับ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะเป็นการถาวร

แผนงานพัฒนาองค์ความรู้และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. อธิบายตอนหนึ่งว่า ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย พวกเขาไม่ได้ไร้บ้านเพราะความต้องการ หากแต่เพราะสถานะและความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และการขาดแคลนปัจจัย 4 โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัยต่างหาก รวมถึงความกดดันทางครอบครัวและสังคม ที่ทำให้คนธรรมดา เลือกที่จะอยู่แบบ “ไร้บ้าน”

ภาพคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จากเพจ Penguin Homeless แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจก แต่มีการศึกษาที่อธิบายว่า เพราะความเปราะบางคนของคนเหล่านั้นที่ทำให้เขาต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย รายได้จากการทำงานไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิต ไร้ที่พึ่ง ไร้ความสุขหากต้องขอความช่วยเหลือจากญาติ ขณะเดียวกันสวัสดิการที่มีก็ไม่ตอบสนอง เช่น เมื่อเขาต้องตกงาน ประกันการว่างงานไม่ครอบคลุม มันจึงอธิบายได้ว่ากว่าจะเข้ามาเป็นคนไร้บ้านมันไม่ง่ายเลย และนี่น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่คนคนหนึ่งจะเลือกมีชีวิตอยู่โดยการเป็นคนไร้บ้าน” อนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านอธิบายตอนหนึ่ง

ถ้าไม่ปฏิเสธความจริง ก็ต้องบอกว่าคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ถ้าคุณมีเวลาเดินออกไปสถานที่ชุมชนในเมืองคุณก็น่าจะเคยเห็นใครสักคนที่ราวกับว่าเขาใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะเป็นบ้านพวกเขา แต่ถึงแม้คนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ ยังกลับมีความเข้าใจผิดๆ หรือมายาคติของสังคมที่มีต่อคนไร้บ้าน  และ National Geographic ภาษาไทย ซักถาม อาจารย์ อนรรฆ จนได้ข้อสรุปดังนี้

 1.คนไร้บ้านคือคนที่ชอบชีวิตอิสระ

นี่คือมายาคติลำดับแรกๆที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนคนไร้บ้าน ซึ่งแม้ว่าเราจะไปสัมภาษณ์คนไร้บ้านถึงวาเหตุที่มาอยู่ตรงนี้ ก็อาจจะมีบางส่วนที่ตอบว่าการอยู่ตรงนี้ “สบายใจดี”

เอาเข้าจริงนั่นเป็นคำตอบเพื่อการตัดบทสนทนา เพราะคงไม่มีใครที่อยากไร้บ้าน และมีการศึกษามากมาย ที่อธิบายว่าการเข้าสู่คนไร้บ้านมันไม่ง่ายเลย หรือจะกล่าวอีกแบบว่า การจะเปลี่ยนจากคนธรรมดา ให้เป็นคนไร้บ้าน ที่จะออกไปนอนข้างนอก เต็มไปด้วยความหวาดระแวง  นั่นเพราะมันยากมากและ มันเป็นทางเลือกสุดท้าย หรือหมายความว่าเขาต้องเปราะบางมาก ถึงจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสาธารณะ

การคิดว่าคนไร้บ้านชอบใช้ชีวิตข้างนอก จึงเป็นมายาคติที่สำคัญ และทำให้การแก้ปัญหาบิดเบี้ยวไป แต่การไร้บ้าน ส่วนใหญ่มาจากการขาดโอกาส และต้องดำรงอาชีพที่มีความเปราะบาง เช่น ภาคบริการ แรงงานย้ายถิ่น การไม่มีเครือญาติ รวมถึงแรงงานที่ข้ามภาคย้ายถิ่นเพื่อเหตุผลทางการทำงาน มาเป็นเวลานาน และไม่สามารถกลับไปภูมิลำเนาได้

ทั้งนี้ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ในช่วงโควิด-19 ตลอด 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา พบว่า คนไร้บ้านใน กทม. สูงขึ้นกว่า 30% จาก 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 – 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน ทำ ซี่งทั้งหมดสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ

2.คนไร้บ้านขี้เกียจไม่ทำงาน

ความเข้าใจผิดข้อนี้มีมากไม่แพ้ข้อแรก และตัวเลขจากการสำรวจ พบว่าร้อยละ 90 ของคนไร้บ้านมีงานทำ ไม่ได้ขี้เกียจอย่างที่ใครหลายคนพยายามเข้าใจ เพียงแต่งานของเขาที่ได้รับเป็นงานเล็กๆน้อยๆ ไม่มั่นคง เช่น การเก็บของเก่า รับจ้างรายวัน โดยในจำนวนผู้ที่ทำงานกลุ่มนี้พบว่า ร้อยละ 50% ระบุว่า งานเหล่านี้ไม่สามารถสร้างความเพียงพอทางรายได้ ซึ่งนั่นแสดงว่า แม้เขาอยากทำงาน ขยันขันแข็ง แต่รายได้ไม่พอจะใช้ชีวิต หรือต้องไปเช่าห้องที่มีราคาสูงได้

การช่วยระยะสั้นแก่กลุ่มคนไร้บ้าน เช่นเอาของไปแจก เอาอาหารไปให้ มันไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาระยะยาว  ซึ่งนั่นทำให้เกิดโครงการ ห้องเช่าคนละครึ่ง ซึ่งมีเป้าหมายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งทีมวิจัยระบุว่า เพิ่งสูญเสียที่อยู่อาศัยไม่นาน มีรายได้เล็กๆน้อยๆรายวัน มีค่าแรงที่ถึงแรงงานขั้นต่ำ แต่ไม่ได้มีทุกวัน ทำให้มีเงินไม่พอต่อการมองหาที่อยู่อาศัย

มาตรการการสนับสนุนค่าเช่าครึ่งหนึ่งให้แก่คนไร้บ้านจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง จากคนไร้บ้านหน้าใหม่เป็นคนไร้บ้านถาวร ซึ่งพอกลุ่มคนไร้บ้านมีห้องเช่าแล้ว ก็ทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีบุคลิกที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการทำงาน และเมื่อชีวิตดีขึ้นการสนับสนุนก็จะค่อยๆน้อยลงไป

ภาพคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ จากเพจ Penguin Homeless แผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3.คนไร้บ้านเป็นอันตรายต่อสังคม

ความเข้าใจข้อนี้เป็นข่าวบ่อยๆ จนทำให้คนในสังคมกลัวคนไร้บ้าน ทั้งที่ความจริงแล้วคนไร้บ้านก็เหมือนคนทั่วไป คือมีทั้งคนที่ดีและคนที่อาจไม่ดี แต่การเหมารวมว่าคนไร้บ้านอันตราย ทำให้โอกาสที่จะคนไร้บ้านควรได้รับลดน้อยลงไป

ข้อมูลจากการสำรวจ ระบุว่า คนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางจิตและมีแนวโน้มจะทำร้ายผู้อื่น มีแค่ในระดับร้อยละ 1-2 จากคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น การก่ออาชญากรรมของคนไร้บ้านก็น้อยมาก จะมีได้รับแจ้งส่วนใหญ่จะเป็นการทะเลาะกันเอง แต่ก็ยอมรับว่ามีคนไร้บ้านที่เคยก่อเหตุและเป็นภาพจำของสังคม

ข้อเท็จจริง ที่การสำรวจพบคือ คนไร้บ้านถูกทำร้ายมากกว่า ถูกไล่จากคนทั่วไป ดังนั้นคนไร้บ้านทั้งหมดจึงไม่ใช่อันตราย อย่างภาพลักษณ์ที่ถูกจดจำ

4.คนไร้บ้านไม่ชอบอาบน้ำ

ข้อนี้ว่าด้วยความสะอาด กลิ่นตัว และความสกปรก ซึ่งมีไม่น้อยที่มองว่า คนไร้บ้านตัวเหม็นเพราะไม่ชอบอาบน้ำ ซึ่งนั่นก็คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ถ้าคิดว่าเป็นเพราะเขาไม่ชอบอาบน้ำคงคิดผิด เพราะจากการสำรวจพบว่า คนไร้บ้านต้องการห้องน้ำเพื่ออาบน้ำมากกว่าใคร นั่นเพราะเขาเองก็ร้อน ไม่สบายตัว

ความเหม็น จากคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มาจากการ “ซักแห้ง” ในความหมายที่ว่า ต้องใส่เสื้อผ้าที่ซักแล้ว โดยไม่ได้ตาก เนื่องจากไม่มีที่ตากผ้า ทำให้เสื้อผ้าอับชื้น ดังนั้นสถานรองรับ หรือเซอร์วิสเล็กๆน้อยๆ เช่น ที่ตากผ้า ที่อบผ้า สาธารณะ ในที่อยู่อาศัยราคาถูกจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้

5.คนไร้บ้านเป็นผู้ป่วยทางจิต

ต้องปรับความคิดก่อนว่า คนไร้บ้านไม่เท่ากับผู้ป่วยจิตเวช และจากการข้อมูลสำรวจพบว่า คนไร้บ้านที่ป่วยทางจิตแบบชัดเจนมีเพียงร้อยละ 10 ของคนไร้บ้านทั้งหมด ทว่าเป็นคนกลุ่มนี้แหละที่มักปรากฏตัวให้คนในสังคมจดจำ ทำให้ภาพของคนไร้บ้านกลุ่มใหญ่ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่สูญเสียงาน ไร้เงินเก็บ เปราะบาง และมีรูปร่าง หน้าตา คล้ายๆกับคนธรรมดาทั่วไปไม่ถูกมองเห็น

บริบทของคนไร้บ้านนั้นเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสังคม และนอกจากโควิด-19 ที่ส่งผลถึงตลาดงานได้ทำให้คนไทยต้องมีสถานะไร้บ้านเพิ่มขึ้นแล้ว ทีมวิจัยยังพบว่าปัจจุบัน คนไร้บ้านมีสัดส่วนที่เป็นกลุ่มคนสูงอายุมากขึ้น  ซึ่งจากการสอบถามมาจากการสูญเสียงานเมื่อเข้าสู่อายุที่มากขึ้น ไม่มีคนจ้างต่อ การไม่มีเงินเก็บ ไม่มีลูกหลาน ซึ่งกลุ่มคนไร้บ้านสูงอายุนี้ถือเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะการเป็นผู้สูงอายุไร้บ้าน การจะทำให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานก็ต่างจากเคสปกติ ที่ต่างจากวัยแรงงาน ที่สามารถช่วยให้ Return กลับมาได้

เมื่อพิจารณาบริบทของกลุ่มคนไร้บ้านแล้ว พบว่า คนไร้บ้านเปรียบเสมือนตุ๊กตาล้มลุก ที่ล้มแล้วลุกตลอดเวลา แต่ไม่สามารถยืนระยะอยู่ได้ และมีข้อมูลระบุว่าเมื่อปล่อยให้คนไร้บ้านหน้าใหม่ เป็นคนไร้บ้านนานขึ้นมากกว่า 1 ปี ส่งผลถึงความสิ้นหวัง และการมี Self-Esteem จะลดน้อยลง จนตั้งหลักยากกว่าเดิม

พบกับการสื่อสารเรื่องที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน และความเป็นไปของคนไร้บ้านที่สังคมต้องรับรู้และร่วมสร้างสังคมที่สมดุลแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในงาน Sustainability Expo 2023 ในวันที่ 29 กันยายน – 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภาพ : ธวัชชัย ทิพย์โยธา

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

 

อ่านเพิ่มเติม : บันทึกจากบทสนทนาใน SX Talk Series # 4 ที่สะท้อนความยั่งยืนในมิติเชิงสังคม

Recommend