ถ้ำหลายร้อยแห่งในประเทศ เบลีซ ทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมโลกของเราเข้าสู่ “ชีบัลบา” หรือโลกใต้พิภพ ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ในปกครองของเทพแห่งความตาย สถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อต่าง ๆ และสถานที่ที่วัตถุโบราณ รวมไปถึงโครงกระดูกของผู้คนในชนเผ่ามายาถูกเก็บไว้
เบลีซ – แนวคิดเรื่องโลกหลังความตายเป็นเรื่องปัจเจก ผู้คนในแต่ละพื้นที่จะจินตนาการถึงชีวิตหลังความตายในสถานที่ที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อและศาสนา สำหรับบางคน โลกหลังความตายอาจเป็นดินแดนที่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง แต่สำหรับชาวเผ่ามายา ดินแดนหลังความตายอยู่ใกล้เพียงใต้เท้าเท่านั้น
เบลีซ ประเทศเล็ก ๆ ในแถบอเมริกากลางเป็นแหล่งที่ตั้งของถ้ำหลายร้อยแห่งซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ถ้ำเหล่านั้นไม่ใช่สถานที่สำหรับการดำน้ำสำรวจพื้นที่ภายในเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางไปสู่ชีบัลบา (Xibalba) โลกใต้พิภพตามความเชื่อของชาวมายา
การเที่ยวถ้ำคือหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยมในประเทศเบลีซ นอกจากจะได้สำรวจธรรมชาติแล้ว บรรดานักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับตำนานและวัฒนธรรมของชนเผ่ามายาด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้รัฐบาลของประเทศนี้จึงทุ่มเทความพยายามอย่างมากในการเปิดถ้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมภายในได้
แม้การเปิดถ้ำจะทำให้เกิดการสำรวจสิ่งต่าง ๆ ภายในโพรงที่มีมายาวนาน แต่เหล่านักโบราณคดีกลับแทบจะไม่เคยสำรวจสิ่งที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นถ้ำ เนื้อหาต่อไปนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านร่วมเปิดประตูสู่โลกหลังความตายอันลึกลับของชนเผ่ามายา พร้อมทั้งสำรวจที่มาและตำนานของดินแดนใต้พิภพแห่งนี้
ดินแดนใต้ผืนดินอันน่าพิศวง
ชีบัลบา (Xibalba) ซึ่งมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งความกลัว” คือสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมมายาโบราณ ตามคำอธิบายจากคัมภีร์โพโพล วูห์ (Popol Vuh) หรือคัมภีร์บันทึกการสร้างโลกของชาวเค็กชิ (Q’eqchi’) นอกจากชีบัลบาจะเป็นอาณาจักรใต้ผืนโลกที่มีเทพแห่งความตายของชาวมายาเป็นผู้ปกครองแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่โลกของคนเป็นและโลกของคนตายมาบรรจบกัน
อย่างไรก็ดี จากบทสัมภาษณ์ของโฮลีย์ มอยส์ (Holley Moyes) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นนักสำรวจของทั้งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเมอร์เซด (UC Merced) และเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พบว่านักประวัติศาสตร์ยังคงคาดเดาถึงเหตุผลเบื้องหลังสาเหตุที่ชาวมายาโบราณเชื่อว่าถ้ำคือประตูสู่โลกใต้พิภพอยู่
มอยส์กล่าวว่า “เราทราบดีว่ามนุษย์เริ่มฝังศพไว้ในมุมมืดของถ้ำมาตั้งแต่ยุคนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) คาดว่าการที่มนุษย์ในยุคก่อนทำเช่นนั้นอาจเริ่มมาจากการเลียนแบบพฤติกรรมของหมีค่ะ” เธอกล่าวต่อว่า “ลองคิดดูนะคะ สิ่งที่หมีจะทำในฤดูหนาวคืออะไร หมีจะจำศีลในถ้ำ พวกมันอยู่ในสภาพเหมือนตายแล้ว จากนั้นก็ตื่นขึ้น และออกไปใช้ชีวิตตามเดิม ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า คนในยุคโบราณจะมองว่าพฤติกรรมนี้ของพวกมันคือการฟื้นคืนจากความตายค่ะ”
ตามความเชื่อของเผ่ามายา เทพเจ้ามีบทบาทในการควบคุมทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทุกแง่มุมชีวิตของชาวเผ่า นับตั้งแต่ดินฟ้าอากาศที่ถูกดูแลโดยเทพชาค (Chac) การเกษตรที่ถูกดูแลโดยเทพอุนอูนาปู (Hun Hunahpu) ไปจนถึงการเลือกคู่ครองโดยเทพอิกเชล (Ixchel) ชาวมายากลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในเบลีซใช้ถ้ำเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น การฝังศพ การกรีดเลือดเพื่อสื่อสารกับเหล่าทวยเทพ และการบูชายัญ จนถึงทุกวันนี้บรรดานักโบราณคดียังคงพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพิธีกรรมของชาวมายาในถ้ำที่สำรวจอยู่เรื่อย ๆ
หนึ่งในถ้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศเบลีซคือ ถ้ำอัคตุน ตูนิชิล มัคนาล หรือถ้ำเอทีเอ็ม (Actun Tunichil Muknal: ATM) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายาซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเบลีซ ใกล้กับเมืองซานอิกนาซิโอ (San Ignacio) ชื่อของถ้ำเอทีเอ็มมีความหมายว่า ถ้ำสุสานหิน เพราะเป็นสถานที่เก็บรักษาโครงกระดูกทั้ง 13 โครงของชาย หญิง เด็ก รวมไปถึงโครงกระดูกคริสตัลชื่อดังอย่าง “Crystal Maiden” ของหญิงสาวที่ถูกนำไปบูชายัญ สาเหตุที่ทำให้โครงกระดูกที่ถูกค้นพบในถ้ำนี้มีพื้นผิวคล้ายอัญมณีคือ สภาพอากาศและแร่หินปูนที่ทำปฏิกิริยากับสิ่งของภายในถ้ำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
นอกจากร่างของผู้ที่ถูกนำมาบูชายัญ ยังพบว่าวัตถุโบราณและชิ้นส่วนกระดูกอื่น ๆ ของชาวมายาก็ถูกหินปูนหุ้มเป็นเวลานานจนติดไปกับพื้นถ้ำ อย่างไรก็ดี ในค.ศ. 2012 ได้มีการประกาศห้ามไม่ให้ถ่ายรูปหรืออัดวิดีโอในบริเวณถ้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อวัตถุโบราณต่าง ๆ ภายในสถานที่
มิเกล โชโก (Miguel Choco) ไกด์นำเที่ยวชาวเค็กชิมายาจากรีสอร์ต The Lodge at Chaa Creek กล่าวว่า “การเยี่ยมชมชีบัลบาคือกุญแจสำคัญที่จะเปิดโลกของชาวมายาโบราณและประวัติศาสตร์ของชนเผ่านี้ให้ทุกคนได้รู้จักครับ การเรียนรู้เกี่ยวกับบริบทของพิธีกรรมที่ถูกจัดขึ้นในถ้ำ และเหตุผลที่ชาวเผ่านี้ใช้มนุษย์เป็นเครื่องบูชายัญเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันทำให้เราทราบว่าพิธีเหล่านั้นมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่แห้งแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรไม่อุดมสมบูรณ์ หรือประชากรล้มตายจากการขาดแคลนอาหารครับ”
โชโกเล่าเสริมอีกว่า การพานักท่องเที่ยวไปชมถ้ำทำให้เขามีโอกาสแบ่งปันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวมายาที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน “โลกต้องได้รู้ว่าพวกเรายังพยายามจะรักษาวัฒนธรรมของชนเผ่ามายาเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ครับ” เขากล่าว
อย่างไรก็ดี ในประเทศเบลีซมีประชากรชาวมายามากกว่าร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยชาวมายาที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ประกอบไปดวยชาวมายาเผ่าโมพัน (Mopan) เผ่ายูกาเต็ก (Yucatec) และเผ่าเค็กชิ (Q’eqchi’) นอกจากนี้ ชาวมายาจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ยังรักษาและปฏิบัติตามประเพณีโบราณ พูดภาษามายา และสนับสนุนให้มีการสืบทอดวัฒนธรรมโบราณเหล่านี้สู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป
วิธีสำรวจโลกใต้พิภพของชาวมายา
เมื่อได้ย่างเข้าไปในถ้ำ ณ ประเทศเบลีซ ไม่ว่าใครก็จะรู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างที่ทั้งเก่าแก่และทรงคุณค่า แม้ถ้ำแห่งนั้นจะปราศจากโครงกระดูกของชาวมายาโบราณก็ตาม ในช่วงตอนกลางของเบลิซ นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือแคนุหรือว่ายน้ำตามช่องแคบระหว่างภูเขาเพื่อเข้าไปยังถ้ำบาร์ตัน (Barton Creek Cave) ประตูสู่โลกใต้พิภพซึ่งเป็นถ้ำใต้ดินที่ยาวที่สุดในประเทศได้ ในถ้ำแห่งนี้มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ และซากกระดูกของมนุษย์ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่อย่างน้อย 28 คนอยู่ตามแนวหินในถ้ำที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ถ้ำแห่งนี้ถูกสำรวจและทำแผนที่ไปเพียง 6 กิโลเมตรกว่า ๆ เท่านั้น ยังมีพื้นที่อีกหลายจุดที่ยังไม่ถูกสำรวจ และอาจมีโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่รอให้ถูกค้นพบ งานด้านโบราณคดีที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องภายในถ้ำจะค่อย ๆ เผยเบาะแสสำคัญเบื้องหลังการล่มสลายของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยแผ่ขยายในพื้นที่ตั้งแต่ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบันไปจนถึงเอลซัลวาดอร์ให้ผู้คนได้รับรู้
แม้ถ้ำทุกแห่งในเบลีซจะไม่ได้ถูกค้นพบพร้อมกับโครงกระดูกและเรื่องราวเกี่ยวกับความตาย แต่ก็ยังมีถ้ำบางแห่งที่สร้างความพรั่นพรึงตะลึงใจให้แก่ผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมได้ ยกตัวอย่างเช่น แม่น้ำสาขาที่ไหลผ่านถ้ำถึง 19 แห่งในโนฮ็อคเชน (Nohoch Che’en Caves Branch) สถานที่ขึ้นชื่อในการล่องห่วงยางชมถ้ำซึ่งอยู่ห่างจากเบลโมแพน (Belmopan) เมืองหลวงของเบลีซไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ทัวร์ล่องแม่น้ำสายนี้จะใช้เวลาหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งในการพานักท่องเที่ยวลอยเข้าออกถ้ำแห่งต่าง ๆ โดยระหว่างทางจะผ่านหินงอกหินย้อยน้อยใหญ่และภาพเขียนบนผนังถ้ำของชาวมายาที่ถูกรักษาเอาไว้
เมื่อเดินทางตามเส้นทางไปถึงบางจุด นักท่องเที่ยวจะลอยเข้าไปยังจุดมืดสนิทในถ้ำที่ไม่มีแสงสว่างใด ๆ ส่องถึง แม้นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะมีไฟฉายคาดหัวติดตัว แต่หากต้องการสัมผัสประสบการณ์ภายในถ้ำด้วยมุมมองเดียวกับชาวมายา การยอมรับความมืดมิดรอบตัวจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการซึมซับบรรยากาศและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชมถ้ำตามวิถีโบราณดั้งเดิม
เรื่อง อาลี วันเดอร์มาน
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ