COP28 – ประเทศต่าง ๆ ตกลงที่จะ ‘เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล’ ไปเป็นพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นข้อตกลงระดับโลกครั้งแรกที่มีการเรียกร้องให้เลิกใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างชัดเจน
แม้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายหรือข้อบังคับใด ๆ ก็ตาม หลายคนมองว่า ‘ล้มเหลว’ แต่หลายคนก็ ‘มองโลกในแง่ดี’ ในการประชุม COP28 นี้
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศหรือCOP28ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อคืนที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงที่จะเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานที่สะอาดกว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นี้
ทว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้กำหนดรายละเอียดหรือบังคับให้ประเทศทั่วโลกยุติ หรือเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กระนั้น นี่ก็เป็นครั้งแรกสุดที่นานาชาติตกลงที่จะลดการใช้พลังงานซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก
“ในที่สุดมนุษยชาติก็ได้ทำสิ่งที่ค้างคามานาน” โวปเก โฮย์คสตรา (Wopke Hoekstra) กรรมาธิการยุโรปด้านการดำเนินการด้านสภาพอากาศ กล่าว “30 ปี! ที่เราใช้เวลาให้ไปถึงจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของเชื้อเพลิงฟอสซิล”
แม้ข้อความในข้อตกลงนี้จะไปไกลกว่าที่ในด้านเป้าหมายด้านสภาพอากาศ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่า ”ยังไปไม่ไกลพอ“
จอห์น เอฟ. เคอร์รี (John F. Kerry) ทูตด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าวว่า “หลาย ๆ คนคงจะชอบคำพูดที่ชัดเจนกว่านี้ เกี่ยวกับความจำเป็นในการเริ่มต้นลดระดับเชื้อเพลิงฟอสซิลของทศวรรษที่วิกฤตนี้”
ก่อนหน้านี้ โลกมีข้อตกลงปารีสซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 โดยนานาชาติระบุร่วมกันว่าจะป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
แต่เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในข้อตกลงล่าสุดนี้จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 43 ภายในปี 2030 และอีกร้อยละ 60 ภายในปี 2035 ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ทว่า การวิจัยล่าสุดหลาย ๆ ชิ้นที่ผ่านมาระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แตะระดับสูงสุดอีกครั้งในปี 2023 และอุณหภูมิโลกดูเหมือนว่าจะขึ้นอยู่ที่ 1.2 องศาเซลเซียส อีกทั้ง นาซา (NASA) ได้ชี้ให้เห็นว่าคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในปัจจุบันยังคงสามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศต่อได้ถึง 300-1,000 ปี
อีกทั้งข้อตกลงใหม่นี้มีเพียงแค่ ‘คำขอ’ ให้ประเทศต่าง ๆ ตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็น 3 เท่าและเพิ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังานสะอาดโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็น 2 เท่าภายในปี 2030 โดยขอให้มี ‘ความพยายามเร่งรัด’ ในการยุติใช้ถ่านหิน ลดปล่อยก๊าซมีเทน และขอให้ ‘ลด ละ เลิก’ ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ไม่มีการผูกพันทางกฎหมายและไม่มีข้อกำหนดชัดเจน เป็นแค่เพียงคำขอกว้าง ๆ เท่านั้น
“กระบวนการนี้ล้มเหลวสำหรับเรา” แอนน์ รัสมุสเซน (Anne Rasmussen) จากซามัว และผู้นำการเจรจาสำหรับ 39 ประเทศในกลุ่มพันธมิตรรัฐเกาะเล็ก ๆ กล่าวว่าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นขณะที่กลุ่มของเธอไม่ได้อยู่ในห้องนั้น “เราได้การพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คือการเปลี่ยนแปลงขั้นทวีคูณในการดำเนินงาน”
ขณะที่ ฌอง ซู (Jean Su) ผู้อำนวยการด้านความยุติธรรมพลังงงานของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “ปัญหาในข้อความนี้คือมันคงยังมีช่องโหว่ที่ทำให้สหรัฐฯ และประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ สามารถขยายเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปได้” พร้อมเสริมว่า “ข้อความนี้มีข้อบกพร่องร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิต”
ถึงกระนั้นคนอื่น ๆ ก็ปรบมือให้กับความสำเร็จดังกล่าวว่าเป็นสัญญาณให้นักลงทุน และสมาชิกสภานิติบัญญัติทราบได้ว่าโลกกำลังเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การประชุม COP28 ยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ซึ่งทำให้ประเทศที่ร่ำรวยกว่าสามารถบริจาคเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง ณ เวลานี้มีการช่วยเหลือแล้วมากกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 24,500 ล้านบาท) แต่ผู่เชี่ยวชาญหลายคนเคยชี้ไว้ว่าจำเป็นต้องใช้เงินกว่า 400,000 ล้านเหรียญต่อปี
“นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแท้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อไป” อัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว
ข้อความสำคัญในข้อตกลงมีดังต่อไปนี้
• เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกเป็นสามเท่า และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็นสองเท่าภายในปี 2030
• ยุติการใช้ถ่านหินที่ยังมีใช้อยู่ให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และจำกัดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินใหม่และที่ยังไม่ลดจำนวนลง
• ให้ทั่วโลกเร่งความพยายามไปสู่ระบบพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยใช้เชื้อเพลิงที่เป็นศูนย์และมีคาร์บอนต่ำให้ได้ก่อนหรือประมาณกลางศตวรรษ
• มีการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงานภายในทศวรรษนี้ ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบเรียบร้อย และเท่าเทียม เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามหลักวิทยาศาสตร์
• เร่งให้มีเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์และปล่อยก๊าซต่ำ รวมถึงเทคโนโลยีหมุนเวียน นิวเคลียร์ เพิ่มการลดและการกำจัดคาร์บอน เช่น การดักจับคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ลดได้ยาก และเพิ่มการผลิตไฮโดรเจนที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสุนความพยายามในการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังไม่ลดลงในระบบพลังงาน
• เร่งและลดการปล่อยก๊าซที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนให้ได้ทั่วโลกภายในปี 2030
• เร่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มการใช้งานยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างรวดเร็ว
• ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานหรือผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านโดยเร็วที่สุด
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
COP28 reaches landmark deal to ‘transition’ away from fossil fuels | CBC.ca
.
Cop28 landmark deal agreed to ‘transition away’ from fossil fuels | Cop28 | The Guardian
.
Nations Agree to ‘Transition Away From Fossil Fuels’ in Landmark Climate Deal | Smart News| Smithsonian Magazine
.
‘Historic’ COP28 deal to ‘transition away’ from fossil fuels adopted | World News | Sky News