นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า เกาะภูเขาไฟแห่งหนึ่งที่ผุดขึ้นจากมหาสมุทรแอตแลนติตอนใต้ มี ทะเลสาบลาวา หายาก เพื่อศึกษาเกาะนี้ คณะสำรวจต้องเสี่ยงเดินทางไปยังสถานที่ไกลโพ้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
บนสันเขาปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ราว 900 เมตรเหนือระลอกคลื่นกราดเกรี้ยวของน่านน้ำแอตแลนติกตอนใต้ เอ็มมา นิโคลสัน สูดหายใจเข้าลึกๆ จากหน้ากากช่วยหายใจ ตรวจสอบสายรัดนิรภัยสำหรับปีนเขา แล้วก้าวเข้าไปในปากที่อ้ารออยู่ของภูเขาไฟที่มีพลังคุกรุ่น
ตอนนั้นเป็นเวลาหลังบ่ายสี่เล็กน้อย บนขอบยอดเขาที่ลมกระโชกของเมานต์ไมเคิลอันตระหง่านเหนือ เกาะซอนเดอร์ส เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มเกาะเซาท์แซนด์วิชที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และเป็นหนึ่งในสถานที่ตัดขาดห่างไกลที่สุดในโลกหากใครสักคนจะเดินทางไป หรือราว 800 กิโลเมตรจากสถานีวิจัยถาวรใกล้สุดบนเกาะ เซาท์จอร์เจีย และกว่า 1,600 กิโลเมตรจากเส้นทางเดินเรือขนส่งใกล้ที่สุด
แต่หลังวางแผนมาหลายปีและผจญการเดินทางอันทรหด 2,250 กิโลเมตร ผ่านท้องทะเลปั่นป่วนและ มีภูเขาน้ำแข็งคอยรังควานอยู่ทั่วไปหมด นักภูเขาไฟวิทยาวัย 33 ปี ใกล้ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่จะนำ คณะสำรวจเข้าไปในปล่องภูเขาไฟของเมานต์ไมเคิลเต็มทีแล้ว เธอหวังจะรวบรวมเบาะแสใหม่ๆ เกี่ยวกับกระบวนการที่ดำเนินลึกลงไปในระบบท่อส่งใต้พิภพของเรา ซึ่งไม่เคยมีใครเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
แวบแรกที่เห็น ด้านในขอบปล่องภูเขาไฟดูไร้พิษภัย เผยให้เห็นทางลาดหิมะที่ไม่ชันไปกว่าลานสกีระดับกลาง เอ็มมากับผู้ร่วมวิจัย โจเอา ลาเจส ค่อยๆโรยตัวอย่างระมัดระวังลงไปตามเชือกปีนเขา ซึ่งเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับ โลกภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งคู่เข้าใจดีว่า จุดใดจุดหนึ่งเบื้องล่างที่ภูมิประเทศซึ่งดูไม่มีพิษสงนี้ อาจสิ้นสุดลงตรงผาน้ำแข็งที่ไม่มั่นคงโผล่ยื่นออกมาจากขอบปล่องด้านในของภูเขาไฟก็ได้
โจเอากับเอ็มมาไต่ลึกลงไปในภูเขา พร้อมหิ้วคอมพิวเตอร์กับกล้องถ่ายภาพความร้อนไปด้วย เบื้องล่าง เนินสกีที่ลาดเล็กน้อยนั้น จู่ๆก็หายวับไปกลายเป็นเวิ้งอากาศมืดสลัวและความลึกที่ไม่อาจหยั่งได้สู่ก้นปล่องภูเขาไฟ ขณะมองไปรอบๆ เอ็มมาดวงตาเบิกกว้างเล็กน้อย เธอเข้าใจดีว่า ตนเองกำลังยืนอยู่ด้านในขอบปล่องไฟของโลก สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นจากการสำแดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของธรรมชาติ
แรงกระตุกจากเชือกที่โยงอยู่กับสายรัดนิรภัยทำให้เธอใจชื้นขึ้น เอ็มมารู้ว่าเชือกเส้นนั้นเชื่อมอยู่กับ “สมอบก”ที่ไว้วางใจได้มากที่สุดแล้ว นั่นคือไกด์ปีนเขา การ์ลา เปเรซ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เอ็มมากับการ์ลากลายเป็นเพื่อนสนิท เมื่อใดก็ตามที่เอ็มมาหายไปจากสายตา การ์ลารู้ได้ทันทีว่าต้องมีชะง่อนผาน้ำแข็งซุ่มอยู่ตรงไหนสักแห่งข้างหน้าเพื่อนของเธอ
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1775 กัปตันเจมส์ คุก ผู้อ่อนล้ายืนอยู่ที่ราวท้ายเรือ เรโซลูชัน ของเขา จ้องมองไปยังเกาะอ้างว้างปกคลุมไปด้วยหิมะเกาะหนึ่ง นักเดินเรือผู้นี้ออกล่องทะเลในการเดินทางเพื่อค้นพบเที่ยวที่สองมาสองปีครึ่งแล้ว และภูมิประเทศชวนสังหรณ์ถึงเหตุร้ายก็สอดคล้องกับอารมณ์ของเขาในขณะนั้น “เป็นชายฝั่งที่เลวร้ายที่สุดในโลก” กัปตันคุกประกาศก้องถึงกลุ่มเกาะที่เขาตั้งชื่อให้ว่า หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช
เวลาล่วงเลยมาอีกหลายทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์จึงทราบว่า เกาะหนึ่งในหมู่เกาะแห่งนี้ คือเกาะซอนเดอร์ส มีแหล่งความร้อนของตัวเอง กระนั้น ก็ยังไม่มีใครสนใจพอจะไปเยือนเกาะไกลปืนเที่ยงที่มีแต่น้ำแข็งกับลมพัดกระโชก
“หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชเป็นเกาะที่ไปยาก ขึ้นฝั่งยาก ทำงานบนนั้นก็ยากครับ เราถึงต้องมีเหตุผลดีสุดๆ เพื่อไปที่นั่น” จอห์น สเมลลี ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าว แต่ถึงอย่างนั้น หมู่เกาะซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ที่มุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกเซาท์แซนด์วิช กลับเป็นบริเวณที่มีกระบวนการแปรสัณฐานเรียบง่ายที่สุดในโลกสำหรับการศึกษาภูเขาไฟวิทยา
ผมติดต่อสเมลลีเพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้กันว่าเคยไปเยือนเกาะซอนเดอร์สมาแล้ว ระหว่างการสำรวจ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1997 ระหว่างเก็บตัวอย่างบริเวณท้ายเกาะด้านเหนือ เขาก็สังเกตเห็นว่า สายควันที่พวยพุ่งออกจากเมานต์ไมเคิลดูหนาทึบผิดปกติ พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เขานึกถึงเมานต์เอเรบัส ภูเขาไฟในแอนตาร์กติกาที่มีทะลสาบลาวาถาวร สเมลลีสอบถามเพื่อนคนหนึ่งที่องค์การสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งสหราชอาณาจักรว่า ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถระบุความผิดปกติเกี่ยวกับความร้อนหรืออุณหภูมิรอบเมานต์ไมเคิลได้หรือไม่ ด้วยเครื่องวัดรังสีผ่านดาวเทียม พวกเขาทำงานเพื่อระบุสัญญาณความร้อนที่สอดคล้องกับปล่องบนยอดภูเขาไฟเมานต์ไมเคิล และคิดว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงถึงราว 300 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยแห่งนี้เป็นทะเลสาบลาวา ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟวิทยาที่พบยากที่สุด
แม้จะมีภูเขาไฟมีพลังที่เข้าข่ายราว 1,350 แห่งทั่วโลก แต่มีเพียงแปดแห่งที่ยืนยันแล้วว่า มีทะเลสาบลาวาถาวรอยู่ โดยทั่วไป หลังภูเขาไฟปะทุ ลาวาที่สัมผัสกับบรรยากาศจะเย็นตัวลงเป็นหินแข็งอุดปิดปล่อง กักเก็บความร้อนกับแก๊สไว้ข้างใน (ซึ่งอาจทำให้ภูเขาไฟพร้อมระเบิดอีกครั้ง) แต่ในกรณีภูเขาไฟปล่องเปิด ท่อหรือปล่องที่เชื่อมระหว่างผิวโลกกับแหล่งกักเก็บแมกมา ลึกลงไปเบื้องล่างยังเปิดอยู่ การที่ทะเลสาบลาวาจะก่อตัวได้นั้น ต้องมีความดันมหาศาลพอจะดันลาวาขึ้นมาได้สุดทางจนถึงผิวด้านบน ทำนองเดียวกับความดันน้ำในน้ำพุ แต่การที่ทะเลสาบลาวาจะคงสภาพอยู่ได้นั้น ความดันดังกล่าวต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนระหว่างความร้อนที่แผ่ขึ้นมาจากปล่องแมกมากับอัตราการเย็นตัวลง ต้องสมดุลอย่างสมบูรณ์ จึงจะรักษาลาวาให้อยู่ในสถานะหลอมเหลวได้
เมื่อปี 2019 นักภูเขาไฟวิทยาอีกทีมหนึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมความละเอียดสูงปรับปรุงการค้นพบโดยทีมของ สเมลลี และคำนวณพบค่าผิดปกติที่มีพื้นที่กว้างกว่า 9,940 ตารางเมตรบนพื้นผิวปากปล่อง เช่นเดียวกับสเมลลี พวกเขาประเมินว่าเป็นทะเลสาบลาวา
การศึกษาชิ้นนี้สะดุดใจเอ็มมา นิโคลสัน อาจารย์ด้านภูเขาไฟวิทยาซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัย คอลเลจลอนดอน แม้ภาพดาวเทียมจะแม่นยำเพียงใด เธอรู้ว่าหนทางเดียวที่ยืนยันได้ว่า เมานต์ไมเคิลมีทะเลสาบลาวาอยู่จริงให้ศึกษาวิจัยต่อไปนั้น ก็คือต้องปีนขึ้นไปที่ขอบปล่อง และเก็บตัวอย่างจากด้านในของปล่องภูเขาไฟ
ในปี 2020 เอ็มมาเข้าร่วมกับคณะสำรวจบนเรือใบเสากระโดงเดียว ลำเรือเป็นอะลูมิเนียม เพื่อสำรวจหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช หลังทอดสมออยู่นอกชายฝั่งเกาะซอนเดอร์ส เอ็มมากับผู้ร่วมวิจัย เคียแรน วูด และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกหลายคนพยายามปีนขึ้นเมานต์ไมเคิลครั้งแรก แต่ต้องหันหลังกลับลงมาท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย กระนั้น การตัดสินใจหันหลังกลับก็น่าเจ็บปวดไม่น้อย เธอบอกว่าลงจากเมานต์ไมเคิลมาพร้อมกับ “ความค้างคาใจ”
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมไปสบทบกับเอ็มมา นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เพื่อเดินทางไปยังเกาะซอนเดอร์สอีกครั้ง เธอรวบรวมคณะสำรวจเพื่อปีนเมานต์ไมเคิลต่อจากครั้งแรกให้สำเร็จ รวมทั้งเพื่อศึกษาปล่องภูเขาไฟในสถานที่จริงเป็นครั้งแรกด้วยเรือ ออสเตรลิส ซึ่งเป็นเรือใบติดเครื่องยนต์ ลำเรือ เป็นเหล็กกล้า จอดรออยู่ที่เมืองพอร์ตสแตนลีย์ มีกัปตันเรือชื่อ เบน วอลลิส วัย 43 ปี เป็นชาวออสเตรเลีย
หากเทียบกับของกัปตันคุก คณะสำรวจของเราดูเล็กจ้อยไปถนัด เบนกับลูกเรือสองคนทำหน้าที่เป็นฝ่ายขนส่ง เอ็มมากับเพื่อนร่วมงาน โจเอา ลาเจส นักธรณีเคมีและนักภูเขาไฟวิทยาวัย 30 ปี และเคียแรน วูด วิศวกรอวกาศและผู้เชี่ยวชาญการบินโดรน วัย 37 ปี รวมเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์ ช่างภาพ เรนัน ออซเติร์ก วัย 43 ปี นำทีมสื่อ สี่คน ส่วนการ์ลา เปเรซ วัย 39 ปี นักไต่เขาชาวเอกวาดอร์และหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่พิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์ได้โดยไม่อาศัยออกซิเจนเสริม จะเป็นผู้นำทีมช่วงไต่เขาในการเดินทางครั้งนี้
“สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชต่างจากที่อื่นก็คือ มันอยู่ไกลจากความเจริญครับ” เบนอธิบาย พูดอีกนัยหนึ่งคือ หมู่เกาะนี้อยู่ไกลเกินพิสัยที่อากาศยานชายฝั่งจะบินไปถึง และเป็นภูมิภาคที่มีเรือไม่กี่ลำแล่นผ่าน “จะไม่มีใครมาช่วยคุณ ถ้าคุณเจอปัญหา” เขาเสริม
ในวันแรกที่ออกทะเล มีสายลมพัดเบาๆ พวกเราสวมเสื้อกันลมเดินเตร่อยู่บนดาดฟ้าเรือ แต่อุณหภูมิเย็นลง ทีละนิดทุกวัน เราจึงใช้เวลาอยู่เหนือดาดฟ้าเรือกันน้อยลง ใต้ดาดฟ้า คน 12 คนเรียนรู้ทักษะพื้นฐานของการ เอาตัวรอดกลางทะเลในเรือเหล็กยาว 23 เมตร
ในวันที่ห้าของการออกทะเล เราเห็นเกาะเซาท์จอร์เจีย ซึ่งเคยเป็นชุมทางล่าวาฬอันรุ่งเรืองมาก่อน แต่เซาท์จอร์เจียอยู่ค่อนทางก่อนถึงเกาะซอนเดอร์ส เราแวะหยุดสั้นๆที่เมืองท่ากริตวิเกนเพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักร ผู้ดูแลเกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชในฐานะเขตคุ้มครองทางทะเล จากนั้นก็ทิ้งที่พักอันปลอดภัยของชายฝั่งเกาะเซาท์จอร์เจีย แล้วมุ่งหน้าสู่น่านน้ำแอตแลนติกตอนใต้ ภูเขาน้ำแข็งเริ่มปรากฏให้เห็นที่เส้นขอบฟ้าขมุกขมัว อาศัยประโยชน์จากเรดาร์และลำเรือที่เป็นเหล็กกล้า ในบ่ายวันที่แปดของการออกทะเล เกาะซอนเดอร์สก็ปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันในม่านหมอก
เบนพาเรือเลาะตามหน้าผาสูงตระหง่านไปจนสุดหาดด้านเหนือแล้วทอดสมอ ช่างภาพ เรนัน ออซเติร์ก พลันตะโกนโหวกเหวกมาจากสะพานเดินเรือ “มาดูนี่กันก่อน!” เมฆรูปจานบินวาววับก้อนหนึ่งปรากฏขึ้นบนท้องฟ้ากลางคืนเหนือเมานต์ไมเคิล ตอนแรกตาผมมองเห็นเป็นสีแดงกับสีม่วงเข้มตัดกับฟ้ามืดสนิทที่มีดวงดาวพร่างพราว มันดูคล้ายแสงสุดท้ายจากดวงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้า เพียงแต่พระอาทิตย์ตกไปแล้วตั้งแต่เมื่อสองชั่วโมงก่อน ผมตระหนักได้ทีละน้อยว่า แสงนั้นมาจากด้านในภูเขาไฟ ขณะที่เราจ้องกันอยู่นั้น แถบสีสันเหล่านั้นเหมือนผันเปลี่ยนทีละน้อย สีแดงอิฐกลายเป็นสีแดงสดแล้วก็เป็นส้ม สีม่วงเข้มจางลงเป็นม่วงอ่อน
ขณะยืนอยู่ข้างนอกท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บยามค่ำคืน สองมือจับราวเรือไว้แน่น เอ็มมาตัวสั่นสะท้าน ทั้งจากความเย็นเยือกและความตื่นเต้น การแสดงแสงสีโชติช่วงสาดกระทบใต้ท้องเมฆที่เราเป็นประจักษ์พยานอยู่ เป็นสัญญาณแท้จริงครั้งแรกถึงสิ่งที่เธอเดินทางมาครึ่งโลกเพื่อค้นหา นั่นคือลาวา
เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน
ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก
แปล อัครมุนี วรรณประไพ
ติดตามสารคดี ไฟกับน้ำแข็ง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/592490