“ไฟ” กับ “น้ำแข็ง” ตามล่า ” ทะเลสาบลาวา ” สุดขอบโลก

“ไฟ” กับ “น้ำแข็ง” ตามล่า ” ทะเลสาบลาวา ” สุดขอบโลก

นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า เกาะภูเขาไฟแห่งหนึ่งที่ผุดขึ้นจากมหาสมุทรแอตแลนติตอนใต้ มี ทะเลสาบลาวา หายาก เพื่อศึกษาเกาะนี้ คณะสำรวจต้องเสี่ยงเดินทางไปยังสถานที่ไกลโพ้นที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

บนสันเขาปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ราว 900 เมตรเหนือระลอกคลื่นกราดเกรี้ยวของน่านน้ำแอตแลนติกตอนใต้ เอ็มมา นิโคลสัน สูดหายใจเข้าลึกๆ จากหน้ากากช่วยหายใจ ตรวจสอบสายรัดนิรภัยสำหรับปีนเขา แล้วก้าวเข้าไปในปากที่อ้ารออยู่ของภูเขาไฟที่มีพลังคุกรุ่น

ตอนนั้นเป็นเวลาหลังบ่ายสี่เล็กน้อย บนขอบยอดเขาที่ลมกระโชกของเมานต์ไมเคิลอันตระหง่านเหนือ เกาะซอนเดอร์ส เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มเกาะเซาท์แซนด์วิชที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ และเป็นหนึ่งในสถานที่ตัดขาดห่างไกลที่สุดในโลกหากใครสักคนจะเดินทางไป หรือราว 800 กิโลเมตรจากสถานีวิจัยถาวรใกล้สุดบนเกาะ เซาท์จอร์เจีย และกว่า 1,600 กิโลเมตรจากเส้นทางเดินเรือขนส่งใกล้ที่สุด

แต่หลังวางแผนมาหลายปีและผจญการเดินทางอันทรหด 2,250 กิโลเมตร ผ่านท้องทะเลปั่นป่วนและ มีภูเขาน้ำแข็งคอยรังควานอยู่ทั่วไปหมด นักภูเขาไฟวิทยาวัย 33 ปี ใกล้ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่จะนำ คณะสำรวจเข้าไปในปล่องภูเขาไฟของเมานต์ไมเคิลเต็มทีแล้ว เธอหวังจะรวบรวมเบาะแสใหม่ๆ เกี่ยวกับกระบวนการที่ดำเนินลึกลงไปในระบบท่อส่งใต้พิภพของเรา ซึ่งไม่เคยมีใครเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

ทะเลสาบลาวา
เมานต์ไมเคิลตระหง่านเหนือเกาะซอนเดอร์สที่ปกคลุมด้วยทะเลหมอก แม้ตั้งอยู่ในภูมิภาคภูเขาไฟที่มีกิจกรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เกาะซึ่งอยู่ห่างจากจะงอยทวีปอเมริกาใต้ราว 2,400 กิโลเมตรแห่งนี้ แทบไม่มีนักวิจัยไปเยี่ยมเยือน
ทะเลสาบลาวา, เพนกวิน
เพนกวินรวมฝูงกันตรงเชิงเขาที่ปกคลุมด้วยเถ้าถ่านของเกาะซอนเดอร์ส หนึ่งใน 11 เกาะของหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช กลุ่มเกาะนี้เป็นที่อาศัยของคอโลนีเพนกวินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจำนวนหนึ่ง และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเพนกวินหลายชนิด ทั้งชินสแตรป เจนทู อาเดลี และมักกะโรนี มากกว่าสามล้านตัว

แวบแรกที่เห็น ด้านในขอบปล่องภูเขาไฟดูไร้พิษภัย เผยให้เห็นทางลาดหิมะที่ไม่ชันไปกว่าลานสกีระดับกลาง เอ็มมากับผู้ร่วมวิจัย โจเอา ลาเจส ค่อยๆโรยตัวอย่างระมัดระวังลงไปตามเชือกปีนเขา ซึ่งเป็นสิ่งเชื่อมโยงกับ โลกภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งคู่เข้าใจดีว่า จุดใดจุดหนึ่งเบื้องล่างที่ภูมิประเทศซึ่งดูไม่มีพิษสงนี้ อาจสิ้นสุดลงตรงผาน้ำแข็งที่ไม่มั่นคงโผล่ยื่นออกมาจากขอบปล่องด้านในของภูเขาไฟก็ได้

โจเอากับเอ็มมาไต่ลึกลงไปในภูเขา พร้อมหิ้วคอมพิวเตอร์กับกล้องถ่ายภาพความร้อนไปด้วย เบื้องล่าง เนินสกีที่ลาดเล็กน้อยนั้น จู่ๆก็หายวับไปกลายเป็นเวิ้งอากาศมืดสลัวและความลึกที่ไม่อาจหยั่งได้สู่ก้นปล่องภูเขาไฟ ขณะมองไปรอบๆ เอ็มมาดวงตาเบิกกว้างเล็กน้อย เธอเข้าใจดีว่า ตนเองกำลังยืนอยู่ด้านในขอบปล่องไฟของโลก สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยรอยแผลเป็นจากการสำแดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของธรรมชาติ

แรงกระตุกจากเชือกที่โยงอยู่กับสายรัดนิรภัยทำให้เธอใจชื้นขึ้น เอ็มมารู้ว่าเชือกเส้นนั้นเชื่อมอยู่กับ “สมอบก”ที่ไว้วางใจได้มากที่สุดแล้ว นั่นคือไกด์ปีนเขา การ์ลา เปเรซ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เอ็มมากับการ์ลากลายเป็นเพื่อนสนิท เมื่อใดก็ตามที่เอ็มมาหายไปจากสายตา การ์ลารู้ได้ทันทีว่าต้องมีชะง่อนผาน้ำแข็งซุ่มอยู่ตรงไหนสักแห่งข้างหน้าเพื่อนของเธอ

ทะเลสาบลาวา
นักภูเขาไฟวิทยาชาวอังกฤษ เอ็มมา นิโคลสัน มองออกไปจากสะพานเดินเรือของเรือออสเตรลิส ช่วงที่คณะสำรวจเดินทางเข้าใกล้เกาะซอนเดอร์ส เธอเคยพยายามไต่ขึ้นสู่ยอดภูเขาไฟของเกาะนี้มาแล้วเมื่อปี 2019 แต่สภาพอากาศแบบพายุหิมะบังคับให้ต้องหันหลังกลับ
ทะเลสาบลาวา, ภูเขาไฟ
เมานต์ไมเคิลสำรอกส่วนผสมของแก๊สหลายชนิดออกมาในวันท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงิน ขณะทีมสำรวจเตรียมลำเลียงอุปกรณ์ไปที่เกาะ เบน วอลลิส กัปตันเรือ ออสเตรลิส เฝ้าติดตามสภาพอากาศแปรปรวนของแอตแลนติกตอนใต้อย่างใกล้ชิด เพราะรู้ดีว่ามีช่องให้ผิดพลาดน้อยมาก “อย่าหวังว่าจะไม่มีใครมาช่วย ถ้าคุณเจอปัญหา”

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 1775 กัปตันเจมส์ คุก ผู้อ่อนล้ายืนอยู่ที่ราวท้ายเรือ เรโซลูชัน ของเขา จ้องมองไปยังเกาะอ้างว้างปกคลุมไปด้วยหิมะเกาะหนึ่ง นักเดินเรือผู้นี้ออกล่องทะเลในการเดินทางเพื่อค้นพบเที่ยวที่สองมาสองปีครึ่งแล้ว และภูมิประเทศชวนสังหรณ์ถึงเหตุร้ายก็สอดคล้องกับอารมณ์ของเขาในขณะนั้น “เป็นชายฝั่งที่เลวร้ายที่สุดในโลก” กัปตันคุกประกาศก้องถึงกลุ่มเกาะที่เขาตั้งชื่อให้ว่า หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช

เวลาล่วงเลยมาอีกหลายทศวรรษ นักวิทยาศาสตร์จึงทราบว่า เกาะหนึ่งในหมู่เกาะแห่งนี้ คือเกาะซอนเดอร์ส มีแหล่งความร้อนของตัวเอง กระนั้น ก็ยังไม่มีใครสนใจพอจะไปเยือนเกาะไกลปืนเที่ยงที่มีแต่น้ำแข็งกับลมพัดกระโชก

“หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชเป็นเกาะที่ไปยาก ขึ้นฝั่งยาก ทำงานบนนั้นก็ยากครับ เราถึงต้องมีเหตุผลดีสุดๆ เพื่อไปที่นั่น” จอห์น สเมลลี ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าว แต่ถึงอย่างนั้น หมู่เกาะซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอเมริกาใต้ที่มุดลงใต้แผ่นเปลือกโลกเซาท์แซนด์วิช กลับเป็นบริเวณที่มีกระบวนการแปรสัณฐานเรียบง่ายที่สุดในโลกสำหรับการศึกษาภูเขาไฟวิทยา

ทะเล
ช่างภาพ ไรอัน วาลาเสก สวมชุดดรายสูทลงว่ายในน้ำเย็นจัดจากเรือ ออสเตรลิส ทีมสำรวจต้องพึ่งพาชุดดรายสูทเพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น ทั้งขณะเดินทางด้วยเรือบดจากเรือใหญ่ไปยังเกาะซอนเดอร์ส และเมื่อปฏิบัติงานในห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ซึ่งอุณหภูมิอาจลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
ทะเลสาบลาวา
ที่เบสแคมป์ ทีมสำรวจก่อกำแพงหิมะเพื่อปกป้องเต็นท์จากลมพายุ ความท้าทายที่ใหญ่กว่าคือน้ำดื่ม พวกเขาวางแผนละลายหิมะเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มและทำอาหาร แต่พบว่าหิมะที่นั่นปนเปื้อนสารเคมีต่างๆ จากภูเขาไฟ จึงต้องลำเลียงน้ำจากเรือ ออสเตรลิส มาขึ้นฝั่ง

ผมติดต่อสเมลลีเพราะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้กันว่าเคยไปเยือนเกาะซอนเดอร์สมาแล้ว ระหว่างการสำรวจ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 1997 ระหว่างเก็บตัวอย่างบริเวณท้ายเกาะด้านเหนือ เขาก็สังเกตเห็นว่า สายควันที่พวยพุ่งออกจากเมานต์ไมเคิลดูหนาทึบผิดปกติ พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เขานึกถึงเมานต์เอเรบัส ภูเขาไฟในแอนตาร์กติกาที่มีทะลสาบลาวาถาวร สเมลลีสอบถามเพื่อนคนหนึ่งที่องค์การสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งสหราชอาณาจักรว่า ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถระบุความผิดปกติเกี่ยวกับความร้อนหรืออุณหภูมิรอบเมานต์ไมเคิลได้หรือไม่ ด้วยเครื่องวัดรังสีผ่านดาวเทียม พวกเขาทำงานเพื่อระบุสัญญาณความร้อนที่สอดคล้องกับปล่องบนยอดภูเขาไฟเมานต์ไมเคิล และคิดว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงถึงราว 300 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยแห่งนี้เป็นทะเลสาบลาวา ซึ่งเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟวิทยาที่พบยากที่สุด

แม้จะมีภูเขาไฟมีพลังที่เข้าข่ายราว 1,350 แห่งทั่วโลก แต่มีเพียงแปดแห่งที่ยืนยันแล้วว่า มีทะเลสาบลาวาถาวรอยู่ โดยทั่วไป หลังภูเขาไฟปะทุ ลาวาที่สัมผัสกับบรรยากาศจะเย็นตัวลงเป็นหินแข็งอุดปิดปล่อง กักเก็บความร้อนกับแก๊สไว้ข้างใน (ซึ่งอาจทำให้ภูเขาไฟพร้อมระเบิดอีกครั้ง) แต่ในกรณีภูเขาไฟปล่องเปิด ท่อหรือปล่องที่เชื่อมระหว่างผิวโลกกับแหล่งกักเก็บแมกมา ลึกลงไปเบื้องล่างยังเปิดอยู่ การที่ทะเลสาบลาวาจะก่อตัวได้นั้น ต้องมีความดันมหาศาลพอจะดันลาวาขึ้นมาได้สุดทางจนถึงผิวด้านบน ทำนองเดียวกับความดันน้ำในน้ำพุ แต่การที่ทะเลสาบลาวาจะคงสภาพอยู่ได้นั้น ความดันดังกล่าวต้องคงอยู่อย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนระหว่างความร้อนที่แผ่ขึ้นมาจากปล่องแมกมากับอัตราการเย็นตัวลง ต้องสมดุลอย่างสมบูรณ์ จึงจะรักษาลาวาให้อยู่ในสถานะหลอมเหลวได้

เมื่อปี 2019 นักภูเขาไฟวิทยาอีกทีมหนึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมความละเอียดสูงปรับปรุงการค้นพบโดยทีมของ สเมลลี และคำนวณพบค่าผิดปกติที่มีพื้นที่กว้างกว่า 9,940 ตารางเมตรบนพื้นผิวปากปล่อง เช่นเดียวกับสเมลลี พวกเขาประเมินว่าเป็นทะเลสาบลาวา

ทะเลสาบลาวา
ท่ามกลางกระแสลมโหยหวนบนเมานต์ไมเคิล ผู้เขียน เฟรดดี วิลคินสัน วิทยุติดตามสภาพอากาศล่าสุดกับลูกเรือ ออสเตรลิส ระหว่างการพยายามไต่ขึ้นไปที่ขอบปล่องภูเขาไฟรอบแรก
ทะเลสาบลาวา
ท่ามกลางหมอก ลม และหิมะโหมแรงบนขอบยอดเขาเมานต์ไมเคิล นิโคสัน (ทางซ้าย) และเคียแรน วูด วิศวกร ใช้แล็ปท็อปเชื่อมต่อกับกล้องถ่ายภาพความร้อน เพื่อมองหาสัญญาณของลาวาภายในปล่องภูเขาไฟ

การศึกษาชิ้นนี้สะดุดใจเอ็มมา นิโคลสัน อาจารย์ด้านภูเขาไฟวิทยาซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัย คอลเลจลอนดอน แม้ภาพดาวเทียมจะแม่นยำเพียงใด เธอรู้ว่าหนทางเดียวที่ยืนยันได้ว่า เมานต์ไมเคิลมีทะเลสาบลาวาอยู่จริงให้ศึกษาวิจัยต่อไปนั้น ก็คือต้องปีนขึ้นไปที่ขอบปล่อง และเก็บตัวอย่างจากด้านในของปล่องภูเขาไฟ

ในปี 2020 เอ็มมาเข้าร่วมกับคณะสำรวจบนเรือใบเสากระโดงเดียว ลำเรือเป็นอะลูมิเนียม เพื่อสำรวจหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิช หลังทอดสมออยู่นอกชายฝั่งเกาะซอนเดอร์ส เอ็มมากับผู้ร่วมวิจัย เคียแรน วูด และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกหลายคนพยายามปีนขึ้นเมานต์ไมเคิลครั้งแรก แต่ต้องหันหลังกลับลงมาท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้าย กระนั้น การตัดสินใจหันหลังกลับก็น่าเจ็บปวดไม่น้อย เธอบอกว่าลงจากเมานต์ไมเคิลมาพร้อมกับ “ความค้างคาใจ”

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมไปสบทบกับเอ็มมา นักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เพื่อเดินทางไปยังเกาะซอนเดอร์สอีกครั้ง เธอรวบรวมคณะสำรวจเพื่อปีนเมานต์ไมเคิลต่อจากครั้งแรกให้สำเร็จ รวมทั้งเพื่อศึกษาปล่องภูเขาไฟในสถานที่จริงเป็นครั้งแรกด้วยเรือ ออสเตรลิส ซึ่งเป็นเรือใบติดเครื่องยนต์ ลำเรือ เป็นเหล็กกล้า จอดรออยู่ที่เมืองพอร์ตสแตนลีย์ มีกัปตันเรือชื่อ เบน วอลลิส วัย 43 ปี เป็นชาวออสเตรเลีย

ทะเลสาบลาวา
มัคคุเทศก์ปีนเขา การ์ลา เปเรซ นำทีมสำรวจในช่วงท้ายสุด เมื่อพวกเขากลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ไปยืน บนยอดเมานต์ไมเคิล ด้านหลังเปเรซ นิโคลสันหิ้วอุปกรณ์ขนาดกระเป๋าเอกสารที่ออกแบบมาสำหรับเก็บตัวอย่างและวัดค่าแก๊สภูเขาไฟที่ปลดปล่อยจากปล่องภูเขาไฟ
ทะเลสาบลาวา
เมื่อปีนลงไปในปล่องภูเขาไฟของเมานต์ไมเคิลแล้ว นิโคลสันและนักภูเขาไฟวิทยา โจเอา ลาเจส พยายามจ้องลง ไปด้านในเพื่อมองหาทะเลสาบลาวา ผนังลาดชันของปล่องภูเขาไฟกับชั้นเถ้าถ่านบอกเล่าถึงการระเบิดก่อนหน้า นิโคลสันบอกว่า “เห็นได้ชัดว่ามีประวัติการระเบิดที่รุนแรงกว่าที่เราเห็นตอนนี้อย่างมาก”

หากเทียบกับของกัปตันคุก คณะสำรวจของเราดูเล็กจ้อยไปถนัด เบนกับลูกเรือสองคนทำหน้าที่เป็นฝ่ายขนส่ง เอ็มมากับเพื่อนร่วมงาน โจเอา ลาเจส นักธรณีเคมีและนักภูเขาไฟวิทยาวัย 30 ปี และเคียแรน วูด วิศวกรอวกาศและผู้เชี่ยวชาญการบินโดรน วัย 37 ปี รวมเป็นทีมนักวิทยาศาสตร์ ช่างภาพ เรนัน ออซเติร์ก วัย 43 ปี นำทีมสื่อ สี่คน ส่วนการ์ลา เปเรซ วัย 39 ปี นักไต่เขาชาวเอกวาดอร์และหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่พิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์ได้โดยไม่อาศัยออกซิเจนเสริม จะเป็นผู้นำทีมช่วงไต่เขาในการเดินทางครั้งนี้

“สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชต่างจากที่อื่นก็คือ มันอยู่ไกลจากความเจริญครับ” เบนอธิบาย พูดอีกนัยหนึ่งคือ หมู่เกาะนี้อยู่ไกลเกินพิสัยที่อากาศยานชายฝั่งจะบินไปถึง และเป็นภูมิภาคที่มีเรือไม่กี่ลำแล่นผ่าน “จะไม่มีใครมาช่วยคุณ ถ้าคุณเจอปัญหา” เขาเสริม

ในวันแรกที่ออกทะเล มีสายลมพัดเบาๆ พวกเราสวมเสื้อกันลมเดินเตร่อยู่บนดาดฟ้าเรือ แต่อุณหภูมิเย็นลง ทีละนิดทุกวัน เราจึงใช้เวลาอยู่เหนือดาดฟ้าเรือกันน้อยลง ใต้ดาดฟ้า คน 12 คนเรียนรู้ทักษะพื้นฐานของการ เอาตัวรอดกลางทะเลในเรือเหล็กยาว 23 เมตร

ในเต็นท์ที่กระพือพัดเพราะแรงลม นิโคลสันเติมสารช่วยในการคงตัวเพื่อรักษาตัวอย่างน้ำที่เก็บจากใต้พลูมแก๊สของ ภูเขาไฟเพื่อนำกลับไปศึกษาในห้องปฏิบัติการ เรายังมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพระยะยาว ที่เกิดจากการสัมผัสกับจุลธาตุที่ปลดปล่อยจากภูเขาไฟปล่องเปิด
คลื่นที่มีก้อนน้ำแข็งปะปนอยู่ลูกหนึ่งซัดใส่หัวช่างภาพ เรนัน ออซเติร์ก ขณะเรือบดจอดรอรับเขากับทีมสำรวจ ที่เหลือกลับไปยังเรือ ออสเตรลิส สภาพคลื่นลมอันตรายบีบให้ทีมสำรวจต้องว่ายน้ำฝ่าคลื่นแรงที่ซัดเข้าฝั่งเพื่อออกจาก เกาะซอนเดอร์ส

ในวันที่ห้าของการออกทะเล เราเห็นเกาะเซาท์จอร์เจีย ซึ่งเคยเป็นชุมทางล่าวาฬอันรุ่งเรืองมาก่อน แต่เซาท์จอร์เจียอยู่ค่อนทางก่อนถึงเกาะซอนเดอร์ส เราแวะหยุดสั้นๆที่เมืองท่ากริตวิเกนเพื่อรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สหราชอาณาจักร ผู้ดูแลเกาะเซาท์จอร์เจียและหมู่เกาะเซาท์แซนด์วิชในฐานะเขตคุ้มครองทางทะเล จากนั้นก็ทิ้งที่พักอันปลอดภัยของชายฝั่งเกาะเซาท์จอร์เจีย แล้วมุ่งหน้าสู่น่านน้ำแอตแลนติกตอนใต้ ภูเขาน้ำแข็งเริ่มปรากฏให้เห็นที่เส้นขอบฟ้าขมุกขมัว อาศัยประโยชน์จากเรดาร์และลำเรือที่เป็นเหล็กกล้า ในบ่ายวันที่แปดของการออกทะเล เกาะซอนเดอร์สก็ปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันในม่านหมอก

เบนพาเรือเลาะตามหน้าผาสูงตระหง่านไปจนสุดหาดด้านเหนือแล้วทอดสมอ ช่างภาพ เรนัน ออซเติร์ก พลันตะโกนโหวกเหวกมาจากสะพานเดินเรือ “มาดูนี่กันก่อน!” เมฆรูปจานบินวาววับก้อนหนึ่งปรากฏขึ้นบนท้องฟ้ากลางคืนเหนือเมานต์ไมเคิล ตอนแรกตาผมมองเห็นเป็นสีแดงกับสีม่วงเข้มตัดกับฟ้ามืดสนิทที่มีดวงดาวพร่างพราว มันดูคล้ายแสงสุดท้ายจากดวงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้า เพียงแต่พระอาทิตย์ตกไปแล้วตั้งแต่เมื่อสองชั่วโมงก่อน ผมตระหนักได้ทีละน้อยว่า แสงนั้นมาจากด้านในภูเขาไฟ ขณะที่เราจ้องกันอยู่นั้น แถบสีสันเหล่านั้นเหมือนผันเปลี่ยนทีละน้อย สีแดงอิฐกลายเป็นสีแดงสดแล้วก็เป็นส้ม สีม่วงเข้มจางลงเป็นม่วงอ่อน

ขณะยืนอยู่ข้างนอกท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บยามค่ำคืน สองมือจับราวเรือไว้แน่น เอ็มมาตัวสั่นสะท้าน ทั้งจากความเย็นเยือกและความตื่นเต้น การแสดงแสงสีโชติช่วงสาดกระทบใต้ท้องเมฆที่เราเป็นประจักษ์พยานอยู่ เป็นสัญญาณแท้จริงครั้งแรกถึงสิ่งที่เธอเดินทางมาครึ่งโลกเพื่อค้นหา นั่นคือลาวา

ทะเลสาบลาวา
เปเรซดูพระอาทิตย์ตกจากหัวเรือ ออสเตรลิส ขณะเรือถูกคลื่นสูง 4.5 เมตรโยนจนลอย การเดินทางขากลับจาก เกาะซอนเดอร์สไปยังเมืองสแตนลีย์ในหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ใช้เวลา 11 วัน โดยลูกเรือทั้งหมดต้องสู้กับกระแสลมแรงและทะเลปั่นป่วน

เรื่อง เฟรดดี วิลคินสัน 

ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก 

แปล อัครมุนี วรรณประไพ

ติดตามสารคดี ไฟกับน้ำแข็ง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/592490


อ่านเพิ่มเติม การปะทุของ ภูเขาไฟใต้ทะเล กำลังเกิดขึ้น – ภารกิจสืบเบาะแสใต้ทะเล

ภูเขาไฟใต้ทะเล

Recommend