เมื่อนักวิจัยสัตว์ป่าระดับโลกขนกล้อง Camera Trap ไปชวนกระเหรี่ยงทุ่งใหญ่สำรวจสัตว์ป่าริมไร่ใกล้บ้าน
“แน่นอน ในฐานะ mammal biologist ก็ต้องเป็นเสืออยู่แล้ว”
ปู่เดฟ – Dr. L J David Smith ตอบอย่างอารมณ์ดี ระหว่างนั่งคุยกันที่ริมห้วยโรคี่ และนี่คือ เหตุผลที่ทำให้เราดั้นด้นเข้ามาถึงที่นี่
หมู่บ้านกระเหรี่ยงเก่าแก่ ชายขอบทางตะวันตกสุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พร้อมด้วยดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ผู้บุกเบิกงานวิจัยนิเวศวิทยาของเสือโคร่งระยะยาวในบ้านเรา และ Terry Allendorf ผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีลุงอ๋อย ชาญชัย พินทุเสน และทีมคนหนุ่มสาวแห่งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นเจ้าภาพ
โครงการเล็กๆ ที่นักชีววิทยาสัตว์ป่าอาวุโส ชาวอเมริกัน ริเริ่มขึ้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อสำรวจสัตว์ป่ารอบๆ หมู่บ้าน และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่หนักแน่นเชื่อถือได้ จึงใช้เครื่องไม้เครื่องมือ และอาจรวมไปถึงระเบียบวิธีที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งกล้องดักถ่ายภาพ ก็เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นชนิดนั้นในการให้ได้ข้อมูล
ในมุมมองของนักวิจัย และนักชีววิทยาสัตว์ป่า การมีเหยื่อขนาดใหญ่ที่หนาแน่น ชุกชุม บอกได้ถึงโอกาสของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่ง ขณะเดียวกัน การพบเห็นสัตว์ป่า หรือร่องรอยใกล้ชุมชน หรือแปลงเกษตรกรรมอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีของแนวคิดที่ค่อนข้าง Idealism คือ คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งที่ผ่านมา แทบไม่เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นจริง
ประสบการณ์ทำงานด้านเสือโคร่งมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ปู่เดฟ ไม่ได้คิดว่าจะเห็นเสือเดินป้วนเปี้ยนรอบหมู่บ้าน โดยผู้คนยังคงใช้ชีวิตกันเป็นปกติสุข หากต้องการนำ “วิธีคิด” อีกแบบในการทำความเข้าใจสัตว์ป่า — ซึ่งหมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มาสร้างมุมมมองใหม่ให้กับคนในท้องถิ่น ส่วนดร.ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะที่ปรึกษา ก็สนใจว่า จะสามารถพบร่องรอยสัตว์ป่าได้หรือไม่ และใกล้หมู่บ้านเพียงใด โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กท่ามกลางพื้นที่ชายขอบป่าซึ่งมีกิจกรรมมนุษย์หนาแน่นเช่นนี้
โชคดีที่หมู่บ้านเกาะสะเดิ่ง รวมถึงอีก 4 หมู่บ้าน มีกลุ่มเยาวชนที่ริเริ่มจัดตั้งโดยมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ในชื่อโครงการ One Community ซึ่งไม่เพียงต้องการบอกว่า คุณไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ หากคุณยังเป็น “หนึ่งเดียวกัน” เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกด้วย พร้อมกับจัดการอบรมเยาวชนในการสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตตามความสนใจขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำมาก่อนการระบาดของโควิด19
กลุ่มเยาวชน ผ่านประสบการณ์เรียนรู้ ทำความเข้าใจธรรมชาติมาบ้างแล้ว นำมาซึ่งกิจกรรมสำรวจไม้ใหญ่ ความหลากหลายของปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ละแวกหมู่บ้าน จนเกิดเป็นฐานข้อมูลความหลากหลายที่เผยแพร่ในรูปของโปสเตอร์ของปลา กบเขียด ต้นไม้ใหญ่ที่พบได้ในชุมชน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น ค่อนข้างต่างออกไป
ในการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เราให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ด้วย นอกเหนือจากการจำแนกชนิด เนื่องจากการพบเห็นตัวสัตว์ป่าโดยตรงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก การสำรวจร่องรอยจึงมีความจำเป็น การสำรวจร่องรอยเหล่านี้เองที่บอกถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ กับสภาพแวดล้อม เช่นว่า เส้นทางด่านที่ใช้ สภาพภูมิประเทศ ลักษณะพืชพันธุ์ ชนิดของป่า ไปจนถึงกองขี้ และสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในนั้น ข้อมูลเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้เราประเมินชนิด ยังใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกตำแหน่งที่จะติดต้องกล้องดักถ่ายด้วย
และหากเป็นการสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พื้นที่รอบชุมชน ลักษณะความสัมพันธจะเป็น “ความสัมพันธ์เชิงผลกระทบ” ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ท้าทาย และยิ่งเราให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกัน ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า การศึกษาวิจัยความสัมพันธ์เชิงผลกระทบ จะยิ่งทวีมีความสำคัญ
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เล่าภาพรวมของความหลากหลาย และชุกชุมของสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งเป็นผลจากการทำงานสำรวจอย่างมีแบบแผนมานานเกือบ 20 ปี โดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ร่วมกับพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จากกล้องดักถ่ายที่มุ่งเน้นเสือโคร่ง แต่ก็ได้ภาพสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เข้ามาด้วย และมีมากพอจนสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ
ด้วยข้อจำกัดของภาระหน้าที่ และเป้าหมายของการติดตามศึกษาวิจัยซึ่งเน้นใจกลางพื้นที่อนุรักษ์ ในบริเวณกึ่งเกษตรกรรมใกล้ชุมชนนอกเขตอนุรักษ์ เป็นจุดที่ไม่มีการติดตามสำรวจ ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.เดฟ มีแนวคิดเอนเอียงไปในทางเชื่อว่า คนทั่วๆ ไปน่าจะร่วมในการวิจัยธรรมชาติได้ เห็นว่า ถ้าชุมชนมีความพร้อมที่จะทำการสำรวจด้วยตนเองก็อาจช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้
และหากความคาดหวังสูงสุดนี้ เป็นจริงได้ก็อาจช่วยเติมเต็มการติดตามศึกษาประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ใกล้ชุมชน ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของสัตว์ป่าได้ในภาพใหญ่ ถ้าข้อมูลที่ได้มีความน่าเชื่อถือ
หากสำหรับดร.ศักดิ์สิทธิ์ ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานในภาคสนามยาวนานที่สุดคนหนึ่งของประเทศจนเกษียณอายุราชการ พูดเสมอว่า การวิจัยสัตว์ป่าเป็น “ตัวชี้วัด” ความสำเร็จหรือล้มเหลวของระบบป้องกันพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด กล่าวคือ ถ้าอ้างว่า การลาดตระเวนมีประสิทธิภาพ การสำรวจวิจัยสัตว์ป่า ก็ต้องให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน คือ ความชุกชุมไม่ลดลง
“ผลสำเร็จของการลาดตระเวนไม่ได้วัดกันว่าเดินกี่หมื่นกิโลต่อปี แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่า สัตว์ป่าได้รับการปกป้องจนเพิ่มจำนวนขึ้นจริง ซึ่งการตรวจติดตามประชากรที่ทำสม่ำเสมอทุกปี ได้รับการยอมรับจนนำมาใช้อ้างอิงได้”
นอกจากนี้ ถ้อยคำติดปากที่นิยมพูดกันเรื่อง “คนอยู่กับป่า –อย่างยั่งยืน” ก็จะสามารถตรวจวัดได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้ายั่งยืนจริง นอกจากจำนวนสัตว์ป่าไม่ลดลง ระยะห่างที่สัตว์ป่าเข้ามาปรากฎตัวใกล้ชุมชน จะต้องใกล้มากขึ้น เช่นจากที่เคยพบเห็นร่องรอยในระยะ 5 ก.ม.จากชุมชน อาจเหลือเพียง 1 ก.ม. หรือจากเดิมที่แทบไม่พบสัตว์ป่าเลยเพราะมีการล่าอย่างหนัก ก็เริ่มพบเห็นร่องรอยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ สัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ปรากฎตัวใกล้ชุมชน กำลังเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางแก้ไขอย่างสิ้นหวัง
ทุกครั้งที่สัตว์ป่าเข้ามาใกล้ชุมชน ล้วนเกี่ยวข้องกับการหาอาหาร แต่เรามักเหมารวมว่า สัตว์ป่าที่ออกมายังพื้นที่เกษตรกรรม เป็นตัวการทำลายผลผลิตทั้งหมด
“งานวิจัยที่ผมริเริ่มส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยใช้ความรู้ที่เกิดขึ้น แม้แต่การวิจัยเสือโคร่ง ก็เป็นการทำงานเพื่ออนุรักษ์ถิ่นอาศัยขนาดใหญ่ ไม่ใช่อนุรักษ์ที่ตัวเสือ เพราะอยากให้มีเสือ แต่เราพบว่า ความพยายามอนุรักษ์เสือโคร่งจำเป็นต้องอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่เท่านั้น ผลของมันก็คือ นโยบายอนุรักษ์ผืนป่าต่อเนื่องที่ใหญ่พอที่จะเกิดประโยชน์ให้กับคนทั้งประเทศ”
ในบางครั้ง ท่ามกลางความสัมพันธ์เชิงผลกระทบ การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่จะช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิด หรือเรื่องเล่าที่เกิดจากมายาคติ ซึ่งดร.ศักดิ์สิทธิ์ คาดหวังว่า เราจะไปให้ถึงจุดนั้น
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษอย่างอดทน เพื่อที่จะจำแนกลูกไม้ในกองขี้อีเห็น หรือชิ้นกระดูกของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในกองขี้ของสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กเพื่อบอกให้ได้แน่ว่า คือตัวอะไร เจาะจงลงไปถึงระดับชนิด ไม่ใช่แค่สกุล
“ผมผลักดันให้มีการวิจัยนิเวศวิทยาของเสือปลา” เขายกตัวอย่าง
“ในทางหนึ่ง ก็เพื่ออนุรักษ์ เพราะเสือปลาเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หนักหนากว่าเสือโคร่งเสียอีก เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำที่เสือปลาอาศัยอยู่ ซ้อนทับกับคน และบางพื้นที่ชาวบ้านก็ไม่ชอบเพราะเชื่อว่าเสือปลาชอบไปขโมยกินปลาในบ่อ”
ถ้าการวิจัยนิเวศวิทยาเข้มข้นจนจำแนกได้ว่า อาหารหลักที่เสือปลากินมากพอๆกับปลาก็คือ หนู ซึ่งเกษตรกรไม่ชอบ ส่วนปลานั้นจำแนกได้ละเอียดลึกลงไปว่า เป็นปลาอะไรในระดับspecies อาจเป็นปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ใช่ปลาในบ่อเลี้ยงทั้งหมด เนื่องจากลักษณะบ่อที่ลึกเกินไป เราก็จะช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดให้กับสัตว์นักล่าขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กับมนุษย์ได้ การรณรงค์ต่างๆ หรือมาตรการป้องกัน ก็สามารถทำได้อย่างถูกจุด แม่นยำ แก้ปัญหาได้
แต่ถ้างานวิจัย ไม่ได้ให้องค์ความรู้ใหม่ ผลิตซ้ำแต่ของเดิม มันก็ไม่สุดทาง เราก็ยังคงวนเวียนอยูในเขาวงกตแห่งมายาคติต่อไป โดยไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องใดได้เลย ทั้งๆ ใช้เงินไปไม่น้อยกับการอ้างทำวิจัย
สำหรับที่นี่ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ ถ่อมเนื้อถ่อมตัวของชาวบ้านเกาะสะเดิ่ง กับภาระกิจใหม่นี้ จึงดูเป็นงานท้าทายอยู่พอสมควร เพราะกลุ่มเยาวชนต้องเรียนรู้กระบวนการเก็บข้อมูลในแบบที่ค่อนข้างมีแบบแผน ซึ่งแตกต่างจาก “เรื่องเล่า” ของการพบเห็นสัตว์ป่าที่คุ้นเคย ยิ่งกว่านั้นจากเรื่องราวที่ได้รับฟัง ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านเป็นจุดที่พบสัตว์ป่ามาวนเวียนมากที่สุด
คุณคงไม่อยากนั่งวิจัยตัวอะไรก็ตามที่เข้ามาแย่งข้าวของคุณไปกินก่อนที่จะได้เก็บเกี่ยว
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในขณะนี้ นอกจากการฝึกฝนทักษะให้กับกลุ่มเยาวชนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังวิเคราะห์ว่า เหตุใดจึงพบร่องรอยของสัตว์ป่าบางเบากว่าที่คาด
แต่ก็นั่นแหละ ถ้าผ่านจุดยากที่สุดนี้ไปได้ ในอนาคตเบื้องหน้า เราอาจได้ข้อเฉลยซึ่งเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชายป่ากับป่าจริงๆ ก็ได้
ไร่กาแฟแปลงเล็ก ณ หมู่บ้านชายขอบ
วัฒน์เป็นชาวเกาะสะเดิ่ง และเป็นสมาชิกคนสำคัญในกลุ่มเยาวชนทุ่งใหญ่ ในโครงการ One community นอกจากไร่ข้าวหมุนเวียนบนไหล่เขาที่เป็นความมั่นคงของครอบครัวแล้ว วัฒน์ยังเป็นเจ้าของไร่กาแฟด้วย
เมื่อแรกที่เขาสนใจกาแฟ สิบกว่าปีก่อน เกิดจากคำถามง่ายๆ ว่า
“เป็นไปได้ไหมที่เราจะกินกาแฟจากต้นที่เราปลูกเอง”
โรบัสต้าต้นเก่าไม่กี่ต้นรอบๆ บ้าน ที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกมานานตั้งแต่รุ่นพ่อ เก็บขายแบบลวกๆ ในราคากิโลกรัมละไม่ถึง 2 บาท ได้ถังละไม่กี่สิบบาท ทำอยู่ไม่กี่ปีหลายบ้านก็เลิกไป
“ถ้ามีคนมารับซื้อเข้าโรงงาน ก็แสดงว่ามันต้องกินได้”
วัฒน์ลองผิดลองถูกกับกาแฟต้นเก่าที่มีอยู่ มันปลูกด้วยวิถีธรรมชาติ เขาเลือกคัดเก็บแต่เชอรี่ที่สุกจัดอย่างประณีต ล้างทำความสะอาด ตากแห้ง ตำด้วยวิธีง่ายๆ นำมาคั่วแล้วชงดื่ม
ดูเหมือนพ่อจะสนุกไปด้วยกับเขา และนับจากวันนั้น สิบกว่าปีแล้วที่ครอบครัวนี้ไม่เคยเสียเงินแม้แต่บาทเดียวซื้อกาแฟสำเร็จรูปอีกเลย และโดยการช่วยเหลือของผองเพื่อน กาแฟโรบัสต้าของเขาค่อยๆ พัฒนา และนำออกไปให้โลกภายนอกได้รู้จัก ผ่านเทศกาลกาแฟที่จัดขึ้นทุกปีที่กรุงเทพฯ
กาแฟของวัฒน์ ได้รับคะแนนระดับ 80+ ขึ้นไปจากเวทีประกวดกาแฟ สม่ำเสมอทุกปี
ทุกวันนี้ กาแฟจากทุ่งใหญ่นเรศวร ในแบรนด์ Thungyai Quality Coffee และเหม่ย-ละ Mei-La ถูกจัดเป็นกาแฟพิเศษ มีที่ทางชัดเจน และราคาซื้อหาค่อนข้างดีตามมาตรฐาน ไม่ใช่เชอรี่รูดทั้งกิ่งใส่ถังขายโลละ 2 บาท เหมือนที่เคยเป็นอีกแล้ว
วิธีคิดของกระเหรี่ยงรุ่นใหม่แห่งเกาะสะเดิ่ง มีความน่าสนใจ ไม่ว่าภูมิหลังของมันจะมาจากอะไร เขาเล่าว่า กาแฟของเขาปลูกในที่ดินรอบๆ บ้านขนาดไร่เศษ ผลผลิตที่ได้จากต้นกาแฟไม่มากกว่า 200 ต้น ก่อให้เกิดรายได้ที่แน่นอน จำนวนหนึ่ง
วิธีคิดอย่างง่ายของคนทั่วไปด้านเกษตรที่ทำกันเสมอ เมื่ออยากขายได้เงินมากก็คือ ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต หากไม่ใช่สำหรับวัฒน์
“พื้นที่เท่านี้ ผมพอแล้ว” เขาตอบอย่างจริงจัง
ในโรงเรือนโล่งหลังเล็กๆ มีกระสอบเก็บกาแฟสารหลากหลายโปรเสส บ่งบอกถึงความสนุกของเจ้าของ หากแต่สาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ในท่าทีไม่อินังขังขอบนั้นก็คือ ความพยายามที่จะรักษา “มาตรฐาน” ให้กับผลผลิตขนาดเล็กของเขาเอาไว้ให้ได้ ไม่เพียงชิมเอง รับรู้ ชื่นชมกันเอง เขาส่งกาแฟที่ผลิตได้ไปประกวดในเวทีมาตรฐานที่กรุงเทพฯ ทุกปี และก็ได้คะแนนในระดับที่น่าพอใจ
ถ้าคุณไม่เพิ่มผลผลิตด้วยการ “ขยาย”พื้นที่ปลูกไม่รู้จบ ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมที่มนุษย์ใช้มาตลอดหลายพันปี คุณก็ต้องเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเท่าที่ได้นั้น วิธีนี้นับเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความเพียรสูง แต่วัฒน์ก็เลือก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมกาแฟจากทุ่งใหญ่ของเขา ต้องฝ่าฟันเส้นทางในหน้ามรสุมที่น้ำสูงเกือบมิดล้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อยกสูง เพื่อนำออกมาให้กรรมการได้ชิม
นอกจากผลิตกาแฟ ในฐานะสมาชิกกลุ่มเยาวชน เขายังออกสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตรอบหมู่บ้านทั้งปลาในลำห้วย กบเขียดงูที่พบ ตลอดจนหย่อมป่าดั้งเดิมติดชายไร่ เพื่อทบทวนความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากโครงการ นับเป็นอีกก้าวของการนำเอาความรู้ทางนิเวศวิทยามาปรับใช้กับวิถีดั้งเดิมของชุมชนริมน้ำ
การสำรวจความหลากหลายของปลา ไม่เพียงได้รู้จักชนิด แต่การเฝ้าติดตามต่อเนื่อง การพบเห็นปลาชนิดนั้นๆ ยังเป็นตัวบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ ที่คนเกาะสะเดิ่งและอีกหลายๆ หมู่บ้านในตำบลไล่โว่ต้องพึ่งพิง
การอพยพทวนน้ำขึ้นมาของปลาตะพากส้มในคืนเดือนหงายปลายหน้าแล้ง ก็พอให้อุ่นใจว่า สภาพลำน้ำยังไม่ได้ผิดแปลกไป ปลาหลายชนิด ขนาดตัวเต็มวัยเล็กกว่าปลายก้อย แต่ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำเพาะมากๆ เช่นลำห้วยเล็กๆ สายนี้ ก็เป็นเพียงถิ่นอาศัยตามธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่
เราเพิ่งตักน้ำจากห้วยโลคี่มาชงกาแฟ
อุณหภูมิที่พอดี ความหวาน แต่หนักแน่นแผ่กำซาบ ทิ้งเอกลักษณ์ของกลิ่นรสในคอ หรืออาฟเตอร์เทสต์ที่บางคนว่าเหมือนดอกไม้สีขาว บ้างก็ว่า คล้ายข้าวโพดอบเนย
ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเข้ามาถึงในรูปของการพัฒนา สิ่งปลูกสร้างที่ถูกคิดมาแล้วจากคนข้างนอก หลายต่อหลายครั้งได้กลายเป็นแค่ขยะกากปูนที่ไม่มีใครต้องการชั่วไม่นานหลังสร้างเสร็จ หากแต่สิ่งสำคัญ และจำเป็นที่ชุมชนแห่งนี้ต้องการ และควรจะได้รับ กลับมาไม่ถึง นั่นคือ โอกาส และการไม่เอาเปรียบ
ถ้าคุณอยู่ที่นี่มานานกว่าศตวรรษ โดยที่น้ำในลำห้วยยังสะอาดดีพอจนดื่มกินได้ ยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นปกติสุขตามอัตภาพ ขณะที่โลกเบื้องนอกนั้นแค่มีชีวิตปกติ น้ำ อาหาร แม้แต่อากาศหายใจยังย่อยยับ — ก็สมควรมิใช่หรือที่ใครก็ตามที่เข้ามาถึงควรจะนั่งลงรับฟังเรื่องราว และตระหนักถึงภูมิปัญญา แทนที่จะมั่นอกมั่นใจ ยัดเยียดให้คุณเปลี่ยนแปลงไปในแบบที่กำหนดให้ ….
เกาะสะเดิ่ง ไม่ใช่เกาะ
เกาะสะเดิ่ง ไม่ใช่เกาะ หากชื่อหมู่บ้านมาจากภาษากระเหรี่ยงว่า ถ่ง – สะ – เดิง
เป็นชื่อของต้นไม้ชายน้ำที่ดอกสวยเหมือนกระดิ่งของนางฟ้า เรียกว่า ต้นไคร้ย้อย
ถ่ง สะ เดิง กลายเป็นเกาะสะเดิ่ง คงเพราะใครสักคนคงสบายใจขึ้น ถ้าหมู่บ้านจะมีชื่อเรียกที่ฟังคุ้นหู และดูมีความหมายสำหรับคนไทยมากกว่าจะสนใจกับความหมายที่แท้จริง
เท่าที่ลำดับ คนเกาะสะเดิ่งอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 5 ชั่วคน เช่นเดียวกับชุมชนกระเหรี่ยงชายขอบด้านตะวันตกของทุ่งใหญ่นเรศวร ส่วนใหญ่ไม่นิยมเลี้ยงปศุสัตว์ แทบไม่มีแม้แต่ไก่ด้วยซ้ำไป ใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ ปลูกข้าวในไร่หมุนเวียนที่หยอดพร้อมธัญพืชอื่นๆ เผือก มัน ถั่ว งาพริก และไม้ดอกหอม สีสด ในขนาดพื้นที่ที่พอกินของแต่ละครัวเรือน ความมั่นคงแห่งชีวิตนับเป็นปีๆ จากปริมาณข้าวที่เกี่ยวได้ อาหารโปรตีนได้จากปลาในลำห้วย และซื้อจากภายนอกบ้างนานๆ หน ด้วยรายได้จากหมาก ทุเรียน มังคุด ไม้ผลที่ปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ และกาแฟ
สถิติการศึกษาในระดับปริญญาตรีของคนรุ่นใหมค่อนข้างสูงทีเดียว หลายคนได้ทำงานในเมืองใหญ่ แต่ก็มีบางส่วนที่กลับมาเป็นครู หรือเลือกวิถีเช่นเดียวกับบรรพบุรุษ ดังกรณีของวัฒน์
เดิมทีนั้น โครงการสำรวจสัตว์ป่ารอบหมู่บ้าน เป็นความพยายามสร้างกระบวนการรับรู้ใหม่เกี่ยวกับสัตว์ป่าให้กับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ด้วยมิติที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าเรื่องเล่าเหนือหลักเหตุผล เป็นโครงการระยาวที่คาดหวังว่า จะได้ข้อมูลใหม่ๆของสัตว์ป่าในพื้นที่ใกล้ชุมชน จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนทัศนคติ พร้อมกับวิธีแก้ปัญหาที่ทำได้จริงในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า หรือ coexistence ซึ่งกำลังเป็นปัญหา ไม่เฉพาะในบ้านเรา หากแทบจะทุกภูมิภาคของโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป
ข้อมูลสัตว์ป่าที่ได้จากกล้องดักถ่ายในแต่ละฤดูจะถูกเก็บรวบรวมเป็นสถิติ นำไปสู่การวิเคราะห์ร่วมกันกับนักวิจัยสัตว์ป่าด้วยมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์ในอนาคต คาดหวังว่าจะเกิดเป็นชุดคำอธิบายที่สมเหตุสมผล การรับรู้จะค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นอย่างช้าๆ และพัฒนาไปพร้อมกับความเข้าใจของชุมชนอย่างแท้จริง
“ปู่ย่าตายายมีข้อห้ามเรื่องล่าสัตว์ สัตว์ป่าชนิดต่างๆ จะเป็นตัวแทนของบางอย่างเสมอ เราไม่ล่าชะนีเพราะมันทำให้เรานึกถึงลูกเมีย นกเงือกตายไปหนึ่งตัวต้นไทรใหญ่จะเงียบเหงา ถ้าฆ่าสัตว์ใหญ่ ก็จะเป็นต้นเหตุของเรื่องไม่ดีต่างๆ นี่ทำให้เราไม่เลี้ยงปศุสัตว์ จะได้ตัดปัญหาไม่ดึงดูดให้สัตว์ป่าเข้ามาที่บ้านเรา”
แสงแรกจับเหลี่ยมเขาหินปูนฝั่งตะวันออก พร้อมกับเสียงกู่ของชะนีมือขาวครอบครัวเดิม พ่อธง เล่าพลางสลับหยุดมือดริปกาแฟเป็นระยะๆ เหมือนแกจะหยุดรอเสียงชะนี
“ทีแรก เราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าทำไมต้องมีกฎระเบียบมากมายนัก พวกเด็กรุ่นใหม่ยิ่งไม่พอใจ เขาอยากได้เหตุผลที่ชัดเจน”
แต่รายละเอียดเบื้องหลังของกฎเกณฑ์ข้อห้ามในชุมชน มักเต็มไปด้วยเรื่องเล่ามากกว่าคำอธิบายที่มีเหตุผล
วงสนทนาเล็กๆ ในกรุ่นกาแฟ และอากาศหัวรุ่งอันเย็นเยียบ นักชีววิทยาอาวุโสถึงกับยิ้มกว้าง ทันทีที่คำพูดของเจ้าของบ้านถูกแปลจบ ก็สิ่งที่แกหมายมั่นปั้นมืออยากเห็นจนต้องดั้นด้นมาถึงนั้น กลับเป็นสิ่งเดียวกับ “เหตุผล” ที่คนกระเหรี่ยงรุ่นใหม่อยากได้ยิน รวมถึงเรื่องเก่าๆ ที่ปู่ย่าตายายเล่าไว้และพ่อธงยังไม่ค่อยเข้าใจนัก
มันเป็นสิ่งที่ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้อยู่รอดมาได้นับศตวรรษ
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ปู่เดฟคงอดแปลกใจไม่ได้ว่า กล้อง digital camera trap และโมเดลศึกษาสัตว์ป่าล่าสุด กลายเป็นวิธีที่พาคนรุ่นหลังให้ย้อนกลับไปเข้าใจวิถีที่บรรพบุรุษกำหนดไว้เมื่อศตวรรษก่อน เมื่อครั้งเลือกลงหลักปักยังหมู่บ้านริมห้วยกลางหุบเขาล้อมแห่งนี้
นั่นคือ การ “มองเห็น” และอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างยอมรับ
ซึ่งหยั่งรากอยู่บ้างแล้วก่อนที่เราจะเข้ามา
เรื่องและภาพ : กฤษกร วงค์กรวุฒิ
ภาพปก : มายเดย์แห่งกระต่ายในดวงจั