Explorer Awards 2019 : ศศิน เฉลิมลาภ

Explorer Awards 2019 : ศศิน เฉลิมลาภ

Explorer Awards 2019

“การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ไม่ได้เกิดจากคนจำนวนมาก

แต่เกิดจากคนจำนวนน้อยที่มีพลัง มีความสม่ำเสมอ มีอุดมคติ 

มีกระบวนการ ทำงานครบองค์ประกอบ นั่นคือพลัง” 

ศศิน เฉลิมลาภ

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

นักธรณีวิทยาผู้บอกว่า เขาเป็นคนขี้กลัวมาตั้งแต่เด็ก แต่หลายครั้งกลับตัดสินใจลงมือทำในสิ่งตรงกันข้าม ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและเอาจริงเอาจัง จนสามารถสร้างแนวร่วมและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนในวงกว้าง จากนักวิชาการที่วิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2554 อย่างเข้าใจง่าย ถึงนักรณรงค์เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ด้วยการเดินเท้า 388 กิโลเมตรจนส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสังคม และนักอนุรักษ์แถวหน้าที่ออกมาเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการปัญหาลักลอบล่าสัตว์อย่างจริงจังและไม่เลือกปฏิบัติ ดังกรณีเสือดำแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร

ในโอกาสที่ ศศิน เฉลิมลาภ ได้รับรางวัล Explorer Awards 2019 กองบรรณาธิการ นชั่นแนล จีโอกราฟฟิก มีโอกาสได้พูดคุยกับเขาในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ชีวิตในวัยเด็ก หนังสือที่อ่าน นิยามของการสำรวจ ไปจนถึงความท้าทายในการทำงานอนุรักษ์ 

———————————————-

จากนักสำรวจสู่นักอนุรักษ์

ผมอยากเป็นนักสำรวจมาตั้งแต่เด็ก  อยากสำรวจทางโบราณคดี แต่พลาด ไม่ได้ไปสอบเอ็นทรานซ์ เพราะผมไปติวโควตาของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผมนึกว่าธรณีวิทยาคงคล้ายๆ กัน แต่จริงๆ คนละสาขาเลย ก็ไม่เป็นไร ได้สำรวจเหมือนกัน แต่สำรวจธรรมชาติในเชิงธรณีวิทยา

ผมเป็นนักสำรวจมาตั้งแต่สมัยนั้น เป็นนักสำรวจอาชีพ เรียนอาชีพสำรวจมาเลย ก็คือเป็นนักธรณีวิทยา สำรวจหิน ทำ mapping ทำ geologic map แต่ก็สนใจเรื่องอื่นด้วย ผมดูทั้งป่าไม้  ผู้คน ระหว่างที่เดินไปก็ได้เห็นอย่างอื่นด้วย  การสำรวจทางธรณีวิทยาเป็นอะไรที่สะใจผมมาก เพราะให้เราจับคู่กับเพื่อนแค่สองคน ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าป่า ไม่มีประสบการณ์เลย  ปล่อยให้เราไปหัดใช้ชีวิต ไม่สอนด้วยว่า เบสิกของการออกไปอยู่อย่างนั้นต้องทำอะไร เราต้องเรียนรู้เอง เขาสอนว่าแผนที่ต้องใช้อย่างนี้ แต่ไม่สอนว่าเดินป่าเดินยังไง ก็เดินไปกับบัดดี้สองคน อะไรแบบนี้ เดินป่าขึ้นเขาไปเห็นยอดเขา จริงๆ ไม่ต้องขึ้นก็ได้  ข้อมูลมีอยู่แล้ว  แต่เราก็ต้องขึ้นให้ครบ อะไรแบบนี้ ขึ้นเขาสองคนในพื้นที่มีชาวบ้าน เราก็ไม่รู้ว่าจะขึ้นไปทำไม เขาขึ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว  

ช่วงเรียนปีท้ายๆ ก็มีเรื่องการอนุรักษ์ผ่านเข้ามา ตั้งแต่โคลนถล่มที่พิปูน กะทูน เรื่องเรือ Rainbow Warrior ของกรีนพีช วิ่งตามเรือบรรทุกกากนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสแอบไปทิ้งในมหาสมุทร เหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่กรณีโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัมที่ภูเก็ต การต่อต้านเขื่อนน้ำโจน ทั้งหมดนี้เราอยู่วงนอก ไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา ติดตามแต่ในข่าว จนกระทั่งมาพีคสุด ตอนเรียนจบปีสี่ที่สืบ นาคะเสถียร ยิงตัวตาย ช่วงนั้นผมไม่แน่ใจว่าเคยเห็นสารคดี ส่องโลก ของคุณโจ๋ยบางจากหรือเปล่า ไม่แน่ใจ อาจจะมาเห็นทีหลัง เพราะผมไม่ค่อยได้ดูทีวี คุณสืบก็คงเป็นคนดังคนหนึ่งที่สื่อมวลชนสมัยเมื่อ 30 ปีก่อนติดตาม ผมมาสะกิดใจตรงคำว่า มรดกโลก ก็คือการเสนอมรดกโลก ไทยจะได้มรดกโลกที่ห้วยขาแข้ง ช่วงที่คุณสืบกำลังเสนอมรดกโลก แกเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อาจารย์ที่ภาคธรณีวิทยาพาผมไปสำรวจธรณีวิทยาที่อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห้วยขาแข้ง วันหนึ่งที่แคมป์ อาจารย์ถามพวกเราว่า อยากไปเที่ยวไหน จะพาไป ผมอยากไปห้วยขาแข้ง อาจารย์มองหน้าแบบเบื่อๆ ว่า คุณจะไปทำไม ผมก็บอกว่าอ่านข่าวมา เพื่อนๆ ก็ไม่ค่อยอยากไป แต่เราก็ convince จนเขายอมไปด้วย  อาจารย์ขับรถจากแคมป์ไปร้อยกิโลเมตร  เราก็นึกว่าใกล้ๆ  ไปถึงห้วยขาแข้ง ไม่เจอคุณสืบ เราไปที่หน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีสนามหญ้า จำได้แค่นั้น  เพราะเราเดินสำรวจธรณีวิทยาในป่ากันบ่อยอยู่แล้ว ภาพเลยเหมือนๆ กัน หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็มีข่าวว่าสืบ นาคะเสถียร ยิงตัวตาย เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ หลังจากนั้น ผมถึงได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณสืบในนิตยสาร สารคดี เฮ้ย! ผู้ชายคนนี้ การอนุรักษ์เป็นแบบนี้นี่เอง แต่ผมก็ยังไม่มีโอกาสทำงานอนุรักษ์โดยตรง จนกระทั่งไปเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่สิบกว่าปี เหตุมาบรรจบให้มาเจอคนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  [ระหว่างติดตามกรณีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2541] แล้วคุณสืบเป็นแรงบันดาลใจตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ อยู่แล้วไง ชีวิตไม่เคยบรรจบกันแบบนี้ พอเขาชวน พอมารู้จักกัน เราก็เลยมาทำงาน ก็ประมาณนี้Explorer Awards 2019

เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเป็นมนุษย์ เราชอบเรียนรู้ คุณไปเห็นป่า เห็นแนวปะการัง มีอะไรให้คุณดูเต็มไปหมดเลย คุณจะไปเจาะอยู่แค่นิดเดียว…ทั้งๆ ที่มีเรื่องอื่นมหาศาลให้คุณรู้ คุณไปจำกัดตัวเองอยู่กับความรู้ อยู่กับศาสตร์ของคุณแบบนั้นทำไม

บทเรียนจากธรรมชาติ

ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์  เลยมีความสุขเวลาไปเจอสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพบเห็น ผมอยากรู้เรื่องราวของธรรมชาติความสัมพันธ์ของมัน เราก็เดินไปดู เห็นโน่นเห็นนี่ มันคืออะไร เกิดได้อย่างไร คือเราสนุกในการอ่านมัน เพราะนักธรณีวิทยาต้องอ่านมันอยู่แล้ว เห็นหินก้อนเดียว อธิบายได้ทั้งวันว่า มาอย่างไร ไปอย่างไร แต่ถ้าเห็นหินชั้นหนึ่งบนภูเขาที่สัมพันธ์กับอันอื่น ก็ยิ่งสนุกเหมือนอ่านหนังสือ เพราะเรามีเบสิกที่เรียนเรื่องพวกนี้มาอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ความสนใจของผมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธรณีวิทยาเป็นหลัก ธรณีวิทยาเป็นแค่ไปเรียน ผมสนใจเรื่องธรรมชาติวิทยาอื่นๆ ด้วย เราก็เลยยิ่งสนุกใหญ่ อ่านไปหมด  อ่านโบราณคดีเรื่องมนุษย์ด้วย ยิ่งสัมพันธ์ไปกันใหญ่  โดยเบสิกแล้ว ผมสนใจเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นการที่เราไปสำรวจหินก้อนหนึ่ง มันคือนาฬิกา คือเหตุการณ์ใหม่  คืออะไรที่เรามองลึกลงไป ผมนั่งอยู่บนก้อนหินก้อนหนึ่ง ผมจะนึกต่อไปว่า ชั้นหินนี้มันลึกลงไปถึง mantle [เนื้อโลก ส่วนที่อยู่ลึกลงไปจากเปลือกโลก] เลยนะ เราก็ต้องเดินสำรวจ อะไรแบบนี้ แล้วกิจกรรมที่ผมทำ อาจารย์ที่สอนผมเรื่องการอนุรักษ์ เราเคยทำค่ายอนุรักษ์ ค่ายวิทยาศาสตร์ ผมเป็นพี่เลี้ยงค่าย ผมก็ไปหาความรู้จากอาจารย์ที่เขาทำงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ  วันหนึ่งที่สตาฟฟ์ค่ายเสวนากับอาจารย์ ก็มีเพื่อนผมที่เป็นสาว Bio Chem [ชีวเคมี] ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยี เรียนเรื่องวิทยาศาสตร์อาหาร ถามอาจารย์ขึ้นมาว่า อาจารย์คะ หนูเป็นนัก Bio Tech เป็นนักวิทยาศาสตร์อาหาร หนูพาเด็กไปดูปะการังกับไปดูป่าเนี่ย หนูจะไปดูอะไรอาจารย์ตอบว่า เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราเป็นมนุษย์ เราชอบเรียนรู้ คุณไปเห็นป่า เห็นแนวปะการังทั้งหมดเนี่ย มีอะไรให้คุณดูเต็มไปหมดเลย คุณจะไปเจาะอยู่แค่นิดเดียว เพื่อจะหาเรื่องฟู้ดไซน์ ไบโอเทคทำไม ทั้งๆ ที่มีเรื่องอื่นมหาศาลให้คุณรู้ คุณไปจำกัดตัวเองอยู่กับความรู้ อยู่กับศาสตร์ของคุณแบบนั้นทำไม เรานั่งฟังอยู่ เราจำได้แทบทุกคำพูดที่อาจารย์บอกเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราเห็นช่างมากมาย แล้วเราไปละทิ้งโอกาสในการดูมันทำไม ใช่ไหม ดังนั้น เวลาเราสำรวจเราก็มองอย่างอื่นไปด้วยทั้งหมด

เวลาคุณสำรวจโลกกว้าง ของแถมที่คุณมักจะได้ก็คือ การสำรวจภายในของคุณเอง

 ถ้าจะบอกกับคนทั่วไปว่า การสำรวจจะให้อะไรกับเขาได้บ้าง

เวลาคุณสำรวจโลกกว้าง ของแถมที่คุณมักจะได้ก็คือ การสำรวจภายในของคุณเอง ตอนที่มาอยู่มูลนิธิสืบ ผมเดินหลบแอ่งน้ำในป่าแทบเป็นแทบตาย เพราะว่ารองเท้าผมแห้ง ผมเดินหลบอยู่วันหนึ่ง เพราะอยากให้รองเท้าแห้ง ผมลำบากมากเลย แค่อยากให้เท้าแห้ง แล้วผมก็พลาด เหยียบน้ำไป จ๋อม! เปียกทั้งสองเท้า หลังจากนั้น ผมเดินสบายกว่าเดิมที่ผ่านมาครึ่งวันเยอะเลย ผมเลยรู้สึกว่า แล้วทำไมผมไม่ให้มันเปียกตั้งแต่ต้น คุณรู้ไหมว่าผมค้นพบอะไรจากการเดินครั้งนี้ ผมเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตอะไรตั้งเยอะ  ขึ้นอยู่กับว่า คุณคิดอะไรได้ระหว่างคุณเดินต่างหาก ใช่ไหม แล้วถ้าคุณเดินกับคนอื่นหลายๆ คน คุณจะคิดได้ไหม คุณมัวแต่นั่งคุยกัน คุณคิดอะไรไม่ออกหรอก

นักสำรวจบางที เราเอาตัวเราเข้าไปในสถานการณ์ สถานการณ์หนึ่ง  เป็นความทรงจำไม่รู้เลือนเลย ครั้งหนึ่งผมไปเที่ยวกับเพื่อนสิบกว่าคน  ผมไม่รู้อะไรมากไปกว่าพวกเขาหรอก เราไปทุ่งแสลงหลวง ผมจะไปทุ่งอะไรสักอย่าง…ทุ่งนางพญา ซึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไปด้วยเลย แล้วไม่ถึงสักที เดินก็ไกล เดินไปร้องเพลงกันไป กินเหล้ากันไป  พอถึงจุดหนึ่ง เพื่อนทุกคนลงมติว่า ไม่ไปแล้ว มันไกล เดินไม่ถึงแล้ว จะนอนตรงนี้ แต่ผมในฐานะนักธรณีวิทยา ต้องหาแหล่งน้ำเก่งกว่าคนอื่น ซึ่งไม่จริง ผมไม่ได้รู้อะไรเลย แล้วเคยเดินป่ามาเยอะกว่า ผมต้องเดินล่วงหน้าไปก่อน  เพื่อจะไปสำรวจว่าอีกไกลไหมจะถึง แล้วเพื่อนทุกคนก็ปล่อยผมเดินไปคนเดียว ผมกลัวเสียฟอร์ม ความที่เรียนธรณีวิทยาอยู่คนเดียวในกลุ่ม ก็เป็นไงเป็นกัน มีมีดอยู่เล่มเดียวผมก็เดินไปเรื่อยๆ กิโล สองกิโล สามกิโล ก็ไปเจอทุ่ง ซึ่งน่าจะใช่แล้วละ ป้ายก็ไม่มี น่าจะอีกไม่ไกล ผมเลยไปหาแหล่งน้ำตามที่เพื่อนบอก ก็เดินไปในพุ่มไม้ ไม่รู้ว่าอันตรายหรือไม่อันตราย รับหน้าที่มาก็เดินไป ผมกระโดดไปตามพงหญ้า กลัวมาก กลัวงูกัด โดนอะไรกิน แต่ก็ต้องรักษาหน้าที่ คือหาแหล่งน้ำ เชื่อไหมผมเดินไปเหยียบอะไรสักตัวหนึ่ง คือกระโดดไปในพุ่มหญ้าแล้วมองไม่เห็น ผมยังจำได้ว่าใต้ฝ่าเท้าผมเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีลายสีเหลืองผสมดำ ในความกลัวก็ต่างคนต่างหนี คงเป็นตะกวดหรือเหี้ยอะไรสักอย่าง ไม่รู้จนถึงเดี๋ยวนี้ มันก็วิ่งไป ผมก็หัวตั้งแล้ววิ่งกลับมาอีกทางหนึ่ง ก็อยู่คนเดียวกลางป่าอุทยาน ห่างจากเพื่อนประมาณสองกิโลเมตร เรารู้สึกว่า คุณผ่านมันมาได้ยังไง เหตุการณ์แบบนั้น ยังกลัวอยู่เลย ถ้าเป็นงูกัด เราก็คงไม่รอดชีวิตมาแล้ว แต่ก็เป็นความรู้สึกว่า ผมโชคดีที่ได้มาคนเดียว แล้วได้ประสบการณ์นี้ เพื่อนผมทุกคนไม่ได้ อะไรแบบนี้มันสนุกดี ปกติผมเป็นคนขี้กลัว แต่ผมก็ทำอะไรแบบนี้บ่อยๆ เช่น ไปสำรวจสามร้อยยอด เป็น senior project ตอนปีสี่ ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ผมต้องเดินอ้อมภูเขาเพื่อไปดูหาดทรายอีกหาดทรายหนึ่ง แต่มันไม่มีทางไป  ผมดูในแผนที่แล้ว ก็คิดว่าคนอื่นไปไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่รู้ว่ามีหาดทรายตรงนี้ แต่ผมดูในแผนที่ภูมิประเทศ ผมอยากเห็นมัน อยากเป็นคนไม่กี่คนที่ได้เห็น ผมดูแล้ว ครึ่งกิโลที่เดินตัดน้ำเข้าไป น้ำซึ่งสูงสุดก็คงถึงหน้าอก พอเดินจริงๆ มันร่วมชั่วโมง น้ำขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงหน้าอก ถึงคอผม ผมก็ต้องเอาเป้ทูนไป ก็มีผมกับหน้าผาอยู่ข้างหลังกับทะเลเวิ้งว้าง แล้วระหว่างนั้นใต้ทะเลก็น่ากลัวมาก จะมีงูทะเล มีฉลามหรือเปล่า อะไรแบบนี้ ก็ผ่านความกลัวตรงนั้นไป แล้วผมก็ไปถึงตรงหาดทรายซึ่งสวยมากจริงๆ ไม่มีใครเห็น ต้องรอจนน้ำลงแล้วเดินกลับมาคนเดียวอีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็กลัวมาก ดังนั้น ผมไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่อยากจะมีชีวิตแบบผมหรือเปล่า  แต่ผมรู้สึกว่า อะไรแบบนี้ให้อะไรเรามากกว่า มากจริงๆ การที่เราจะผ่านความไกล ผ่านความกลัว ผ่านความมืดในถ้ำ อย่างถ้ำพระยานคร คุณไปดูสิ  ไม่น่ากลัวเลย แต่คุณลองไปวันที่ไม่มีคน แล้วไปอยู่กับตัวเองคนเดียว ผมก็เดินเข้าไป ไฟฉายส่องทุกซอกทุกมุมคนเดียว กลัวจะตาย แต่ผมรู้สึกว่าประสบการณ์แบบนั้นมันเป็นอะไรที่ทำให้เราได้เห็นอะไรที่ไม่มีคนอื่นเห็น ขอแค่คุณไปคนเดียว เท่านั้นเอง

Explorer Awards 2019

ผมไม่ได้แฮปปี้กับการสูญเสีย หรือการเป็นวีรชนเอกชนนะ แต่ผมจะบอกว่า ชัยชนะมันอยู่ที่คุณรักษาทรัพยากรนั้นได้ไง ชีวิตคุณมันก็เป็นแค่ปัจจัยเดียวเล็กๆ เอง เรื่องใหญ่ก็คือเป้าหมายคุณชนะแล้ว

ว่าด้วยความสูญเสีย ชัยชนะ และความหวัง

ในส่วนของผม ผมก็ต้องคุยๆ หน่อยว่า จริงๆ ผมไม่เคยแพ้นะ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประสบการณ์ที่ผมสู้ตรงๆ แล้วแพ้แทบไม่มี แล้วงั้นทำไมจะไม่มีหวังล่ะ ก็ไม่เคยแพ้  คราวนี้ถามว่า เวลาคนออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติแล้ว อาจจะประสบอันตรายบ้าง แล้วส่วนใหญ่ทรัพยากรเหล่านั้นยังอยู่ไหมล่ะ ตั้งแต่คุณสืบ นาคะเสถียร ยิงตัวตาย มันอยู่หมดเลยนะ พิทักษ์ โตนวุธ โดนยิงที่เนินมะปราง วันนี้เนินมะปรางก็เป็นแหล่งอนุรักษ์ ป่าที่อาจจะมีผู้มีอิทธิพลทะเลาะกับนักอนุรักษ์ที่เป็นแกนนำชุมชน แล้วยิงเขาตาย ป่านั้นก็อยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมไม่ได้แฮปปี้กับการสูญเสีย หรือการเป็นวีรชนเอกชนนะ แต่ผมจะบอกว่า ชัยชนะมันอยู่ที่คุณรักษาทรัพยากรนั้นได้ไง ชีวิตคุณมันก็เป็นแค่ปัจจัยเดียวเล็กๆ เอง เรื่องใหญ่ก็คือเป้าหมายคุณชนะแล้ว ถ้าคุณแพ้คุณจะมีชีวิตไปทำไม คุณตายแล้วคุณก็ยังชนะได้ เราก็เห็นตั้งแต่คุณสืบ คุณสืบแพ้หรือชนะล่ะ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าต้องทำแบบคุณสืบ หรือเอาจนตัวคุณจะตาย นั่นก็ไม่จำเป็น แต่ว่าถ้าคุณสู้ มันไม่แพ้หรอก โอกาสชนะสูงจะตาย

แนวทางการต่อสู้ของนักอนุรักษ์ 

ทุกเวทีที่ชนะ ชนะด้วยข้อมูลหมดครับ แต่อย่างที่แพ้เมื่อก่อนนี้ จริงๆ ก็คือไม่มีข้อมูล ที่เราปล่อยให้ธรรมชาติถูกทำลายทั้งประเทศ พืชเชิงเดี่ยวกระจายไปทั่วประเทศด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 นี่คือทำลายมากที่สุดแล้ว หายนะของธรรมชาติเมืองไทยก็คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมนั่นแหละ ที่สนับสนุนให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันนั้นคือจุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้พื้นที่ป่าร้อยละ 50 ของประเทศหายไปในพริบตาก็จากแผนนี้ เพราะอะไร ก็เพราะไม่มีข้อมูล ไม่มีคนสู้ เห็นดีเห็นงามกันหมด แต่ถามว่ามันแลกมาด้วยอะไร ก็แลกมาด้วยคุณภาพชีวิต แลกมาด้วยบ้านเมืองซึ่งก็ได้รับการพัฒนาจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ มาเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ น้อยๆ มลพิษเยอะ มาเป็นนิคมอุตสาหกรรม จนวันหนึ่งเรามาถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน  (sustainable development) ประเทศก็แลกมาด้วยการศึกษา ด้วยคุณภาพชีวิต ด้วยถนนหนทางอะไรแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีการอนุรักษ์ ผมก็ว่าวันนี้ความรู้เรามีพอสมควร เก็บของดีเอาไว้ได้มาก อาจมีคนพลีชีวิตบ้าง อย่างที่คุณสืบยิงตัวตายเพื่อรักษาห้วยขาแข้งไว้  มันก็ลามมาจนรักษาป่าได้ ป่าอนุรักษ์มีตั้งร้อยละ 25 คุณสืบบอกว่าป่าอนุรักษ์ควรมีร้อยละ 20 วันนี้ เกือบ 30 ปีให้หลัง เรามีเกินเป้าที่คุณสืบพูดไว้ตั้งเยอะ

Explorer Awards 2019

ความรู้เรื่องป่าของผมมาจากหนังสือสามสี่เรื่อง แน่นอนว่าต้องมี เพชรพระอุมากับ ล่องไพร ซึ่งเป็นหนังสือธรรมชาติวิทยาชัดเจนที่สุด แล้วก็หนังสือเรื่อง เที่ยวป่า ของหมอบุญส่ง เลขะกุล นั่นคือตำราเล่มใหญ่

หนังสือที่อ่าน

ผมเป็นนักอ่านมาตั้งแต่เด็ก  อ่านหนังสือเยอะ ถ้าถามว่าต้องเริ่มจากหนังสือสารคดีไหม  คงไม่จำเป็น ความรู้เรื่องป่าของผมมาจากหนังสือสามสี่เรื่อง แน่นอนว่าต้องมี เพชรพระอุมา กับ ล่องไพร ซึ่งเป็นหนังสือธรรมชาติวิทยาชัดเจนที่สุด แล้วก็หนังสือเรื่อง เที่ยวป่า ของหมอบุญส่ง เลขะกุล นั่นคือตำราเล่มใหญ่ เท่าที่ผมจำได้อีกเล่มคือ ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง ซึ่งเป็นวรรณกรรมเด็ก ผมไม่อ่านหรอกสารคดียากๆ แบบ National Geographic ถึงเดี๋ยวนี้ถ้าผมเด็ก ผมก็ไม่อ่าน  ที่สำคัญคือผมจำได้ว่า ความรู้เรื่องธรรมชาติของผมมาจากหนังสือเรื่อง ตามล่า เป็นหนังสือแปลของไทยวัฒนาพานิชว่าด้วยชีวิตของสิงโต ตั้งแต่เด็กจนเติบโตเป็นหนุ่มที่ดำรงชีวิตอยู่ในป่าอย่างไร คล้ายๆ กับ ชีวิตของฉัน ลูกกระทิง ผมอ่านหนังสือพวกนี้ที่สอนให้มองป่าด้วยสายตาของสัตว์ป่า  ตามล่า นี่ฝังอยู่ในใจมาก เรื่องอื่นนึกไม่ค่อยออกว่ามีอะไรอีก น่าจะมีเรื่องเอสกิโมกับแมวน้ำสักตัวหนึ่ง ดังนั้น การอ่านหนังสือที่ทำให้เข้าใจระบบนิเวศหลากหลาย เมาคลีกับทาร์ซานก็ไม่เลว ผมจำได้ว่าเคยอ่าน

ปัจเจกบุคคลกับการสร้างความเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากคนเล็กๆ คนเดียว ครั้งหนึ่งผมก็เคย ผมชอบอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ก็พยายามทำงานใหญ่ๆ แล้วพบว่ามันก็มาจากเราเนี่ยแหละ คนเล็กๆ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง จำได้ด้วย หนังสือของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ลิ้นชักนักเดินทาง พี่จุ้ยตอบคำถามนี้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มันไม่ได้เกิดจากคนจำนวนมาก แต่มันเกิดจากคนจำนวนน้อยที่มีพลัง มีพลังหมายความว่ามีความรู้ มีความสม่ำเสมอ มีอุดมคติ มีกระบวนการทำงานที่ครบองค์ประกอบ นั่นคือพลัง แล้วก็มีพรรคพวก มีเครือข่าย ไม่ต้องเยอะ แต่เป็นคนจำนวนน้อยที่มีพลัง หรือเป็นคนเดียวที่มุ่งมั่น แล้วทำอย่างสม่ำเสมอ จนในที่สุด คนจำนวนมากก็หันกลับมา แล้วถ้าเกิดจะบอกจริงๆ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดบนโลกนี้ ก็น่าจะเกิดจากคนเดียว หรือคนเล็กๆ ที่มีพลัง กลายเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีพลังไปเปลี่ยนคนจำนวนมากได้ การปฏิวัติครั้งใหญ่ของโลกก็เกิดจากคนเดียวทั้งนั้นแหละ คนเดียวที่ทำอะไรซ้ำๆ ไม่เลิก แล้วก็เกิดองค์ความรู้ เกิดอะไรขึ้นมา จนกระทั่งมันก็เปลี่ยนแปลงให้เกิดกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายไปเป็นกลุ่มใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็เกิดจากนี่ทั้งนั้น ไม่เคยมีเปลี่ยนแปลงอะไรที่คนเฮละโลครั้งใหญ่เลย ไม่เชื่อคุณดู ผมเดินแม่วงก์ ผมเริ่มจากอะไรเริ่มจากกี่คน

Recommend