หลายชั่วอายุคนมาแล้วที่ชาวอินูกุอิตเฝ้าสังเกตพฤติกรรมวาฬนาร์วาลและออกล่าพวกมันทั่วน่านน้ำที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งของกรีนแลนด์พวกเขาเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่นักวิทยาศาสตร์กับเจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความสนใจภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองมากกว่าเดิม
กิลลัก คริสเตียนเซน บังคับเรือคายักเข้าสู่น่านน้ำเปิดเพื่อล่าวาฬนาร์วาล เมื่อปีที่แล้ว พรานชาวอินูกุอิตวัย35 ปีผู้นี้กับเหล่าสหายพากันไปยังขอบน้ำแข็งที่จะปรากฏให้เห็นในฤดูใบไม้ผลิ โดยใช้เวลาครึ่งวันด้วยเลื่อนสุนัขจากกานากในกรีนแลนด์ เมืองที่อยู่ห่างจากอาร์กติกเซอร์เคิลไปทางเหนือราว 1,200 กิโลเมตรแห่งนี้เป็นเมืองที่อยู่เหนือ สุดของโลกเมืองหนึ่ง เสียงพ่นลมหายใจของวาฬนาร์วาลลอดออกมาจากน้ำที่ใสดุจกระจกใกล้สุดฝั่งตะวันตกของเกเกร์ตาร์ซวกหรือเกาะเฮอร์เบิร์ต นาร์วาลตัวนี้หยุดนิ่งที่ผิวน้ำ ราวกับเสนอตัวให้เขา ชาวอินูกุอิตบางคนอาจบอกอย่างนั้น
เพียงตวัดมือขวาครั้งเดียว กิลลักก็ปลดฉมวกลง แล้วพุ่งใส่หลังของนาร์วาลตัวนั้น มันฟาดหางก่อนจะดำลงไป ทว่าปลายเงี่ยงโลหะของฉมวกที่ตรึงแน่นอยู่ในร่างของวาฬตัวนั้นผูกติดกับทุ่นเป่าลมทำจากหนังแมวน้ำ ทำให้วาฬเจ็บ ตัวนั้นยากจะหนีพ้น กิลลักชูไม้พายขึ้นเหนือศีรษะด้วยความดีใจ
เพื่อนพรานของเขารีบพายคายักเข้าไปช่วยและตามวาฬเจ็บไปจนทัน จู่โจมมันด้วยฉมวกเล่มที่สอง จากนั้นก็จบชีวิตมันด้วยปืนไรเฟิล พวกเขาเอาเชือกผูกหางวาฬนาร์วาลแล้วลากไปจนถึงน่านน้ำโล่งจุดหนึ่งใกล้แคมป์ที่พัก ก่อนจะช่วยดึงมันขึ้นจากน้ำ มีดถูกหยิบออกมาทันทีที่วาฬถูกลากขึ้นมายังน้ำแข็ง พวกพรานลิ้มรสหนังวาฬกับชั้นไขมันข้างใต้ที่ชาวอินูกุอิตเรียกว่า มัตตัก ซึ่งอร่อยล้ำหวานมันเหมือนถั่ว แถมยังอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ “ผมไม่สนใจอาหารยุโรปหรอกครับ ผมอยากกินอาหารของผมเองที่ได้จากท้องทะเล เหมือนบรรพบุรุษของเรา” กิลลักบอกผ่านล่าม
สำหรับชาวอินูกุอิต การล่าวาฬนาร์วาลคือส่วนสำคัญของการใช้ชีวิตและความอยู่ดีมีสุขบนผืนแผ่นดินบรรพชนรอบๆ ปีแกลาซอร์ซวก หรือภูมิภาคน่านน้ำเปิดทางเหนือของอาร์กติกเซอร์เคิล ซึ่งในฤดูร้อนอาจครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 80,000 ตารางกิโลเมตร ดินแดนซึ่งยังเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า นอร์ทวอเตอร์โพลีเนีย เป็นถิ่นอาศัยตลอดฤดูหนาวของวาฬนาร์วาล วาฬเบลูกา วอลรัส และวาฬหัวคันศร ห้วงน้ำนี้อุดมไปด้วยปลาแฮลิบัตพันธุ์กรีนแลนด์ ปลาค้อดพันธุ์อาร์กติก และปลาชนิดอื่นๆ และชายฝั่งหินก็เป็นถิ่นอาศัยของนกอ๊อกหลายสิบล้านตัว นี่คือแหล่งที่มาอันไม่อาจทดแทนได้ของอาหารบำรุงร่างกายและจิตวิญญาณของชาวอินูกุอิต ผู้พึ่งพาสัตว์ป่าในแผ่นดินเกิดซึ่งเคยรวมพื้นที่ล่าสัตว์หรือที่พวกเขาเรียกว่า อูมิมมัตตูก บนเกาะเอลส์เมียร์ของแคนาดา มาตลอดหลายร้อยปี
วิถีล่าวาฬนาร์วาลของชาวอินูกุอิตหยั่งรากอยู่ในขนบการดูแลสรรพสัตว์ที่พวกเขาพึ่งพาเพื่อไม่ให้รบกวนวาฬนาร์วาลโดยไม่จำเป็นภายในฟยอร์ดที่พวกมันตกลูกและเริ่มอนุบาลลูกน้อยในฤดูร้อน เหล่าพรานจะจำกัดการใช้เรือยนต์ โดยใช้เรือคายักที่เงียบกว่ามากแทน เพื่อป้องกันการสูญเสียวาฬที่จะดิ่งจมหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อถูกยิง เหล่าพรานจึงใช้ฉมวกแทงนาร์วาลก่อน และเพื่อให้แน่ใจว่าทุกส่วนของสัตว์ที่ล่าได้จะไม่เสียไปเปล่าๆ พรานอินูอิตที่ดีจะแบ่งปันสัตว์ที่ล่ามาได้ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการล่า และเผื่อแผ่ไปถึงคนในชุมชนหากทำได้
แต่พรานชาวอินูกุอิตจำนวนมากบอกว่า แนวปฏิบัติเหล่านี้กำลังถูกคุกคาม “วัฒนธรรมการล่าวาฬนาร์วาลกำลังหายไป…เพราะระบบโควตาครับ” อะเลคัตซิอัก ลูกชายของฮิฟชู ผู้เป็นพรานและนักดนตรีจากกานาก อธิบาย
ชาวอินูกุอิต พูดภาษาอินุกตุน แม้จะนับเป็นชาวอินูอิตด้วย แต่ชาวอินูกุอิตก็มีความต่างทางวัฒนธรรมจากชาวอินูอิตส่วนใหญ่ในกรีนแลนด์ที่พูดภาษาคาลาลลิซุต และถึงจะมีความแตกต่างทางภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ทั้งกรีนแลนด์และเดนมาร์กต่างไม่ยอมรับชาวอินูกุอิตในฐานะชนพื้นเมืองอิสระ ประชากรชาวอินูกุอิตราว 700 คนอาศัยอยู่ในกานากและชุมชนขนาดเล็กกว่าอื่นๆ รอบฟยอร์ดอิงเกิลฟีลด์เบรดนิง ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า คังเกอร์ลุสซวก กานากกลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐานถาวรเมื่อปี 1953 หลังรัฐบาลเดนมาร์กเจ้าอาณานิคมย้ายครอบครัวชาวอินูกุอิตออกจากอูมมันนัก ชุมชนที่พวกเขาอยู่มานาน ขึ้นทางเหนือไปกว่า 100 กิโลเมตร
การถูกบีบให้ย้ายถิ่นนี้ทำให้ชุมชนต้องพลัดพรากจากพื้นที่ล่าสัตว์ดั้งเดิมของตน แต่หากเปรียบเทียบกันแล้ว กานากมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง นั่นคือตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิถึงปลายฤดูร้อน ที่นี่รุ่มรวยด้วยวาฬนาร์วาล หรือ กิลาลุกคัต ที่ชนพื้นเมืองเรียกขาน สัตว์ปริศนาเจ้าของชื่อวิทยาศาสตร์ Monodon monoceres ซึ่งเป็นภาษาลาติน แปลว่า “ฟันเดียว งาเดียว” เป็นที่รู้จักจากงาหรือฟันยาวที่เป็นเกลียววนทวนเข็มนาฬิกาจากขากรรไกรซ้ายบนยาวกว่าสองเมตร วาฬขนาดย่อมนี้อาจหนักได้ถึง 1,600 กิโลกรัมและยาวกว่าห้าเมตรโดยไม่รวมส่วนที่เป็นงา
ปัจจุบัน วาฬนาร์วาลส่วนใหญ่ในโลกซึ่งตัวเลขประมาณการทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานนี้ระบุว่ามีจำนวนกว่า 100,000 ตัว พบในน่านน้ำนอกชายฝั่งทางเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์ และได้รับการจัดการโดยแบ่งเป็นฝูงต่างๆ ตั้งแต่ปี 2017 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น จัดให้นาร์วาลอยู่ในรายชื่อสัตว์ที่มีสถานะ ไม่ถูกคุกคามหรือมีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ ขณะที่กรีนแลนด์ห้ามส่งออกงาวาฬนาร์วาลตั้งแต่ปี 2006 แต่อนุญาตให้ค้าขายงาและมัตตักภายในประเทศได้
ชาวอินูกุอิตกับวาฬนาร์วาล
แต่ละปี รัฐมนตรีกระทรวงประมงและการล่าของกรีนแลนด์จะกำหนดจำนวนวาฬนาร์วาลที่พรานอาชีพสามารถล่าได้ในภูมิภาคเฉพาะ ในการกำหนดโควตาวาฬของกานาก รัฐมนตรีจะหาจุดสมดุลระหว่างข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์จากคณะกรรมาธิการร่วมแคนาดา/กรีนแลนด์ว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการ วาฬนาร์วาลและเบลูกา หรือเจซีเอ็นบี (Canada/Greenland Joint Commission on Conservation and Management of Narwhal and Beluga: JCNB) โดยอิงข้อมูลส่วนหนึ่งจากตัวเลขประมาณประชากรวาฬของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติ กรีนแลนด์ กับข้อมูลที่ได้จากสมาชิกสมาคมพรานและชาวประมง (Fishermen and Hunters Association: KNAPK) แห่งกรีนแลนด์
ตัวเลขประมาณการจำนวนวาฬนาร์วาลฝูงอิงเกลฟีลด์ในปัจจุบันของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์ อยู่ระหว่าง 2,000 ถึง 6,000 ตัว ซึ่งได้มาจากการสำรวจทางอากาศเมื่อปี 2007 และปี 2019 (รวมจำนวนวาฬที่มองไม่เห็นจากผิวน้ำโดยอาศัยข้อมูลการเคลื่อนที่ของวาฬนาร์วาลตัวหนึ่งที่ได้รับการติดแถบสัญญาณดาวเทียม) สำหรับปี 2024 เจซีเอ็นบีเสนอให้ลดโควตาจาก 84 ตัวเป็นประมาณ 50 ตัว อย่างไรก็ตาม หลังจากพิจารณาข้อวิตกกังวลต่างๆ ของบรรดา พรานแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงประมงและการล่าของกรีนแลนด์ตัดสินใจคงโควตาไว้ที่ 84 ตัวตามเดิม
ความสัมพันธ์ระหว่างชาวอินูกุอิตกับวาฬนาร์วาลตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ในโลกจริง ซึ่งผ่านการสั่งสมรวบรวมจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมวาฬเป็นประจำตลอดปีมาเป็นเวลาหลายชั่วคน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ มีข้อจำกัดจากงานที่มีลำดับความสำคัญอื่นๆ งบประมาณ และเวลา พวกเขาประจำอยู่ที่สำนักงานในนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ ซึ่งการเดินทางไปยังกานากอาจใช้เวลาถึงสองวัน
พรานจำนวนมากรู้สึกถูกกีดกันจากกระบวนการนับจำนวนวาฬนาร์วาลของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์ และไม่เชื่อถือการประเมินประชากรของสถาบัน “นักวิทยาศาสตร์ไม่อยากให้เรามีส่วนร่วมในการวิจัยของพวกเขาครับ” เยนส์ ดาเนียลเซน ซึ่งเป็นพรานท้องถิ่นมาเกือบตลอดอายุ 65 ปี บอกผ่านล่าม “พวกเขาไม่รู้จักสัตว์ที่ตัวเองพยายาม จะนับ” พรานบางคนเรียกร้องให้เพิ่มโควตาหรือโยนข้อจำกัดต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดทิ้งไปเลย ชาวอินูกุอิตต้องการดูแลรักษาบ้านเกิดด้วยตัวเอง “เราอยู่กับสัตว์ต่างๆที่เราล่าตลอดทั้งปี” กิลลักบอกและเสริมว่า “นักชีววิทยาที่นับสัตว์เหล่านี้จำเป็นต้องมาที่นี่ และใช้เวลาอยู่กับเหล่าพรานเพื่อเรียนรู้จากเราครับ”
ความรู้พื้นเมืองกับวิทยาศาสตร์
พรานต้องมีรายได้ต่อปีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากการล่าจึงจะมีสิทธิคงสถานะพรานอาชีพ และได้รับใบอนุญาตที่รัฐ ออกให้เพื่อล่าวาฬนาร์วาลและสัตว์ป่าอื่นๆ ได้ ในจดหมายถึงวารสาร ไซเอนซ์ เมื่อปี 2021 นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันทรัพยากรธรรมชาติกรีนแลนด์พูดถึงตลาดวาฬนาร์วาลในประเทศว่าเป็นวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ มากกว่าจะเป็นการล่า เพื่อยังชีพ โดยตั้งข้อสังเกตว่า มัตตักของวาฬนาร์วาลโดยเฉลี่ยมีมูลค่าทางการตลาดราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 แมดส์ ปีเตอร์ ฮาดี-ยาร์นเซน นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาประชากรวาฬนาร์วาลมานานกว่า 30 ปีของสถาบัน เขียนในอีเมล เมื่อไม่นานมานี้ว่า “เทียบกันแล้ว วาฬนาร์วาลถือเป็นผลิตภัณฑ์จากการล่าที่มีมูลค่าสูงสุดในกรีนแลนด์… และพวกพราน ก็พึ่งพารายได้จากทรัพยากรดังกล่าวอย่างมาก นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อมุมมองที่พวกเขามีต่อสถานะของทรัพยากรดังกล่าวด้วย”
เขาอธิบายว่า สถาบันมีหน้าที่ให้คำแนะนำเชิงวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดโดยอิงวิธีต่างๆที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ไม่ใช่การร่วมบริหารจัดการฝูงวาฬต่างๆ “เราไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนาวิธีประเมินสถานะของจำนวนสัตว์ป่าร่วมกับพรานท้องถิ่น” เขาเขียน โดยยกตัวอย่างการจ้างพรานครั้งล่าสุดของสถาบันเมื่อปี 2015 เพื่อช่วยเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากวาฬนาร์วาลและเข้าร่วมการสัมภาษณ์ต่างๆ แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินจำนวนสัตว์เลี้ยงลูก ด้วยนมในทะเลต้องใช้ “ความรู้ว่าด้วยพลวัตทางประชากรซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ด้านการประเมินมืออาชีพเพียงน้อยคนที่เข้าใจอย่างถ่องแท้” การสำรวจที่จัดทำในละแวกเมืองกานากเมื่อปี 2022 ยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ และการสำรวจครั้งต่อไปวางแผนว่าจะจัดทำในปี 2030 หรือหลังจากนั้น
ทั่วโลกมีตัวอย่างมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า องค์ความรู้ของชนพื้นเมืองช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อโลกธรรมชาติโดยรวมและด้านการนับจำนวนวาฬโดยเฉพาะ
“การจัดการระดับท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น รวมถึงองค์ความรู้ท้องถิ่น เป็นแนวทางสู่อนาคตครับ” คูปิก วี. ไคล์สต์ อดีตนายกรัฐมนตรีกรีนแลนด์และผู้เขียนร่วมในรายงานของสภาอินูอิตขั้วโลกเมื่อปี 2017 ว่าด้วยอนาคตของปีแกลาซอร์ซวก บอก “ผมมองไม่เห็นทางอื่น”
เรื่อง เกล็บ เรย์กอรอเดตสกี
ภาพถ่าย คิลอิ ยู่หยาน