ประชากรประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของโลกก็อยู่ในเมือง และกรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองใหญ่ที่สุดต้น ๆ ของโลก เมื่อโจทย์ของเราต้องการสร้าง “เมืองยั่งยืนในอนาคต” หนึ่งในเรื่องสำคัญที่เราต้องจัดการคือเรื่องพลังงาน ซึ่งได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กันอย่างเข้มข้น ภายในงาน Sustainability Expo 2024 บนเวทีเสวนาแนวทางความยั่งยืน หัวข้อ “พลังงานของมหานครเมืองหลวงในอนาคต จะต้องเตรียมพร้อมอย่างไร” ซึ่ง นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ กล่าวว่า การวางแผนยุทธศาสตร์การทำงานของ MEA จะต้องมองบริบทของเมืองในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร แล้วจึงทำระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับอนาคต
การวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของเมือง
การทำแผนยุทธศาสตร์ของ MEA ในปัจจุบัน เกิดจากการมองเห็นเมกะเทรนด์ 6 ด้าน คือ
- Smart City ความต้องการของคนเมืองเป็นลักษณะของ Digital Service ที่ต้องรวดเร็ว เข้าถึงสะดวก เข้าถึงอย่างเท่าเทียม และมีการตรวจสอบได้ โดยรับบริการผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น MEA Smart Lie ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้
- กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแห่งธุรกิจ มีบริษัทชั้นนำของโลกเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องมี Data Center ต่าง ๆ ซึ่งการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจจะทำให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ
- ระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถไฟฟ้า EV ที่จะมากขึ้นจนเต็มเมือง
- การท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น
- กรุงเทพเป็นสังคมที่เติบโตในแนวดิ่ง มีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมายเพราะเนื้อที่ในเมืองมีจำกัด นั่นทำให้ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป
- การใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องเติบโตควบคู่กับเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังงานคือหนึ่งต้นตอสำคัญของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ จึงเป็นความท้าทายองค์กรด้านพลังงานที่จะปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน
“ถึงแม้ว่าการผลิตพลังงานจะเป็นบ่อเกิดของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นที่คนเราต้องใช้ ดังนั้น เราจึงต้องตระหนักรู้ว่าจะใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทุกกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต้องเกิดความคุ้มค่า ซึ่ง MEA ได้ถอดสมการนี้มาวางแผนด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้า การจัดการคาร์บอนไดออกไซด์ ไปจนถึงการบริการต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพ และสามารถจำหน่ายไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้กับเมืองด้วย”
จัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ในประเทศอื่น ๆ จะเห็นแนวทางการลดคาร์บอนไดออกไซด์โดยการผสมผสานของพลังงานหลายประเภท (Energy Mix) โดยมีพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนหลักเข้ามาแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเปลี่ยนแหล่งที่มาของพลังงาน ซึ่งนั่นเป็นบทบาทของผู้ผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันผู้จำหน่ายไฟอย่าง MEA ก็สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ด้วยการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (Energy Efficiency) ด้วยเช่นกัน
“การจัดการพลังงานไม่ใช่การหยุดใช้ แต่เป็นการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเอาเรื่องวิศวกรรมมาคุยกันว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ไฟเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น ทำงานได้มากกว่าเดิม หรือใช้ไฟน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม”
ยกตัวอย่าง อาคารส่วนใหญ่จะสิ้นเปลืองพลังงานไปกับระบบปรับอากาศ ฉะนั้น เราต้องจัดการโดยใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หันมาใช้ระบบชิลเลอร์ (Chiller) สามารถลดการใช้พลังงานลงได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของระบบอาคารทั่วไป หรือการใช้ระบบไฟส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความสูญเสียพลังงานลง
นอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านพลังงานแล้ว ต้องเปลี่ยน “พฤติกรรมการใช้พลังงาน” ด้วย ซึ่ง MEA ได้จัดทำโครงการ Energy Saving Building ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการพลังงานได้ดียิ่งขึ้น โดยประเมินอาคาร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ด้วยมาตรฐานของ MEA ว่าแต่ละแห่งใช้พลังงานในระดับใด ถือว่าเป็นอาคารประหยัดพลังงานหรือไม่ ถ้ายังไม่เข้าเกณฑ์ MEA จะเสนอแนะแนวทางการประหยัดพลังงานแล้วนำอาคารนั้น ๆ มาประกวดโครงการ ”MEA Energy Awards” ต่อยอดอาคารประหยัดพลังงาน โดยที่ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับทุนสำหรับจัดการเปลี่ยนอุปกรณ์ด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก
โดยที่ MEA เป็นต้นแบบขององค์กรประสิทธิภาพสูงด้านพลังงาน มีสำนักงานที่ถนนเพลินจิตที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียว (LEED) ความเป็นผู้นำออกแบบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Leadership in Energy and Environmental Design : LEED) ประเภทอาคารเดิม (Existing Biliding : Operation and Maintenance) ซึ่งได้ผ่านการรับรองในระดับ Platinum และได้ใช้องค์ความรู้เรื่องการประหยัดพลังงานนี้ส่งต่อให้กับธุรกิจต่าง ๆ ในทุก ๆ ปี
เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเติบโตคู่กัน
โจทย์ของโลกธุรกิจในปัจจุบันคือไม่ใช่แค่เติบโตอย่างมั่งคั่ง แต่ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน คือเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะต้องไปด้วยกัน ซึ่งสำหรับ MEA มองว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบ 3 ประการคือ Prosperity, People และ Planet
Prosperity คือการบริหารจัดการองค์กรให้มีผลประกอบการที่สามารถไปต่อได้ในอนาคต มีความมั่งคั่ง
People คือการดูแลคน ชุมชนและสังคม หากมีผลประกอบการที่ดีแต่กลับไม่ให้อะไรคืนกับสังคมเลย ในที่สุดบ้านหรือองค์กรก็คงจะถูกปล้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลสังคมและชุมชนด้วย
ประเด็นสุดท้าย Planet คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม วางแผนจัดการในเรื่อง Carbon Intelligence เพราะในตอนนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดนผนวกรวมเข้ากับแผนใหญ่อย่าง Carbon neutrality แล้ว นำไปสู่กิจกรรมย่อยอย่างการจัดการพลังงานภายในองค์กร
เปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เป็นเมืองพลังงานยั่งยืนในอนาคต
โจทย์หลักของ MEA คือต้องทำระบบไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันไปจนถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบบริการ ไปจนถึงระบบบริหารจัดการภายใน โดยยึดปรัชญา Triple Go for Goal วิ่งสู่เป้าหมายการเป็น Sustainable Energy Utility
Go Smart จัดทำ Smart System ผ่านการทำ Smart Metro Grid หรือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับเมืองมหานครที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบทั้งการเก็บข้อมูลและบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้า ปรับเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดิน ซึ่งประโยชน์จากการใช้ระบบนี้ ก็คือระบบจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคง เพียงพอปลอดภัย และมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม
Go Digital สร้างระบบบริการทุกเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าบนสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะขอใช้ไฟฟ้า เปลี่ยนมิเตอร์ หรือดูบิลค่าไฟฟ้าสามารถจัดการได้ผ่านแอปพลิเคชัน MEA smart life
และ Go Green เป็นองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
การเสวนาครั้งนี้ทำให้เห็นได้ว่าโลกในอนาคตอยู่อีกไม่ไกล ซึ่งทุกหน่วยงานและบุคคลต่างมีส่วนช่วยกันปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนุรักษ์พลังงาน เพราะทุกคนคือส่วนหนึ่งในสังคม ถ้าทำส่วนของเราให้ดีที่สุดแล้วก็จะส่งผลกระทบไปถึงส่วนรวม คนรุ่นต่อไปจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ใน Low Carbon Society