ทำไมนกอพยพจึงสำคัญกับเรา เดินพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล ดูความสัมพันธ์ของนกชายเลนกับนาเกลือ

ทำไมนกอพยพจึงสำคัญกับเรา เดินพื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเล ดูความสัมพันธ์ของนกชายเลนกับนาเกลือ

[ BRANDED CONTENT ]

ฝนพรำในยามเช้าที่ดวงอาทิตย์เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้าเมื่อชั่วโมงที่แล้ว นกแอ่นทุ่งบินโฉบฉวัดเฉียนไปทั่ว ตามขอบคันนาเกลือเห็นกลุ่มนกชายเลนเกาะกลุ่มเรียงกันอยู่ทั้งใกล้และไกลออกไป เราอยู่ที่พื้นที่อนุรักษ์นกบ้านปากทะเล ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นาเกลือพื้นที่กว่า 40 ไร่นี้ เป็น 1 ใน 3 พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway Partnership: EAAFP) ของประเทศไทยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่น และเป็นจุดพักของนกน้ำอพยพหลายชนิดในช่วงฤดูอพยพ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม 

โดยมากนกชายเลนจะใช้ชีวิตอยู่กับพื้นดิน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยบิน นาน ๆ ครั้งที่มีนักล่าอย่างเหยี่ยวเพเรกรินเข้ามา กลุ่มนกจะรู้ล่วงหน้า และรวมตัวกันบินหนีเป็นกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยงก่อนจะเห็นตัวเหยี่ยวเสียอีก เหยี่ยวเพเรกรินก็เป็นหนึ่งในนกอพยพที่หายาก ที่นี่ก็เช่นกัน ไม่ค่อยเห็นเหยี่ยวเพเรกริน

“ตอนนี้ช่วงต้นฤดู อาจจะยังไม่เห็นนกเยอะเท่าไหร่ แต่ถ้ามาในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จะเห็นฝูงนกหลายหมื่นตัวเลยครับ” พงศ์วรุตม์ ธีระวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) บอก

ไม่เพียงแค่ในนาเกลือแห่งนี้ เหล่านกชายเลนพื้นถิ่นและนกชายเลนอพยพใช้นาเกลือซึ่งกินพื้นที่ราว 70 % ของอำเภอบ้านแหลมเป็นแห่งพักพิง หาอาหาร และทำรังวางไข่ ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของนกชายเลนคือหาดเลน แต่พื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างนาเกลือนกก็ชอบมาอาศัยอยู่ นกจะหากินตามหาดยามน้ำลง เมื่อน้ำขึ้นก็บินมาอยู่ที่นาเกลืออันเวิ้งว้าง การผันน้ำทะเลเข้านาเกลือตามบ่อต่าง ๆ ได้สร้างที่อยู่อาศัยแบบกึ่งธรรมชาติ  (Semi-Natural Habitat) ขึ้นมา ให้นกได้เลือกใช้พื้นที่ตามใจชอบ จนกลายเป็นแหล่งพักพิงสำคัญ เป็นสวรรค์ของนก นักดูนก และนักวิจัย

นาเกลือจุดพักอันปลอดภัยของนกอพยพ

ประเทศไทยเป็นหนึ่งจุดแวะพักที่สำคัญของเส้นทางการบิน  EAAFP ซึ่งเป็นเส้นทางการบินที่ยาวที่สุดในโลก ในฤดูหนาวที่อากาศหนาวจัดจนอยู่ไม่ไหว ไร้แหล่งอาหาร นกจะอพยพจากบ้านเกิดในไซบีเรีย รัสเซีย ผ่านจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เข้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

ความกว้างเวิ้งว้างของนาเกลือที่ไม่ค่อยมีคนรบกวน สร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยให้นก

นกชายเลนอพยพกระจายตัวไปตามแหล่งชายหาดและพื้นที่ป่าชายเลนหลายแห่งซึ่งบางพื้นที่ได้รับการประกาศเป็น ‘พื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ (Flyway Networking Site)’ โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (EAAFP) จำนวน 3 แห่ง คือ 1) ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ 2) บ้านปากทะเล – แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และ 3) นาเกลือบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ที่ สผ. มีส่วนผลักดันให้เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ ด้วยการเก็บข้อมูลร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ จนได้พื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนประชากรนกอพยพที่พบในพื้นที่  สถานภาพของนกน้ำอพยพ และการอพยพเข้ามาเป็นประจำในพื้นที่

“ในการเดินทางอพยพที่ไกลขนาดนั้น นกต้องใช้พลังงานเยอะมาก แต่ด้วยสัญชาตญาณก็ต้องทำ ฉะนั้นจุดแวะพักระหว่างทางจึงสำคัญมาก” ขวัญข้าว สิงหเสนี ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย อธิบาย “นกเป็นตัวบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้ดี ที่ใดมีนกอยู่มากมายย่อมหมายถึงมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมมีคุณภาพ” 

เธอบอกว่า น่าสนใจมากที่นกชายเลนเลือกนาเกลือเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า “การทำนาเกลือแบบดั้งเดิมของเราเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีการเติมสารเคมี เป็นเพียงการผันน้ำทะเลเข้าบ่อ แต่ละบ่อมีความเข้มข้นของเกลือที่ต่างกัน บ่อแรก ๆ ที่เริ่มทำนาเกลือเป็นที่อาศัยสำคัญของนกชายเลน เพราะบ่อเกลือที่เพิ่งผันน้ำเข้ามา ยังมีความเป็นเลนอยู่ และความเค็มยังไม่เข้มข้นเท่าบ่อที่กำลังแห้งใกล้เก็บเกลือแล้ว

น้ำทะเลที่ผันเข้ามาในบ่อดินสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกลายเป็นถิ่นอาศัยกึ่งธรรมชาติของนก

อาหารของนกชายเลนเหล่านี้คือสัตว์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในโคลนเลน ทั้งลูกปู ลูกปลา ลูกกุ้ง และสัตว์ทะเลหน้าดินชนิดต่าง ๆ นกชายเลนมีหลายขนาด อาหารการกินก็แตกต่าง บางชนิดขายาว บางชนิดขาสั้น เดินหากินอยู่ตามระดับน้ำไม่เท่ากัน ธรรมชาติออกแบบจงอยปากให้นกแต่ละชนิดหากินอาหารที่ต่างกัน การมีอยู่ของอาหารเหล่านี้ แสดงถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ก่อนที่สัตว์ทะเลหน้าดินและลูกสัตว์ทะเลเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารของมันเอง การมีอยู่ของนกชายเลนจึงสะท้อนความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่ทั้งในธรรมชาติและกึ่งธรรมชาติ

นกชายเลนอยู่อาศัยทำรังวางไข่บนพื้นดินเปิดโล่ง

นอกจากวิธีผันน้ำทะเลเข้าบ่อเกลือจะทำให้นาเกลือกลายเป็นแหล่งพักพิงของนกแล้ว รูปแบบการทำนาเกลือต้องอาศัยพื้นที่กว้างใหญ่ ถ้าไม่ใช่ช่วงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคนเข้ามาช่วยกันหลายสิบคน ในวันทั่วไป มีคนทำนาเกลือต่อพื้นที่เพียง 3 – 4 คนเท่านั้น จึงแทบไม่มีคนเข้าไปรบกวน นาเกลือจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนก

ต่างจากนกป่า นกชายเลนจะอาศัยในพื้นที่เปิดโล่ง ทำรังวางไข่อยู่ตามพื้นดิน ไม่ได้มีสุมทุมพุ่มไม้เป็นแหล่งกำบัง นกขนาดเล็กส่วนใหญ่จึงมีสีขาวและน้ำตาลดูกลมกลืนกับผืนดินนาเกลือ และหลายชนิดก็มีลักษณะใกล้เคียงกันจนสายตาคนที่ไม่ใช่นักดูนก หรือคนในพื้นที่ก็ยากที่จะแยก นกตัวใหญ่อย่างนกกระทุง นกกาบบัวจะมีสีสันที่โดดเด่นขึ้นมาบ้าง แต่โดยรวมแล้วไม่มีสีสันฉูดฉาดอย่างนกในป่า

เหล่านกน้ำถิ่นขนาดกลางอย่างนกยางเปีย นกยางโทนใหญ่ และนกกาบบัวตัวโตก็พบมากที่นี่

การที่นกชายเลนมาอาศัยอยู่ตามนาเกลือ ไม่เป็นการรบกวนคนทำนาเกลือแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ยังช่วยกินแมลง กินสิ่งมีชีวิตที่ปะปนกับเกลือออกไปให้เกลือที่ได้สะอาดขึ้นด้วย ในอดีต มีการดักนกชายเลนมากิน แต่ถึงตอนนี้ การสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์นก ก็ทำให้ชุมชนมีความรู้มากขึ้น การล่านกดักนกจึงลดลงไปมาก ด้วยการทำงานร่วมกันภายในชุมชน กับหน่วยงาน อย่างอบต. รวมถึงสผ. ที่ทำข้อมูลเกี่ยวกับนก และคู่มือการดูแลพื้นที่

การอนุรักษ์แบบนกอยู่ได้ คนอยู่ได้

เมื่อการมีอยู่ของนกชนิดหนึ่งสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวม การรักษาแหล่งอาศัยจึงสำคัญ และภัยคุกคามหลักที่ทำให้นกบางชนิดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงสูญพันธุ์ก็คือการสูญเสียแห่งอาศัย โดยมากมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ซึ่งโดยมากเป็นหาดเลน และถูกประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย จึงมักถูกเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง 

“พื้นที่นาเกลือมีโอกาสถูกเปลี่ยนมือได้ตลอดครับ มีนาเกลือปักป้ายขายเต็มไปหมด” พี่แดง – เสรี มานิช นักสำรวจนกชายเลน ในอำเภอบ้านแหลม บอก “แล้วนาเกลือก็ใช้พื้นที่เยอะ 50 ไร่ 100 ไร่ ถ้าถูกขายก็กระทบกับนกมาก ที่ร้อยไร่มีนกอาศัยเป็นหมื่นตัว”

พี่แดง เสรี มานิช ไกด์ดูนกและนักสำรวจนกชายเลน แห่งอำเภอบ้านแหลม

พี่แดงเป็นอดีตชาวประมงที่เริ่มทำงานเกี่ยวกับนกตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน ตั้งแต่เป็นคนขับเรือพานักวิจัยไปสำรวจประชากรนกในแหลมผักเบี้ย เป็นไกด์พาชมนกทะเลและนกชายเลน จนถึงเป็นผู้เก็บข้อมูลจำนวนและพฤติกรรมของนกชายเลนชนิดต่าง ๆ ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย รวมถึงทำงานกับอบต. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนอนุรักษ์นกและถิ่นที่อยู่ของมันในอำเภอนี้

“ผมทำงานให้กับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเก็บข้อมูลพฤติกรรมและจำนวนของนกชายเลน หลัก ๆ คือนกชายเลนปากช้อน เฝ้าดูว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง ตั้งแต่ฟ้าสว่างจนถึงมืด”

จุดสังเกตชัดที่สุดของนกชายเลนปากช้อนคชคือปลายปากที่แผ่ออกด้านข้างคล้ายช้อน | ภาพโดย Bird Conservation Society of Thailand

นกชายเลนปากช้อน ซึ่งมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered: CR) บ้านเกิดของนกชายเลนปากช้อนอยู่ในไซบีเรีย ปัจจุบัน ทั่วโลกมีนกชายเลนปากช้อนอยู่ราว 150 – 200 ตัว นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ที่ไซบีเรียในช่วงอากาศอบอุ่น หลังจากเข็งแรงเติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ก็จะเริ่มอพยพทางใต้มาในช่วงฤดูหนาว ในไทยมีนกชายเลนปากช้อนแวะเข้ามาเช่นกัน ขวัญข้าวเล่าว่า ปีที่ผ่านมานับได้ 12 ตัว

“12 ตัว ฟังดูน้อยนะคะ แต่เข้ามาในพื้นที่ที่น่าสนใจมาก คือที่นาเกลือทั้งหมดเลย พื้นที่เหล่านั้นประกอบไปด้วย ต.ปากทะเล จ.เพชรบุรี ต.โคกขาม จ.สมุทรปราการ และนาเกลือในฉะเชิงเทรา เรามีนักวิจัยไทยที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างชาติมาสำรวจนกชนิดนี้ เทียบกับจำนวนทั่วโลกแล้ว ที่ไทยจัดว่าพบเป็นจำนวนมาก”

ที่นกชายเลนมีความเสี่ยงสูญพันธุ์เพราะเป็นนกขนาดเล็ก และพันธุกรรมที่อ่อนแออาจมีส่วนด้วย ความพยายามในการอนุรักษ์นกชายเลนมีอยู่ 2 แบบ คืออนุรักษ์พื้นที่ในเส้นทางอพยพ และในรัสเซียก็มีการเก็บไข่นกเพื่อนำไปฟักในตู้อบ ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยลดอัตราการตาย เพิ่มอัตราการรอด

นกตีนเทียน ขายาวสีชมพู เป็นนกลุยน้ำที่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคที่มีอากาศอบอุ่น

ไม่เพียงแค่นกชนิดหนึ่ง การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์และสายพันธุ์ใด มีผลกระทบต่อห่วงโซ่ของสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพที่ช่วยพยุงความสมดุลของโลกเราไว้ ความพยายามในการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเสี่ยงสูญพันธุ์จึงสำคัญยิ่ง

เมื่อปี พ.ศ. 2562 สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ระดมทุนจากทั้งในประเทศและนอกประเทศมาซื้อนาเกลือแห่งนี้ เพื่อป้องกันการถูกขายเปลี่ยนมือไป หลังจากซื้อแล้วคนทำนาเกลือก็ยังคงใช้พื้นที่นี้ทำนาเกลือต่อไปได้

“โครงการระดมทุนเพื่อรักษานาเกลือผืนนี้ไว้ สัมพันธ์กับนกชายเลนปากช้อนเลยค่ะ” ขวัญข้าวว่า

“ที่โคกขามก็มีการรวมกลุ่มของคนในพื้นที่เอง เพื่ออนุรักษ์นกชายเลนปากช้อน ที่เพชรบุรี เราก็พบนกชายปากช้อนเช่นกัน พบอยู่ 6 ตัว ทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าเส้นทางปากทะเล แหลมผักเบี้ย มีความสำคัญในการอนุรักษณ์นกชายเลน ถ้าเราไม่อยากให้พื้นที่นาเกลือเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ก็ควรต้องลงมือทำบางอย่าง เราจึงซื้อพื้นที่นาเกลือของคนในพื้นที่เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์นกชายเลนแห่งแรกในประเทศไทย 

อาจเรียกได้ว่าพี่แดงเป็น Wildlife Spotter มือฉมัง ที่ช่วยชี้เป้านก ให้ความรู้ แนะนำวิธีดูแยกแยะนกแต่ละชนิด

และพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ แต่ละปีมีนกชายเลนทั้งอพยพและท้องถิ่น มาไม่น้อยกว่าหมื่นตัว และพบชนิดพันธุ์ ไม่น้อยกว่า 70 ชนิดในแต่ละปี เราระดมทุนจากคนที่อยากร่วมมือกันดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยของนกทั้งในและต่างประเทศ โดยมีคอนเซปท์ว่า ‘คนอยู่ได้ นกอยู่ได้’ เราซื้อนาเกลือ แต่ไม่ได้แปลว่า เราห้ามเกษตรกรทำนาเกลือต่อ เราซื้อเพื่อให้เขาทำต่อ เมื่อนาเกลือยังอยู่ ก็ยังมีแหล่งอาศัยให้นกชายเลน”

ไม่เพียงรักษานาเกลือไว้ แต่การอนุรักษ์ต้องอาศัยการทำงานกับชุมชนในพื้นที่ เพราะเราซื้อพื้นที่ได้เพียงบางส่วน แต่นกอพยพลงในพื้นที่ที่กว้างกว่านั้น ชุมชนที่อยู่ได้จะมีส่วนช่วยรักษาพื้นที่เอง

เช่น การส่งเสริมให้มีไกด์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้จากการนำชมนก ให้ความรู้แก่ผู้คน ทำให้ชุมชนเห็นว่าการมีนกอพยพในพื้นที่เป็นความน่าภูมิใจ สามารถนำไปเป็นจุดแข็งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เกลือ ให้เกษตรกรนาเกลือยังคงยึดอาชีพนี้อยู่ โดยสร้างมูลค่าให้มากกว่าเดิม 

นอกจากในเขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่สงวน การอนุรักษ์พื้นที่นอกเขตอนุรักษ์มีบทบาทสำคัญมาก เพราะเราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติได้ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ โดยที่รักษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพไปพร้อมกันจึงสำคัญ การได้รับการประกาศว่าพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ไม่เท่ากับเป็นที่อนุรักษ์ที่ห้ามเข้ามาทำกิน ไม่มีการบังคับใช้กฎใด ๆ เป็นแต่การให้ข้อมูลที่สำคัญ ให้ความรู้ด้านการจัดการพื้นที่ และสร้างความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ ชุมชน หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ในมิติต่าง ๆ ให้ทุกส่วนได้ประโยชน์ การอนุรักษ์จึงจะเป็นไปได้และยั่งยืน ภารกิจของ สผ. ก็คือการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้น

ตามหานกชายเลนปากช้อน

พี่แดงพาเราเดินดูนก ตามจุดต่าง ๆ เขามาพร้อมกล้องส่องทางไกลแบบสองตาและแบบตาเดียว เมื่อออกปากว่าอยากเห็นนกชายเลนปากช้อน ที่พงศ์วรุตม์บอกว่าเห็นได้ยากมาก เพราะนอกจากตัวเล็ก มีจำนวนน้อยแล้ว ยังอยู่ปะปนกับนกชนิดอื่น ๆ ที่ขนาดใกล้เคียงกันเป็นร้อยเป็นพันตัว “ยิ่งต้นฤดูอพยพแบบนี้ ถ้าเจอก็ถือว่าโชคดีมากครับ” แต่เราก็ยังคาดหวัง ในเมื่อเรามีพี่แดง ไกด์ดูนกมือฉมังเป็นผู้ชี้เป้าอยู่ทั้งคน

การเดินดูนกต้องระมัดระวังไม่รบกวนนก เดินตามคันดินที่แห้งแข็งแรงแล้ว ไม่เดินบนคันดินก่อใหม่

เดินไปตามคันนาเกลือที่พี่แดงย้ำว่าไม่ให้ขึ้นไปที่คันดินก่อใหม่ เพราะจะสร้างความเสียหายต่อนาเกลือ เลือกเดินตามคันดินที่แห้งและแข็งแรงเท่านั้น การที่สมาคม ฯ เป็นเจ้าของที่ดินมีข้อดีอีกอย่างคือ สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่บางจุดให้เอื้อประโยชน์กับนก เช่น บางบ่อมีการปรับความลาดเอียงของพื้นบ่อให้มีระดับความลึกของน้ำที่ต่างกัน ให้นกขนาดต่างกันใช้ประโยชน์ได้ นกขาสั้นก็หากินกับน้ำตื้น นกขายาวก็หากินกับน้ำลึก และในบ่อหนึ่ง ก็ยังสร้างเนินดินไว้กลางบ่อ เพื่อให้เป็นที่ที่นกใช้ทำรังวางไข่ได้โดยไม่มีคนเข้ามากล้ำกราย

พี่แดงใช้กล้องส่องทางไกลแบบสองตากวาดไปยังจุดที่คาดว่าจะเจอนกชายเลน แล้วตั้งกล้องส่องทางไกลตาเดียวกำลังขยายสูงมองไปอีกทีเพื่อความแน่ใจ ระหว่างเดินหานกชายเลนปากช้อน พี่แดงก็ชวนเราดูนกชายเลนชนิดอื่น ๆ ไปด้วย หลังจากบอกว่านกตัวไหนเป็นชนิดไหนแล้ว ก็เริ่มให้เราส่องแยกแยะเอาเอง “เดาซิว่านี่นกอะไร” กางคู่มือดูนกชายเลนประกอบ ระบุชนิดนกผิดบ้างถูกบ้าง แต่ทำให้เรายิ่งใส่ใจสังเกตขึ้น

นกชายเลนปากช้อนมักหากินปะปนกับนกที่มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกัน จนยากจะสังเกต | ภาพโดย Bird Conservation Society of Thailand

หากมองเผิน ๆ แล้วนกชายเลนปากช้อนมีลักษณะคล้ายนกชนิดอื่น เช่น นกสติ๊นท์คอแดง นกตีนสั้นคอไว ทำให้สับสนได้ง่าย จุดสังเกตที่ชัดที่สุดคือปลายปากที่แผ่ออกด้านข้างคล้ายช้อน จึงมีพฤติกรรมการหาอาหารที่ต่างจากนกที่มีจงอยปากแหลมที่จะหาอาหารแบบจิกลงไปในดิน นกชายเลนปากช้อนจะส่ายปากแทน และหากปากช้อนของมันอยู่ในน้ำ เราอาจพลาดขณะที่จะมองเห็นมันได้

แต่โชคดีก็มีอยู่จริง พี่แดงผู้มีประสบการณ์สูงลองเดินไปที่ที่เคยเจอนกชายเลนปากช้อน แล้วก็เจอปากแบนกว้างของนกตัวหนึ่งที่หาอาหารในบ่อที่มีความเป็นเลนฉ่ำน้ำทะเล ชั่วขณะสั้น ๆ ที่จ้องผ่านกล้องส่องทางไกลอย่างตื่นเต้น เราก็คลาดสายตาจากมันไปอย่างรวดเร็ว

ไม่ใช่แค่นกชายเลนปากช้อนที่ทำให้เราตื่นเต้น การมองนกผ่านกล้องส่องทางไกลไปเห็นอิริยาบถของนกอย่างชัดเจน ต่างจากการเห็นนกไกล ๆ ด้วยตาเปล่า จังหวะการก้าวเดินในน้ำ การจุ่มปากหาอาหารของนกไม่ว่าชนิดไหนก็น่าสนใจไปหมด การส่องมองได้ใกล้ยิ่งกว่าปกติ ทำให้เราเห็นความมีชีวิตชีวาของนกแต่ละตัว

“พอเราดูนกบ่อย ๆ เราก็จะเห็นว่าแต่ละตัวมีนิสัยของมัน อย่างบางตัวก็ชอบแย่งอาหารตัวอื่น บางตัวก็ตั้งใจแกล้งอีกตัว แต่ดันลื่นล้มเอง” พี่แดงเล่าเคล้าเสียงหัวเราะ

หรืออย่างที่ขวัญข้าวบอกว่า “ชอบเวลาเห็นตา ดวงตาเขามีความสดใส รู้สึกถึงความบริสุทธิ์ พอเห็นนกผ่านกล้องส่องทางไกล จากที่เมื่อก่อนเวลาเราเห็นนก เราก็แค่เห็นนกตัวหนึ่ง พอเราส่องผ่านเลนส์ เราจะเห็นหน้า เห็นตา เห็นท่าทาง ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มือเล็ก ๆ ของเราจะสามารถทำอะไรเพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตนี้ให้อยู่ร่วมโลกกับเราได้”

สำหรับเธอ นกคือสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ข้ามพรมแดน เป็นเครื่องมือสื่อสารเชิงบวกที่ช่วยเชื่อมร้อยผู้คนให้สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบางชนิด อาจหมายถึงการอนุรักษ์เฉพาะในที่ใดที่หนึ่ง หากเป็นการอนุรักษ์นกอพยพ ต้องมีความร่วมมือในระดับนานาชาติ ที่จะทำให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

เรื่อง อาศิรา พนาราม

ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส


บทความนี้จัดทำขึ้นโดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)


อ่านเพิ่มเติม ความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางชีวภาพแห่งทุ่งน้ำสามร้อยยอด

Recommend