[BRANDED CONTENT FOR ONEP]
ยามเช้าราว 7 โมง เรานั่งเรือล่องไปตามผืนน้ำนิ่งใสสะท้อนสีท้องฟ้า เทือกเขาสูงใหญ่ และพืชน้ำราวกับกระจก เหล่านกน้ำโผบินไปดึงดูดให้ศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและช่างภาพไปเก็บความประทับใจกลับมา
ทริปนี้พวกเราและทีมบ้านและสวน Explorers Club ชวนสมาชิกแฟนเพจมาสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณเขาสามร้อยยอดร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังมีเพื่อนร่วมทาง มะเดี่ยว – วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยา และพี่แวน – แวนชัย ประมาณ ช่างภาพสัตว์ป่า คอยชี้ชวนให้เรามองแง่งามของความหลากหลายของธรรมชาติที่สร้างความพิเศษให้กับบึงบัวหรือพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้
พืชและสัตว์ทุ่งน้ำสามร้อยยอด พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก
ทุ่งน้ำสามร้อยยอดอันกว้างใหญ่ที่มีพื้นที่รวมกว่า 43,260 ไร่ อยู่ล้อมรอบเทือกเขาหินปูนสามร้อยยอดที่ทอดยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกหรือแรมซาร์ ไซต์ (Ramsar Site) ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ตามความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์นกน้ำอพยพในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (East Asian-Australasian Flyway Partnership: EAAFP) ด้วยเช่นกัน โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่น และเป็นจุดพักของนกอพยพหลายชนิดในช่วงฤดูอพยพ
หน้าแล้งที่ผ่านมาบึงบัวแห่งนี้แห้งผากจนน่าตกใจ แต่นี่เป็นพลวัตรหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำ ยามแล้งใต้ดินยังคงมีเหง้าพืชที่รอการมาของฝนให้ตื่นและแทงยอดขึ้นมาใหม่ เรามาในช่วงกลางฤดูฝนที่ทุ่งน้ำแห่งนี้ถูกเติมเต็มด้วยน้ำฝนและระบบชลประทาน แต่หลายบริเวณก็ตื้นจนทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องมาไถดินให้เป็นร่องน้ำ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถพายเรือหาปลา ตัดบัว รวมถึงให้เรือท่องเที่ยวสามารถพานักท่องเที่ยวชมธรรมชาติได้ คนในพื้นที่สามารถเข้ามาหากิน ใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานฯ ตราบเท่าที่ไม่เป็นการหาประโยชน์จนทำลายธรรมชาติ ซึ่งพวกเขาก็ยินดีจะรักษาแหล่งทรัพยากรของพวกเขาอยู่แล้ว
ท่ามกลางพืชดั้งเดิมของพื้นที่ เช่น แขม อ้อ บัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน และแห้วทรงกระเทียม มีพืชต่างถิ่นที่เป็นสายพันธุ์รุกรานอย่างธูปฤาษีกินพื้นที่ไปไม่น้อย การเข้ามาของสายพันธุ์ต่างถิ่นดูจะเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้ยาก ชนิดพันธุ์ที่ไม่รุกรานและปรับตัวอยู่ร่วมกันได้มีมากมาย แต่สายพันธุ์ต่างถิ่นที่ได้ชื่อว่า “รุกราน” ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีและสามารถแพร่กระจายในธรรมชาติได้รวดเร็ว ไปแย่งอาหาร แย่งที่อยู่อาศัย จนพืชดั้งเดิมในพื้นที่มีลดจำนวนลง การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจึงส่งผลกระทบกับระบบนิเวศเป็นห่วงโซ่
ระหว่างนั่งเรือไปคนเรือชี้ให้เราดูกอแห้วทรงกระเทียม ซึ่งมีหัวคล้ายแห้วอยู่ใต้ดิน ยามหน้าแล้งก็ลงหัวอยู่ใต้ดิน เป็นอาหารที่นกชอบขุดกิน เมื่อน้ำมาก็เติบโตขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและนกน้ำ นกเหล่านี้กินทั้งแมลงและหัวใต้ดิน รากใต้น้ำก็ยังเป็นที่อยู่ของไรแดง ซึ่งเป็นอาหารที่ปลาสลิดสามร้อยยอดชอบ วงจรชีวิตที่อยู่รอบแห้วทรงกระเทียมสะท้อนภาพชีวิตของทุ่งน้ำสามร้อยยอด เมื่อมีธูปฤาษีผู้รุกรานโตเบียดเบียนพื้นที่ของแห้วทรงกระเทียม ก็ส่งผลต่อนกน้ำ ต่อปลาสลิดที่ลดจำนวนลง ยังไม่นับปลาหมอคางดำที่รุกเข้ามาในแหล่งน้ำนี้
ตามกอพืชเราเห็นไซขนาดเล็กที่ชาวบ้างวางดักปลาไว้ตามจุดต่าง ๆ พร้อมสัญลักษณ์ให้รู้กันว่าคนเรือจะไม่ล่องไปรบกวนการดักปลา ปลาช่อนคือปลาที่ชาวบ้านหมายตาเป็นพิเศษ แต่สำหรับคุณป้าที่กำลังจอดเรือแกะปลาหมอคางดำออกจากตะคัดดักปลา เธอว่าอยากได้ปลาสร้อย แต่กลับจับปลาหมอคางดำได้มากกว่ามานานหลายปีแล้ว “เคยตัดหัวไปทำปลาเค็มขายในตลาดด้วยนะ บางทีคุณอาจเคยกินมันแล้วแต่ไม่รู้ก็ได้” คุณป้าว่ายิ้ม ๆ
“มีปลาช่อน แล้วมีปลาชะโดมั้ยคะ” เราถาม เพราะเผื่อได้เห็นปลานักล่าตัวใหญ่ลายประสีดำโดดเด่นที่เคยเห็นนานมาแล้ว “ที่นี่ก็มีชะโด แต่น้อยลงไปเยอะ ชะโดกินปลาหมอคางดำได้นะ แต่ไม่ใช่ปลาที่มันชอบกิน” คุณลุงคนขับเรือบอก
นกที่ส่งเสียงประหลาดเหมือนเด็กร้องไห้เบนความสนใจเราให้มองตามเสียง “นั่นเสียงนกอีโก้ง” คุณลุงบอก นกแห่งทุ่งน้ำสามร้อยยอดมีอยู่หลายชนิด เช่น นกเป็ดผีเล็ก นกอีโก้ง นกพริก นกกระสาแดง นกตับคา นกแขวก นกอีล้ำ รวมถึงนกอพยพ เช่น นกกระสานวล เป็ดลาย เป็ดหางแหลม ซึ่งบางตัวก็อยู่ยาวไปจนกว่าจะถึงหน้าแล้งที่อาหารหมด
คุณลุงชี้ให้เราดูกลุ่มนกตับคาที่เกาะกลุ่มอยู่ตามยอดไม้ชายเขาอยู่ไกล ๆ พอ เงยหน้ามองฟ้า ก็เห็นนกหลากชนิดบินแล่นลมแล้วร่อนลงที่กอพืชไกลตา ต้องอาศัยกล้องส่องทางไกลมองจึงจะได้เห็นอากัปกิริยาการใช้ชีวิตกับผิวน้ำอันน่าประทับใจ ทำให้เรารู้สึกว่าธรรมชาติที่มีหลายชีวิตอยู่ร่วมกันนั้นช่างงดงาม
การอนุรักษ์ “เสือปลา” นักล่าแห่งทุ่งน้ำสามร้อยยอดที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แห่งนี้ คือ “เสือปลา” สัตว์ผู้ล่าแห่งทุ่งน้ำสามร้อยยอด ซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เมื่อสูญเสียที่อยู่อาศัยจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เสือปลาจึงต้องหากินทับซ้อนกับพื้นที่ของชุมชน ขโมยกินปลาเลี้ยง เป็ด ไก่ของชาวบ้าน และถูกล่าจนประชากรลดลงจนอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างยิ่ง จากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2564 พบว่าเหลือเพียง 67 ตัวเท่านั้น การลดลงของเสือปลาซึ่งเป็นผู้ควบคุมประชากรลำดับล่างลงมาอย่างหนู ปลา และนกให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสมกระทบต่อความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การอนุรักษ์เสือปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เราได้ติดตาม นิรุตต์ ท้าวโกษา ผู้เชี่ยวชาญงานศึกษาและอนุรักษ์เสือปลา ซึ่งทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2550 ต่อมาก็ได้ร่วมงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์การแพนเทอรา รวมถึง สผ.
พี่นิรุตต์พาเราไปดู “ห้องน้ำเสือปลา” ที่สวนของ “ลุงแอ๊ว” ผู้จุดประกายให้เขาสนใจเรื่องเสือปลา จนทำงานด้านอนุรักษ์เรื่อยมา ตอนนี้เขาก็เป็นผู้ให้ความรู้ของกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง กลุ่มเยาวชนที่พี่นิรุตต์ริเริ่มชักชวนให้เด็ก ๆ โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ที่อยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดได้เรียนรู้และทำกิจกรรมดูแลรักษาธรรมชาติใกล้ตัวพวกเขา “ลุงแอ๊วเป็นคนแรกที่พาผมดูเรื่องเสือปลา สังเกตพฤติกรรมของเสือปลา ซึ่งมีการกระทบกระทั่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้าน แต่ก็ไม่ได้มีความเสียหายเป็นวงกว้าง” แต่ก็มีผลกับเสือปลาที่ไปกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านพอสมควร
ห้องน้ำเสือปลาที่ว่า เป็นศาลหลังน้อยก่อสร้างง่าย ๆ พอเห็นร่องรอยของการขับถ่ายของเสือปลา เขาก็ไม่ว่าปล่อยให้เป็นห้องน้ำของมัน พร้อมอนุญาตให้พี่นิรุตต์มาติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์เพื่อเก็บข้อมูลเสือปลา
“เราไม่มีทางเห็นมันตัวเป็น ๆ ได้ง่าย ๆ หรอก เสือปลาไวมาก มีแต่ชาวบ้านในพื้นทีี่ที่เสือปลาชินกลิ่นยังพอได้เห็นบ้าง พวกเราแทบไม่มีทางได้เห็น ผมทำงานนี้มาเป็นสิบปี เพิ่งเห็นตัวเป็น ๆ ครั้งแรกเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนนี้เอง” เสือปลาลักษณะคล้ายแมวตัวใหญ่ แม้จะใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ก็ชอบใช้เส้นทางหากินเดียวกับคน เพราะการถางทางทำให้มันเดินง่าย ไม่ต่างจากเราที่เลือกเดินในทางที่สะดวกสบายกว่า และที่ที่มันใช้เวลามากหน่อยก็คือการใช้ห้องน้ำ “เสือปลาจะขับถ่ายในที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง อย่างอาคารหรือขอบบ่อซีเมนต์ที่กันฝนได้” การวางจุดติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์เพื่อสังเกตพฤติกรรมหาได้ไม่ยาก นอกจากสวนของลุงแอ๊วแล้ว ยังมีเจ้าของที่ดินอีกแห่งที่รู้จักกันและบอกว่าเห็นร่องรอยเสือปลา อนุญาตให้พี่นิรุตต์มาติดตั้งกล้องได้
ที่ผ่านมา สผ.ได้ทำงานร่วมมือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาสาสมัคร และคนพื้นที่ในการให้ความรู้ถึงความสำคัญของเสือปลา และจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อชดเชยความเสียหายจากเสือปลา หรือให้ชุมชนนำไปทำโครงการท่องเที่ยวที่ชูเสือปลาเป็นจุดเด่น ตอนนี้คนในพื้นที่เร่ิมเข้าใจบทบาทของเสือปลาที่มีผลกับพวกเขาแล้ว ที่ใกล้ตัวที่สุด ก็เป็นผู้ล่าหนูซึ่งเข้ามาทำลายผลผลิตทางการเกษตรให้ สวนเกษตรบางพื้นที่ก็ยินดีให้ติดกล้องดักสัตว์เพื่อเก็บข้อมูลเสือปลานำไปทำวิจัยและหาแนวทางอนุรักษ์เสือปลาต่อไป
ชมทุ่งน้ำแห่งเกาะมอญ – เกาะไผ่ไปดูร่องรอยทะเลที่เขาแมว
ช่วงบ่ายที่ตะวันคล้อยต่ำฉาบแสงอมเหลืองไปทั่วบริเวณชุมชนท่องเที่ยว “ท่าเรือชมทุ่งเกาะไผ่ สามร้อยยอด” ที่เราเช่าเรือออกไปดู “เขาแมว” และ “เขาจูบกัน” คืออีกจุดที่ได้เห็นเรื่องราวตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ของเขาสามร้อยยอด ทุ่งน้ำฝั่งนี้ให้ภาพทิวทัศน์ต่างจากฝั่งบึงบัว ด้วยมีพงแขมอ้อหนาแน่นกว่าธูปฤาษี เรือนำเที่ยวล่องผ่านพงแขมอ้อมุ่งหน้าไปยังไฮไลท์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาถ่ายรูปที่เขาจูบกันตอนอาทิตย์ใกล้ตกดิน
นี่อาจเป็นกุศโลบายชวนมาดูฟอสซิลหอย หลักฐานยืนยันว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน ระดับน้ำทะเลก็วัดได้จากแนวของฟอสซิลหอยที่พบ รวมถึงแนวที่ถูกกัดเซาะจนเว้าเข้าไปบริเวณด้านล่างของเขาแมวด้วย เขาแมวเป็นที่ที่แสดงนิเวศในอดีตกาลได้อย่างชัดเจนว่าก่อนจะกลายเป็นทุ่งน้ำจืด บริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน และเทือกเขาสามร้อยยอดเองก็เคยเป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบ เมืื่อน้ำทะเลลดลงและมีสมมติฐานว่ามีการสะสมของตะกอนทรายจนปิดทางเชื่อมต่อระหว่างทะเลกับพื้นที่แห่งนี้ ประกอบกับน้ำจืดที่ถูกชะมาจากเทือกเขาหินปูนค่อย ๆ เติมเข้ามาจนเปลี่ยนแอ่งผืนนี้ให้เป็นทุ่งน้ำจืดขนาดใหญ่
แต่กระนั้นความเค็มก็ยังหลงเหลืออยู่ในดิน ถึงขนาดที่ราวหลายสิบปีก่อน ตั้งแต่รุ่นคุณยายของคนขับเรือเล่าให้ฟังว่ารัฐเคยประกาศให้ที่นี่เป็นพื้นที่การเกษตรสำหรับชาวบ้าน แต่ไม่มีใครมาจับจอง เพราะดินเค็มทำนาทำไร่ไม่ขึ้น ทางกรมอุทยาน ฯ จึงได้ประกาศผนวกรวมพื้นที่บริเวณนี้เข้าเป็นเขตอุทยาน ฯ ซึ่งยังคงเปิดโอกาสให้คนพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาและเล่าเรื่องราวของธรรมชาติและวิถีชีวิต
ดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนต่ำทำมุมและส่องแสงสวยงามที่เขาจูบกัน โพรงขนาดเล็กที่ธรรมชาติสร้างให้เป็นเหมือนเขาโน้มหน้ามาจูบกัน เบื้องหลังคือแนวฟอสซิลหอยเกาะเรียงตามผนังหินที่ธรรมชาติบันทึกไว้ให้เราได้ศึกษาความเฉพาะตัวของพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ธรรมชาติผันแปรไปตามกาลเวลานับล้านปี เมื่อมีมนุษย์เข้ามาอยู่ในสมการนี้ เราก็ได้ประโยชน์มากมายจากธรรมชาติในฐานะทรัพยากรที่ทำให้เราดำรงอยู่ การใช้ประโยชน์โดยไม่ทำให้เสียสมดุลคือสิ่งจำเป็นมากโดยเฉพาะในยุคนี้
เมื่อพื้นที่แห่งนี้คือทรัพย์ของพวกเรา จึงได้รับการดูแลและจัดการอย่างมีส่วนร่วมทั้งจากผู้คนในพื้นที่ หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบโดยตรง เครือข่ายการทำงานภาคประชาสังคมไปจนถึงการผลักดันสู่ระดับนโยบาย ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญในระดับโลก
ไม่ต่างจากป่าหรือมหาสมุทร พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญในฐานะผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาพันธุ์ เป็นพื้นที่รับน้ำในหน้าน้ำหลาก ช่วยลดผลกระทบของอุทกภัย เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่บกกับแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ยังคงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย
บทความนี้ผลิตขึ้นโดยได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)