“ภาพของพืชพรรณนานาชนิดที่สร้างสรรค์โดยแมรี่ เอมิลี่ อีตัน”
คือ ภาพพอร์เทรต (portrait) ที่นอกจากบันทึกรูปร่างลักษณะความสวยงามแล้ว ยังแฝงด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของพืชชนิดนั้นอย่างวิจิตร ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์เหล่านี้ช่วยสื่อสารภาษาทางพฤกษศาสตร์และกลไกทางชีววิทยาที่ซับซ้อนให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผ่านความงามของผลงานศิลปะและเสน่ห์ของพรรณไม้ที่ดึงดูดสายตาเราได้อย่างไม่รู้ตัว
เส้นทางของนักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์
‘แมรี่ เอมิลี่ อีตัน’ (1873–1961) เป็นศิลปินคนสำคัญในศตวรรษที่ 19 เธอเป็นลูกสาวของภัณฑารักษ์ชาวอังกฤษ จากเมืองโคลฟอร์ด (Coleford) เทศมณฑลกลอสเตอร์ (Gloucestershire) สหราชอาณาจักร ซึ่งเธอศึกษาด้านศิลปะโดยตรงและได้รับการขัดเกลาเทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำจากหลายสถาบันในสหราชอาณาจักร หลังจากการทำงานเป็นผู้ออกแบบลวดลายลงบนเครื่องเคลือบ ของบริษัท Worcester Royal Porcelain เป็นระยะเวลาหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1909 แมรี่มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่จาไมกา และใช้เวลาอยู่ที่นั่น 2 ปี เธอได้เริ่มวาดภาพผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน (moth) ซึ่งในปัจจุบันผลงานภาพวาดเหล่านี้ยังคงถูกประมูลในท้องตลาด
เส้นทางศิลปินของแมรี่ดำเนินต่อไปเมื่อเธอได้งานที่สวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก (New York Botanical Garden, NYBG) สหรัฐอเมริกา ในฐานะนักวาดภาพทางพฤกษศาสตร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1911–1932 เธอร่วมงานกับนักพฤกษศาสตร์และมีบทบาทในการเป็นนักวาดหลักให้กับวารสารของสวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก ชื่อ “Addisonia” ที่เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916 ซึ่งวารสารนี้ให้ข้อมูลทางอนุกรมวิธานและคำบรรยายลักษณะของพืช พร้อมภาพประกอบที่วาดโดยแมรี่ แต่ในขณะนั้นเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพสีน้ำมีข้อจำกัดจึงเป็นเพียงแค่การพิมพ์สีแบบฮาล์ฟโทน ที่อาจลดทอนรายละเอียดและสีสันที่แท้จริงในภาพวาดของแมรี่
ผลงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ของแมรี่ที่มีชื่อเสียงมากปรากฏในหนังสือ monograph ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกระบองเพชร ชื่อ “The Cactaceae” ที่ค้นคว้าและเขียนโดย Nathaniel Britton และ Joseph Nelson Rose นักพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วย 4 เล่ม ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1919–1923 โดยหนังสือชุดนี้ถือเป็นการปฏิวัติอนุกรมวิธานและการจัดจำแนกกระบองเพชร เนื่องจากพืชกลุ่มกระบองเพชรนั้นมีความหนา อวบน้ำ และมักเสียหายได้ง่าย จึงยากที่จะเก็บรักษาตัวอย่างของพืชเพื่อการอ้างอิง ดังนั้นการมีภาพประกอบสี ที่ถูกต้อง ละเอียด และสวยงาม จึงเพิ่มคุณค่าให้กับหนังสือชุดนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาพวาดของแมรี่ที่เป็นภาพประกอบส่วนใหญ่ของหนังสือชุดนี้ ร่วมกับภาพวาดของศิลปินอีกหลายคน ได้แก่ Deborah Griscom Passmore, Helen Adelaide Wood และ Kako Morita นอกจากภาพวาดทางพฤกษศาสตร์บนหน้าสีที่สวยงามแล้ว หนังสือ The Cactaceae ยังประกอบด้วยภาพวาดขาว-ดำ และภาพถ่าย ที่บันทึกลักษณะที่พบในภาคสนามและรายละเอียดของกระบองเพชร ถือได้ว่าเป็นหนังสือทางพฤกษศาสตร์ชุดที่รุ่มรวยและหรูหราในสมัยนั้น
ภาพวาดกระบองเพชรของแมรี่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยการจัดองค์ประกอบที่เรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดของลักษณะพืชที่สำคัญในการระบุชนิด ใช้เทคนิคสีน้ำที่สามารถถ่ายทอดลักษณะของกระบองเพชรได้อย่างชัดเจน ทั้งรูปทรง สีสัน และลักษณะของหนามที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะต้นสด อวบ มีหนาม สิ่งที่น่าสนใจในภาพวาดกระบองเพชรของแมรี่คือ ส่วนของ “ดอก” ที่มีขนาดใหญ่ อาจมีสีสันสดใส เห็นได้ชัดเจน ตรงตามคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ที่นิยามว่าดอกขนาดใหญ่และเห็นชัด (large and showy) สะท้อนให้เห็นกลไกทางชีววิทยา ที่การถ่ายเรณูของกระบองเพชรนั้นต้องอาศัยสัตว์ที่ถูกล่อด้วยดอกขนาดใหญ่และเห็นชัดนั่นเอง
ผู้ถ่ายทอดความงามของดอกไม้ป่า
นอกจากแมรี่จะเป็นศิลปินหลักที่สวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์กแล้ว ยังเป็นนักวาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร National Geographic เป็นเวลากว่าสิบปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915–1925 ผลงานของเธอเป็นการวาดภาพดอกไม้ป่าในอเมริกา โดยตีพิมพ์ในหลายบทความ ได้แก่ “American Wild flowers” (ค.ศ. 1915 จำนวน 29 ภาพ) “Common American Wild flowers” (ค.ศ. 1916 จำนวน 17 ภาพ) ภาพดอกไม้ประจำรัฐใน “State Flowers” (ค.ศ. 1917 จำนวน 30 ภาพ) “American berries” (ค.ศ. 1919 จำนวน 29 ภาพ) และ “Midsummer Wild Flowers” (ค.ศ. 1922 จำนวน 38 ภาพ) ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 มีการรวบรวมภาพวาดทั้งหมด 241 ภาพเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ “The Book of Wild Flowers” โดย National Geographic Society ซึ่งถือเป็นการรวบรวมผลงานภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ของเธอที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้คนจนถึงปัจจุบัน บทความสุดท้ายที่เธอได้ร่วมงานกับ National Geographic คือ “Pages from the Floral Life of America” (ค.ศ. 1925 จำนวน 55 ภาพ) ถือเป็นผลงานที่ปิดฉากความร่วมมือที่สำคัญของเธอกับนิตยสารนี้
ความหลากหลายของพืชพรรณในภาพวาดของแมรี่ เอมิลี่ อีตัน
ภาพวาดมากกว่า 200 ภาพของแมรี่ที่เก็บรักษาในคลังภาพของ National Geographic แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพืชท้องถิ่นในอเมริกาเหนือ ภาพวาดเหล่านี้ไม่เพียงแค่บันทึกพืชพรรณ โดยเฉพาะดอกไม้ป่าที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา แต่ยังแฝงบริบทด้านนิเวศวิทยาและสภาพแวดล้อมของพืชเหล่านั้นด้วย จากภาพวาดทั้งหมด 244 ภาพ พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นพืชดอก (Angiosperms) ยกเว้นเพียงสองภาพที่ไม่ใช่พืชดอก ได้แก่ สน Eastern white pine tree (Pinus strobus L.) และ หญ้าหางม้า (Equisetum arvense L.) ซึ่งลักษณะสำคัญของพืชเหล่านี้ถูกถ่ายทอดได้อย่างครบถ้วน
ภาพวาดของแมรี่แสดงสภาพแวดล้อมและถิ่นอาศัยของพืช โดยจากภาพวาดทั้งหมดพบว่ากว่า 96 % เป็นพืชบก และมีเพียง 4 % ที่เป็นพืชน้ำ พืชน้ำนั้นมีความจำเพาะกับถิ่นอาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น แม่น้ำ ปากแม่น้ำ พื้นที่ลุ่มที่มีน้ำขัง (ที่ลุ่มชื้นแฉะ (marsh) พรุ (swamp และ bog)) ทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำ รวมถึงริมชายฝั่งทะเล โดยมักพบพืชน้ำในบริเวณที่น้ำตื้นและแสงส่องถึง หรือบริเวณริมตลิ่ง จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีจำนวนพืชน้ำที่ถูกบันทึกและวาดภาพน้อยกว่าพืชบก โดยพืชน้ำที่เธอวาดมีทั้งพืชที่พบทั่วไป เช่น Ribbon-leaved pondweed (Potamogeton epihydrus Raf.), Bur-reed (Sparganium americanum Nutt.), ช่อครามน้ำ (Pontederia cordata L.) และ Boardleaf arrowhead (Sagittaria latifolia Willd.) นอกจากนี้ เธอยังบันทึกพืชน้ำเฉพาะถิ่นของอเมริกาเหนือ เช่น Yellow pond lily (Nuphar polysepala Engelm.) ที่ดูคล้ายบัวสาย แต่เป็นพืชเฉพาะถิ่นของอเมริกาตะวันตก ตั้งแต่บริเวณอเมริกาซับอาร์กติกไปจนถึงตอนกลางของอเมริกา และ Golden club (Orontium aquaticum L.) ที่เป็นพืชหายากเฉพาะถิ่นของอเมริกาตะวันออก
เมื่อพิจารณาลักษณะวิสัย (habit) ของพืชที่แมรี่วาด พบว่าประกอบด้วยภาพพืชล้มลุกถึง 168 ภาพ คิดเป็นสัดส่วน 69 % รองลงมาคือภาพไม้พุ่ม ไม้ต้น และไม้เถา ภาพวาดเหล่านี้บันทึกรายละเอียดสำคัญที่ใช้ในการระบุชนิดพืชตามหลักอนุกรมวิธานพืชดอกอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ ดอก ผล และลักษณะวิสัยของพืช แต่ละส่วนถูกถ่ายทอดอย่างชัดเจนและสมจริง เช่น ลักษณะของ “ราก” ที่สะท้อนถึงหน้าที่ต่าง ๆ ของราก ทั้งรากสะสมอาหาร รากแก้วที่ช่วยยึดเกาะ และรากฝอยที่ดูดซึมน้ำและธาตุอาหาร ลักษณะของไม้เถาหรือไม้เลื้อยที่สื่อด้วยการพันเกลียวของลำต้นและลักษณะของ “มือเกาะ” (tendril) นอกจากนี้ การบันทึกส่วนผลของพืชยังมีความละเอียดและสวยงาม โดยเฉพาะผลประเภทเบอร์รี่ (berry) ที่มีสีสันสดใสและสะดุดตา ผลงานเหล่านี้สะท้อนถึงความสามารถของแมรี่ในการถ่ายทอดลักษณะสำคัญทางพฤกษศาสตร์ได้อย่างงดงาม
บางภาพที่แมรี่บันทึกได้สะท้อนลักษณะของเมล็ดพืชอย่างน่าสนใจ ไม่เพียงแค่ลักษณะทางสัณฐานวิทยาเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงกลไกการแพร่พันธุ์ (dispersal mechanism) ของพืชด้วย ตัวอย่างเช่น เจอราเนียม (Geranium maculatum L.) และ Touch-me-not (Impatiens pallida Nutt.) ซึ่งเมื่อผลเจริญเต็มที่ เปลือกจะแตกออกและดีดเมล็ดไปได้ไกล หรือในกรณีของเมล็ดพืชบางชนิดที่มีโครงสร้างพิเศษ เช่น “ขน” ที่ช่วยให้เมล็ดสามารถลอยไปกับกระแสลมได้ ตัวอย่างเช่น Dandelion (Taraxacum ceratophorum (Ledeb.) DC.)
ภาพวาดของแมรี่ไม่เพียงบันทึกรายละเอียดทางสัณฐานวิทยาได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นด้วยองค์ประกอบศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์เท่านั้น แต่ยังแฝงข้อความทางนิเวศวิทยาและธรรมชาติของพืชแต่ละชนิดไว้อย่างลึกซึ้ง ภูมิภาคอเมริกาเหนือเป็นบ้านของ “พืชกินแมลง” หลากหลายชนิด โดยบางชนิดพบได้เฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น เช่น Purple pitcher plant (Sarracenia purpurea L.) และ กาบหอยแครง (Dionaea muscipula J. Ellis) ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวในสกุลนี้ พบได้เฉพาะในรัฐนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา โดยได้รับการจัดสถานะเป็นพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ตามบัญชีแดงของ IUCN (IUCN Red List of Threatened Species) นอกจากนี้ยังมีพืชกินแมลงที่อาศัยในน้ำ เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว หรือ Common bladderwort (Utricularia macrorhiza Leconte) ซึ่งดักจับแมลงขนาดเล็กในน้ำโดยใช้ถุงดักที่ทำให้เกิดแรงดูดแมลงเข้าไปได้
นอกจากนี้ แมรี่ยังได้บันทึกภาพของพืชปรสิตที่พึ่งพาสารอาหารจากพืชเจ้าบ้านโดยไม่ให้ประโยชน์ตอบแทน พืชปรสิตเหล่านี้มักมีลักษณะลดรูป และมีส่วนดอกที่โดดเด่น โดยส่วนใหญ่จะไม่มีคลอโรฟิลล์สำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง พืชเหล่านี้สร้างโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า haustorium เพื่อเชื่อมต่อกับเนื้อเยื่อท่อลำเลียงของพืชเจ้าบ้าน ถือว่าผลงานของแมรี่สามารถสะท้อนความหลากหลายและความสัมพันธ์เชิงนิเวศในธรรมชาติได้อย่างงดงาม
นอกจากการแสดงลักษณะทางสัณฐานวิทยาและวิสัยของพืชได้อย่างสวยงามแล้ว ภาพวาดพืชของแมรี่สามารถสื่อถึงเรื่อง “ฤดูกาล” ผ่านการเปลี่ยนแปลงของใบ ดอก และผล หรือที่เรียกว่า “ชีพลักษณ์” (phenology) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของพืชตามฤดูกาล เช่น การเปลี่ยนสีของใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วง การผลิใบใหม่หรือการผลิดอกในฤดูใบไม้ผลิ ที่ในบางภาพอาจเชื่อมโยงกับช่วงเวลาในการพัฒนาของผล นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพัฒนาการของพืชในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่การออกดอกตูม การบานของดอก จนถึงการเจริญเติบโตเป็นผลและเมล็ด ซึ่งช่วยให้ผู้ชมเห็นภาพของพืชในมิติที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตตามฤดูกาล
สิ้นสุดสัญญา แต่งานวาดไม่สิ้นสุด
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) สัญญาการทำงานกับสวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์กจึงต้องสิ้นสุดลง แมรี่จึงเดินทางกลับอังกฤษในปี ค.ศ. 1947 และยังคงสร้างผลงานภาพวาดต่อไป ในปี ค.ศ. 1922 และ 1950 ผลงานภาพวาดของแมรี่จัดแสดงที่ราชสมาคมพืชสวน (Royal Horticultural Society, RHS) ซึ่งเธอได้รับรางวัลเหรียญเงิน Grenfell Medals นอกจากนี้ผลงานภาพวาดของแมรี่ได้ถูกจัดแสดงนิทรรศการที่สวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1932 หอสมุดประชาชนนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1933 และสถาบันฮันต์เพื่อการบันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ (Hunt Institute for Botanical Documentation, HIBD) ในปี ค.ศ. 1977 ปัจจุบันภาพวาดของแมรี่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในคอลเล็กชั่นถาวรที่สวนพฤกษศาสตร์นิวยอร์ก สถาบันฮันต์เพื่อการบันทึกข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ และ National Geographic Society ส่วนภาพวาดกระบองเพชรในหนังสือ The Cactaceae ถูกจัดเก็บไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) นอกจากนี้ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลภาพวาดดิจิตัลที่มีความละเอียดสูงอีกด้วย
แมรี่ เอมิลี่ อีตัน เป็นศิลปินหญิงที่มีบทบาทสำคัญในศตวรรษที่ 19 ด้วยผลงานภาพวาดที่ผสมผสานความงามทางศิลปะกับความแม่นยำทางวิทยาศาสตร์อย่างลงตัว เทคนิคการวาดของเธอโดดเด่นในการถ่ายทอดลักษณะของพืชได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะการใช้สีน้ำที่ให้สีสันสดใสและเลือกใช้โทนสีที่เป็นธรรมชาติ ผลงานของเธอสะท้อนความละเอียดอ่อนในการสังเกต เช่น การแสดงพื้นผิวมันวาวของผลแบบเบอร์รี่ โครงสร้างเกสรเพศผู้และเพศเมีย รวมถึงฝัก (ผล) โดยเน้นความสำคัญของส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญในการจำแนกชนิดพืชและแฝงด้วยข้อความทางนิเวศวิทยา เธอใช้เทคนิคการขยายส่วนที่มีขนาดเล็กของพืชผนวกกับลายเส้นที่ประณีต ทำให้รายละเอียดเหล่านี้ชัดเจน ทำให้ภาพวาดของเธอมีคุณค่าทางความงามและความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ภาพวาดของเธอไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักพฤกษศาสตร์และนักปรับปรุงพันธุ์ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนตระหนักถึงความงดงามและความสำคัญของพืชรอบตัว แม้จะเป็นเพียงดอกไม้ป่าที่พบได้ทั่วไป ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ แมรี่ เอมิลี่ อีตัน จึงเป็นศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจผ่านภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ ที่ยังคงสร้างความประทับใจให้คนรุ่นหลัง พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่นและส่งเสริมการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเข้าใจในธรรมชาติ
เรื่อง
ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา
เอกสารอ้างอิง
https://www.botanicalartandartists.com