“หลอดกระดาษ และ หลอดพลาสติก มีสารเคมีตลอดกาลซ่อนอยู่
นักวิทยาศาสตร์ชี้หลอดสแตนเลสอาจเป็นทางเลือกที่ ‘ปลอดภัย’ ที่สุด”
ในปี 2015 ภาพหลอดพลาสติกที่ติดอยู่ในจมูกของเต่าทะเลซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้กลายเป็นไวรัลขึ้นมาไปทั่วโลก และทำให้หลายคนตระหนักถึงความร้ายกาจของหลอดพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งขึ้นมาพร้อมกับกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสิ่งแวดล้อม
ผู้คนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการผลิตหลอดประเภทใหม่ที่สามารถย่อยสลายได้จนกลายเป็นยุคใหม่ของหลอดดูดน้ำที่แตกแขนงเป็นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหลอดกระดาษ หลอดจากเนื้อเยื่อพืช หรือหลอดสแตนเลสที่แข็งแรง อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าหลอดกระดาษจะเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามร้านอาหาร ทว่าผู้ใช้งานก็ตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่าหลอดกระดาษนั้นไม่มี ‘ความแข็งแรง’ เอาซะเลย และมักจบลงด้วยหลอดที่อ่อนปวกเปียกจนไม่สามารถดูดน้ำได้อีกต่อไป งานวิจัยที่เผยแพร่บนวารสาร Food Additives and Contaminants ได้เน้นย้ำถึงปัญหาของหลอดชนิดนี้อีกครั้งซึ่งอันตรายกว่าความคงทนของมัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม พบว่าหลอดหลายชนิดต่างก็มีสารเคมีตลอดกาล (สารเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล หรือ PFAS) อยู่ในหลอดซึ่งจะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายทศวรรษ และที่สำคัญก็คือหลอดกระดาษมี PFAS มากกว่าหลอดชนิดอื่นหลายเท่า
“หลอดดูดน้ำที่ทำจากวัสดุจากพืชเช่น กระดาษและไม้ไผ่ มักมีการโฆษณาว่ายั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าหลอดดูดน้ำที่ทำจากพลาสติก อย่างไรก็ตามการมีอยู่ของสาร PFAS ในหลอดดูดน้ำเหล่านี้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีความยั่งยืนเสมอไป” ธิโม กรอฟเฟน (Thimo Groffen) นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป กล่าว
ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ทดสอบหลอดดูดน้ำ 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิดได้แก่กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สแตนเลสส และพลาสติก โดยมีทั้งแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและแบบที่ใช้ซ้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่หาซื้อได้จากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารทั่วไป
หลอดทั้งหมดจะต้องผ่านการทดสอบ 2 รอบเพื่อหาสาร PFAS ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจ โดยกว่าร้อยละ 69 ของยี่ห้อที่ทดสอบในการศึกษานี้ (27 ใน 39) มีสาร PFAS อยู่ทั้งหมด 18 ชนิด โดยหลอดกระดาษแนวโน้มสูงที่สุดที่จะมีสาร PFAS ซึ่งพบร้อยละ 90 ของหลอดกระดาษทั้งหมด (18 ใน 20)
เช่นเดียวกันกับหลอดเยื่อไม้ไผ่ที่พบถึงร้อยละ 80 (4 ใน 5) ขณะที่หลอดดูดน้ำพลาสติกก็พบกว่า 75 เปอร์เซ็น (3 ใน 4 ยี่ห้อ) และหลอดแบบแก้วนั้นพบร้อยละ 40 (2 ใน 5) แต่ไม่ตรวจพบในหลอดสแตนเลสหรือหลอดแบบโลหะเลย
กรดเพอร์ฟลูออโรออกตาโนอิก เป็นสารเคมีที่พบได้บ่อยที่สุดในการศึกษา แต่ประเด็นก็คือ PFAS ชนิดนี้ถูกห้ามใช้ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2020 แล้ว ทว่าก็ยังตรวจพบอยู่ นอกจากนี้พวกเขายังตรวจพบ กรดไตรฟลูออโรอะซิติก และกรดไตรฟลูออโรมีเทนซัลโฟนิก แบบ ‘สายสั้นพิเศษ’ ที่มีความสามารถในการละลายน้ำได้สูง ซึ่งหมายความว่าอาจซึมออกจากหลอดและเข้าไปในเครื่องดื่มได้
ตามข้อมูลของทีมงานระบุว่าความเข้มข้นของ PFAS เหล่านี้อยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้คนมักใช้หลอดเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งและใช้แบบชั่วคราวเท่านั้น จึงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอยู่ในระดับต่ำไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสารเหล่านี้สามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี ซึ่งสามารถสะสมและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นได้
“สาร PFAS ในปริมาณเล็กน้อยนั้นแม้จะไม่เป็นอันตราย แต่ก็สามารถเพิ่มปริมาณสารเคมีที่อยู่ในร่างกายได้” กรอฟเฟร กล่าว “เราไม่ตรวจพบสาร PFAS ในหลอดสแตนเลส ดังนั้นผมจึงแนะนำให้ผู้บริโภคใช้หลอดประเภทนี้หรือไม่ก็ให้หลีกเลี่ยงการใช้หลอดเลย”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา