การวิจัยใหม่เผย นกทะลอพยพเป็นผู้นำสารเคมีตลอดกาลเข้าสู่อาร์กติก

การวิจัยใหม่เผย นกทะลอพยพเป็นผู้นำสารเคมีตลอดกาลเข้าสู่อาร์กติก

“อาร์กติกนั้นเป็นสถานที่ที่ห่างไกล ซึ่งเต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง” 

สถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยมาก อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่าพื้นที่เหล่านั้นเริ่มมีการปนเปื้อนของสารเคมีตลอดกาล หรือ PFASPFAS เป็นสารเคมีที่อยู่ที่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นับไม่ถ้วนตั้งแต่เครื่องครัวทำอาหารไปจนถึงโฟมดับเพลิง หากเป็นในสถานที่ทั่วไปที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมาก PFAS จะมีโอกาสรั่วไหลสู่ไปสู่บรรยากาศและสู่แหล่งน้ำ ทว่าอาร์กติกนั้นต่างออกไป สารเคมีตลอดกาลเดินทางไปที่นั่นได้อย่างไร?

งานวิจัยก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่า ‘นกคิตติเวคขาดำ’ (black-legged kittiwakes) ในอาร์กติกเต็มไปด้วยสาร PFAS ซึ่งทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูร่างกายทำงานแย่ลง เปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมนไข่ และทำให้นกมีสีสันไม่เหมือนเดิม โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่พวกมันสัมผัสกับสารที่มีอยู่ในอาร์กติกอยู่แล้ว 

ทว่างานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Environmental Science & Technology เผยให้เห็นว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ถูกต้อง นกคิตติเวคขาดำ รับสาร PFAS มาจากแหล่งน้ำทางใต้ที่ปนเปื้อน ซึ่งอาจเกิดจากกินปลาที่ปนเปื้อนอยู่แล้ว จากนั้นจึงนำสารเคมีขึ้นไปทางเหนือหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรตามการอพยพปกติ

“นกทะเลส่วนใหญ่ที่เพาะพันธุ์ในอาร์กติกเป็นนกอพยพ และด้วยเหตุนี้พวกมันจึงสัมผัสกับแหล่งปนเปื้อนที่แตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ไปตลอดทั้งปีซึ่งรวมถึงสารPFAS” ดอน-ฌอง เลออองดรี-เบรตง (Don-Jean Léandri-Breton) จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ในแคนาดา และทีมงานเขียนในงานวิจัย 

เพื่อติดตามแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์สาร PFAS พวกเขาจึงได้จับนกคิตติเวคขาดำในแหล่งเพาะพันธุ์สฟาลบาร์ด ซึ่งเป็นหมู่เกาะใกล้กรีนแลนด์ เพื่อติดเครื่องระบุตำแหน่งพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่านกเหล่านี้เดินทางไปที่ใดบ้างในแต่ละช่วงเวลา จากนั้นก็จะจับนกตัวเดิมอีกครั้งเพื่อเก็บตัวอย่างโดยมุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบสาร PFAS

พวกเขาพบว่าความเข้มข้นของสาร PFAS นั้นมีความเชื่อมโยงกับละติจูดทางใต้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่นกคิตติเวคขาดำใช้เวลาอาศัยอยู่นานกว่าอาร์กติก ขณะเดียวกันก็พบว่ามีสาร PFAS ปนเปื้อนอยู่ในเลือดของนกที่มีต้นกำเนิดทางละติจูดใต้มากกว่า ซึ่งหมายความว่านกรับสารเคมีมา แล้วปล่อยสู่อาร์กติกผ่านการขับถ่ายและการวางไข่

เลออองดรี-เบรตง ยังได้ตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่านกชนิดอื่น ๆ อาจมีรูปแบบการปนเปื้อนที่คล้าย ๆ กันซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนไปทั่วโลก กระนั้นเขาก็เน้นย้ำว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม 

ขณะที่ ไรเนอร์ โลห์มานน์ (Rainer Lohmann) นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วปริมาณของสาร PFAS ที่สัตว์ป่าเป็นผู้ขนส่งนั้นถือเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ลมหรือมหาสมุทรพัดพามา 

โดยงานวิจัยก่อนหน้านี้ของเขาชี้ว่าในช่องแคมแฟรมทางตะวันออกของกรีนแลนด์นั้นมี PFAS ไหลออกจากมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าสู่มหาสมุทรอาร์กติกปีละ 112 ตันและไหลออก 100 ตัน และไม่ว่าปริมาณที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร โลห์มานน์ก็เน้นย้ำว่าพวกมันต่างส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

PFAS จะเข้าไปสะสมในห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ปลาตัวเล็ก นกทะเลที่กินปลา สุนัขจิ้งจอกบนบก เหยี่ยว และแม้แต่หมีขั้วโลก ทั้งต่างได้รับสารเคมีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขณะเดียวกันงานวิจัยนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงภาพรวมทั้งหมดที่เชื่อมโยงกัน

“หากคุณมองแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตของพวกมัน คุณจะไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด” เลออองดรี-เบรตง กล่าว “สิ่งที่พวกมันทำในฤดูกาลหนึ่งอาจส่งผลต่อฤดูกาลถัดไปได้

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://pubs.acs.org

https://www.popsci.com

https://www.mcgill.ca

https://www.ehn.org


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์พบสารเคมีอันตราย ‘PFAS’

ที่มาจากกระดาษชำระ ในระบบบำบัดน้ำเสีย

Recommend