“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ได้ก้าวข้ามจุดวิกฤตที่น่ากังวลที่สุดไปแล้ว”
หลังจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้ให้เห็นว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้พุ่งทะยานจนถึงระดับที่ไม่อาจหวนกลับ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการสำคัญถึง 43% ของปัญหานี้ แม้จะมีความร่วมมือระดับนานาชาติและการกำหนดข้อตกลงปารีสที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุม COP21 ในปี 2015 แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ มาแก้ไขปัญหา การศึกษาหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘วาฬ’ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์นี้ได้ ด้วยคุณสมบัติทางสรีรวิทยาและพฤติกรรมการดำรงชีวิต ที่ไม่ได้เป็นเพียงตัวแปรสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหาร แต่ยังทำหน้าที่เป็นวิศวกรระบบนิเวศ (Ecosystem engineer) ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของคาร์บอนในมหาสมุทรซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
วาฬ ทางลัดของการแก้ปัญหาโลกร้อน?
แม้ Thomas Crowther นักชีววิทยาชื่อดังชาวอังกฤษจะเคยกล่าวว่า “ต้นไม้ คืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน” อย่างไรก็ตาม รายงานของกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ หรือ IMF ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ โดยระบุว่าวาฬที่โตเต็มที่ จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 33 ตันต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นไม้แล้ว ต้นไม้หนึ่งต้นจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อปี ประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ของวาฬหนึ่งตัวจึงเทียบเท่ากับต้นไม้กว่า 1,500 ต้น
ส่วนหนึ่งของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของวาฬมาจากกระบวนการระหว่างการเคลื่อนที่ของมัน ที่เรียกว่า ‘whale pump’ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวาฬ ที่หาอาหารอยู่ในทะเลลึก จำเป็นต้องว่ายขึ้นมาสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจและขับถ่าย กระบวนการนี้ช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ อย่างแพลงก์ตอนเป็นอย่างมาก เพราะสารอาหารจากน้ำลึกจะถูกกวนขึ้นมาพร้อมกับวาฬ แถมอุจจาระที่วาฬปล่อยออกมายังมีส่วนผสมของสังกะสีและไนโตรเจน ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแพลงก์ตอนเติบโต
แพลงก์ตอนขนาดเล็กเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยควบคุมบรรยากาศของโลก แพลงก์ตอนเป็นผู้ผลิตออกซิเจนอย่างต่ำ 50% จากปริมาณออกซิเจนทั้งหมด และยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 37 ล้านล้านตัน หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่โลกเราผลิตขึ้น ซึ่ง IMF กล่าวว่า ปริมาณการคาร์บอนไดออกไซด์ระดับนี้ต้องใช้ต้นไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่ถึง 1.7 ล้านล้านล้านต้นในการดูดซับ คิดเป็นพื้นที่ป่าแอมะซอนถึง 4 ผืน
โดยเฉลี่ยแล้ววาฬจะมีอายุขัยอยู่ที่ประมาณ 60 ปี เนื่องด้วยมันเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลไว้ในร่างกายระหว่างที่มันมีชีวิตอยู่ และพอพวกมันตาย ร่างที่อุดมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะจมลงสู่ก้นทะเล แล้วค่อย ๆ ย่อยสลายกลายเป็นตะกอนทะเล กระบวนการนี้เรียกว่า ‘carbon sink’ เป็นหนึ่งในกลไกธรรมชาติที่ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้มีประสิทธิภาพมากสูงสุดวิธีหนึ่ง
ต้นไม้ vs วาฬ
ต้นไม้และวาฬสามารถต่อกรกับโลกร้อนได้ดีทั้งคู่ แต่วิธีไหนคุ้มและน่าใช้กว่ากัน? เมื่อเปรียบเทียบมิติทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างการอนุรักษ์วาฬกับการปลูกป่า การศึกษาเรื่องต้นทุนและความคุ้มค่าของการฟื้นฟูป่าของ Trillion Trees ในปี 2023 แสดงให้เห็นว่าการปลูกป่าในบางพื้นที่ อาจต้องใช้เวลา 20-30 ปีกว่าต้นไม้จะเติบโตและให้ประสิทธิภาพได้เต็มที่ และมีต้นทุนรวมค่าที่ดิน การเตรียมพื้นที่ ต้นกล้า การดูแลรักษา และการป้องกันไฟป่า ต่อการปลูกป่าหนึ่งเฮกตาร์ (0.1 ตารางกิโลเมตร) ที่ประมาณ 1 ล้านบาท สำหรับการดักจับคาร์บอนที่ 50-150 ตันต่อปี ในขณะที่การอนุรักษ์วาฬแสดงให้เห็นความคุ้มค่าที่เหนือกว่าตั้งแต่เริ่มต้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการเติบโตของแพลงก์ตอนที่ช่วยดักจับคาร์บอนเพิ่มเติม รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือการส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง
ในปี 2019 IMF ได้เผยแพร่รายงานที่วิเคราะห์ถึงมูลค่าของการปล่อยวาฬกับสู่มหาสมุทร โดยคำนวณมูลค่าของคาร์บอนที่กักเก็บไว้โดยวาฬตลอดช่วงชีวิตของมัน ร่วมกับผลประโยชน์อื่น ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นตัวเงิน ซึ่งสรุปได้ว่าวาฬ 1 ตัวจะมีมูลค่าประมาณ 68 ล้านบาท และถ้าคิดมูลค่าโดยรวมของวาฬทั่วโลกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็จะสูงถึง 34 ล้านล้านล้านบาทเลยทีเดียว
คำถามต่อมาคือถ้าเราเลือกวิธีนี้ จะต้องเสียเงินเท่าไหร่ในการอนุรักษ์วาฬ? จากการสำรวจการดำเนินงานขององค์กรที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วาฬทั่วโลก IMF ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจไว้ในรายงานเดียวกันว่า หากคิดค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์วาฬจากรายได้ของจำนวนประชากรทั้งโลก ค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ในการดำเนินการนี้ จะตกอยู่ที่ประมาณคนละ 500 บาท ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้ กำลังพยายามผลักดันทฤษฎีนี้ให้เป็นจริง ผ่านกลไก Carbon Offset โดยโน้มน้าวให้ผู้ปล่อยคาร์บอน จ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับโครงการอนุรักษ์วาฬ แทนที่จะลงเงินทั้งหมดไปกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง
นอกจากเรื่องของต้นทุนแล้ว การอนุรักษ์วาฬยังมีอีกหนึ่งข้อได้เปรียบที่สำคัญ คือไม่ต้องการพื้นที่บนบกที่มีจำกัดและมีการแข่งขันสูง อีกทั้งยังไม่มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างไฟป่าที่อาจทำลายการลงทุนระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของวาฬยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับคาร์บอนโดยอัตโนมัติ ต่างจากการปลูกป่าที่ต้องมีการดำเนินการซ้ำเพื่อขยายพื้นที่

รักโลกแล้วต้องรักษ์วาฬด้วย
การเพิ่มจำนวนของวาฬอาจเป็นทางออกที่ดีสำหรับการลดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ จากเหตุผลข้างต้น ทำให้เราทราบแล้วว่าวาฬมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าต้นไม้มาก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประชากรวาฬในปัจจุบันก็ยังน่าเป็นห่วง จากรายงานของ International Whaling Commission (IWC) เปิดเผยว่า จากประชากรวาฬที่เคยมีมากกว่า 4-5 ล้านตัวก่อนยุคการล่าวาฬเพื่อการค้า ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 1.3 ล้านตัว โดยเฉพาะวาฬสีน้ำเงิน ที่เหลือในธรรมชาติเพียง 10,000 – 25,000 ตัวเท่านั้น
การลดลงของประชากรวาฬทั่วโลกเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการล่าวาฬในอดีต มลพิษทางทะเล การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศจากภาวะโลกร้อน การชนกับเรือเดินสมุทร และเสียงรบกวนใต้น้ำจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่ง IMF เคยประมาณการไว้ว่า หากประชากรวาฬสามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนยุคการล่าเพื่อการค้า พวกมันจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้นถึง 1.7 พันล้านตันต่อปี
ซึ่งที่มาผ่านนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ทั่วโลกต่างเสนอแนวทางการอนุรักษ์วาฬที่เป็นรูปธรรมไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การสั่งห้ามล่าวาฬ การสร้างเขตอนุรักษ์ทางทะเลที่ครอบคลุมเส้นทางอพยพของวาฬ การควบคุมมลพิษทางทะเล การกำหนดเส้นทางเดินเรือให้หลีกเลี่ยงแหล่งที่อยู่อาศัย การพัฒนาเทคโนโลยีประมงที่เป็นมิตรต่อวาฬ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูประชากรวาฬได้ทั้งสิ้น
ปัจจุบันประชากรวาฬหลายชนิดกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวาฬหลังค่อมและวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่คนนิยมล่าในอดีต ตอนนี้พวกมันเริ่มกลับมาอวดโฉมแล้วในบางภูมิภาคหลังจากห่างหายไปนาน สิ่งนี้เป็นผลมาจากความพยายามหลังยุค 80s ที่คณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือ IWC สั่งห้ามการล่าวาฬเพื่อการค้า และมีการกำหนดมาตรการและบทลงโทษในหลายประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งทางประเทศไทยเอง ก็เพิ่งประกาศเพิ่มวาฬสีน้ำเงินเข้าเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ ต่อจากฉลามวาฬ วาฬโอมูระ และวาฬบรูด้า เพื่อการอนุรักษ์อย่างเข้มงวด แม้จะมีประวัติการพบเห็นวาฬสีน้ำเงินในน่านไทยเพียงแค่ 3 ครั้งก็ตาม
ถึงตรงนี้เราเชื่อว่าหลายคนเริ่มยอมรับถึงประโยชน์ของวาฬในการต่อกรกับปัญหาโลกร้อน ว่าอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในยุคนี้ อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ยังคงต้องอาศัยการผสมผสานวิธีการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ระหว่างที่เราให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์ป่า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีความหวังราคาแพง เราก็ควรหันกลับมาพิจารณาถึงปัญหาที่ทำให้วาฬลดจำนวนลง การปกป้องวาฬต่อจากนี้ จึงไม่ใช่เพียงการอนุรักษ์สัตว์ไม่ให้สูญพันธุ์ แต่คือ “การอนุรักษ์เพื่อรักษาอนาคตของโลกใบนี้เอาไว้”
สืบค้นและเรียบเรียง
อรณิชา เปลี่ยนภักดี
ที่มา
https://www.discoverwildlife.com