ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหว อุสาหกรรม MICE จะไปต่ออย่างไร ในวันที่ไม่มีอะไรแน่นอน

ถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหว อุสาหกรรม MICE จะไปต่ออย่างไร ในวันที่ไม่มีอะไรแน่นอน

“เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา”

แม้จะเกิดห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร แต่แรงสั่นสะเทือนที่ส่งถึงกรุงเทพมหานคร ก็เพียงพอที่จะสร้างความตื่นตัวและความกังวล ต่อความมั่นคงของอาคารสูง รวมถึงศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองหลวง

สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่และมีการจัดกิจกรรมแสดงสินค้า การประชุมหรือ ไมซ์ (MICE : Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเตือนว่า “แผนรับมือ” กับเหตุไม่คาดฝันนั้นยังมีจุดที่ต้องกลับมาทบทวนอย่างจริงจัง ทั้งในแง่ของโครงสร้าง สถานที่ และระบบการจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

คำถามสำคัญที่ตามมาคืออุตสาหกรรมนี้ ควรจะปรับตัวอย่างไรให้ทันกับโลกที่ไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นพูดคุยบนเวทีเสวนาในงาน Thailand MICE X-Change 2025 (TMX 25) ที่ได้เชิญ 3 หัวเรือใหญ่ของอุตสาหกรรมไมซ์ มาร่วมสะท้อนแนวคิดและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้

คุณปิติภัทร บุรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี

ความพร้อมไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากอย่างไมซ์

เมื่อพูดถึง ‘ความพร้อม’ ในการจัดงานแสดงสินค้า คุณปิติภัทร บุรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ในฐานะตัวแทนเจ้าของสถานที่จัดงาน มีความเห็นว่าโครงสร้างของอาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ยอมรับกันในระดับสากล ทั้งในแง่ของโครงสร้างและกฎหมายควบคุมอาคารหรือ building code ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

“จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สิ่งที่เจ้าของสถานที่ควรทำคือ เร่งสำรวจความพร้อมของสถานที่ ซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิม และสำรวจความพร้อมว่าที่ผ่านมาเราสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ดีและเร็วแค่ไหน” 

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ‘ความพร้อมด้านอื่น ๆ’ ที่มักถูกมองข้าม โดยเฉพาะการจัดการในช่วงเวลาฉุกเฉิน คุณปิติภัทรชี้ว่า นอกจากตัวอาคารแล้ว สถานที่จัดงานจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนที่ครบถ้วน เช่น ศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน ระบบสื่อสารภายใน และทีมแพทย์เฉพาะกิจ พร้อมย้ำว่า สถานที่ที่ได้มาตรฐานควรมีการฝึกซ้อมรับมือเหตุไม่คาดฝันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามแนวทางของมาตรฐาน MSMS (MICE Security Management System) ซึ่งไม่เพียงเป็นกรอบการทำงาน แต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างวินัยและความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Amarin Media & Event Business (AME)

ความปลอดภัยคือสิ่งแรกที่ต้องไมซ์คำนึงถึง

ในฐานะผู้จัดงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Amarin Media & Event Business (AME) ได้แชร์ประสบการณ์การรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ไว้ว่า การตัดสินใจว่าจะ ‘เดินหน้าต่อ’ หรือ ‘หยุดงานชั่วคราว’ ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายด้านควบคู่กัน

โดยสิ่งแรกที่ต้องประเมินก่อนสิ่งอื่นใด คือความปลอดภัยของคนในพื้นที่ หากยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสถานการณ์ปลอดภัยเพียงพอ การชะลอหรือหยุดงานควรเป็นทางเลือกเดียวที่ผู้จัดควรพิจารณา ซึ่งการประเมินว่าสถานการณ์ปลอดภัยหรือไม่ ผู้จัดควรยึดจากประกาศของทางการเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจผิดพลาด 

จากนั้นจึงพิจารณาต่อว่า ผู้ร่วมงานมีความมั่นใจเพียงใด ที่จะกลับเข้าไปในพื้นที่อีกครั้ง เพราะต่อให้ได้รับการยืนยันเรื่องความปลอดภัยแล้ว แต่หากผู้คนยังรู้สึกไม่มั่นใจ งานก็ไม่อาจเดินหน้าต่ออย่างสมบูรณ์ ส่วนภาพลักษณ์และผลกระทบด้านการเงิน แม้จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางปฏิบัติ แต่สำหรับคุณเจรมัยแล้วทั้ง 2 ปัจจัยนี้ คือสองสิ่งสุดท้ายของการพิจารณา

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทุกคน คือคนที่เรารัก ผมไม่สามารถเอาปัจจัยเรื่องเงิน มาตัดสินใจก่อนเรื่องความปลอดภัยได้ (ในฐานะผู้จัดงาน) สิ่งแรกที่เราจะทำ คือการมองหาหาสถานที่จัดงาน ที่มีความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ และในฐานะผู้จัดที่ออกแบบงานเอง เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยด้วย ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบทางเดินให้กว้างพอสำหรับอพยพและการติดตั้งสัญลักษณ์ทางออกฉุกเฉินที่จพนำไปสู่จุดรวมพลอย่างชัดเจน” 

ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB

รีบสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นหลังจากเกิดเหตุ

เมื่อเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นและผ่านพ้นไปได้โดยไม่มีความเสียหายร้ายแรงสิ่งสำคัญถัดมาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ ต้องเร่งดำเนินการคือ ‘การสื่อสาร’ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาในเวลาที่รวดเร็วที่สุด 

ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB มองว่าการสื่อสารอย่างเป็นระบบคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมจัดแสดงสินค้าเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่เสียความน่าเชื่อถือ “หากเราไม่สื่อสารอะไรเลยก็เท่ากับว่าเรายอมรับโดยปริยายว่าอุตสาหกรรมของเราไม่มีความปลอดภัย” ดร.ดวงเด็ดกล่าว

ก่อนจะเน้นย้ำเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสื่อสารนี้ คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเจ้าของสถานที่และหน่วยงานของภาครัฐเพื่อประเมินว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อศูนย์แสดงสินค้าหรือไม่ หากไม่มีความเสียหายหรือความเสี่ยงที่ยังคงอยู่ การจัดเตรียมเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการ ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ จะช่วยเสริมความชัดเจนให้กับสื่อการสื่อสารในลำดับถัดไป 

“โดยภาพรวมที่ผมประเมินตอนนี้ ไม่มีอะไรที่น่ากังวลแล้ว อุตสาหกรรมของเราเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานค่อนข้างสูง ซึ่ง TCEB ก็ยึดหลักการดำเนินงานเหมือน AME และภิรัชบุรีว่า จะสนับสนุนการจัดงานในพื้นที่ที่มีมาตรฐานเท่านั้น เพราะหัวใจของไมซ์ คือการพาคนจำนวนมากเข้ามาอยู่รวมกัน” ดร.ดวงเด็ด กล่าวทิ้งทายบนเวทีเสวนา


อ่านเพิ่มเติม : ‘อนาคตเมืองยั่งยืน: อยู่สบาย เข้าถึงง่าย ไร้ความเหลื่อมล้ำ’

สรุปสาระสำคัญจากเวทีเสวนา ความท้าทายและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

Recommend