นักวิทยาศาสตร์เตือน พื้นที่เกษตรร้อยละ 17 ทั่วโลก มีการปนเปื้อนโลหะหนัก

นักวิทยาศาสตร์เตือน พื้นที่เกษตรร้อยละ 17 ทั่วโลก มีการปนเปื้อนโลหะหนัก

“สารหนูและตะกั่วกำลังเข้าสู่ระบบผลิตอาหารที่หล่อเลี้ยงคนทั้งโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงผู้คนให้อิ่มท้องในแต่ละวัน พื้นที่เพาะปลูกเหล่านี้ต้องการการดูแลและเอาใจใส่โดยเฉพาะด้านสารอาหารและด้านความปลอดภัยจากมลพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่บริโภคทั้งหมด

อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ใหม่ที่ดำเนินการโดยสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา (American Association for the Advancement of Science: AAAS) ซึ่งเผยแพร่บนวารสาร Science ได้รวบรวมข้อมูลจากการวิจัยระดับภูมิภาคมากกว่า 1,000 รายการทั่วโลก และพบว่าผู้คนกว่า 1.4 พันล้านคนกำลังตกอยู่ในอันตราย

“ผลการวิจัยนี้เผยให้เห็นถึงระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งที่สารพิษจากธรรมชาติเหล่านี้กำลังก่อมลพิษต่อมลพิษ ต่อดินของเรา เข้าสู่อาหารและน้ำของเรา และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกับสิ่งแวดล้อมของเรา” ดร.ลิซ ไรล็อตต์ (Liz Rylott) อาจารย์อาวุโสประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยยอร์ก ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย กล่าว

“ธาตุเหล่านี้ซึ่งมักเรียกรวมกันว่าโลหะหนัก ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพที่ร้ายแรงมากมาย รวมถึงรอยโรคบนผิวหนัง การทำงานของระบบประสาทกับอวัยวะที่ลดลง และมะเร็ง” 

โลหะหนัก

โดยทั่วไปแล้ว โลหะหนักและธาตุกึ่งโลหะเป็นธาตุที่มาจากแหล่งธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์ โดยคำว่า ‘หนัก’ เหล่านี้มาจากความหนาแน่นทางกายภาพและมีน้ำหนักมากในระดับอะตอมของธาตุนั้น ๆ โลหะหนักเหล่านี้ไม่สลายตัว พวกมันจึงสามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลาหลายทศวรรษ 

ขณะเดียวกันพืชก็สามารถดูดซับเข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหารได้ แม้โลหะหนักบางชนิดเช่น สังกะสีและทองแดงจะเป็นธาตุอาหารรองที่จำเป็นสำหรับชีวิต แต่ก็ในปริมาณน้อยเท่านั้น ทว่ายังมีโลหะหนักอีกหลายชนิดเช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่วที่เป็นพิษได้แม้จะมีในปริมาณน้อยก้ตาม

“สารบางชนิดถูกทิ้งไว้ตามธรรมชาติทางธรณีวิทยา บางชนิดถูกทิ้งไว้โดยกิจกรรมทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมหลายสิบปี สารเหล่านี้ตกตะกอนลงในดินผ่านการทำเหมือน มลพิษจากโรงงาน ปุ๋ย หรือน้ำที่ปนเปื้อน” จากันนาถ บิสวาคาร์มา (Jagannath Biswakarma) ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส จากคณะธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยบริสตอล กล่าว

เมื่อพืชเจริญเติบโต พวกมันจะดึงสารอาหารจากดินและน้ำ ซึ่งบางครั้งก็ดึงโลหะหนักเหล่านี้เข้ามาด้วยเช่นข้าวที่สามารถดูดสารหนูจากนาข้าว หรือผักใบเขียวสามารถสะสมแคดเมียมได้ แต่ปัญหาก็คือโลหะเหล่านี้ไม่เปลี่ยนรสชาติหรือสีของอาหาร แต่จะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในภายในแทน

ปัญหาเหล่านี้กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทีมวิจัยพบว่ามีแคดเมียมในพื้นที่ทางเกษตรกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ทางเดินที่อุดมไปด้วยโลหะ’ ซึ่งทอดยาวจากยุโรปตอนใต้ผ่านตะวันออกกลาง และเอเชีย พื้นที่ดังกล่าวเป็นการซ้อนทับของการเกษตรกรรม การทำเหมือง กิจกรรมอุตสาหกรรม และแหล่งมลพิษ

“การปนเปื้อนของโลหะหนักในพื้นที่เพาะปลูกนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยมักถูกกำหนดโดยธรณีวิทยา ประวัติการใช้ที่ดิน และการจัดการน้ำ ทั่วทั้งเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” บิสวาคาร์มา กล่าว “นาข้าวได้รับการชลประทานด้วยน้ำใต้ดินที่มีสารหนูตามธรรมชาติ น้ำดังกล่าวจะทิ้งสารหนูไว้ในดิน ซึ่งข้าวจะดูดซึมขึ้นไป” 

โดยรวมแล้ว นักวิจัยประมาณว่ามีผู้คนระหว่าง 900 ล้านคนถึง 1,400 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสียงต่อมลพิษโลหะหนัก โดยแคดเมียเป็นโลหะพิษที่พบได้มากที่สุด และพบได้บ่อยในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก บางส่วนของตะวันออกลางและแอฟริกา 

ปัญหาที่ต้องได้รับการจัดการ

รายงานระบุว่าการปนเปื้อนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยุติธรรมด้วยเช่นกัน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักเป็นผู้ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด 

ชุมชนเหล่านี้อาจทำการเกษตรบนพื้นที่ชายขอบใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม ชลประทานด้วยน้ำที่ไม่ปลอดภัย หรือขาดการเข้าถึงการจัดการที่ดี ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหา 2 เท่าซึ่งได้แก่ความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำ กับการสัมผัสกับมลพิษ 

ทีมวิจัยจึงเรียกร้องให้มีการจัดการที่เข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการเกษตรกรรมที่เปราะบางและในเกษตรกรรายย่อย ที่จะช่วยอาหารของเราทุกคนสัมผัสกับมลพิษน้อยลง การใช้อำนาจอย่างเท่าเทียมและการเข้าถึงข้อมูลกับเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรดำเนินวิถีชีวิตของเขาได้อย่างปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

“ดินมีความทรงจำ พวกมันบันทึกมลพิษทุกชนิด กฎระเบียบที่ถูกละเลยทุกประการ และการตัดสินใจที่เลี่ยงไม่ได้ทุกประเภท” บิสวาคาร์มา กล่าว “แต่ดินยังคงมีศักยภาพในการรักษาฟื้นฟูได้ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม” 

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้เตือนสติเราอย่างชัดเจนว่าความปลอดภัยของอาหารที่หล่อเลี้ยงคนทั้งโลกนั้นไม่ได้เริ่มต้นที่ห้องครัวหรือตลาด แต่เริ่มต้นที่พื้นดินใต้เท้าของเรา ไม่มีประเทศใดควรส่งออกสารพิษในเมล็ดพืชโดยไม่รู้ตัว และเกษตรกรก็ไม่ควรขาดเครื่องมือในการทำสิ่งนั้น

“มลพิษส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งชุมชนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้ความยากจนทวีความรุนแรงขึ้น” ไรล็อตต์ “แผนที่เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามลพิษจากโลหะนั้นไม่ขึ้นอยู่กับพรมแดนของมนุษย์ และเพื่อแก้ปัญหานี้ ประเทศต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกัน”

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.science.org

https://www.theguardian.com

https://theconversation.com

https://phys.org


อ่านเพิ่มเติม : IUCN เตือนฟังไจทั่วโลก 411 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์

Recommend