“เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์” นิทรรศการภาพถ่ายที่ร่วมงานกับศิลปินหลากหลายเพื่อจัดหารายได้ซื้อเครื่องช่วยฟัง
ก่อนที่นิทรรศการภาพถ่าย “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์” จะเริ่มต้นขึ้น ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ กำลังเตรียมพิมพ์แคตตาล็อกรายการภาพถ่ายอยู่ ในวันนั้นเอง เราได้มาดูเบื้องหลังการถ่ายทำ เพราะงานนี้ ไม่ได้เป็นเพียงนิทรรศการแสดงผลงานส่วนตัว แต่มีเป้าหมายเพื่อจะนำรายได้จากการจำหน่ายภาพทั้งหมดบริจาคให้มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นี่จึงเป็นงานที่ค่อนข้างพิเศษ เพราะสำหรับเราซึ่งการได้ยินเสียงเป็นเรื่องปกติ แต่อีกหลายคน โลกของพวกเขาเงียบงัน ภาษา “พูด” ของพวกเขาจึงแตกต่างยากจะเข้าใจกัน แต่การได้ยินสามารถเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาได้

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ศ.ดร.นันทวัฒน์ได้ตีพิมพ์หนังสือและจัดนิทรรศการ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ซื้อภาพจนได้เงินไปช่วยเหลือมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และต่อมาก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับมูลนิธิคนหูหนวก ฯ ซึ่งต้องการเครื่องช่วยฟัง และการผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งมีการติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือผ่านโรงเรียนคนหูหนวกทั่วประเทศ
ศ.ดร.นันทวัฒน์จึงได้ลองหาข้อมูลจากโรงเรียนคนหูหนวก จากแพทย์และโรงพยาบาล จนมั่นใจว่าการผ่าตัดประสาทหูเทียมสามารถเปลี่ยนชีวิตของเด็กหูหนวกได้จริง จึงได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อหาทุนสนับสนุนการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้เด็กหูหนวกจำนวน 3 ครั้ง มีรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 27 ล้านบาท หลังจากนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเงินรายได้ไปใช้ผ่าตัด 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2565 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2567 รวมทั้งหมดที่ผ่านมาผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้เด็กหูหนวกไปแล้วจำนวน 38 คน
นอกจากการผ่าตัดประสาทหูเทียมแล้ว เครื่องช่วยฟัง ก็เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับทั้งเด็กหูหนวกและผู้สูงอายุที่มีอาการบกพร่องทางการได้ยิน เรียกง่าย ๆ ว่าหูตึง เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ถึงแม้รัฐจะมีสวัสดิการในการช่วยเหลือคนพิการอยู่ แต่ความช่วยเหลืออาจเอื้อมไปไม่ถึงผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินทั่วประเทศ ที่พึ่งของพวกเขาก็คือมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์
นิทรรศการครั้งนี้จึงตั้งเป้าหมายที่จะซื้อเครื่องช่วยฟัง 200 เครื่อง เป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิฯ
ก่อนที่เราจะได้ไปชมนิทรรศการกันในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เราอยากชวนมารู้จักการทำงานของมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และความสำคัญของการที่เราจะไม่ปล่อยให้คนหูหนวกโดดเดี่ยว
คนหูหนวกในไทย
ทั่วประเทศไทยมีโรงเรียนสำหรับคนหูหนวก 23 โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 75 ปีที่แล้ว (ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์) อาจเป็นโรงเรียนอย่างเป็นทางการโรงเรียนแรก แต่ที่จริงก่อนหน้านั้น ก็มีการสอนคนหูหนวกให้มาเรียนหนังสือในวัดสุทัศน์ฯ จนกระทั่งคุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้รับทราบข้อมูลนี้จาก ศ. มล. ปิ่น มาลากุล จึงได้บริจาคบ้าน ที่ดิน และเงิน เพื่อก่อตั้งเป็นโรงเรียนเศรษฐเสถียร สำหรับคนหูหนวก จากนั้นเป็นต้นมา มูลนิธิฯ ก็ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือคนหูหนวกตลอด 75 ปี โดยเน้นเรื่องการศึกษา การจัดหาเครื่องช่วยฟัง สนับสนุนการผ่าตัดประสาทหูเทียม ให้บริการตรวจการได้ยินและดำเนินการขึ้นทะเบียนให้กับคนหูตึงและหูหนวกในต่างจังหวัด เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีสวัสดิการเพื่อผู้พิการ แต่ความช่วยเหลืออาจไม่ทั่วถึงในถิ่นที่ห่างไกล
งบประมาณหลักมาจากการบริจาค ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็ได้จัดกิจกรรมระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงติดต่อพันธมิตรที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาชีวิตของผู้บกพร่องในการได้ยินในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก การที่สามารถแชท หรือเฟซไทม์ คุยกันได้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปได้ง่าย และยังช่วยเรื่องการศึกษาได้อีก
ประสาทหูเทียมเปลี่ยนชีวิต
การสูญเสียการได้ยินมีหลายระดับตั้งแต่หูตึงไปจนถึงหูหนวกดับสนิท เป็นได้ตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง การแพทย์ปัจจุบันสามารถตรวจการได้ยินของเด็กทารกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ประสาทแก้วหูชั้นในของมนุษย์จะโตเต็มที่ก็เมื่อเวลานั้น หากมีการสังเกตและตรวจการได้ยินตั้งแต่เนิ่น ๆ และได้รับโอกาสในการผ่าตัดประสาทหูเทียม (Cochliar Implant) ตั้งแต่เด็ก ดีที่สุดคือก่อน 2 ขวบ จะสามารถคืนการได้ยินกลับมาเหมือนปกติเลย

“การผ่าตัดประสาทหูเทียมผ่าหลังหู คือการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้านในไปแทนที่แก้วหูชั้นในที่เสียไป เพื่อส่งสัญญาณไปสู่สมอง ปลายของอิเล็กโทรดจะมีแม่เหล็กฝังในกระโหลก เปลี่ยนเสียงที่ได้ยินเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมองทำให้เกิดการรับรู้เสียง ชุดประสาทหูเทียมจะมี 2 ชุด คือชุดด้านใน และชุดด้านนอก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวเข้ากับหู เป็นตัวรับเสียง เหมือนเครื่องช่วยฟัง ถ่ายทอดเสียงมาสู่อุปกรณ์ซึ่งฝังอยู่ด้านในและใช้งานได้ไปตลอดชีวิต ส่วนอุปกรณ์ด้านนอกซึ่งใช้แบตเตอรี่ สามารถเปลี่ยนได้เมื่อเครื่องเสื่อมสภาพ” คุณศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานกรรมการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อธิบาย “ยิ่งผ่าตัดได้เร็วยิ่งดี ยิ่งผ่าตอนอายุน้อยยิ่งได้ผล” เขาย้ำ
เพราะสมองของคนเราพัฒนาเต็มที่ตอน 5 ขวบ และเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งถ้าผ่าน 5 ปีไปแล้ว การเรียนรู้ของสมอง (Brain Rewiring) จะเป็นคนละเรื่องกันเลย หากสมองของเด็กได้ฝึกการฟัง การพูดตั้งแต่เล็ก ๆ สัมผัสด้านนี้ของเขาก็จะเป็นเหมือนปกติ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก มาผ่าตัดภายหลัง ก็ยังมีโอกาสกลับมาได้ยินเช่นกัน เพียงต้องใช้เวลาให้สมองได้ฝึกเรียนรู้ ถึงอย่างไรก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟังไว้ก่อน เพื่อฝึกสมองให้พัฒนาการได้ยิน
นอกจากเด็กหูหนวกที่ต้องการเครื่องช่วยฟัง เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากก็สูญเสียการได้ยินไป เมื่อเสียงเงียบลง การสื่อสารที่ค่อย ๆ หายไป อาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะเซื่องซึม ซึมเศร้าได้ เครื่องช่วยฟังก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้
จาก “หนึ่งปีของนันทวัฒน์” สู่ “เสียงในความเงียบ”
นิทรรศการภาพถ่ายของศ.ดร.นันทวัฒน์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับโอกาสผ่าตัดประสาทหูเทียม และผู้ที่ต้องการเครื่องช่วยฟัง
การผ่าตัดนั้นต้องมีการตรวจสอบทางกายภาพของแต่ละคนก่อนว่าสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ หรือผ่าตัดแล้วเห็นผลเพียงใด การผ่าตัดปัจจุบันสามารถคืนการได้ยินในบุคคลที่มีทุกปัจจัยเหมาะสมได้ 100% แต่ถึงแม้ผลลัพธ์อาจจะไม่ 100 % แต่เพียงได้ยินขึ้นมา ก็เท่ากับช่วยให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่ ศ.ดร.นันทวัฒน์ ตั้งใจ
ศ.ดร.นันทวัฒน์ นักกฎหมายมหาชน อดีตคณะบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ในแต่ละปีเขาเดินทางไปอยู่ฝรั่งเศสคราวละ 3 – 4 เดือน ด้วยความที่ชอบถ่ายภาพมาตลอด เขาจึงเดินทางไปในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อบันทึกภาพความงามของแลนด์สเคป ทั้งสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ
จากงานอดิเรกสู่การรวบรวมภาพขึ้นจัดแสดงเป็นนิทรรศการเพื่อการกุศล จากการบันทึกภาพไปตามความชอบส่วนตัว กลายเป็นถ่ายภาพอย่างมีเป้าหมาย ศ.ดร.นันทวัฒน์ ผู้มีความคิดเป็นระบบ จัดการชีวิตในทุกด้านด้วยการวางแผนงานอย่างมีวินัย เป้าหมายของเขาจึงชัดเจน เห็นปลายทางว่าภาพนั้น ๆ จะถูกใจและไปถึงมือคนที่พร้อมสนับสนุนได้อย่างไร เป้าหมายซึ่งไม่ใช่เพียงนามธรรมอย่างความพึงใจในการครอบครองภาพถ่ายที่ชื่นชอบเท่านั้น แต่คือตัวเลข คือจำนวนเงินที่สามารถผ่าตัดประสาทหูเทียม หรือซื้อเครื่องช่วยฟังตามจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ เป็นความหมายที่จับต้องได้อย่างชัดเจน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้จริง
การตั้งราคาภาพก็เช่นกัน อยู่บนพื้นฐานที่ว่า ภาพที่จัดแสดงทั้งหมด 66 ภาพนี้ แต่ละภาพควรมีราคาเท่าใด เพื่อไปให้ถึงตัวเลขที่ต้องการ อีกทั้งผู้ซื้อภาพและบริจาคเงินให้ ยังได้รับจดหมายรายงานการใช้เงินอย่างชัดเจนอีกด้วย ตลอดกระบวนการนี้ นักกฎหมายและช่างภาพผู้นี้วางแผนการทำงานร่วมกับหลายฝ่ายมาเป็นอย่างดี
“ดำขาวเล่าเรื่อง” และการร่วมงานกับศิลปิน
ศ.ดร. นันทวัฒน์ ชื่นชอบการถ่ายภาพดำขาว เขามองว่า “ภาพดำขาวเป็นภาพที่มีเสน่ห์ มีความเป็นอมตะเหนือกาลเวลา ดึงดูดให้เรามอง เมื่อมองรูปดำขาวเราจะเห็นเป็นดำขาวอย่างนั้นหรือให้นึกเป็นสีก็นึกได้ ผมเป็นคนถ่ายเองผมรู้ว่าสีอะไร ผู้ชมก็จินตนาการได้อิสระ ผมใช้กล้อง Leica รุ่น Monochrome ซึ่งออกแบบมาเพื่อถ่ายภาพดำขาวโดยเฉพาะ สามารถไล่สีดำไปสู่ขาวได้เป็นพันเป็นหมื่นเฉด ให้ความละเอียดของเม็ดสีระหว่างนั้นได้เนียนมาก”
ภาพถ่ายนั้นเงียบงันแต่สื่อสารได้ เป็นเสียงที่เปล่งอยู่ในใจในการรับรู้และตีความของแต่ละคน ในนิทรรศการครั้งนี้ ศ.ดร. นันทวัฒน์ ได้ออกเดินทางไปในหลายเมืองหลากประเทศ ทั้งในฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ เดนมาร์ก เป็นต้น เขาคัดเลือกภาพที่ถ่ายมานับพันภาพให้เหลือ 300 ภาพ จากนั้นค่อย ๆ ใช้เวลาพิจารณาคัดเลือกภาพอีกครั้ง จนได้ภาพสำหรับจัดแสดงทั้งหมด 66 ภาพ “บางภาพอาจไม่ได้สวยในสายตาคนอื่น แต่มีความหมายบางอย่างสำหรับผม”
เขาได้ส่งภาพจำนวนหนึ่งให้แก่ศิลปินที่เขาเชิญมาร่วม callaboration ด้วยการวาดภาพตามสไตล์ของแต่ละคนบนภาพถ่ายดำขาวของเขา ศิลปะที่วาดแต่งเสริมลงไปช่วยเติมจินตนาการให้เสียงในความเงียบนั้นเปล่งขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์
ความพิเศษอย่างยิ่งสำหรับนิทรรศการนี้คือ ศ.ดร. นันทวัฒน์ และ มูลนิธิฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ลงบนภาพถ่ายของ ศ. ดร.นันทวัฒน์ ซึ่งเรามีโอกาสดีได้เห็นในวันที่ถ่ายแคตตาล็อก ฝีพระหัตถ์ที่แต่งแต้มด้วยลายเส้นและสีสันที่สดใสบนภาพถ่ายดำขาวนั้นน่าประทับใจมาก
และยังมีศิลปินอีกหลายท่านมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานลงบนภาพถ่ายของ ศ. ดร.นันทวัฒน์ คือ มล.จิราธร จิรประวัติ คุณพันธ์ศักดิ์ จักกะพาก รศ.ดร.สมโชค สินนุกูล คุณนักรบ มูลมานัส คุณอัชลินี เกษรศุกร์ คุณอาริญา กันธิโน และคุณรักฟ้า ซูทเทอร์ลิน ภาพที่ callaboration กับศิลปินมีทัั้งหมด 35 ภาพ และภาพถ่ายอีก 31 ภาพ รายได้จากการจำหน่ายภาพทั้งหมดจะมอบให้มูลนิธิฯ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย และตั้งเป้าที่จำนวนเงิน 3,000,000 บาท เพื่อซื้อเครื่องช่วยฟัง 200 เครื่อง
นิทรรศการ “เสียงในความเงียบ โดย นันทวัฒน์” โดยศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ จัดแสดงระหว่างวันที่ 15 – 31 พฤษภาคม 2568 ณ Central: The Original Store ถนนเจริญกรุง
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจไปร่วมชมนิทรรศการ พร้อมจับจองภาพหรือร่วมบริจาคเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน