“ไขข้อข้องใจ เล่าเรื่องแบบไหนให้ถูกใจกรรมการ” เวทีประกวดภาพถ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง Photography contest 2025

“ไขข้อข้องใจ เล่าเรื่องแบบไหนให้ถูกใจกรรมการ” เวทีประกวดภาพถ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง Photography contest 2025

“เล่าเรื่องแบบไหนให้โดนใจกรรมการ 10 ภาพเล่าเรื่อง

Photography contest 2025 โดย National Geographic ภาษาไทย” 

เวทีเสวนานี้จัดขึ้นในงาน บ้านและสวนแฟร์ Shopping Week 2025  เพื่อเปิดมุมมองในการคัดเลือกภาพถ่ายและถอดบทเรียนจากทีมงานเบื้องหลังการประกวดภาพถ่ายสารคดีของ National Geographic Thailand ภายใต้หัวข้อ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต” โดยมีบรรณาธิการบริหาร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่างภาพอาวุโส และเจ้าของผลงานที่เคยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว มาร่วมพูดคุยถึง “สิ่งที่กรรมการมองหา” และ “วิธีเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายให้ทรงพลัง” พร้อมแนะแนวทางการต่อยอดผลงานจากเวทีนี้สู่โอกาสในวงการจริง 

ผู้เข้าฟังส่วนใหญ่เป็นผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดโครงการประกวดสารคดีภาพถ่าย ที่จะปิดรับผลงานในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ หรืออาจเป็นช่างภาพที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องผ่านภาพ เวทีเสวนาอันเข้มข้นนี้พาไปหาคำตอบว่า ภาพถ่ายที่ “เล่าเรื่องเชิงสารคดี”  ต้องเป็นอย่างไร และอะไรคือสิ่งที่ทำให้ภาพหนึ่งชุดแตกต่าง โดดเด่น เข้าตากรรมการ 

มองให้ลึก เล่าให้ถึง: สิ่งที่กรรมการอยากเห็น

“ผมมองหาเรื่องดีๆ” คือคำตอบสั้น ๆ แต่ลึกซึ้งจากคุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เป็นสิ่งที่บรรณาธิการและคณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญมากที่สุด หากคุณมีเรื่องอยากทำและสามารถแตกประเด็นออกมาเป็นชุดภาพถ่าย 10 ภาพได้ นั่นคือสัญญาณว่าเรื่องนั้นมีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาเป็นสารคดีภาพที่ดีได้ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ “passion” เพราะ “ถ้าคุณมี passion กับเรื่องที่อยากเล่า คุณจะอยู่กับมันได้เป็นเดือน เป็นปี” 

คุณโกวิทย์แนะว่า อย่ามองการประกวดเป็นเพียงเวทีแข่งขัน แต่ให้มองว่านี่คือโอกาสที่ได้ทำโปรเจคส่วนตัว เรื่องที่คุณอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจ ทำให้คุณอยู่กับมันได้นาน และลงลึกได้มากพอ จนสร้างความหมายที่แท้จริงผ่านภาพได้้ 

เพราะเกณฑ์การตัดสินซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ เกณฑ์ด้านองค์ประกอบศิลป์และความความงาม ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดประเด็น และการเล่าเรื่องที่มีความเป็นสารคดี  ซึ่งการประกวดนี้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องเชิงสารคดีและความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ 

การจัดเรียงภาพให้น่าสนใจคืออีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ โดยคุณโกวิทย์แนะนำให้ยึดหลัก “Variety” หรือความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของระยะภาพ ทั้งการใช้ภาพมุมกว้าง ระยะใกล้ ระยะกลาง เพื่อให้การเล่าเรื่องที่ไม่จำเจ ความหลากหลายของอารมณ์ภาพ เช่น การใช้แสงของแต่ละช่วงเวลาที่ให้อารมณ์ต่างกัน และที่ขาดไม่ได้คือ “Sense of Place” ภาพควรสื่อถึงบริบท หรือสภาพแวดล้อม หรือการสร้าง “Surprise” ก็สำคัญเพื่อให้คนดูรู้สึกได้ว่ามีบางอย่างที่คาดไม่ถึง รอการค้นพบอยู่ในเรื่องที่คุณเล่า 

ภาพสารคดีที่ใช่: ไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องสื่อสาร

สำหรับคุณเอกรัตน์ ปัญญะธารา ช่างภาพอาวุโสของ National Geographic ฉบับภาษาไทย เขาคิดว่าเราไม่อาจมองข้าม “ภาพที่สวย” ได้ เพราะความงามของภาพคือสิ่งแรกที่ดึงดูดสายตาผู้คน แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือประเด็น ว่าสามารถจุดประกายความคิดให้กับผู้ชมได้มากน้อยเพียงใด ภาพถ่ายสารคดีต้องมีพลังพอจะสื่อสารอะไรบางอย่างให้เกิดความรู้สึกหรือความคิดในใจคนดู

ส่วนภาพทั้ง 10 ภาพควรมีลักษณะอย่างไร เขาแนะนำให้ลองคิดเหมือนกับ “การขายของชิ้นหนึ่ง” คุณจะเล่าเรื่องสินค้าให้คนเข้าใจและอยากฟังได้อย่างไร หรือลองจินตนาการเหมือนคุณกำลังทำหนัง ที่อาจเริ่มจากผลลัพธ์ของเรื่องเป็นตัวตั้งต้น แล้วค่อยพาคนดูไปรู้จักเนื้อเรื่องข้างใน แม้ว่าการอธิบายผ่านภาพนิ่งอาจยากกว่า แต่แก่นของมันคือคุณต้องรู้ว่าภาพแต่ละใบพูดอะไร สื่อความอย่างไร

เขาพูดถึงเรื่องการเรียงภาพ หรือ editing ว่าให้คิดเหมือนการกำกับหนัง ควรมีการสลับระยะ เช่นภาพมุมกว้าง ภาพระยะกลาง ภาพระยะใกล้ เพื่อสร้างจังหวะให้การเล่าเรื่องไม่น่าเบื่อ และต้องไม่ลืม sense of place ความรู้สึกถึงสถานที่ที่เรื่องนั้นเกิดขึ้น คุณเอกรัตน์เปรียบการเรียงภาพเหมือนการออกแบบ ‘ฮวงจุ้ย’ เวลาคนเดินเข้าไป เขาจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องอาศัยการทดลองเรียงภาพครั้งแล้วครั้งเล่า จนรู้สึกว่ามันใช่ และคุณจะเข้าใจว่า ภาพไหนควรต่อด้วยภาพอะไร เพื่อให้เรื่องราวดำเนินไปได้ดีที่สุด 

สำหรับการส่งภาพถ่ายสารคดีเข้าประกวด ช่างภาพสามารถใช้ภาพเดิมที่เคยถ่ายไว้แล้วได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นภาพใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คุณเอกรัตน์ย้ำว่าวิธีการ “ปรุงใหม่” นี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการนำภาพเก่ามาใช้ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าแต่ละภาพสื่ออะไร สามารถเชื่อมโยงกับภาพอื่น ๆ ได้หรือไม่ เช่น เรื่องโทนสี เป็นต้น ดังนั้น แม้จะใช้ภาพเก่าได้ แต่ต้องมั่นใจว่า เรื่องราว และอารมณ์ภาพ ยังกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน 

และในส่วนของคุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขายกตัวอย่าง “การทำไข่เจียวว่าการพัฒนาให้มันอร่อยนั้นมีด้วยกันไม่กี่ขั้นตอน เช่นเดียวกับภาพถ่าย หากคุณมีรูปที่ดีสักใบ มันสามารถเป็น “ตัวตั้งต้น” ที่ดีได้ แต่คุณต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ต่อเติมด้วยประสบการณ์ เรียนรู้ในพื้นที่ และใช้สิ่งที่มีผสมเข้ากับเรื่องที่อยากเล่า เหนือสิ่งอื่นใด คุณตุลย์ย้ำว่ากระบวนการนี้ช่วยให้ช่างภาพเกิดการเรียนรู้้ ไม่ใช่แค่ผลิตภาพเพื่อส่งประกวด แต่คือโอกาสที่คุณจะศึกษา สัมผัส และเข้าใจโลกในแบบที่ลึกกว่าเดิม 

ความสร้างสรรค์สำคัญกว่ากล้องราคาแพง

หัวใจของการทำสารคดี สำหรับคุณตุลย์ เขาแนะนำว่าต้อง “คิดก่อนถ่าย” ก่อนหยิบกล้องขึ้นมา ควรสะระตะความคิดทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรืออารมณ์ที่ต้องการสื่อ หากยังไม่รู้ว่าต้องการถ่ายอะไร ก็ไม่ควรออกไปถ่าย เพราะการคลำหาภาพโดยไร้ทิศทาง มักนำไปสู่ผลงานที่เล่าเรื่องได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดพลัง

ในการประกวดภาพถ่ายสารคดี สำหรับคุณตุลย์ “ความสร้างสรรค์” ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เขาไม่ได้มองหาภาพจากกล้องที่แพง แต่มองหาคนที่กล้าคิด กล้ามองต่าง และกล้าเล่าเรื่องในแบบที่ “ไม่ทำให้คนดูรู้สึกชินชา” ยกตัวอย่างเรื่องน้ำ ถ้าภาพเต็มไปด้วยวิวน้ำที่สวย ๆ ทั้งชุด จะดูไม่น่าสนใจ แต่ต้องนำเสนอเรื่องน้ำในมุมคิดใหม่ ๆ ฉะนั้น หากมีเพียงโทรศัพท์มือถือ คุณก็สามารถส่งเข้าประกวดได้ ถ้าไอเดียและการเล่าเรื่องชัดเจน 

การเรียงภาพก็เหมือนการเขียนจดหมายขอเงินแม่ ต้องมีกลยุทธ์และทำให้คนเชื่อ คุณตุลย์แนะนำว่าอย่าเปิดเผยทั้งหมดตั้งแต่ต้น ให้กระตุ้นอารมณ์คล้ายกับการดูหนัง โดยอาจเริ่มต้นด้วยภาพที่กระตุกความสงสัย แล้วค่อย ๆ คลี่คลายเป็นเรื่อง หรือจังหวะภาพที่ทำให้เรื่องราวค่อย ๆ ไหลไปอย่างมีชั้นเชิง จะทำให้เรื่องน่าสนใจ ชวนอ่าน

จากความผูกพันสู่งานสารคดี  

นอกจากกรรมการทั้งสามท่านแล้ว เรายังได้เชิญคุณปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช ช่างภาพอิสระ ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2024 มาเล่าถึงประสบการณ์ในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด

แม้จะเรียนจบรัฐศาสตร์ แต่เขาหลงใหลในงานภาพถ่ายและการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สะท้อนประเด็นทางสังคม ขณะเดียวกันก็สะท้อนความเป็นตัวเองและเชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างได้ ความตั้งใจดังกล่าวนำไปสู่ผลงานชุด “คนจีนข้ามทะเล” ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องที่ย้อนกลับไปสำรวจรากเหง้าของตนเอง ผ่านสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างเขาและอากง ผู้เป็นญาติใกล้ชิดที่อพยพจากจีนมายังประเทศไทย โดยเริ่มจากการถามตัวเองว่า “อะไรในตัวเขาที่เชื่อมโยงกับอากง” ก่อนจะค่อย ๆ ขยายออกไปสู่เรื่องราวและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่เรือสำเภา จนกระทั่งสมาคมของตระกูล แม้ว่าหลายบางภาพที่คุณเขาส่งเข้าประกวดจะไม่ได้แสดงให้เห็น “น้ำ” โดยตรง แต่ทั้งหมดล้วนสื่อถึงเส้นทางและเรื่องราวของการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของชาวจีนอพยพได้เป็นอย่างดี 

เคล็ดลับที่นำไปใช้ได้ทันที

คุณปิติวัฒน์แนะนำว่าจุดเริ่มต้นของการทำงาน สามารถเริ่มได้จาก “ต้นทุนที่เรามี” เขาชวนให้ตั้งคำถามว่า เราเหลือเวลาเท่าใดก่อนเวลากำหนดส่งภาพ? เรามีภาพอะไรในมือแล้วบ้าง? อยากเล่าเรื่องอะไร? ควรถ่ายที่ไหน? เวลาใด? และจะถ่ายใคร? เขาเน้นว่าควรเขียนคำตอบเหล่านั้นออกมาให้ชัดเจนเสียก่อน และที่สำคัญคือ ไม่ควรออกไปถ่าย หากยังไม่แน่ใจว่าต้องการถ่ายทอดอะไร เมื่อมีแนวคิดที่ชัดเจนแล้ว จึงค่อยออกไปถ่ายซ้ำ ๆ เพื่อรอจังหวะหรือความรู้สึกที่ใช่ จนกว่าจะได้ภาพที่ถ่ายทอดสารที่ต้องการอย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม การประกวดภาพถ่ายสารคดีนี้ไม่ได้จบลงแค่เพียงการรับรางวัลเท่านั้น หากแต่เป็นโอกาสสำคัญที่ช่างภาพจะได้ ‘เปิดประตู’ สู่โลกของงานสารคดีอย่างแท้จริง ผู้ชนะในปีนี้และในปีต่อ ๆ ไป มีโอกาสเข้าร่วม workshop กับนักสำรวจจาก National Geographic Society (สำนักงานใหญ่) เป็นการทำงานร่วมกันกับทีมฉบับภาษาไทย ที่มุ่งสร้างชุมชนนักเล่ามาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตยังมีแผนจัดกิจกรรมอีกมากมาย เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับคนทำงานสายนี้  

อย่าพลาดโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด “10 ภาพเล่าเรื่อง”National Geographic Thailand Photography Contest 2025 หัวข้อปีนี้ “Water of Life สายน้ำแห่งชีวิต” ชวนผู้รักการถ่ายภาพส่งชุดภาพถ่ายสารคดี 10 ภาพ ที่ถ่ายทอดเรื่องราว และความหมายของ “สายน้ำ” ผ่านมุมมองที่ลึกซึ้งและสร้างแรงบันดาลใจ
พร้อมชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท ส่งผลงานได้ถึง 16 กรกฎาคม 2568 

อ่านข้อมูลและกติกาฉบับเต็มได้ที่ https://ngthai.com/photography/77241/photo-contest-2025-rules/  

ลงทะเบียนและส่งผลงานได้ที่ https://ngtcontest2025.amarin.co.th/ 

เรื่อง ญาณิศา ไชยคำ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพถ่าย ศุภกร ศรีสกุล


อ่านเพิ่มเติม : ถอดความคิด จากเบื้องหลังภาพถ่ายสารคดี

“10 ภาพเล่าเรื่อง” FOLLOW THE RIVER

 

Recommend