ตลอดหลายร้อยปีผู้คนนับล้านทั่วโลกพึ่งพาพื้นที่ชุ่มน้ำกลางทะเลทรายที่กำลังอันตรธานไป ชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของโมร็อกโกกำลัง ผสานความรู้โบราณเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อปกป้องโอเอซิส
ระหว่างขับรถลงใต้จากเทือกเขาแอตลาสเข้าสู่หุบเขาดราของโมร็อกโก นักเดินทางจะพบภูมิทัศน์รกร้างว่างเปล่ามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทางหลวงแผ่นดินลาดยางกลืนหายไปกับทะเลทรายที่เมืองโอเอซิสชื่อ มะฮามิดเอลกีซเลน
บางครั้งเรียกขานว่าประตูสู่สะฮารา มะฮามิดและหมู่บ้านที่อยู่รายรอบเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรราว 6,100 คน หลายชั่วอายุคนมาแล้วที่นิคมแห่งนี้พาดคร่อมแม่น้ำดรา มีต้นทามาริสก์ผอมบางขึ้นเลียบไปตามถนนฝั่งเหนือของแม่น้ำ ขณะที่สวนปาล์มแผ่ขยายออกไปทางใต้ แต่ทุกวันนี้ สะพานคอนกรีตที่สร้างคร่อมลำน้ำกลับทอดข้ามก้นแม่น้ำแห้งขอดเหลือแต่ทรายและกรวด นักท่องเที่ยวยังคงมาที่มะฮามิดเพราะกิจกรรมอย่างการขี่อูฐ ชมทะเลทราย การตั้งค่ายพักแรม และการไถกระดานโต้คลื่นลงเนินทราย พวกเขามาถึงกันเป็นคันรถบัสและมุ่งหน้าไปยังโรงแรมที่มีสระว่ายน้ำและใช้บริการนวดสปา
ฮาลีม สบอย ชายวัย 55 ตัวสูง สวมแว่น เกิดในเมืองนี้ เช่นเดียวกับชาวบ้านจำนวนมาก เขายังจำมะฮามิดที่แตกต่างไปจากทุกวันนี้ได้ ทั้งเขียวขจีกว่า และอุดมสมบูรณ์กว่า ตอนเป็นเด็ก เขาต้อนปศุสัตว์ไปตามร่มเงาของสวนปาล์มแน่นขนัด และจับปลาในแม่น้ำดรา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของโมร็อกโก ขณะที่มันลัดเลาะไหลเอื่อยผ่านเมือง ในช่วงหลายสิบปีนับจากนั้น เขาเฝ้าดูโอเอซิสแห่งนี้เหี่ยวแห้งลง เมื่อฝนแทบไม่เคยโปรยปราย และแม่น้ำเหือดขอด ป่าอินทผลัมที่เคยหนาทึบเหี่ยวเฉาและบางลง สวนผลไม้และต้นมะกอกให้ดอกผลน้อยลงทุกปี คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่หนีไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่อื่น ทิ้งบ้านเรือนและถิ่นย่านให้เนินทรายที่รุกล้ำเข้ามาค่อยๆ กลืนกินหายไป
ทะเลทรายกำลังรุกเข้ามาจากทุกทิศทาง ตามคำบอกเล่าของสบอย ชายขอบรอบนอกของโอเอซิสเคลื่อนเข้ามาด้านในปีละกว่า 100 เมตร บางครั้งสบอยก็กังวลว่า เขาอาจกำลังเป็นประจักษ์พยานในจุดจบอย่างไม่เหลืออะไรของโอเอซิสแห่งนี้ และที่จะหายไปด้วยก็คือระบบนิเวศโบราณแห่งหนึ่ง รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมชนเร่ร่อนที่โอเอซิสนี้ทำให้เกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่เขาหวงแหน
กระนั้น สบอยก็ยังเป็นคนมองโลกในแง่ดีผู้ยึดมั่นในวัฒนธรรมชนเร่ร่อน และเขาเชื่อว่าโอเอซิสมีกลไกที่นำไปสู่ความรอดพ้นอยู่ในตัวมันเอง



ย้อนหลังไปหนึ่งหมื่นปีก่อน ภูมิภาคแอฟริกาเหนือถูกกระหน่ำด้วยฝนมรสุมรุนแรง และสะฮาราเป็นดินแดนเขียวขจี แต่ภูมิอากาศค่อยๆ เปลี่ยนไป แล้วทุ่งหญ้ากับแม่น้ำลำธารก็แห้งเหือด ในภูมิทัศน์ใหม่ของทะเลทราย อันโหดร้ายนี้ น้ำเป็นของหายาก ที่ใดก็ตามที่ผู้คนพบเจอน้ำ พวกเขาจะแสวงประโยชน์จากมัน และรังสรรค์พื้นที่ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ขึ้นมาเป็นหย่อมๆ ซึ่งไม่เพียงทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แต่ยังมั่งคั่งรุ่งเรืองด้วย โดยให้ทั้งบ้านและวิถีดำรงชีพแก่ผู้คนหลายพันคน
องค์ประกอบสำคัญของโอเอซิส คือปาล์มอินทผลัมและผู้คน ซึ่งต่างไม่อาจเจริญงอกงามได้หากปราศจากอีกฝ่าย ใบดกหนาของยอดปาล์มอินทผลัมให้ร่มเงาที่ช่วยให้พรรณไม้อื่นๆ เบื้องล่างเติบโตได้ เพราะได้รับการปกป้องจากแสงอาทิตย์ไร้ปรานี นักวิทยาศาสตร์บรรยายว่าปาล์มอินทผลัมถือเป็นชนิดพันธุ์หลัก (keystone species) สำหรับระบบนิเวศเกษตรแบบสามชั้นอันหลักแหลมที่มันยึดโยงไว้ กล่าวคือต้นปาล์มให้ผลอินทผลัมที่มีค่า ขณะที่ภูมิอากาศจุลภาค (microclimate) ใต้ชั้นเรือนยอดหนาทึบ ซึ่งความชื้นและอุณหภูมิได้รับการควบคุม หล่อเลี้ยงพืชไร่อื่นๆ เช่นไม้ผล ต้นมะกอก และต้นเฮนน่า ส่วนในระดับพื้นดิน ต้นถั่ว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และอัลฟัลฟา เติบโตในสภาพที่ได้รับการปกป้องจากลมและทรายโดยลำต้นแข็งแรงของปาล์ม
มุฮัมมัด เอ-เตล-ม็อกห์ตาร์ ศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาพืชและเทคโนโลยีชีวภาพที่มหาวิทยาลัยฮัสซันที่สองในเมืองคาซาบลังกา ซึ่งเคยศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศโอเอซิส พูดถึงต้นปาล์มอินทผลัมว่าเป็นเหมือน “ร่ม” ช่วยให้ทุกสิ่งที่อยู่เบื้องล่างเจริญงอกงามได้ “ถ้าเราอยากรักษาโครงสร้างนี้ไว้ในโอเอซิส เราต้องรักษาปาล์มอินทผลัมไว้ครับ” เขาบอก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง โอเอซิสทำงานอย่างได้ผลเพราะระบบอยู่ในความสมดุล ปริมาณฝนในภูมิภาคแถบนี้ของโมร็อกโกอยู่ในระดับต่ำมากเสมอมาอยู่แล้ว กระนั้น แม่น้ำดราก็ยังหลากล้นด้วยน้ำจากน้ำแข็งละลายและน้ำฝนที่ไหลเป็นระยะทางกว่าสามกิโลเมตรจากยอดเขาต่าง ๆ ของเทือกเขาแอตลาส ชุมชมเกษตรกรรมทำงานร่วมกันเพื่อขุดและบำรุงรักษาเครือข่ายร่องน้ำชลประทานรูปทรงเรขาคณิต เพื่อลักน้ำจากแม่น้ำเข้าสู่สวนปาล์ม พวกเขาใช้หิน อิฐดินดิบ และผนังดินอัดสร้างบ้านและหมู่บ้านที่ล้อมด้วยป้อมปราการดูเหมือนโพรงกระต่ายที่เรียกว่า คะซาร์ และ คาสบาห์ ตลอดจนขยายพื้นที่เกษตรกรรมเข้าไปในทะเลทรายที่มีการชลประทานมากขึ้น
แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำลายโอเอซิสไปเป็นจำนวนมาก และคาดว่ามีแต่จะเลวร้ายลง คาดการณ์กันว่าอุณหภูมิในโมร็อกโกจะสูงขึ้นอีกห้าองศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ และปริมาณน้ำฝนจะลดลงระหว่างร้อยละ 30 ถึง 50 น้ำหลากท่วมระดับสุดโต่งกำลังเกิดบ่อยขึ้น และตัวเลขจากรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า มีต้นปาล์มถูกไฟป่าเผาผลาญไปปีละราว 10,000 ต้น




หากจะมีโอกาสใดที่จะช่วยกอบกู้มะฮามิดไว้ได้ รวมทั้งปูทางไปสู่การช่วยเหลือโอเอซิสอื่นๆ ทั่วโลก โอกาสที่ว่านั้นอาจมาจากสวนขนาดราวหกไร่แปลงหนึ่งตรงชายขอบของเมือง ซึ่งสบอยได้สร้างห้องปฏิบัติการขึ้นมาสำหรับโครงการนำร่องที่มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งทะเลทรายและรั้งน้ำไว้
ต้นอะคาเซียและทามาริสก์งอกขึ้นมาจากกระถางทรงกลมตื้นๆ ที่เรียกว่า วอเตอร์บ็อกซ์ (Waterboxxes) ซึ่งออกแบบโดยปีเตอร์ ฮอฟฟ์ นักพืชสวนชาวดัตช์ กระถางเหล่านี้ลดปริมาณน้ำที่ต้นกล้าอ่อนๆ ต้องใช้ และทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันจากทะเลทราย เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สบอยทำงานร่วมกับมูลนิธิดัชต์ชื่อ สะฮารารูตส์ (Sahara Roots) โดยปลูกต้นไม้หลายร้อยต้นรอบมะฮามิด เพื่อเสริมความแข็งแรงให้สิ่งที่เขาเรียกว่า “ระบบธรรมชาติเพื่อหยุดยั้งทราย” นอกจากนี้ เขายังนำท่อสำหรับการให้น้ำแบบหยดมาใช้ ซึ่งลดเลี้ยวผ่านแปลงผัก และใช้น้ำน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับวิธีการให้น้ำแบบปล่อยท่วมแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่สมเหตุสมผลแล้วเมื่อแม่น้ำหยุดไหล
วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ แม้จะดูเล็กน้อยในเชิงขนาด ล้วนมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและปรับแต่งสมดุลใหม่ระหว่างผู้คนในโอเอซิสและภูมิทัศน์ที่พวกเขาอาศัยอยู่ซึ่งกำลังเปลี่ยนไป


แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนไร้ความหมาย หากประชากรทั้งหมดของมะฮามิดย้ายออกไปหาโอกาสที่ดีกว่าในที่อื่นๆ ดังนั้นเมื่อปี 2016 สบอยจึงร่วมก่อตั้งโรงเรียนดนตรีชื่อ จูดูร์สะฮารา ร่วมกับทอมัส ดันแคน จากมูลนิธิเพลย์อิงฟอร์เชนจ์ (Playing for Change) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไรในแคลิฟอร์เนีย ที่ใช้ดนตรีสมานชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน “เราตั้งคำถามว่า คุณมีอะไรเสนอให้คนหนุ่มสาวเพื่อให้พวกเขาอยู่ที่นี่” ดันแคนบอก คำตอบของพวกเขาคือเฉลิมฉลอง แบ่งปัน และสงวนรักษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับประเพณีเชิงวัฒนธรรมของทะเลทรายและโอเอซิสให้ยังคงอยู่ นับแต่นั้นมา โรงเรียนได้ให้กำเนิดเทศกาลซามาเนที่มีการแสดงของศิลปินนักดนตรีหลายร้อยคนจากทั้งสะฮาราและดึงดูดผู้ชมหลายพันคน
บ้านใหม่ของโรงเรียนนี้ หรือศูนย์วัฒนธรรมจูดูร์สะฮารา สร้างแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมา และประกอบด้วยอาคารดินอัดสมัยใหม่สองหลัง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวโมร็อกโก อาซีซา ชาวีนี หลังหนึ่งทำเป็นอัฒจันทร์ยุบลงไปในพื้นสำหรับการแสดงดนตรี อีกหลังเป็นห้องเรียนที่มีโถงเก็บน้ำอยู่ใต้ดิน สองโครงสร้างนี้เชื่อมถึงกันโดยท่อน้ำใต้ดิน น้ำฝนจะถูกเก็บและสำรองไว้ในอ่างเก็บน้ำดังกล่าว “ความยืดหยุ่นที่แท้จริงคือการออมน้ำฝนไว้ได้ทุกหยดครับ” สบอยกล่าว
ภาพถ่าย มุฮัมมัด คลีโต
เรื่อง ทริสทัน แมกคอนแนล
แปล อัครมุนี วรรณประไพ
อ่านเพิ่มเติม : ภาวะโลกร้อน ทำสเปกตรัมแสงใต้ทะเลเปลี่ยน กระทบต่อระบบนิเวศขั้วโลก