ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ผู้ใกล้สูญพันธุ์

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ผู้ใกล้สูญพันธุ์

ฉลามวาฬ ยักษ์ใหญ่ผู้ใกล้สูญพันธุ์

เหตุการณ์ฉลามวาฬขนาดยักษ์ถูกจับขึ้นเรือประมงที่ภูเก็ต ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในหมู่นักดำน้ำและแวดวงการอนุรักษ์ทะเล เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายอย่างอุกอาจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ไม่ได้เกิดแค่กับ ฉลามวาฬ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลกหลายชนิด จากการประมงที่ไม่รับผิดชอบ การท่องเที่ยว หรือการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน รวมไปถึงการขาดข้อมูลสำคัญหลายด้านในการวางแผนการอนุรักษ์

ฉลามวาฬ (Rhincodon typusเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นปลากระดูกอ่อนในวงศ์ Elasmobranch โตเต็มที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ฉลามวาฬตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกมีความยาวถึง 20 เมตร หนักถึง 42 ตันจากไต้หวัน  แม้จะเป็นสมาชิกปลาฉลามและมีฟันซี่เล็กๆ เท่าหัวไม้ขีดกว่า 3,000 ซี่ แต่ฉลามวาฬหากินด้วยการกรองแพลงก์ตอน และสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ด้วยการอ้าปากกรองน้ำทะเลราวๆ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมงผ่านซี่กรอง (gill raker)

ฉลามวาฬ
กลุ่มนักประดาน้ำว่ายน้ำเพื่อตามถ่ายภาพฉลามวาฬวัยเด็กขนาดราว 3 เมตรที่ว่ายผ่านคลื่นที่ซัดสาดใส่ผาหินของเกาะบอน จุดดำน้ำสำคัญของพื้นที่อันดามันเหนือ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา จากสถิติในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพบเห็นฉลามวาฬบ่อยครั้งขึ้นมากในทั้งสองฟากของน่านน้ำไทยซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อชมฉลามวาฬในหลายพื้นที่

ฉลามวาฬแต่ละตัวมีลวดลายเฉพาะเหมือนลายนิ้วมือของคน เราจึงสามารถจำแนกฉลามวาฬแต่ละตัวได้ด้วยภาพถ่ายลายจุดด้านข้างลำตัว ฐานข้อมูลฉลามวาฬทั่วโลกรวบรวมข้อมูลจากนักวิจัยและนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีฉลามวาฬที่สามารถจำแนกได้แล้วกว่า 9,100 ตัว ฉลามวาฬเป็นปลาที่อายุยืนมาก นักวิจัยประเมินว่ามีอายุเฉลี่ยราว 80 ปี โดยตัวผู้ต้องใช้เวลาราว 17 ปีจึงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ในขณะที่ตัวเมียอยู่ที่ 19-22ปี

เราสามารถพบฉลามวาฬได้ในทะเลเขตร้อนทั่วโลก โดยพบในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกประมาณร้อยละ 75 อีกร้อยละ 25 พบในมหาสมุทรแอตแลนติก การประเมินข้อมูลในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา (สามชั่วอายุ) พบว่าฉลามวาฬมีแนวโน้มลดจำนวนลงระหว่างร้อยละ  40 ถึง 92 แตกต่างกันไปตามพื้นที่  ในเอเชีย-แปซิฟิกฉลามวาฬมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยถึงร้อยละ 63 ทำให้ฉลามวาฬถูกยกระดับจากสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) เป็นใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามการประเมินล่าสุด (2016) ของบัญชีแดงสัตว์ที่ถูกคุกคามในระดับโลก (IUCN Red List of Threatened Species​)

(ปลาโรนันเองก็มีสถานะน่าเป็นห่วงไม่ต่างจากฉลามวาฬ)

หูฉลาม
หูฉลามถูกหยิบจากตู้แช่เย็นเพื่อนำมาปรุงอาหารที่ร้านหูฉลามแห่งหนึ่งย่านเยาวราช อุตสาหกรรมหูฉลามเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลต่อประชากรของฉลามหลากชนิด แม้ว่าครีบของฉลามวาฬมักไม่ถูกนำมาใช้ปรุงอาหาร แต่มักพบเห็นจัดแสดงอยู่บ่อยครั้งในตู้โชว์หน้าร้านและมีราคาค้าขายสูงลิ่ว

ฉลามวาฬจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และได้รับการคุ้มครองทั้งโดยกฎหมายภายในประเทศ ได้แก่ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชกำหนดการประมงที่กำหนดให้ฉลามวาฬเป็น “สัตว์ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือ มีโทษปรับสามแสนถึงสามล้านบาท และกฎหมายระหว่างประเทศ คือ CITES หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

กระนั้น ฉลามวาฬยังถูกคุกคามรอบด้าน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีการพบครีบฉลามวาฬวางขายอย่างเปิดเผยในร้านอาหารหูฉลามในกรุงเทพฯ ถึงสองครั้ง ครั้งหนึ่งที่เยาวราชกับอีกครั้งที่ศูนย์การค้าพาราไดซ์ที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและยึดของกลางไว้ได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่ายังคงมีการค้าขายชิ้นส่วนอวัยวะของฉลามวาฬอย่างผิดกฎหมาย และอาจมีเครือข่ายโยงใยในระดับนานาชาติ การค้าหูฉลามที่ยังเป็นที่นิยมของคนบางกลุ่มเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความต้องการใช้ประโยชน์ฉลามวาฬ

ในภาพรวมภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของฉลามวาฬคือการประมง เพราะยังคงมีการจับฉลามวาฬในบางภูมิภาคโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ถึงแม้ฉลามวาฬอาจไม่ใช่ชนิดเป้าหมายแต่เมื่อถูกจับได้ก็มักจะไม่ปล่อยและนำมาแปรรูปจำหน่ายต่อไป ก่อนหน้านี้ประมงพาณิชย์ในอินเดีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันมีการจับฉลามวาฬปีละหลายร้อยตัว แต่ลดลงไปมากหลังมีกฎหมายภายในประเทศคุ้มครอง ในประเทศไทยเองมีงานศึกษาคาดว่าความชุกชุมของฉลามวาฬที่ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นผลมาจากกิจการประมงพาณิชย์ ทั้งที่โดยตั้งใจและการติดเครื่องมือประมงโดยไม่ตั้งใจ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการปฏิรูปกิจการประมงภายในประเทศขนานใหญ่  ทำให้ปริมาณเรือประมงพาณิชย์ในทะเลไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดรับกับการพบเห็นฉลามวาฬ​ได้บ่อยครั้งมากขึ้นทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ข้อควรระวังที่ต้องติดตามคือการเพิ่มจำนวนของเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่อยากเข้าไปสัมผัสกับฉลามวาฬในระยะใกล้ เพราะต้องไม่ลืมว่าเกิดเหตุฉลามวาฬ ถูกเรือชนเป็นประจำ

ฉลามวาฬ
สัตว์น้ำหลากชนิดที่ติดมากับอวนในเรืออวนลากขนาดเล็กที่จอดเทียบท่าในสะพานปลาของจังหวัดภูเก็ต ด้วยลักษณะการจับที่ไม่เลือกชนิดของวิธีการทำประมงแบบนี้ ทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายการจับติดมากับอวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักมีปริมาณมากกว่าเป้าหมายการจับเสียอีก

ภัยที่มองไม่เห็นอีกอย่างของฉลามวาฬคือปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารพิษที่สะสมอยู่ในไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพ และส่งผลเสียต่อชีววิทยาการสืบพันธุ์​ของกลุ่มสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ช้า และมีอัตราการตกลูกต่ำอยู่แล้วอย่างฉลามวาฬ

หากอยากให้ฉลามวาฬอยู่คู่ทะเลไทย สิ่งจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นคือมาตรการอนุรักษ์ในระยะยาวที่ตอบโจทย์สำคัญทั้งเรื่องของข้อมูลการจัดการเครื่องมือประมงที่มีความเสี่ยงสูงต่อสัตว์ทะเลหายากอย่างอวนลาก การท่องเที่ยวทางทะเลที่ขาดความรับผิดชอบ และการแก้ปัญหาขยะทะเลด้วยการลดการสร้างขยะพลาสติกจากพวกเราทุกคน

เรื่อง เพชร มโนปวิตร

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

                                                                                                               

เพชร มโนปวิตร เป็นรองหัวหน้ากลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย เป็นนักวิจัยฉลามและนักอนุรักษ์ที่ใช้ภาพถ่ายเป็นภาษาบอกเล่าเรื่องราวแก่สาธารณชนผ่านสื่อช่องทางต่างๆ

 

อ่านเพิ่มเติม

บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ

Recommend