“เวน่อม” ในชีวิตจริง ปรสิตเหล่านี้สยองไม่แพ้กัน

“เวน่อม” ในชีวิตจริง ปรสิตเหล่านี้สยองไม่แพ้กัน

เวน่อม ในชีวิตจริง ปรสิตเหล่านี้สยองไม่แพ้กัน

แฟนการ์ตูนค่ายมาร์เวลย่อมไม่มีใครไม่รู้จัก “เวน่อม” (Venom) วายร้ายคู่ปรับตลอดกาลของสไปเดอร์แมน ที่มาพร้อมกับความสามารถด้านพละกำลัง ความคล่องตัว และความโหดเหี้ยม ตามคอมมิคให้ข้อมูลว่า เวน่อม คือปรสิตต่างดาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ซิมไบโอตส์” จากดาว Klyntar เช่นเดียวกับปรสิตที่เรารู้จัก เมื่อฟักตัวออกมาแล้ว พวกมันจำเป็นต้องฝังร่างเข้าไปในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่ที่น่ากลัวก็คือเวน่อมสามารถควบคุมจิตใจ และพฤติกรรมของเจ้าบ้านได้ด้วย

ด้วยความสามารถอันน่าทึ่ง เว็บไซต์ Inverse วิเคราะห์จากตัวอย่างที่เผยแพร่ออกมา ดูเหมือนว่าตัวเอกของเรื่องจะบังเอิญได้รับปรสิตเข้าทางปาก พวกเขาตั้งสมมุติฐานว่าเวน่อมน่าจะสร้างโปรตีนหรือโมเลกุลบางอย่างที่สัมพันธ์กับลักษณะทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต จึงสามารถครอบครองร่างกายและจิตใจของเจ้าบ้านได้อย่างสมบูรณ์ (ในการ์ตูนเล่าว่า เมื่อสไปเดอร์แมนได้รับเวน่อมมา ตัวเขามีพละกำลังมากขึ้น ทว่าในยามหลับ เวน่อมกลับใช้ร่างของเขาออกไปสร้างความวุ่นวาย) ความสามารถพิเศษนี้ทำให้ปรสิตแทบจะยึดร่างและตัวตนของเจ้าบ้านอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่เจ้าบ้านเองก็ยังไม่ตาย

ฟังดูสนุกสนานสมเป็นคอมมิค แต่คุณผู้อ่านอาจตกใจ ถ้าทราบว่าความสามารถแบบเวน่อมมีอยู่จริงรอบตัวเรา! และเหล่านี้คือเรื่องราวของปรสิตสยองขวัญที่ใช้ชีวิตร่วมโลกกับเรามาช้านาน

 

แมงกินลิ้น

เป็นคุณจะทำอย่างไรถ้าวันหนึ่งลิ้นของคุณถูกแทนที่ด้วยสิ่งมีชีวิตอื่น! แมงกินลิ้นคือปรสิตจำพวกกุ้ง-กั้ง ในวงศ์ Cymothoidae แม้จะมีขนาดความยาวเพียง 3 – 4 เซนติเมตร แต่พฤติกรรมของมันน่าหวาดหวั่นมาก แมงกินลิ้นจะว่ายเข้าไปในปากของปลาโดยผ่านทางเหงือก และใช้ก้ามของมันหนีบลิ้นเอาไว้ให้เลือดออก เพื่อดูดกินเลือดจนตัวโตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดลิ้นก็จะมีเลือดไปไหลเวียนน้อยลงและฝ่อในที่สุด จากนั้นแมงกินลิ้นก็จะเกาะตัวเองกับกล้ามเนื้อลิ้น เปรียบเสมือนพวกมันเป็นลิ้นใหม่ของปลาตัวนั้น และคอยกินเลือดและเนื้อเยื่อของปลาต่อไป

เวน่อม
ตัวอย่างของปลาที่ถูกแมงกินลิ้นรุกราน
ภาพถ่ายโดย http://www.todayifoundout.com/index.php/2013/07/the-parasite-that-becomes-a-tongue/

 

เพรียงปรสิต

ปรสิตเปลี่ยนเพศคุณได้! นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับปูแมงมุม เพรียงปรสิตที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Heterosaccus californicus เมื่อพวกมันพบเจอปูแมงมุมเพศผู้ เพรียงจะแทรกตัวเข้าไปในข้อต่อก้ามหรือขากับลำตัว จากนั้นปูแมงมุมจะถูกเปลี่ยนจากเพศผู้ให้เป็นเพศเมีย สารเคมีจากเพรียงจะส่งผลให้ปูหยุดพัฒนาก้ามที่ใช้สำหรับการต่อสู้ ส่วนท้องจะขยายออกเพื่อใช้เป็น “มดลูก” สำหรับให้เพรียงวางไข่ ไข่เพรียงจะเติบโตอย่างปลอดภัยในตัวของปู จนในที่สุดเมื่อลูกเพรียงฟักเป็นตัว เพรียงนับพันตัวก็จะกระจายกันออกมามองหาปูตัวใหม่ เพื่อเริ่มวงจรชีวิตตามบรรพบุรุษ

เวน่อม
ลูกเพรียงมากมายออกมาจากร่างกายของปูแมงมุม
ภาพถ่ายโดย Ecological Parasitology Group, มหาวิทยาลับแคลิฟอร์เนีย, แซนตาบาร์บารา

 

พยาธิขนม้า

พยาธิขนม้า (Horse Hair Worm) ปรสิตขนาดยาวที่มักอาศัยอยู่ในร่างกายของแมลงในกลุ่มตั๊กแตน หรือจิ้งหรีด เข้าสู่ร่างกายเมื่อแมลงดังกล่าวไปกินซากแมลงอื่น เมื่อพวกมันอาศัยอยู่ในตัวเจ้าบ้านจนโตเต็มที่แล้วและต้องการสืบพันธุ์ มันจะปรับเปลี่ยนสมองของเจ้าบ้าน โดยบังคับให้จิ้งหรีดหรือตั๊กแตนกระโดดลงไปในแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด เมื่อเจ้าบ้านจมน้ำพยาธิจะคลานออกมาหาคู่และผสมพันธุ์ จากนั้นก็จะวางไข่เพื่อเริ่มวงจรใหม่ ในตัวเต็มวัยบางตัวยาวได้ถึง 30 เซนติเมตรเลยทีเดียว

เวน่อม
พยาธิขนม้าขณะกำลังคลานออกมาจากตัวจิ้งหรีด
ภาพถ่ายโดย Anand Varma, Ben Hanelt, มหาวิทยาลัยเม็กซิโก

 

แตนเบียนด้วงเต่าลายจุด

แตนเบียนด้วงเต่าลายจุด (Dinocampus coccinellae) มีขนาดพอๆ กับเกล็ดน้ำตาลโรยไอศกรีมเท่านั้น แตนเพศเมียที่พร้อมวางไข่จะเกาะแมลงเต่าทอง ใช้เหล็กในแทงเข้าสู่ลำตัวด้านล่าง และฉีดไข่อย่างรวดเร็ว เมื่อไข่ฟักตัวอ่อนจะกินของเหลวและเนื้อเยื่อในตัวเจ้าบ้านเป็นอาหารทีละเล็กละน้อย จนได้เวลาออกสู่โลกภายนอก ตัวอ่อนจะแทรกตัวผ่านรอยแยกเล็กๆ ของโครงร่างแข็งออกมาปั่นรังไหมใต้ขาแมลง แม้ตอนนี้เต่าทองจะเป็นอิสระจากผู้บงการแล้ว ทว่ามันยังคงต้องตกเป็นทาสต่อไป ด้วยหน้าที่ยืนคร่อมปกป้องดักแด้แตนจากผู้ล่าอื่น จนกระทั่งแตนโตเต็มวัยคลานออกมาและบินจากไป ณ ตอนนั้นเต่าทองจึงจบชีวิตลงอย่างสมบูรณ์

เวน่อม
ซอมบี้แมลงเต่าทองทำหน้าที่อารักขาผู้บงการจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
ภาพถ่ายโดย http://www.janvanduinen.nl/dinocampus-coccinellaeengels.php

 

โปรโตซัวปรสิต

ปรสิตประเภทโปรโตซัว ที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii จะผ่านเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ใหญ่โดย “หนู” เมื่อหนูติดเชื้อโปรโตซัวในสมอง นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าปรสิตจะไปส่งผลต่อระดับโดพามีนในหนู ส่งผลให้หนูเมื่อได้กลิ่นฉี่แมวจากที่ปกติแล้วจะหลีกเลี่ยงพื้นที่นั้นๆ แต่ในหนูที่ติดเชื้อกลับเลือกเดินเข้าหาแทน เนื่องจากปรสิตชนิดนี้สามารถขยายพันธุ์ได้ในลำไส้แมว แมวที่กินหนูติดเชื้อก็จะได้รับปรสิตเข้าไปในร่างกายด้วย จากนั้นปรสิตจะขยายพันธุ์ในมูลของแมว เมื่อแมวถ่ายออกมา วงจรชีวิตใหม่ของลูกหลานมันก็จะเริ่มต้นขึ้น

 

พยาธิหัวหนาม

พยาธิหัวหนามจัดอยู่ในไฟลัม Acanthocephala มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pseudocorynosoma constrictum เหยื่อของมันคือแอมฟิพอดตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามก้นทะเลสาบและหนองน้ำขุ่น เมื่อตัวอ่อนพยาธิฝังเข้าสู่ร่างกายจนโตเต็มที่ มันจะบังคับให้แอมฟิพอดว่ายขึ้นมาหาแสงสว่างด้านบน การกระทำนี้คือการฆ่าตัวตาย เพราะมีเป็ดและนกน้ำมากมายดักรออยู่ แต่สำหรับปรสิตที่ขณะนี้เปลี่ยนเป็นสีส้มจากสารที่ขโมยมาจากเนื้อเยื่อของเจ้าบ้าน นี่คือแผนการเติบโตไปอีกขั้นในลำไส้ของนกน้ำ

เวน่อม
แอมฟิพอดติดเชื้อปรากฎจุดสีส้มขนาดใหญ่บนร่างกาย
ภาพถ่ายโดย https://natgeo.se/djur/insekter/galleri-naturens-zombier-f623db37-b87b-4ed2-9b9e-afa2aad2bc28

 

พยาธิตัวแบน

ในขั้นแรกพยาธิตัวแบนจะเจาะเข้าสู่อวัยวะสืบพันธุ์ของหอยทาก เพื่อสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และเปลี่ยนหอยทากให้เป็นเครื่องจักรผลิตปรสิต ตัวอ่อนของพยาธิจะลงน้ำมองหากบอเมริกันบุลฟร็อก เมื่อพบเหยื่อ พวกมันจะเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปก่อตัวเป็นถุงน้ำบนขาหลังที่กำลังพัฒนาของกบ ส่งผลให้กบตัวนั้นมีขาเพิ่มขึ้น ผิดรูป หรือขาขาดหายไป กบพิการเหล่านี้จะเคลื่อนไหวได้ช้าลง และตกเป็นอาหารของนกยางง่ายขึ้น เมื่อเข้าสู่ร่างกายนกยาง พยาธิจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และไข่พยาธิจะกลับลงน้ำอีกครั้ง เมื่อนกถ่ายมูลออกมา

 

เชื้อราระเบิดหัวมด

ราโอฟีโอคอร์ไดเซปส์ (Ophiocordyceps spp.) คือผู้เชี่ยวชาญด้านการครอบงำจิตใจ เมื่อสปอร์ของราตกลงบนตัวมด ราจะชอนไชเจาะผ่านโครงร่างแข็งภายนอก ดูดซึมสารอาหารในตัวมดอย่างช้าๆ ก่อนจะรุกคืบไปยังสมอง เพื่อควบคุมให้เจ้าบ้านเดินทางออกจากถิ่นอาศัยตามปกติที่เป็นพื้นป่าสู่ต้นไม้สูงลิ่ว มดเจ้าบ้านที่กำลังจะตายและอัดแน่นไปด้วยราจวนเจียนแทบจะระเบิดจะตรึงตัวเองไว้กับใบไม้ หรือเปลือกไม้ จากนั้นก้านของราจะแทงทะลุหัวมดออกมา และปล่อยสปอร์ลงสู่มดอื่นๆ ในรังด้านล่าง เพื่อเริ่มต้นวงจรชีวิตนี้อีกครั้ง

 

หอยทากซอมบี้

หอยทากซอมบี้คือชื่อเรียกหอยทากติดเชื้อปรสิตที่มีดวงตาโปนออกมา เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่หอยทากตัวดังกล่าวไปกินมูลของนกที่มีปรสิตพยาธิตัวแบนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Leucochloridium paradoxum” เข้า ไข่ของพยาธิจะฟักเป็นตัวในระบบย่อยอาหาร จากนั้นตัวอ่อนจะคืบคลานสู่กระบอกตาของหอยทาก เมื่อมันดูดกินสารอาหารจากเจ้าบ้านจนตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดวงตาของหอยทากก็จะโปดปูนขึ้นตามตัวพยาธิ และส่งผงให้การรับแสงของหอยทากด้อยคุณภาพลง พวกมันจึงตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าเช่น นก ได้ง่ายดายขึ้น นอกจากนั้นปรสิตชนิดนี้ยังมีพฤติกรรมยืดตัวไปมา ส่งผลให้ดวงตาของหอยทากมีสีสันสลับแวววาว เพื่อเรียกร้องความสนใจให้ผู้ล่ามากินอีกด้วย

*ส่วนหนึ่งจากสารคดี “ซอมบี้ในโลกธรรมชาติ” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557

 

แหล่งข้อมูล

SCIENCE BEHIND THE FICTION: VENOM HAS NOTHING ON REAL-WORLD SYMBIOTES AND PARASITES

สัตว์โลกสุดสยอง! 5 อันดับ ‘ปรสิต’ สุดร้ายกาจที่เกิดมาเพื่อบงการและล้างสมองโดยเฉพาะ

….9 ปรสิตสุดสยอง!


อ่านเพิ่มเติม

แค่แตะมูลค้างคาวอาจถึงตาย

Recommend