สายใยชีวิตแห่ง เซเรงเกติ ทุ่งหญ้าสัตว์ป่าสุดมหัศจรรย์แห่งแอฟริกา

สายใยชีวิตแห่ง เซเรงเกติ ทุ่งหญ้าสัตว์ป่าสุดมหัศจรรย์แห่งแอฟริกา

ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ระบบนิเวศ เซเรงเกติ คือภูมิทัศน์แอฟริกาอันเก่าแก่โบราณ ประกอบด้วยทุ่งราบสีทองกว้างใหญ่ไพศาลและไม่เปลี่ยนแปลงมาชั่วกัปชั่วกัลป์

ยีราฟตัวสูงตระหง่านเดินอย่างอ่อนช้อยสง่างาม โขลงช้างลุยฝ่าทุ่งหญ้าที่พลิ้วไหวเป็นระลอกคลื่น สิงโตไล่ล่าแอนทิโลปเขาเกลียวจนเลือดนอง วิลเดอบีสต์และม้าลายเดินเป็นแถวซิกแซ็กยาวไม่ขาดสาย และผู้คนซึ่งอาศัยใน เซเรงเกติ ทั้งชาวมาไซและชนเผ่าอื่นๆ ถ้าพวกเขาเป็นที่ยอมรับ มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนประหลาด ผู้ยึดมั่นกับประเพณีการเลี้ยงสัตว์อันคร่ำครึ

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับสถานที่จริงอยู่บ้าง แต่ไม่อาจบรรยายความซับซ้อนของระบบนิเวศอันกว้างใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่ตอนเหนือของแทนซาเนียจนถึงทางตะวันตกเฉียงใต้ของเคนยา และเป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์นับพันชนิด แม้แต่ชื่อเซเรงเกติ ที่เชื่อว่ามาจากคำภาษามา (Maa) ว่า “ทุ่งราบไร้ที่สิ้นสุด” นั้นก็ชวนให้เข้าใจผิด เซเรงเกติ มีภูมิทัศน์หลากหลาย รวมทั้งทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าไม้ และป่าริมน้ำ

เซเรงเกติเป็นสถานที่ไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก ที่แห่งนี้มีประชากรสัตว์บางชนิดยังคงขยายพันธุ์อยู่ เป็นกลุ่มสุดท้าย และเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสมดุลกับสัตว์นับตั้งแต่ต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์ของเรา แต่สัตว์ บางชนิดที่เรารู้จักดี และอีกหลายชนิดที่ยังคงเป็นปริศนา เสี่ยงต่อการสูญสิ้นไป เนื่องจากมนุษย์ยึดครองถิ่นอาศัย ของพวกมันมากขึ้นและทำให้สภาพภูมิอากาศร้อนขึ้น

เซเรงเกติ
วิลเดอบีสต์เดินข้ามแม่น้ำมาราเป็นประจำ ณ จุดหนึ่งบริเวณเชิงเขาลุกเอาต์ฮิลล์ในเคนยา “นี่เป็นภาพคลาสสิก ที่ถ่ายการข้ามแม่น้ำครับ” ช่างภาพ ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์ กล่าว แต่นี่ไม่ใช่ภาพทั้งหมด หากแพนกล้องกลับมา คุณจะเห็นรถนักท่องเที่ยวซาฟารีจอดอยู่ทุกหนทุกแห่ง

สำหรับนักวิทยาศาสตร์อย่างฉัน เซเรงเกติเป็นทั้งแคปซูลเวลาของอดีตกาลนานมาแล้ว และตัวบ่งชี้ถึงอนาคตของเรา การได้เห็นเซเรงเกติผ่านภาพถ่ายหรือโครงเรื่องที่คุ้นเคยอาจทำให้รู้สึกสบายใจ แต่เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า นี่คือสายใยชีวิตอันซับซ้อนที่ต้องพึ่งพาภูมิทัศน์นอกเหนือไปจากบรรดาอุทยาน เขตสงวน และเขตอนุรักษ์ต่างๆ ที่เรากันพื้นที่ไว้

เช่นเดียวกับผู้คนส่วนใหญ่ในแอฟริกันตะวันออก ตอนเด็กฉันไม่เคยไปเยือนเซเรงเกติเลย เซเรงเกติมีไว้สำหรับนักท่องเที่ยว เป็นสถานที่ที่เรามองว่าเกินเอื้อมและไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา แต่ผิดกับหลายคน แม้ขณะเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นในกรุงไนโรบีช่วงทศวรรษ 1970 ฉันโชคดีที่ได้เห็นสัตว์ป่าบางชนิดของเคนยาในธรรมชาติ ฉันและน้องชายสำรวจป่าใกล้ๆ ปีนต้นไม้ ว่ายน้ำในแม่น้ำ ลุยฝ่าบึง วันหนึ่งเราสังเกตเห็นสัตว์น่ารักที่ดูเหมือนหนูตะเภาตัวใหญ่อยู่สูงขึ้นไปบนต้นไทร เพื่อนบ้านคนหนึ่งหยุดรถ เปิดกระจก และอธิบายว่ามันคือไฮแรกซ์ ญาติห่างๆ ของช้าง

เมื่อพบว่าเราหลงใหลสัตว์ เขาก็บอกเราว่าให้นำตัวอะไรก็ตามที่จับได้แบบเป็นๆไปให้ดู แล้วเขาจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับมันให้ฟัง เรานำงู กิ้งก่า นก กบ หนู และหนูกระพุ้งแก้มยักษ์ ซึ่งฉันมั่นใจว่าเป็นการค้นพบใหม่ไปให้เขา ชายผู้มีความอดทนไม่สิ้นสุดคนนี้คือ ริชาร์ด ลีคีย์ นักบรรพมานุษยวิทยา ที่ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเคนยา

ม้าลาย, เซเรงเกติ
สัตว์นักล่าที่หิวโหยซุ่มอยู่ใกล้ๆ ดังนั้น ม้าลายจึงอยู่ใกล้วิลเดอบีสต์ ซึ่งเป็นเหยื่อที่สัตว์นักล่าโปรดปรานมากกว่า เมื่อมาถึงทุ่งราบทางตอนเหนือ สัตว์กินพืชสองชนิดนี้มักหาพื้นที่กินหญ้าที่แตกต่างกัน ม้าลายต้องการอาหารมากกว่า ชอบกินหญ้าต้นสูงด้วยฟันหน้าที่ยาว

หลายปีต่อมา ขณะอายุ 15 ปี ฉันโน้มน้าวพ่อแม่จนยอมอนุญาตให้เข้าร่วมกับกลุ่มนักเรียนไปสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั่วตอนเหนือของเคนยา อันเป็นสถานที่รกร้างห่างไกลซึ่งเป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตจากการขาดน้ำ ถูกปล้น หรือสิงโตกัด ตลอดทั้งเดือน ส่วนใหญ่เราอยู่กันตามลำพัง จดบันทึกรายการพืชและสัตว์ที่เราพบอย่างมีความสุข ประสบการณ์นี้หล่อหลอมความต้องการลึกๆที่จะใช้ชีวิตดื่มด่ำกับธรรมชาติ ไม่กี่ปีต่อมา เมื่อแม่ส่งฉันไปโรงเรียนเลขานุการ ฉันหนีออกมาและไปพบลีคีย์ เขาหาที่ฝึกงานให้ฉันซึ่งนำพาฉันไปสู่ความฝันที่จะเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

ในที่สุดฉันก็ได้ไปเยือนเซเรงเกติในช่วงวัย 20 ตอนทำงานที่กรมสัตว์ป่าเคนยา ความที่ยังเด็กและใสซื่อ ฉันเคยถามนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันในเขตสงวนแห่งชาติมาไซมาราว่า พวกเขามีชาวเคนยาร่วมทีมบ้างไหม

“มีแน่นอน” พวกเขาตอบ “คนขับรถกับพ่อครัว”

ไม่มีใครคาดหวังว่า ชาวแอฟริกันจะทำงานวิจัยในป่า แม้จะเผชิญทัศนคติทำนองนี้ แต่ฉันก็เรียนต่อจน สำเร็จปริญญาเอกสาขานิเวศวิทยาและชีววิทยาวิวัฒนาการ ฉันรักการทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อหลาย ปีก่อน ฉันตระหนักว่าทุกสิ่งที่ฉันรักและหวงแหนกำลังตกอยู่ใต้ภัยคุกคามร้ายแรง ดังนั้นฉันจึงเปลี่ยนความสนใจ มายังการอนุรักษ์

ไฮยีนา
ลูกไฮยีนาลายจุดโผล่ออกมาจากโพรงตอนพระอาทิตย์ตก ไฮยีนาซึ่งส่วนใหญ่หากินตอนกลางคืน เป็นทั้งนักล่าและสัตว์กินซาก ทั้งยังเป็นสัตว์กินเนื้อหลักในเซเรงเกติ ช่วยควบคุมการกระจายพันธุ์และประชากรของชนิดพันธุ์เหยื่อ ลูกไฮยีนาเกิดมาลืมตา ฟันงอกแล้ว และมีกล้ามเนื้อพร้อมใช้งาน

โครงการหนึ่งของฉันคือสารคดีชุด นักรบสัตว์ป่า (Wildlife Warriors) ผลิตโดยชาวเคนยาเพื่อผู้ชมชาวเคนยา โดยนำเสนอเพื่อนร่วมชาติทั้งชายหญิงผู้พยายามปกป้องสัตว์ป่าของเรา ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ตอนที่ฉันนำความคิดนี้ไปขายครั้งแรก ผู้คนบอกว่าชาวเคนยาจะไม่ชมหรอก แต่ผลตอบรับกลับดีอย่างท่วมท้น เมื่อปีที่แล้ว ร้อยละ 51 ของประเทศรับชมรายการ เราได้รับอีเมลและจดหมายสนับสนุน ตลอดจนคำแนะนำสำหรับโครงการใหม่ๆ จากผู้ชมทุกวัย สารนี้ชัดเจน นั่นคือชาวเคนยาห่วงใยสัตว์ป่า ของพวกเขา

ทุกคนจำเป็นต้องห่วงใยเพราะเดิมพันนั้นสูงยิ่ง การอพยพของวิลเดอบีสต์ซึ่งเดินทางผ่านระบบนิเวศ เซเรงเกติเป็นวงกลม ตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน การมาถึงประจำปีของวิลเดอบีสต์กว่าหนึ่งล้านตัวบนฝั่งแม่น้ำมารา อาจดูเหมือนเป็นข้อพิสูจน์ว่าการอพยพนั้นยังมั่นคงดีอยู่ แต่แนวโน้มในระยะยาวกลับแตกต่างออกไป ประชากร สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ทั่วประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว

ยีราฟ, เซเรงเกติ, ทุ่งหญ้าแอฟริกา
ยีราฟเพศผู้ตัวหนึ่งกินต้นอะเคเชียซึ่งเป็นอาหารโปรด ยีราฟที่โตเต็มที่กินใบอะเคเชียได้มากกว่าวันละ 45 กิโลกรัม โดยใช้ลิ้นยาวครึ่งเมตรช่วยรูดกิ่งไม้ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในระบบนิเวศนี้ สัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมสูงที่สุดในโลกต้องแย่งอาณาเขตกันในถิ่นอาศัยที่หดเล็กลง

แจ๊กสัน ลูซีเยีย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชาวมาไซและพิธีกรร่วมของรายการโทรทัศน์ นิทานแมวใหญ่ (Big Cat Tales) บอกฉันว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา เขาและเพื่อนมัคคุเทศก์สังเกตเห็นสัตว์สิบชนิดหายไปหรือเกือบหายไป ได้แก่ กูดูใหญ่ ดุยเกอร์ธรรมดา บุชบัก หมูบุชพิก หมูป่ายักษ์ ออรีบี ลิงโคโลบัส เซเบิลแอนทิโลป โรนแอนทิโลป และแน่นอน แรดดำ สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเป้าหมายในฝันของนักท่องเที่ยว แต่เป็นมาตรวัดสำคัญของสุขภาวะระบบนิเวศ

ในทศวรรษ 1990 เราเห็นความล้มเหลวในการอพยพของวิลเดอบีสต์ในระบบนิเวศอาที-คาปูเตทางตอนใต้ของกรุงไนโรบี เราไม่ตระหนักแม้แต่น้อยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจนกระทั่งสายเกินไป ทุกวันนี้ เหตุการณ์เดียวกันกำลังปรากฏให้เห็นในระดับที่ใหญ่กว่าในเซเรงเกติ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และภัยคุกคามก็ทบทวีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลีคีย์บอกฉันว่า เขากลัวว่าถ้าเราไม่แก้ไขปัญหานี้ทันทีในระดับโลก เราจะสูญเสียสัตว์ป่าส่วนใหญ่ของเราไปภายในชั่วชีวิตของเรา

ถ้าจะมีสิ่งแวดล้อมใดที่สามารถต้านทานการโจมตีจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น นั่นก็น่าจะเป็นระบบนิเวศเซเรงเกติ อันเป็นสถานที่ที่ฟื้นตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ฉันเชื่อว่าเราสามารถปกป้องธรรมชาติแห่งนี้และอนุรักษ์ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ แต่ที่ว่ามานี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าชาวเคนยาและชาวแทนซาเนียไม่เรียกร้องเพื่อให้ได้มา

เรื่อง พอลลา คาฮัมบู

ภาพ ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

สามารถติดตามสารคดี สายใยชีวิตแห่งเซเรงเกติ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/536482


อ่านเพิ่มเติม วิลเดอบีสต์ : ราชาในความอัศจรรย์แห่งเซเรงเกติ อาณาจักรสัตว์ป่าแห่งแอฟริกา

Recommend