จงศรัทธาในรัก เหมือนดั่งสัตว์เหล่านี้

จงศรัทธาในรัก เหมือนดั่งสัตว์เหล่านี้

คู่รักแพรี่ด็อกกำลังพลอดรักกันท่ามกลางแสงแดด

ขอขอบคุณรูปภาพจาก http://www.yourdailypics.com/2011/12/most-tender-couple-of-beavers-in-love.html

จงศรัทธาในรัก เหมือนดั่งสัตว์เหล่านี้

คำว่า “รักนิรันดร์” ที่พวกเราเคยได้ยิน หรือเคยเห็นตามหนังสือนั้นเกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์บ้างหรือไม่? คำถามนี้คงแล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เพราะในชีวิตของมนุษย์นั้นล้วนเจอความรักในรูปแบบที่หลากหลาย สำหรับบางคนอาจเจอแต่ความรักที่เจ็บปวด และมักจบด้วยการเลิกรา หรือบางคนอาจได้เจอกับคนรักที่ดีจนสามารถครองคู่ชูชื่นด้วยกัน  ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับโชคชะตา แน่นอนว่าสัตว์โลกล้วนมีความรักได้เช่นกัน หากมองจากมุมมองของมนุษย์ หรืออีกด้านหนึ่ง ความรักที่ว่านั้นก็อาจเป็นเพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอดก็เป็นได้

หลักวิทยาศาสตร์แบ่งพฤติกรรมเกี่ยวกับความรักของสัตว์ได้ 2 แบบด้วยกัน คือ ะบบจับคู่ทีละหลายๆ ตัวในคราวเดียว (Polygamy) โดยจำนวน 90% ของสัตว์ประเภทนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพวกมันมักใช้คุณสมบัติดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้ามให้มาผสมพันธุ์ด้วย ส่วนมากสัตว์เพศผู้ที่เป็นจ่าฝูงจะมีคู่ครองหลายตัว เพราะพวกมันชอบผสมพันธุ์กันเป็นกลุ่ม ซึ่งสัตว์ประเภทนี้จะไม่นิยมใช้ชีวิตกับคู่รักเพียงตัวเดียว เช่น สิงโต แมวน้ำแอฟริกา เป็นต้น  ระบบนี้แยกออกเป็น  3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง เพศผู้ 1 ตัว มีคู่ครองเพศเมียได้หลายตัว (Polygyny) ประเภทที่สอง เพศเมีย 1 ตัว มีคู่ครองเพศผู้ได้หลายตัว (Polyandry) ประเภทสุดท้าย เพศผู้ และเพศเมียจำนวนหลายๆ ตัวมาผสมพันธุ์ร่วมกัน (Polygynandry)

ส่วนสัตว์ที่จัดอยู่ในแบบที่ 2 คือ ระบบคู่แต่งงานเดียว (Monogamy) โดย 90% ของสัตว์ปีกมักอยู่ในระบบเช่นนี้ แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลับมีจำนวนเพียง 3% เท่านั้น การเลือกคู่ครองของสัตว์ประเภทนี้มักเลือกคู่ที่มีความเหมาะสม และแข็งแรงที่สุดเพื่อสร้างทายาทร่วมกัน ที่สำคัญคือสามารถสร้างอาณาเขตอย่างยืนยาวสำหรับถ่ายทอดให้กับรุ่นต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ปลวก นกแก้วเล็ก หรือหมาป่า เป็นต้น โดยระบบคู่แต่งงานเดียวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทเช่นเดียวกัน ได้แก่ ประเภทที่หนึ่ง มีคู่ครองเพียงตัวเดียวไปตลอดชีวิต ประเภทที่สอง หาคู่ครองใหม่ทันทีเมื่อคู่ตายไป และประเภทที่สาม หาคู่ครองใหม่หลังจากเลิกรากับตัวแรก

 

การศรัทธาในความรักนั้นถือเป็นสิ่งพิเศษที่ทุกคนมักคะนึงถึง แล้วถ้าเป็นโลกของบรรดาสัตว์ล่ะ พวกมันมีพฤติกรรมรักเดียวใจเดียวหรือไม่? ลองมาดูรายชื่อของสัตว์ในธรรมชาติเหล่านี้ที่เลือกมีชีวิตคู่มั่นคงยืนยาว

  1. บีเวอร์ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Castor)

บีเวอร์จัดว่าเป็นสัตว์ที่รักเดียวใจเดียว เพราะมันจะศรัทธาในความรักจนกระทั่งคู่ของมันดับสูญไป ทั้งเพศผู้และเพศเมียต่างช่วยกันสร้างโพรงขนาดใหญ่สำหรับอยู่อาศัย และต่างสนับสนุนกันและกันเพื่อความอยู่รอด ส่วนบีเวอร์ตัวน้อยเมื่อโตเต็มวัย มันจะเริ่มหาคู่โดยไปสร้างอาณาเขตใหม่สำหรับสร้างครอบครัว อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่ของมันยังคงขาดแคลนอาหาร เหล่าลูกๆ มักอยู่รอจนแน่ใจก่อนว่าอาหารจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จากนั้นมันจึงไปตามทางของมันเอง แต่ถึงแม้พวกมันจะมีอิสระมากเพียงใด อาณานิคมใหม่ก็ยังคงอยู่ไม่ห่างจากพ่อแม่ของมันอยู่ดี

รักมั่นคง
บีเวอร์เป็นสัตว์ที่มีกรงเล็บ และพังพืดที่เท้าเพื่อช่วยให้พวกมันสามารถเคลื่อนที่ ว่ายน้ำ และจับกิ่งไม้ได้เหนียวแน่น ขอขอบคุณรูปภาพจาก http://maritime-adventures.blogspot.com/2014/10/open-letter-to-usda-please-do-not-kill.html

 

  1. เพนกวินหงอน (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Eudyptes)

เมื่อฤดูร้อนมาถึง เหล่าเพนกวินหงอนจะกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนของมันเพื่อมาตามหาคู่ชีวิตที่เหมาะสม หลังจากจับคู่กันสำเร็จแล้ว พวกมันจะเดินทางกลับไปยังถิ่นอาศัยเดิมในทวีปแอนตาร์กติกา ส่วนพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหึงหวงของสัตว์ชนิดนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเพนกวินตัวอื่นมายุ่งกับคู่ของมันก่อน และเมื่อถึงเวลาที่พวกมันฟักไข่เรียบร้อย ไข่เหล่านั้นจะได้รับการดูแลจากพ่อแม่เป็นอย่างดี

รักมั่นคง
เพนกวินหงอนตัวผู้ต้องการแสดงศักยภาพให้กับตัวเมียได้เห็นว่าตนสามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ ขอขอบคุณรูปภาพจาก
https://animalsking.com/crested-penguin-the-lifestyle-and-habitat-of-the-crested-penguin/

 

  1. หงส์ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cygnini)

เมื่อหงส์เพศผู้ได้พบกับเพศเมียที่สามารถเข้ากันได้ดี มันจะรีบเคลื่อนที่เข้าไปใกล้กับอีกฝ่ายและขยับคอของมันให้อยู่ในลักษณะพิเศษเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ที่สำคัญพวกมันจะครองรักกันอย่างยืนยาวจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายเสียก่อน หากอีกฝ่ายยังคงดำรงอยู่ มันก็จะใช้ชีวิตเพียงลำพังโดยไม่มองหาคู่ครองใหม่อีกเลย

รักมั่นคง
รูปภาพของหงส์ 2 ตัว ซึ่งคอของพวกมันมักโอบล้อมเข้าหากัน นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี ขอขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.wired.com/2015/02/love-matches-monogamy-animal-kingdom/

 

  1. ชะนี (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Hylobatidae)

ชะนีเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความจงรักภักดีต่อคู่ของมันเป็นอย่างมาก และที่สำคัญตัวผู้และตัวเมียที่ครองรักกันมักจะมีลักษณะ รูปร่าง และขนาดที่เหมือนกัน โดยพฤติกรรมของพวกมันที่ตัวติดกันตลอดเวลานั้น บ่งบอกได้ว่าเป็นการสร้างข้อผูกมัดสำหรับชีวิตคู่ และชะนีถือเป็นสัตว์ที่สามารถดูแลลูกได้เป็นอย่างดี

รักมั่นคง
ชะนีจะหวงแหนอาณาเขตเป็นอย่างมาก พวกมันมักส่งเสียงก้องป่าเมื่อยามมีผู้บุกรุก ขอขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.mnn.com/earth-matters/animals/photos/11-animals-that-mate-for-life/gibbons

 

  1. หมาป่าสีเทา (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Canis lupus)

หมาป่าชนิดนี้มักอยู่รวมกันเป็นครอบครัว โดยมีจ่าฝูงคือเพศผู้ และเพศเมีย ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มันรักเพียงตัวเดียวเท่านั้น และไม่มองหาตัวเมียตัวอื่นอีกเลย พ่อและแม่พร้อมตายแทนลูกๆ ได้เสมอ ขอเพียงแค่ลูกของมันรอดพ้นจากอันตราย

รักมั่นคง
ฝูงของหมาป่าประกอบไปด้วย จ่าฝูงเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว และลูกๆ ของพวกมันราวๆ 7 – 9 ตัว ขอขอบคุณรูปภาพจาก
http://animal-council.blogspot.com/2014/02/

 

  1. นกแสก (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Tyto alba)

นกชนิดนี้ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่จงรักภักดีต่อคู่ของมัน เพราะพวกมันจะรักกันยืนยาวตราบเท่าชีวิตและปราศจากการนอกใจ พวกมันเพียรดูแลลูกน้อยด้วยความรัก และความเอาใจใส่ แถมยังเป็นผู้อารักขาชั้นยอดอีกด้วย โดยตัวเมียส่วนมากมักจะตายเพราะพยายามปกป้องลูกจากผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 – 3 เท่า

รักมั่นคง
นกแสกตัวตัวผู้จีบเพศเมียด้วยการมอบซากหนูตาย พร้อมกับส่งเสียงกรีดร้องอย่างดังเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเพศเมีย ขอขอบคุณรุปภาพจาก
https://www.rd.com/culture/animals-mate-for-life/

 

  1. อินทรีหัวขาว (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Haliaeetus leucocephalus)

นกอินทรีสายพันธุ์นี้เมื่อเลือกคู่ครองได้แล้ว พวกมันจะสร้างรังรักอยู่ด้วยกันทันที และเมื่อเพศเมียให้กำเนิดลูกน้อย ทั้งสองฝ่ายจึงช่วยกันดูแล คอยหาอาหารมาป้อนลูก และให้ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ส่วนลูกๆ นั้นมักอาศัยอยู่ในรังแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าพวกมันจะสามารถดูแลตัวเองได้ นกอินทรีหัวขาวเป็นสัตว์ที่ศรัทธาในความรัก และมันจะใช้ชีวิตกับคู่ครองของมันเพียงตัวเดียวตลอดไป

รักมั่นคง
ฤดูผสมพันธุ์ของอินทรีหัวขาวมักเริ่มในช่วงเดือนเมษายน – สิงหาคม ณ รัฐอะแลสกา และประเทศแคนาดา ส่วนอีกช่วงหนึ่งคือเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม ในทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ขอขอบคุณรูปภาพจาก
http://www.whitewolfpack.com/2017/02/love-is-in-air-bald-eagles-spotted_99.html

 

  1. ปลวก (ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Isoptera)

อาจจะฟังดูแปลกไปเสียหน่อย แต่ปลวกบางชนิดนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ควรอยู่ในรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ช่างซื่อสัตย์ต่อความรักเป็นอย่างยิ่ง หลังจากการเกี้ยวพาราสีเริ่มต้นขึ้น  สัตว์ชนิดนี้จะเริ่มมองหาสถานที่เพื่อสืบพันธุ์และและสร้างครอบครัวไปด้วยกัน จากนั้นพวกมันจึงสร้างอาณานิคมใหม่ขึ้นมาเพื่อตั้งตนเป็นราชาและราชินีของอาณาจักร และอาศัยอยู่ด้วยกันเพื่อผลิตทายาทรุ่นต่อไป

รักมั่นคง
เมื่อปลวกเพศผู้ไม่สามารถหาคู่เพศเมียได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเพศเมียขาดแคลน ปลวกตัวผู้ 2 ตัวจะจับคู่เพื่อสร้างอาณาจักรร่วมกัน จากนั้นพวกมันค่อยออกหาคู่เมื่อถึงเวลา ขอขอบคุณรุปภาพจาก https://www.livescience.com/55856-male-termites-pair-up-when-females-scarce.html

 

(แอนิเมชั่นประกอบคำอธิบายเกี่ยวกับระบบคู่แต่งงานเดียว)

 

ข้อดีของสัตว์ที่เลือกมีรักอย่างมั่นคง

ประโยชน์สำหรับสัตว์ที่เลือกมีคู่ครองเพียงตัวเดียวตลอดไปนั้น คือ พวกมันสามารถไว้วางใจคู่ชีวิตของมันได้ในเรื่องมีลูกร่วมกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาและพลังงานในช่วงฤดูผสมพันธุ์ แน่นอนว่าเหล่าทายาทตัวน้อยต่างเกิดมาเพราะความตั้งใจของพ่อแม่ และบรรดาลูกๆ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างดีภายใต้การดูแล และความเอาใจใส่ของผู้ให้กำเนิด ที่สำคัญคือสัตว์ระบบคู่แต่งงานเดียว มักหวงแหนอาณาเขต พวกมันจึงเลือกคู่ครองที่สามารถปกป้องแผ่นดินร่วมกันได้ ส่วนประโยชน์สำหรับสัตว์ที่ชอบมีคู่ครองหลายตัว คือกลุ่มขนาดใหญ่ของพวกมันสามารถปกป้องลูกน้อยจากผู้ล่าได้ และจ่าฝูงที่มีความแข็งแกร่งมักประสบความสำเร็จในเรื่องผลิตทายาท ทำให้การดำรงชีวิตของสัตว์ประเภทนี้มีโอกาสรอดเพื่อสืบทอดรุ่นต่อไปมากกว่าเสี่ยงสูญพันธุ์

 

ดั่งประโยคที่ว่า ความรักไม่มีพรมแดน  เพราะความปรารถนามักอยู่ในจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนการที่จะเลือกรักใครสักคนพร้อมกับประคับประคองความรักให้ยืนยาวคงไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในมนุษย์ และสัตว์ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเราติดต่อกันและกันได้ง่ายดายสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมให้รักมั่นคนยืนยาวขึ้นบ้างไหม? ในโลกของสัตว์พวกมันเกี้ยวพาราสี ครองรัก และปกป้องคู่ครองโดยไม่มีตัวช่วย อาจเทียบกันไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็นับเป็นเรื่องราวจากธรรมชาติที่น่ารักอีกเรื่องหนึ่ง และในท้ายที่สุดมันย้ำเตือนเราว่าความรักกำลังโบยบินอยู่รอบตัว แม้ในชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดยังสัมผัสได้

***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม

สรรพสัตว์จีบกันอย่างไร?

 

แหล่งข้อมูล

The 10 Animals Most Faithful to their Mates

Why are some animals monogamous while others are polygamous? A game theory explanation

Most Amazing Examples of Monogamy in Animal World

 

Recommend