สาเหตุของการลดลงของจำนวนประชากร แมลง

สาเหตุของการลดลงของจำนวนประชากร แมลง

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นการลดลงของประชากรแมลงเป็นจำนวนมาก ว่าแต่สาเหตุมาจากอะไร แล้วหาก แมลง สูญพันธุ์ จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา

ครั้งหนึ่ง หมู่ตั๊กแตนภูเขาหินเคยมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากจนแสงพระอาทิตย์ถูกบดบัง ทำให้พื้นที่แถบ Great Plains ต้องเผชิญกับความมืดมิด แต่ในทศวรรษต่อมา เจ้าของฟาร์มในแถบนั้นได้ทำการพัฒนาพื้นที่ที่พวกมันใช้ในการสืบพันธุ์มาใช้ทำการเกษตร หลังจากนั้นได้ไม่นาน พวกมันก็สูญพันธุ์หายไปจากพื้นที่ และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะพวกมันเป็นแหล่งอาหารของแมลงในพื้นท้องถิ่นจำนวนมาก

ผลการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า “การลดลงของประชากรแมลงไม่ใช่เรื่องสมมติอีกต่อไป” และอาจมีความเสี่ยงมากกว่าที่เราคิดไว้ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biological Conservation พาดหัวว่า ร้อยละ 40 ของแมลงทุกชนิดกำลังมีจำนวนประชากรลดลง และอาจสูญพันธุ์หายไปจากโลกทั้งหมดในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

“หากเราไม่ยับยั้งเหตุการณ์เช่นนี้ ระบบนิเวศทั้งหมดจะพังลง เนื่องจากแมลงอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสัตว์หลายชนิด” Franciso Sanchez-Bayo คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในประเทศออสเตอร์เลียพูดถึงเหตุการณ์การลดลงของจำนวนประชากรแมลงครั้งนี้

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นถึงการลดลงของจำนวนประชากรแมลงอย่างน่าตกใจ กลุ่มนักวิจัยชาวยุโรปพบว่า ประชากรแมลงลดลงมากกว่าร้อยละ 75 ภายในพื้นที่คุ้มครอของประเทศเยอรมนีกว่า 63 แห่ง ในระยะเวลาเพียง 27 ปี

แมลง
การลดลงของประชากรแมลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคงหนีไปไม่พ้นภาคการเกษตร

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ครึ่งหนึ่งของผีเสือและผีเสื้อกลางคืน มีจำนวนประชากรลดลง และมีโอกาสถึง 1 ใน 3 สำหรับการสูญพันธุ์ โดยตามรายงาน ดูเหมือนว่าด้วงก็น่าจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของผึ้งและมดที่มีการศึกษา ต่างประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยแมลงหนอนปลอกน้ำ (Caddisfly) เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด จำนวนกว่าร้อยละ 63 ของสายพันธุ์ทั้งหมด ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้อาจมาจากการพฤติกรรมการวางไข่ในน้ำ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากมลพิษทางน้ำ

แมลง
Dung Bettle (แมลงที่กินมูลสัตว์) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยย่อยสลายมูลสัตว์

เหตุผลในการลดจำนวนลงของประชากรแมลง 

มีสาเหตุหลายประการที่คาดว่าทำให้แมลงตกอยู่ในสภาวะเลี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นนี้ ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการลดลงของประชากรแมลง ได้แก่ การรุกล้ำพื้นที่อาศัยโดยมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า พร้อมกับภาคการเกษตรที่หันมาใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งหมดนี้ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องในการลดลงของประชากรแมลงทั่วโลก อีกทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัจจัยร่วมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของแมลงด้วย โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง เช่น ภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรง และความถี่ในการเกิดขึ้นต่อไปในอนาตต

ทั้งนี้ยังได้มีปัจจัยอื่นๆ อยู่ในเบื้องหลังของการลดลงของจำนวนประชากรแมลงครั้งนี้ อย่างเช่น การรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น ปรสิต และโรคระบาด

ผลกระทบจากการลดลงของจำนวนประชากรแมลง

แมลงจัดว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร สัตว์ทุกประเภทที่เป็นผู้บริโภคลำดับถัดไป ตั้งแต่นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ตลอดไปจนถึงปลา ต่างก็กินแมลงเป็นอาหารหลักทั้งสิ้น หากจำนวนประชากรแมลงลดลง ทุกๆ อย่างก็จะได้รับผลกระทบและมีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ แมลงยังทำหน้าที่ “ผสมเกสรพืช” อีกด้วย John Losey นักกีฏวิทยาจาก Cornell University ระบุว่า ประมาณ 3 ใน 4 ของพืชดอกทั้งหมดต่างได้รับการผสมเกสรโดยแมลง เช่นเดียวกับพืชที่ผลิตอาหารในปริมาณที่มากกว่า 1 ใน 3 ของแหล่งอาหารทั้งหมด ทั้งหมดนี้ต่างได้รับการช่วยเหลือในการช่วยผสมเกษรจากแมลงทั้งสิ้น

“หากไม่มีแมลง ก็เท่ากับว่าไม่มีอาหาร และหากไม่มีอาหาร แล้วมนุษย์จะอาศัยอยู่ได้อย่างไร?” Dino Martins นักกีฏวิทยาจากศูนย์วิจัย Mpala จากประเทศเคนยา กล่าว

ผีเสื้อ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องของการช่วยผสมเกสร

นอกจากนี้แมลงยังมีหน้าที่สำคัญในการกำจัดของเสียอีกด้วย

ดังนั้นคำถามที่ว่า “เหตุการณ์การลดลงของจำนวนประชากรแมลงอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง” ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบอีกต่อไป เนื่องจากยังขาดการศึกษาในระยะยาว เพราะการศึกษาเรื่องแมลงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่ข่าวดีก็คือหลังจากได้ทำการศึกษาวิจัยไปครั้งก่อน กลับมีผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ทำให้มีเงินทุนสำหรับการวิจัยในอนาคตเพิ่มขึ้น จากความสนใจลักษณธนี้ เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยป้องกันและยับยั้งไม่ให้มีแมลงชนิดไหนต้องเผชิญชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับตั๊กแตนภูเขาหิน

แม้กระทั่งแมลงที่ดูเหมือนว่ามีอยู่มากมายทั่วโลก ก็สามารถหายไปได้ในช่วงเวลาสั้นๆ และหากไม่มีใครมาช่วยกันดูแลในปัญหาของส่วนนี้ การสูญพันธุ์ของแมลงอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้..

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม : การเรืองแสงทางชีวภาพ : ปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่ง

การเรืองแสงทางชีวภาพ

Recommend