บางปะกง : สายใยชีวิตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

บางปะกง : สายใยชีวิตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

บางปะกง : สายใยชีวิตแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำ

การตระเวนถ่ายภาพพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยและภูมิภาค เช่น แม่น้ำ บางปะกง นานกว่าทศวรรษ

ทำให้ช่างภาพเข้าใจความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างสรรพสัตว์ ผู้คน และถิ่นอาศัย 

ภาพถ่าย : เริงชัย คงเมือง และโครงการบางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต

ตอนที่เริงชัย คงเมือง เริ่มถ่ายภาพปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกงเมื่อสามสี่ปีก่อน เขาคิดว่าคงมีปลาเหลืออยู่ไม่กี่ชนิด

“ไม่คิดว่าปลาจะมีความหลากหลายมากขนาดนั้น และมีปลาที่เรายังไม่รู้จักอีกมาก  ยิ่งเห็นปลาในธรรมชาติ  ตอนถ่ายสวยมากครับ” เขาเล่า

เริงชัยใช้เวลาหนึ่งปีถ่ายภาพปลาในแม่น้ำบางปะกงได้ร่วมร้อยชนิด จากต้นน้ำที่เขาใหญ่ไปจนถึงปลายน้ำที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย  เขาจึงพบเห็นปลาน้ำจืดแท้ๆ ปลาน้ำกร่อย และปลาทะเลอยู่ในแม่น้ำเดียวกัน รวมทั้งกระเบนราหูน้ำจืดที่แทบไม่พบในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแล้วด้วย

“มีครั้งหนึ่งที่ไม่คาดคิดคือ ผมถ่ายฉลามที่เข้ามาหากินในแม่น้ำ ห่างจากปากอ่าวเข้ามาน่าจะเกินสิบ กิโลเมตร (ทางรถ) ที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา”  เริงชัยเล่า

บางปะกง
ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis) (บน) และปลาย่าไอ้ดุก (สกุล Batrachomoeus) (ล่าง) เป็นปลาจากจำนวนกว่า 150 ชนิดพันธุ์ที่พบได้ในแม่นํ้าบางปะกง ในฤดูฝนอาจพบปลาเกือบร้อยชนิด ส่วนในฤดูแล้งพบเกือบ 40 ชนิด

บางปะกง

บางปะกง
แม่นํ้าบางปะกงจากต้นนํ้าถึงปลายนํ้า เป็นแหล่งอาศัยของปลานํ้าจืด ปลานํ้ากร่อย เรื่อยไปจนถึงปลาทะเล รวมถึงปลาจุมพรวดหรือปลาตีนจุดฟ้า (Boleophthalmus boddarti) ตัวนี้
บางปะกง
นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ของปลาแล้ว แม่นํ้าบางปะกงยังมีสัตว์นํ้าอื่นๆ อีกมากกว่า 35 ชนิด รวมทั้งกบนํ้ากร่อย (Fejervarya cancrivora) (บน) กุ้งกะเปาะหรือกุ้งกะต่อม (Macrobrachium equidens) (ล่าง)

บางปะกง

บางปะกง
หอยเชอรี (Pomacea canaliculata) เป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่แพร่กระจายในแหล่งนํ้าทั่วประเทศ รวมถึงแม่นํ้าบางปะกง

เริงชัยพบว่า การที่มีปลามากมายและหลากหลายชนิดเป็นตัวชี้วัดว่า แม่น้ำบางปะกงยังมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ  “มีปลานักล่าค่อนข้างมาก อย่างกระเบนราหู ฉลาม กะพง”  เขาบอกว่าเป็นเพราะมีปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นอาหารอยู่มาก  ถ้าปลาผู้ล่ามีความหลากหลาย ก็แสดงว่าประเภทของอาหารก็หลากหลายตามไปด้วย  ตอนที่เริงชัยออกเรือไปกับชาวบ้าน เขาพบว่าชาวบ้านไม่ต้องเตรียมเหยื่อไปตกปลา แต่ “ไปจับเอาข้างหน้า” เพียงหย่อนเบ็ดลงไปก็ได้ปลาขนาดฝ่ามือสำหรับใช้เป็นเหยื่อตกปลาใหญ่ได้ “รวดเร็วมากครับ หย่อนตรงไหนก็เจอปลา”

แม่น้ำบางปะกงไม่มีเขื่อนกั้นและไม่ได้ไหลผ่านเมืองใหญ่หลายเมืองเฉกเช่นแม่น้ำเจ้าพระยา  เริงชัยบอกว่ายังเหลือพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่าจากที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ ในหน้าน้ำหลาก ปลายังขึ้นไปวางไข่ได้  อย่างไรก็ตาม แม่น้ำบางปะกงก็เผชิญปัญหาการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปลาที่อยู่ตามหน้าดินลอยตายดังที่เป็นข่าวเนืองๆ

ตอนเป็นเด็ก เริงชัยคุ้นเคยกับการจับปลาจากลำห้วยใกล้บ้านที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำที่ชัยภูมิ ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของชนิดและจำนวนของปลา  เขาจึงรู้ดีว่าเมื่อลำน้ำถูกตัดขาดหรือถูกปิดกั้นเพื่อทำเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ปลาที่เคยเห็นตอนเด็กจะหายไป  “ปลาที่ต้องอพยพตามน้ำไหลเดินทางไกลขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ เหลืออยู่แต่ปลาที่ชอบน้ำนิ่ง”

เริงชัย คงเมือง ถ่ายภาพแม่น้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งในไทยและต่างประเทศมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ “ตั้งแต่ยังถ่ายด้วยฟิล์มอยู่ครับ” เขากล่าว – นิรมล มูนจินดา

บางปะกง
เช่นเดียวกับผู้คนในลุ่มนํ้าบางปะกง สามพี่น้องชาวกัมพูชาแห่งโตนเลสาบ จังหวัดกำปงชนัง (บน) และชาวบ้านดงสารแห่งลุ่มนํ้าสงคราม จังหวัดสกลนคร (ล่าง) ล้วนมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากพื้นที่ชุ่มนํ้า

บางปะกง

บางปะกง
คนเลี้ยงควายที่ทะเลน้อย ทะเลสาบนํ้าจืดแห่งจังหวัดพัทลุง นั่งพักบนเรือหลังไล่ต้อนฝูงควายที่มากินหญ้า (บน) นอกจากนํ้าจืดและนํ้ากร่อยแล้ว พื้นที่ชุ่มนํ้ายังครอบคลุมถึงนํ้าเค็ม เช่น บริเวณพื้นที่ชายหาดจังหวัดกระบี่ (ล่าง)

บางปะกง


อ่านเพิ่มเติม

บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: ชะตากรรมบนเส้นด้ายของปลาโรนัน

 

Recommend