ปิดฉากชีวิตกระซู่เพศผู้ตัวสุดท้ายในมาเลเซีย

ปิดฉากชีวิตกระซู่เพศผู้ตัวสุดท้ายในมาเลเซีย

กระซู่ ชื่อว่า ฮาราปัน โพสท่าที่ศูนย์อนุรักษ์ไวท์โอ๊คที่มลรัฐฟลอริดา สถานที่ซึ่งมันได้อยู่อาศัยที่นั่นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์กระซู่ หรือ แรดสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NATIONAL GEOGRAPHIC PHOTO ARK


หลังจาก กระซู่ เพศผู้ตัวสุดท้ายในมาเลเซียได้ตายไป ก็เหลือเพียงตัวเมีย 1 ตัว และในอินโดนีเซียก็เหลือกระซู่อีกเพียง 80 ตัวเท่านั้น

มีรายงานว่า แทม (Tam) กระซู่หรือแรดสุมาตรา (Sumatran rhinoceros) เพศผู้ตัวสุดท้ายในมาเลเซียนั้นตายลง ทำให้กระซู่ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์นี้ ได้สูญพันธุ์ไปจากมาเลเซียเรียบร้อยแล้ว

ย้อนไปเมื่อปี 2008 มีการค้นพบแทมที่สวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่ง มันจึงถูกจับและนำมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาบิน รัฐซาบาห์ และวางแผนให้มันผสมพันธุ์กับกระซู่เพศเมียสองตัวที่ชื่อว่า ปันตุง (Puntung) ที่ถูกจับมาเมื่อปี 2011 และ อิมาน (Iman) ที่ถูกจับเมื่อปี 2014 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ในปี 2017 ปันตุงถูกการุณยฆาตเนื่องจากโรคมะเร็ง ขณะนี้ อิมานจึงเป็นกระซู่เพศเมียตัวสุดท้ายในมาเซีย โดยสาเหตุที่ทำให้กระซู่มีจำนวนน้อยลงเช่นนี้เนื่องจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยและการล่าสัตว์ มีการคาดการณ์ว่า เหลือกระซู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียอยู่ประมาณ 80 ตัวเท่านั้น และส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างกระจัดกระจายในเกาะกาลิมันตัน ส่วนพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย

บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า พฤติกรรมการอยู่อย่างสันโดษของกระซู่เป็นสาเหตุใหญ่ของการลดจำนวนลง เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ กระซู่เพศเมียสามารถเป็นซีส (ถุงน้ำที่เกิดขึ้นบนเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย) และเนื้องอกในระบบสืบพันธุ์ หากไม่มีการผสมพันธุ์นานเกินไป

โดยสภาพร่างกายของเจ้าแทมเริ่มย่ำแย่ลงตั้งเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งปรากฎอาการไต และระบบร่างกายอื่นๆ ล้มเหลว เนื่องจากอายุที่มาก ในขณะนั้น เจ้าแทมก็มีอายุราว 30 ปีแล้ว (อายุขัยของกระซู่จะอยู่ที่ 35-40 ปี) ก่อนที่มันจะจากไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

(รับชมวิดีโอ กระซู่ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)

 ก้าวต่อไปเพื่อกระซู่ที่ยังอยู่

มาร์กาเร็ต คินนาร์ด หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านสัตว์ป่าขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า การตายของเจ้าแทมถือเป็นตัวกระตุ้นให้มีการค้นหากระซู่ตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมากขึ้น

“จากการสำรวจครั้งล่าสุด บ่งชี้ว่า ยังมีกระซู่ตัวอื่นๆ อาศัยอยู่ในป่ากาลิมันตัน” คินนาร์ดกล่าวและเสริมว่า “สิ่งนี้จุดประกายความหวังของพวกเราขึ้นมาอีกครั้ง”

“เราต้องพุ่งเป้าความสนใจไปที่การรักษากระซู่อีก 80 ตัวที่เหลือ โดยใช้ทั้งการปกป้องพวกมันอย่างเข้มงวด การผสมพันธุ์ในพื้นที่ปิด และการทำงานร่วมกับคนท้องถิ่นเพื่อให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจว่ากระซู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางธรรมชาติ” ซูซี เอลลิส กรรมการบริหารของมูลนิธิแรดนานาชาติ (the International Rhino Foundation) กล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นการต่อสู้ที่เราจะแพ้ไม่ได้”

เรื่องโดย  JASON BITTEL


อ่านเพิ่มเติม แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายตายแล้ว หรือนี่คือจุดจบ?

Recommend