เสือโคร่งในสวนสัตว์บรองซ์ติดเชื้อโคโรนาไวรัส

เสือโคร่งในสวนสัตว์บรองซ์ติดเชื้อโคโรนาไวรัส

เสือโคร่ง เป็นสัตว์ชนิดแรกที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่ตรวจพบโรคโควิด-19 และเป็นหนึ่งในเสือเจ็ดตัวที่มีอาการป่วย

เสือโคร่ง ที่อยู่ในสวนสัตว์บรองซ์ เมืองนิวยอร์ก แสดงผลบวกของโรคโควิด-19 และเสืออีกหกตัวในสวนสัตว์เดียวกันแสดงอาการเจ็บป่วยเช่นกัน กรมการเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

“นี่คือครั้งแรกในองค์ความรู้ของเรา ที่สัตว์ [ป่า] ติดเชื้อโควิด-19 จากมนุษย์” พอล แคลล์ หัวหน้าสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์บรองซ์ กล่าว เสือโคร่งมาลายันที่ชื่อ นาเดีย มีความเป็นไปได้ว่า มันอาจติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่ดูแลสวนสัตว์ “เพราะเป็นกรณีเดียวที่เป็นไปได้” เนื่องจากสวนสัตว์ปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ มีรายงานสัตว์เลี้ยงในบ้านหลายสายพันธุ์แสดงผลบวกของเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เช่น ปอมเปอเรเนียน และเยอรมันเชเพิร์ดในฮ่องกง รวมถึงแมวบ้านในประเทศเบลเยียม

สัตว์กลุ่มแมว ทั้งแมวป่าและแมวบ้านต่างติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในสัตว์ตระกูลแมวได้ง่าย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ เราไม่มีข้อมูลเลยว่า พวกมันสามารถติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ งานศึกษาชิ้นใหม่จากประเทศจีนรานงานว่า สัตว์ในกลุ่มแมวอาจแพร่เชื้อภายในสายพันธุ์ได้ และนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งศึกษาว่า สัตว์ชนิดใดบ้างสามารถติดเชื้อจากเสือโคร่งได้

ครั้งแรกของโลกที่สวนสัตว์บรองซ์

หลังจากพบอาการไอแห้งๆ เมื่่อปลายเดือนมีนาคม นาเดีย เสือโคร่งมาลายัน อายุสี่ปี ตรวจพบเชื้อโคโรนาไวรัสเมื่อวันที่ 2 เมษายน จากคำบอกเล่าของแคลล์ เสือโคร่งไซบีเรียสองตัว และสิงโตอีกสามตัว แสดงอาการเช่นเดียวกันและกินอาหารได้น้อยลง แม้ว่าพวกมันยังไม่ได้รับการตรวจ ภายในสวนสัตว์ เสือทั้งเจ็ดตัวอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ และพวกเขาหวังว่า เสือเหล่านี้จะมีอาการดีขึ้น แคลล์กล่าว แต่มีคำเตือนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นองกรค์ไม่แสวงหากำไรที่ดูแลกิจการของสวนสัตว์บรองซ์ ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ยยังไม่มีข้อมูลว่าโรคโควิด-19 มีกลไกก่อโรคในสัตว์อย่างไร

เมื่อนาเดียเริ่มแสดงอาการของโรค ทีมสัตวแพทย์ได้เร่งตรวจวิเคราะห์ผลตรวจเลือด “พิจารณาจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในนิวยอร์กขณะนี้ เราจึงจำเป็นต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19” แคลล์กล่าว พวกเขาเก็บตัวอย่างเลือดของนาเดียในสวนสัตว์และส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการตรวจโรคนิวยอร์อกสเตต ในมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ การวิเคราะห์ผลเลือดในสัตว์แตกต่างจากที่ใช้กับมนุษย์ แคลล์กล่าวและเสริมว่า “ดังนั้นจึงมีความท้าทายเรื่องการทดสอบผลเลือดอยู่พอสมควร”

จากคำกล่าวอ้างของ USDA และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด รายงานว่า ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่อยู่ในกรงเลี้ยงสามารถแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาสู่มนุษย์ (ส่วนใหญ่เชื่อว่า ไวรัสที่พบในมนุษย์พัฒนามาจากโคโรนาไวรัสที่พบในค้างคาว)

จะทำอย่างไรต่อไป

เรื่องนี้เป็นการค้นพบที่ใหม่มาก แคลล์กล่าว ดังนั้นเราจึงมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบอยู่หลายข้อ เช่น เสือโคร่งและสิงโตติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ง่ายกว่าสัตว์ชนิดอื่นจริงหรือ สัตว์ตระกูลแมวชนิดอื่นๆ ในสวนสัตว์ ที่ไม่ใช่ตระกูลแมวใหญ่ เช่น เสือดาวหิมะ เสือชีตาห์ เสือลายเเมฆ เสืออะมูร์ และพูมา กำลังติดเชื้อเช่นเดียวกันหรือไม่

ผู้ดูแลสัตว์ในสวนสัตว์ทั่วประเทศ กำลังพยายามอย่างหนักเรื่องการดูแลสัตว์จำพวกเอป เพราะสัตว์กลุ่มนี้ติดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจจากมนุษย์ได ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า พวกมันอาจไวต่อการติดเชื้อโคโรนาไวรัส

ทีมผู้ดูแลสัตว์ในสวนสัตว์บรองซ์แบ่งปันข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ให้กับสวนสัตว์และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ แคลล์บอกและเสริมว่า “ผมกังวลว่าอาจเกิดกรณีเช่นนี้กับสัตว์ชนิดอื่น และในขณะที่เรากำลังแชร์ข้อมูลเหล่านี้ ก็อาจมีกรณีเช่นเดียวกันเกิดขึ้นอีกได้”

แดน แอช ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือชาวอเมริกันเรื่องสวนสัตว์และอะควาเรียม ซึ่งได้รับการยอมรับจากสวนสัตว์ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง รวมถึงสวนสัตว์บรองซ์ กล่าวชื่นชมแคลล์และคณะว่า สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว และเสริมว่า องค์กรฯ พร้อมให้การช่วยเหลือและส่งต่อข้อมูลจาก USDA ในเรื่องข้อควรระวังการติดเชื้อจากมนุษย์มาสู่สัตว์ โดยการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น การสวมหน้ากากขณะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับสัตว์ และอยู่ห่างจากสัตว์หากไม่จำเป็น

แอชบอกว่า เขาเชื่อว่าควรเริ่มต้นจากการตรวจหาเชื้อจากผู้ดูแลสัตว์ “ถ้าเราทราบว่า ผู้ดูแลสัตว์มีเชื้อโควิด-19 พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานกับสัตว์” เขากล่าวและเสริมว่า “ถ้า [ไวรัส] สามารถแพร่จากมนุษย์สู่สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ได้ สิ่งสำคัญที่เราควรทำคือ การตรวจหาเชื้อในมนุษย์”

จอห์น กูดริช หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และผู้อำนวยการโปรแกรมเสือโคร่งแห่งองค์กรแพนเทอรา องค์กรระดับโลกที่เน้นอนุรักษ์สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับเสือที่อยู่ในธรรมชาติ “สัตว์ในตระกูลแมวใหญ่อย่างเสือโคร่งและสิงโตกำลังเผชิญกับการถูกคุมคามในธรรมชาติ ถ้าโควิด-19 แพร่สู่สัตว์ตระกูลแมวใหญ่ในธรรมชาติ และกลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกมันตาย เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตสำหรับสัตว์สายพันธุ์นี้”

เรื่อง นาทาชา แดลี


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สัตว์เหล่านี้ก็มี การรักษาระยะห่างทางสังคม

การรักษาระยะห่างทางสังคม, ชิมแปนซี, พฤติกรรมสัตว์

 

Recommend