79 ปี เขาดิน ในความทรงจำ

79 ปี เขาดิน ในความทรงจำ

79 ปี เขาดิน ในความทรงจำ

เรียบเรียงข้อมูลและภาพจาก หนังสือ 75 ปีสวนสัตว์ไทย องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

จากหนังสือ หนังสือ 75 ปีสวนสัตว์ไทย (75th Year of Thai Zoos) จัดทำโดยองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงประวัติของสวนสัตว์ดุสิต [เขาดิน] ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนพฤกษชาติขึ้นในเขตพระราชอุทยานสวนดุสิต พระนคร สำหรับเป็นที่เสด็จประพาสต้นและสำราญพระราชอิริยาบถ  ที่ได้ชื่อว่า “เขาดินวนา” ก็เพราะมีการนำดินมาถมสร้างเป็นเนินเขากลางน้ำ จนเป็นคำที่เรียกติดปากสืบมา  นับถึงวันนี้เขาดินฯ มีอายุ 79 ปี และกำลังย้ายไปสู่พื้นที่ใหม่ในช่วงเวลาอันใกล้ พร้อมขับเคลื่อนสู่ความเป็นสวนสัตว์สมัยใหม่ (modern zoo) เช่นเดียวกับนานาประเทศ  ในฐานะที่เป็นสถานที่สำคัญที่คนไทยผูกพันมาแสนนานตั้งแต่วัยเด็ก เขาดินผ่านการร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยดังประวัติย่อข้างล่างนี้

 

พ.ศ. 2444

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 คราวที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสหมู่เกาะชวา “ฮิส เอกซเศลเลนศิย์ วิลเลม รูเสบูม คอเวอเนอเยเนราล” แห่งเนเธอแลนด์ ได้ถวายกวางดาวจำนวน 6 ตัว ทรงนำกวางดาวกลับมาและโปรดให้เลี้ยงไว้ที่สวนกวาง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน

 

พ.ศ. 2481

ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชที่ดินบริเวณสวนดุสิตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ รับเขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะใช้ชื่อว่า “สวนสัตว์ดุสิต” เป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทยในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 มีเนื้อที่ตามโฉนาด 181 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา

เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำเนินการตกแต่งสถานที่ จัดสวน สร้างคอกสัตว์ กรงสัตว์ และบ่อสำหรับเลี้ยงสัตว์  และย้ายฝูงกวางดาวจากพระที่นั่งอัมพรสถาน จระเข้และลิงจากสวนสราญรมย์มาที่สวนสัตว์แห่งนี้ ทั้งยังรวบรวมสัตว์ในประเทศและต่างประเทศมาเลี้ยงเพื่อให้ประชาชนเข้าชม  นอกจากนี้ ยังดำเนินการขอช้างหลวงมายังสวนสัตว์เพื่อให้ประชาชนเข้าชมทุกวันอาทิตย์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ครั้งทรงพระเยาว์ เสด็จพระราชดำเนินชมสวนสัตว์ดุสิต

 

พ.ศ. 2485

เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ สวนสัตว์ดุสิตได้รับความเสียหายมาก สัตว์หลายชนิดสูญหายหรือว่ายน้ำหนีออกไป เหลือเพียงบางส่วน จึงต้องหยุดบริการประชาชนระยะเวลาหนึ่ง

ครั้งหนึ่งเคยมีหมีขาวที่สวนสัตว์ดุสิต

 

พ.ศ. 2497

รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการบูรณะและปรับปรุงสวนสัตว์ดุสิตให้ดีขึ้นตามลำดับ จนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 รัฐบาลจึงจัดตั้งเป็นองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยเพื่อให้บริหารงานอย่างคล่องตัว โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

 

พ.ศ. 2506

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีชื่อว่า “องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” (อสส.)

 

พ.ศ. 2512

คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์เห็นว่าสวนสัตว์ดุสิตมีพื้นที่น้อย สัตว์อยู่อย่างหนาแน่นแออัด ไม่เป็นธรรมชาติ การขยายพันธุ์สัตว์ป่าไม่อาจเป็นไปตามปกติ  สัตว์ป่าหายากบางชนิดไม่ขยายพันธุ์เลย จึงใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาเขียวและเขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี ดำเนินการในปี 2516 และต่อมาขยายสู่จังหวัดต่างๆ เช่น สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา อุทยานป่าอีสานตอนบน ขอนแก่น-อุดรธานี อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี และโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ตามลำดับ

สวนสัตว์ดุสิตเคยเป็นสถานที่จัดกิจกรรม โดยเฉพาะงานฤดูหนาว มีการแข่งสะบ้า แข่งว่ายน้ำ และประกวดชายงาม เป็นต้น

 

ปัจจุบัน

องค์การสวนสัตว์ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ขยายพันธุ์สัตว์ และมีงานวิจัยด้านสัตว์ป่า พัฒนาสวนสัตว์ให้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนการให้บริการด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทั้งด้านวิชาการ นันทนาการ และพัฒนาจิตใจของเยาวชนให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปีที่แล้ว องค์การสวนสัตว์ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงและปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยสู่ธรรมชาติ โดยนกกระเรียนพันธุ์ไทยสามารถอยู่ร่วมกับนาข้าวเกษตรอินทรีย์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเริ่มออกไข่เองในธรรมชาติแล้ว

 

อ่านเพิ่มเติม : จากกรงสู่ป่าจำลองแกะรอยทางพราน ลักลอบล่าเสือจากัวร์

Recommend