ชวนรู้จัก บีเวอร์ วิศวกรน้อยผู้สรรค์สร้างเขื่อนในธรรมชาติ

ชวนรู้จัก บีเวอร์ วิศวกรน้อยผู้สรรค์สร้างเขื่อนในธรรมชาติ

ชวนรู้จัก บีเวอร์ วิศวกรน้อยผู้สรรค์สร้างเขื่อนในธรรมชาติ

บีเวอร์ – ในอดีตกาล เมื่อฤดูแล้งมาถึง เกษตรกรหลายคนจะเริ่มวิตกกังวลกับสถานการณ์ปริมาณน้ำว่าจะมีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกหรือไม่ ในขณะเดียวกันเมื่อถึงฤดูฝนก็จะเริ่มกังวลว่าน้ำจะท่วมบ้านเรือนหรือไม่ หลังฤดูกาลเหล่านี้ผ่านพ้นไปหลายพันรอบ จนกระทั่งประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล หรือ ประมาณ พ.ศ. 144 มนุษย์เริ่มสร้างนวัตกรรมที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติไว้ใช้ได้ตามต้องการ นวัตกรรมดังกล่าวปัจจุบันเรียกว่า “เขื่อน”

แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกที่สามารถสร้างเขื่อนได้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 8 ล้านปีที่แล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง ตัวอ้วนขนพอง ฟันหน้าสีส้ม หางเป็นใบพาย นามว่า “บีเวอร์” ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกพร้อมกับความสามารถในการสร้างเขื่อน ก่อนที่มนุษย์อย่างเราๆ จะสามารถทำได้ บทความนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์ของ บีเวอร์ และ พฤติกรรมการสร้างเขื่อนของพวกเขา

บีเวอร์
ภายซ้ายคือลูกบีเวอร์ ภาพขวาบีเวอร์ตัวเต็มวัย ที่มา https://critterfacts.com/north-american-beaver/

บีเวอร์ (Beaver) เป็นสัตว์ฟันแทะ (Rodents) กินพืชที่มีขนาดตัวใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก คาปิบารา (Capybara) สัตว์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันและเป็นญาติห่างๆ กับหนูและกระรอก บีเวอร์อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน้ำจืดแถบเขตอบอุ่น (Temperate Zone) ปัจจุบันเราสามารถพบบีเวอร์ได้ในเขตทวีปอเมริกาเหนือ และ ตอนเหนือของทวีปยูเรเชีย (Eurasia) หรือบริเวณยุโรปตอนเหนือและรัสเซีย

บีเวอร์
ภาพเปรียบเทียบขนาดของบีเวอร์และคาปิบารา (ภาพซ้าย) ตัวหน้าคือบีเวอร์ ตัวหลังคือคาปิบารา (ภาพขวา) ตัวซ้ายคือคาปิยารา ตัวขวาคือบีเวอร์. ภาพโดย Hannah Gilbert และ MildPeril

ในอดีต ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับป่าริมแม่น้ำในเขตอบอุ่นมักจะได้ยินเสียงต้นไม้ล้มอยู่บ่อยๆ โดยไม่มีใครทราบสาเหตุ จนกระทั่งมีคนสังเกตเห็นว่ามีบีเวอร์ชอบเดินมาแทะบริเวณโคนต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยบีเวอร์จะใช้ฟันสีส้มขนาดใหญ่แทะลำต้นของต้นไม้จนหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ทิ้งร่องรอยไว้ราวกับมีคนเอาขวานมาจามต้นไม้ จากนั้นไม่นานเมื่อมีลมแรงพัดผ่านมา ต้นไม้ที่ถูกบีเวอร์แทะก็จะล้มลงเองตามธรรมชาติ

บีเวอร์
(บนซ้าย) ร่องรอยจากการแทะของบีเวอร์; (บนขวา) ในบางครั้งบีเวอร์ก็ถูกต้นไม้ทับจนตายหากหนีไม่ทันในขณะที่ต้นไม้กำลังจะล้มในช่วงที่ลมแรง; (ล่าง) ภาพบีเวอร์กำลังแทะต้นไม้
ภาพโดย City of Durango; https://www.reddit.com/; https://treecuttinginfo.com/;

บีเวอร์สามารถแทะต้นไม้ขนาดใหญ่ให้เกือบล้มได้อย่างไร และ ทำพฤติกรรมดังกล่าวเพื่ออะไร?

อาวุธลับที่บีเวอร์ใช้ในการแทะต้นไม้คือฟันหน้าขนาดใหญ่สีส้มนั้นเอง หากสังเกตลักษณะฟันของบีเวอร์จะพบว่า บีเวอร์มีฟันคู่หน้าขนาดใหญ่เช่นเดียวกับสมาชิกสัตว์ฟันแทะชนิดอื่นๆ แต่ที่พิเศษกว่าคือ ฟันของบีเวอร์นั้นมีธาตุเหล็ก (Iron) เป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ประกอบกับมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่บริเวณแก้มทำให้บีเวอร์สามารถแทะไม้ที่มีความหนาและแข็งแรงได้อย่างง่ายดาย และธาตุเหล็กนี้เองเป็นสาเหตุให้เราเห็นฟันของมันเป็นสีส้ม เนื่องจากเมื่อธาตุเหล็กทำปฏิกิริยากับอากาศจะกลายเป็นสีส้มๆ แดงๆ  เช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดงของมนุษย์

ภาพฟันสีส้มของบีเวอร์เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับอากาศจนกลายเป็นสีส้ม ภาพจาก https://www.mcgill.ca/oss/article/did-you-know/beavers-have-metal-teeth
https://www.grandviewoutdoors.com/predator-hunting/why-beavers-have-orange-teeth

เมื่อต้นไม้ล้มลง บีเวอร์จะเดินเข้าไปแทะกิ่งไม้บริเวณรอบๆ ต้นไม้ที่ล้ม และทยอยคาบกิ่งไม้เหล่านั้นกลับไปสะสมที่บริเวณริมลำธาร บีเวอร์จะสุมกิ่งไม้ขึ้นมาเป็นกองใหญ่ๆ พร้อมกับใช้ดินเลนริมน้ำมาช่วยประสานทำให้กิ่งไม้เหล่านั้นมีลักษณะเป็นโดมขึ้นมา โดยโดมไม้นี้จะมีทางเข้า และ โพรงอยู่ภายใน เรียกว่า Lodge จากนั้น เมื่อบีเวอร์สร้าง Lodge จนเสร็จ มันจะเริ่มนำกิ่งไม้ที่เหลือมากั้นทางไหลของน้ำในแม่น้ำบริเวณด้านล่างของ Lodge จนมีลักษณะคล้ายเขื่อน (Dam) ขนาดเล็กที่จะช่วยกักเก็บน้ำไว้ในบริเวณเหนือเขื่อนได้ พฤติกรรมทั้งหมดนี้ดูซับซ้อนและอาศัยความพยายามมาก แล้วท่านผู้อ่านทราบไหมครับ ว่าบีเวอร์จะเสียเวลาสร้างสิ่งเหล่านี้ไปทำไม?

เมื่อเวลาผ่านไป น้ำบริเวณเหนือเขื่อนจะถูกสะสมเป็นปริมาณมากจนท่วม Lodge ที่บีเวอร์สร้าง และท่วมบริเวณพื้นที่รอบๆ จากบริเวณที่เคยเป็นพื้นดินก็ถูกน้ำท่วมจนกลายเป็นแหล่งน้ำที่มีลักษณะคล้ายกับบ่อน้ำขนาดใหญ่ โดยมี Lodge ที่จมน้ำไปประมาณครึ่งหนึ่งตั้งอยู่กลางน้ำ คนทั่วไปจะสังเกตเห็นบีเวอร์ดำน้ำอยู่บริเวณบ่อน้ำนี้และก็หายตัวไปไม่โผล่ขึ้นมาอีก จนเกิดคำถามว่าบีเวอร์หายไปไหน? ไม่มีใครทราบจนกระทั่งมีนักชีววิทยาเริ่มมาศึกษาพฤติกรรมของบีเวอร์และพบว่า แท้จริงๆ แล้ว Lodge ที่บีเวอร์สร้างนั้น คือบ้านของพวกมันนั้นเอง!

ภาพ Lodge (ลูกศรสีแดง) และเขื่อน (ลูกศรสีเหลือง) ที่บีเวอร์สร้าง ภาพโดย Ted Kinsman

บีเวอร์มีการสร้างบ้านที่เก๋ไก๋กว่าใครเพื่อน ประตูทางเข้าบ้านของบีเวอร์จะอยู่บริเวณด้านล่างของ Lodge ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำอันเนื่องมาจากเขื่อนที่บีเวอร์สร้าง นั่นหมายความว่าไม่ว่าใครก็ตามที่จะออกหรือเข้าบ้านจะต้องดำน้ำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้บริเวณด้านบนของ Lodge บีเวอร์จะสร้างรูเอาไว้เพื่อให้อากาศสามารถถ่ายเทได้

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าบีเวอร์จะสร้างบ้านที่ซับซ่อนแบบนี้ไปทำไม? เฉลยก็คือ บีเวอร์สร้างบ้านที่ซับซ้อนแบบนี้เพื่อให้ “ผู้ล่า” หาไม่เจอครับ ผู้ล่าที่ชอบกินบีเวอร์ได้แก่ หมี และ หมาป่า เมื่อบีเวอร์เจอผู้ล่า มันจะรีบดำน้ำหนีเข้าไปซ่อนตัวใน Lodge กลางน้ำ ทำให้ผู้ล่าหาพวกมันไม่เจอนั่นเอง

บีเวอร์
ภาพโครงสร้างบ้านของบีเวอร์ที่มีทางเข้าอยู่ใต้น้ำ ภาพโดย pinterest.co.uk/

ในบางครั้งเมื่อถึงฤดูฝน น้ำในแม่น้ำจะเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ Lodge ของบีเวอร์ อาจจะจมน้ำได้ สิ่งที่บีเวอร์ทำก็คือ สมาชิกในครอบครัวจะช่วยกันขนย้ายไม้ที่เป็นผนังกั้นเขื่อนออก เพื่อทำให้น้ำไหลถ่ายเทออกไปจากบริเวณรอบๆ Lodge และแน่นอนว่าเนื่องจาก Lodge ของบีเวอร์สร้างอยู่กลางน้ำ จึงมีโอกาสผุพังอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่บีเวอร์จะทำในทุกๆ วัน คือการฟังเสียงน้ำที่รั่วไหลเข้ามาใน Lodge และพยายามซ่อมแซมมันตลอดเวลา ดังนั้น ในหนึ่งวัน นอกจากจะหาอาหารแล้ว บีเวอร์จะไปหาเศษไม้และซ่อมแซม Lodge ของพวกมันอย่างขะมักเขม้น จึงเป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “Busy as a beaver” ซึ่งมีความหมายถึงคนที่ยุ่งตลอดเวลา เหมือนที่บีเวอร์ยุ่งกับการซ่อมเขื่อน และ Lodge ของมันตลอดเวลา

บีเวอร์
ภาพซ้าย บีเวอร์กำลงซ่อมแซ่มเขื่อน (โดย Robert McGouey) ภาพขวา บีเวอร์กำลังซ่อมแซม Lodge (โดย Rejean Bedard)

ถึงตอนนี้เราก็ทราบกันแล้วว่าบีเวอร์มีความสามารถในการสร้างเขื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้มนุษย์ ท่านผู้อ่านคิดว่าในประเทศไทยเราเคยมีบีเวอร์ในธรรมชาติหรือไม่ครับ? คำตอบคือ ประเทศไทยเราเคยมีบีเวอร์อาศัยอยู่ด้วยครับ ในปี พ.ศ. 2554 ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) ผู้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ได้ค้นพบหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของบีเวอร์ในประเทศไทย โดย ดร.กันตภณ ได้ขุดค้นพบซากฟันและขากรรไกรบางส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมโบราณชนิดหนึ่ง บริเวณ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และ เหมืองเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

หลังจากผ่านการศึกษาและยืนยันทางวิทยาศาสตร์พบว่า ซากดึกดำบรรพ์ที่พบเป็นซากดึกดำบรรพ์ของบีเวอร์ที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเมื่อประมาณ 12 ล้านปีที่ผ่านมา จึงตั้งชื่อว่า บีเวอร์สยาม (Steneofiber siamensis) โดยการค้นพบบีเวอร์สยามบ่งบอกได้ว่าทางตอนเหนือของประเทศไทยนั้นเคยมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิต่ำถึงขั้นบีเวอร์สามารถอาศัยอยู่ได้ อีกทั้งยังเป็นไปได้ว่าบริเวณดังกล่าวอาจจะเคยเป็นหนองบึงและมีต้นไม้จำนวนมากมาก่อนก็เป็นได้

บีเวอร์สยาม, บีเวอร์
ภาพซ้าย ภาพวาดบีเวอร์สยามที่พบในแถบประเทศไทยในอดีต (ภาพโดย Namosaurus) ภาพขวา ซากดึกดำบรรพ์ของบีเวอร์สยาม (ภาพโดย Suraprasit et al., 2011)

เรื่อง ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

https://www.mcgill.ca/oss/article/did-you-know/beavers-have-metal-teeth

https://www.geothai.net/siam-beaver/

https://nationalzoo.si.edu/animals/beaver


อ่านเพิ่มเติม จาก ‘แร้ง’ ในสโนว์ไวท์ ถึงแร้งวัดสระเกศ ความลับ ตำนาน และคุณูปการของแร้ง

Recommend