คืนชีพ แรดขน จากยุคน้ำแข็ง
แรดขน ตัวนี้มีชื่อเรียกว่า ซาช่า ทีมนักวิทยาศาสตร์รัสเซียเองยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าเมื่อ 10,000 ปีก่อน เจ้าซากดึกดำบรรพ์นี้เป็นตัวผู้หรือตัวเมีย แต่ชื่อของมันก็ถูกเรียกติดปากไปแล้ว
แตกต่างจากช้างแมมอธที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็ง ซากของแรดขนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพบเจอ ช่วงเวลาการวิวัฒนาการของมันก็ยังไม่แน่ชัด รวมไปถึงวิถีชีวิตของมันตลอดจนอาหารและอายุขัย ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ยังคงคลุมเครือ
คืนชีพให้ซาช่า
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสาขาบรรพชีวินวิทยา, สถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซียและสถาบันวิทยาศาสตร์รัฐซาฮา ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ร่วมกันคืนชีพให้แก่ซาซ่า
ซากชิ้นส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ของมันเก่าจนกลายเป็นสีเทา เมื่อตอนที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ไปค้นพบเข้า พวกเขาต้องประหลาดใจที่ในเวลาต่อมาพบว่าสีขนจริงของแรดขนสายพันธุ์นี้เป็นสีน้ำตาลบลอนด์อ่อน ผลการวิเคราะห์ฟันของมันพบว่า เจ้าสัตว์ตัวนี้ตายลงเมื่อมีอายุได้ประมาณ 7 เดือน
ความที่ว่ามันยังเป็นลูกสัตว์อยู่นั้น สร้างความประหลาดใจให้แก่บรรดานักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลจากวารสาร Siberian Times ซาช่ามีความยาวประมาณ 5 ฟุต สูง 2 ฟุตครึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นแรดขนาดใหญ่ เนื่องจากแรดในปัจจุบันกว่าจะมีขนาดเท่านี้ได้ก็ต้องรอให้มีอายุถึง 18 เดือน
(ไม่ใช่แค่น้ำแข็งเท่านั้นที่รักษาร่างของสิ่งมีชีวิตไว้ได้ อำพันเองก็เช่นกัน)
Olga Potapova เป็นนักวิทยาศาสตร์จากเขตสำรวจซากดึกดำบรรพ์ Mammoth Site of Hot Springs ในรัฐเซาท์ดาโกตา งานของเธอคือการวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในยุคน้ำแข็ง และขณะนี้เธอกำลังศึกษาซาช่าอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก
เรื่องที่เธอจะพอให้ข้อมูลได้ในตอนนี้ก็คือ การค้นพบครั้งนี้สำคัญอย่างไร? ซากชิ้นส่วนอื่นๆ ของแรดขนที่เคยถูกพบมานั้นเป็นชิ้นส่วนประเภทกระดูกและฟัน แต่สำหรับซาช่าแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่ร่างของลูกแรดขนยังคงถูกเก็บรักษาไว้ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับมัมมี่ “มันช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห้นความแตกต่างทางชีววิทยาได้ค่ะ” เธอกล่าว หมายความว่าซากของซาช่าช่วยให้ข้อมูลว่าพวกมันเติบโตขึ้นมาอย่างไร กินอะไรเป็นอาหาร และมีรูปลักษณ์ต่างจากแรดปัจจุบันอย่างไร
ส่วนคำถามที่ว่าซาช่าตายยังไง และร่างของมันถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา
“เรา (นักบรรพชีวินวิทยาและนักธรณีวิทยา) เคยคิดกันว่าพวกเรามีความรู้มากพอตัวเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งใหญ่ครั้งสุดท้ายและบรรดาสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในยุคนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเรารู้เพียงแค่ผิวๆ” Potapova กล่าว
ปริศนาเกี่ยวกับยุคน้ำแข็งใหญ่
ซากของแรดขนตัวนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 ในเพอร์มาฟรอสท์ (ชั้นดินเยือกแข็งที่มีอุณหภูมิต่ำ 0 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น ติดต่อกันเป็นเวลานานครั้งละหลายปี) ในไซบีเรีย ซึ่งในภูมิภาคนี้ชั้นดินดังกล่าวถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลาเป็นเวลานานหลายพันปีเลยทีเดียว
ภูมิภาคไซบีเรียเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรดาแรดขน หนึ่งในปริศนาใหญ่เกี่ยวกับตัวมันก็คือ เหตุใดพวกมันจึงไม่เดินทางข้ามสะพานเบอร์ลิ่ง (พื้นดินที่เชื่อมระหว่างอลาสกาและภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือรัสเซีย) เพราะทั้งช้างแมมอธ, ควายไบซัน, กวางเรนเดียร์ และสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ล้วนเดินทางข้ามพื้นที่นี้ไปมาระหว่างยุคไพลสโตซีนกันทั้งสิ้น ถ้าเช่่นนั้นแล้วบรรดาแรดขนเหล่านี้สามารถเอาตัวรอดจากภูมิอากาศอันโหดร้ายรุนแรงได้อย่างไร เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนา
(ชะตากรรมของแรดในปัจจุบันกำลังน่าเป็นห่วง จากการล่านอแรดผิดกฏหมาย)
นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีเพียงไม่กี่ทฤษฎีที่คาดการณ์ถึงสาเหตุการสูญพันธุ์ของแรดขน แต่ยังคงไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
หนึ่งในการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าพวกมันน่าจะสูญพันธุ์ไปเองจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อมองไปที่ฟอสซิลจะพบว่าพวกมันมีกระดูกซี่โครงที่คอ ซึ่งเป็นลักษณะผิดปกติแต่กำเนิด งานวิจัยนี้ชี้ว่าการผสมพันธุ์ในสายเลือดเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด
ด้าน Potapova เสนออีกสองทฤษฎีว่าเหตุใดแรดขนจึงสูญพันธุ์ หนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่กระทบแหล่งอาหารของบรรดาสัตว์กินพืช จนนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์หลายชนิดเช่น สิงโตถ้ำ และ เสือเขี้ยวดาบ
ส่วนทฤษฎีที่สองก็คือพวกมันถูกล่าโดยน้ำมือมนุษย์ “ผลการวิจัยดีเอ็นเอของสัตว์กินพืชโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วพบว่า จำนวนประชากรของพวกมันลดลง ความหลากหลายในทางพันธุกรรมก็ต่ำลง ในช่วงปลายยุคไพลสโตซีน เมื่อมนุษย์เริ่มอพยพย้ายถิ่นฐาน” อย่างไรก็ตาม Potapova ชี้ว่าทฤษฎีแรกมีโอกาสที่จะเป็นไปได้มากกว่า
ทั้งนี้ซากฟอสซิลของซาช่าเพียงตัวเดียวยังไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุใดสัตว์สายพันธุ์นี้จึงสูญพันธุ์ แต่ Potapova ระบุว่า ซาช่า เป็นดั่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการไขปริศนาใหญ่ของสัตว์สายพันธุ์นี้
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
อ่านเพิ่มเติม