โลกยุคใหม่ ” ชีวิตเร่งรีบ เกินไป ” ผู้คน “ตามไม่ไหว-หมดไฟเร็ว”

โลกยุคใหม่ ” ชีวิตเร่งรีบ เกินไป ” ผู้คน “ตามไม่ไหว-หมดไฟเร็ว”

วัฒนธรรม ชีวิตเร่งรีบ รู้สึกไหมว่าทุกวันนี้คุณกำลังใช้ชีวิตอย่างรวดเร็วและเร่งรีบ? วิถีชีวิตเช่นนี้อาจทำให้เราทั้งหมด ‘หมดไฟ’ ได้อย่างง่ายดาย

ชีวิตเร่งรีบ – หากคุณกำลังกังวลตลอดเวลาว่าต้องคอยตอบข้อความในทันทีที่หัวหน้าหรือลูกค้าส่งมา อาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้น แต่จะทำอย่างไร? นี่คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบัน โลกกลายเป็นสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งในด้านความรู้ เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นสถานที่ที่ทุกคนกำลังทำทุกอย่างอย่างเร่งรีบเพียงเพื่อจะตามคนอื่นให้ทัน ซึ่งมักให้รางวัลกับผู้ที่ ‘รวดเร็ว’ ในที่สุด วัฒนธรรมแห่งความเร่งรีบจะค่อย ๆ เจือจางเส้นแบ่งการทำงานและชีวิตส่วนตัวของคุณให้เลือนหายไป
.
ในที่ทำงาน หลายครั้งเรามักถูกขอให้ทำในนาทีสุดท้ายอยู่บ่อยครั้ง พร้อมกับกำหนดเวลาและปริมาณงานที่ไม่สมจริง รวมถึงความคาดหวังที่จะติดต่อเราได้แม้หลังจากเลยเวลางานไปแล้ว

ด้านชีวีตส่วนตัว เราหลายคนมักคอยตรวจสอบกระแสบนโชเชียลมีเดียอยู่แทบจะตลอดเวลาเพราะกลัวที่จะพลาดสิ่งที่สังคมกำลังพูดถึง และหลายครั้งเราก็จะตอบสนองต่อข้อความทันที แม้ว่าจะไม่สะดวกก็ตาม
.
ความเร่งรีบที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านอาชีพการงานและเวลาส่วนตัว นักจิตวิทยาคลินิก โจเอล แฟรงก์ (Joel Frank) กล่าวว่าการที่ต้องกดสวิตช์ ‘เปิด’ ไว้ตลอดเวลา สามารถสร้างภาวะที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ภาวะหมดไฟ’ หรือเบิร์นเอาท์ (Burnout) และเพิ่มความเครียดรวมถึงความวิตกกังวลอย่างมากได้
.
ตามรายงานความเครียดของกรมสุขภาพจิตประเทศไทยเมื่อปี 2022 ระบุว่าคนไทยมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า มีอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มอีก 5.9 เท่า และมีภาวะหมดไฟขยับสูงขึ้น 9.7 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และที่สำคัญกลุ่มคนที่เป็นวัยรุ่นเครียดเพิ่มอย่างน่ากังวล
.
“ความวิตกกังวลกลับกลายเป็นความเร่งรีบ สร้างวงจรที่แต่อย่างส่งเสริมกันและกัน” แฟรงก์ กล่าว ซึ่งหมายความว่าความวิตกกังวลที่จะต้องคอยตอบกลับข้อความที่ส่ง กลายเป็นความเร่งรีบที่ต้องทำในทันที ซึ่งก็กลับทำให้ยิ่งเกิดความวิตกกังวล และส่งเสริมให้เกิดความเร่งรีบเพิ่มขึ้นเป็นวงจรอุบาทว์

ผลกระทบของการ ‘เปิดอยู่เสมอ’ (Always on)

การเป็นส่วนหนึ่งของกระแสวัฒนธรรมที่เปิดรับทุกอย่างและต้องทำทุกอย่างให้เสร็จอย่างรวดเร็ว มักมาพร้อมกับการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกวิวัฒนาการมาเพื่อทำงาน 2 อย่างขึ้นไปพร้อมกัน
.
ดังนั้นทุกครั้งที่เราทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) สมองจะช้าลงอย่างชัดเจนและอาจลดประสิทธิภาพในการทำงานลงได้ถึงร้อยละ 40 แม้หลายคนจะทำได้แต่ โดยทั่วไปแล้วสมองของเราชอบที่จะทำ ‘ทีละอย่าง’ ให้เสร็จ
.
นอกจากนี้ “สิ่งรบกวนที่คอยดึงดูดสมาธิซึ่งขับเคลื่อนการทำงานอย่างพร้อมกันนั้น ก็ยากที่จะปิดลง” ฟรีเดอไรค์ ฟาบริเชียส (Friederike Fabritius) นักประสาทวิทยา และผู้เขียน ‘The Brain-Friendly Wokplace’ กล่าว “ด้วยเหตุนี้ คุณอาจพบว่ามีสมาธิได้ยากแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานหลายอย่างพร้อมกันก็ตาม”
.
ในขณะเดียวกัน การถูกกระตุ้นมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเร่งรีบ จะทำให้ระบบโดปามีนของเราอ่อนแอ กล่าวโดยสรุปก็คือ ยิ่งถูกกระตุ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสุขน้อยลงมากเท่านั้น
.
อีกทั้งยังคอยขัดขวางกระบวนการคิดไตร่ตรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่สมองต้องการการประมวลผลข้อมูลและต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วมากเกินไป สมองก็จะหันไปใช้การคิดแบบ ‘ตื้น ๆ’ แทน สิ่งนี้ทำให้ความสามารถในการคิดเชิงลึกลดลง
.
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมที่เร่งรีบนี้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายได้ด้วยเช่นกัน ความรู้สึกเร่งด่วนนี้ได้หลอกให้ร่างกายตอบสนองราวกับว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เจอกับภัยคุกคาม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองแบบ ‘สู้หรือหนี’ อัตราการหายใจของเราจะเร็วขึ้น ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวในพุ่งสูงขึ้น และในที่สุดเราจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์
.
เดวิด ราบิน (David Rabin) นักประสาทวิทยาและผู้บริหารของ ‘Apollo Neuro’ บริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพ กล่าวว่า การตอบสนองเหล่านี้ทำให้ร่างกายทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดโรคความดันสูง มีการอดนอน คอเลสเตอรอลสูง และมีความผิดปกติของการอักเสบเกิดขึ้น

ต่อต้านวัฒนธรรมที่เร่งรีบ

เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักทางการตลาดดังกล่าวที่บอกว่าเราต้องไม่ตกเทรนด์ แฟรงก์แนะนำให้หยุดสักครู่ก่อนที่จะลงมือทำงานอะไรก็ตามที่เข้ามา “มันช่วยให้คุณย้อนกลับไปและประเมินว่า สิ่งที่ต้องการความสนใจจากคุณนั้น สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของคุณหรือไม่” แฟรงก์บอก
.
ปีเตอร์ อีโคโนมัว (Peter Economou) ผู้อำนวยการโครงการสุขภาพพฤติกรรมและจิตวิทยาการกีฬา ของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส และผู้เชียน ‘Mindfulness Workbook for Beginners’ กล่าวว่า การระบุขอบเขตให้ชัดเจนในความสัมพันธ์ส่วนตัวและทางอาชีพการงาน สามารถช่วยในการวางแผน การจัดลำดับความสำคัญ และแก้ปัญหาได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเร่งรีบที่มากเกินไป
.
สิ่งที่ดีที่สุดซึ่งเราสามารถทำได้เพื่อรับมือกับวัฒนธรรมที่เร่งด่วนนี้คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามแบบแผนที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอเพื่อเตือนให้เรารู้ว่าไม่จำเป็นต้องเร่งรีบกันสิ่งใด
.
ราบินได้แนะนำ “หลักปฏิบัติ 4 ประการในการควบคุม”เพื่อทำให้สงบ และหากเมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกถูกเร่ง ถูกกดดัน หรือถูกกระตุ้นมากเกินไป ให้จัดกการกับ ‘การหายใจ’, ‘การฟัง’, ‘การเคลื่อนไหว’ และ ‘การสัมผัสอย่างตั้งใจ’
.
การสร้างขอบเขตที่ชัดเจน รวมถึงขอบเขตบนโลกดิจิทัล ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการหลีกเลี่ยงความเร่งรีบที่เป็นผลมาจากความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลในการทำงาน พร้อมกันนั้น การจัดลำดับความสำคัญของงานในทุกครั้งที่เป็นไปได้ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ
.
แต่หากเรารู้สึกว่าการทำงานทีละอย่างให้เสร็จเป็นเรื่องยาก ฟาบริเชียส แนะนำว่าให้ใช้กรอบเวลาเข้ามาช่วยในการ ‘พัก’ ก่อนที่จะไปยังงานชิ้นถัดไป “ความพึงพอใจในการทำแต่ละบล็อคเวลา จะทำให้คุณได้รับโดปามีนในปริมาณหนึ่ง เช่นเดียวกับโอกาสในการทำงานภารกิจใหม่ต่อไป” เธอ กล่าว
.
ในทางเดียวกัน ไอดา แทกฮาวี (Ida Taghavi) นักจิตวิทยาคลินิกในนิวยอร์ก แนะนำให้ฝึกสติเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ การควบคุมอารมณ์ และความอดทนต่อความเครียด การมีสติดังกล่าวคือการรับรู้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจในตอนนั้น และยอมรับประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
.
“นี่เป็นโอกาสในการไตร่ตรองและเลือกคำตอบที่เราพบว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับความตั้งใจและค่านิยมของเรา” เธอ กล่าว
.
การมีสติจะสร้างเกราะกั้นระหว่างสิ่งเร้าเช่น ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกทางการ กับการตอบสนองของเราต่อสิ่งกระตุ้นนั้น “พื้นที่นี้ขัดขวางปฏิกิริยาที่เป็นนิสัยซึ่งอาจเป็นอันตรายได้เช่น ความไม่เป็นระเบียบหรือการคิดเชิงลบ” แทกฮาวี กล่าว
.
นอกจากนี้ “การสังเกตประสบการณ์ภายในโดยปราศจากการต่อต้านจะทำให้มีพื้นที่ว่างให้พวกเขา (คนที่รู้สึกถูกกดดัน) ผ่านไปได้ ช่วยให้สามารถควบคุมอารมณ์และเพิ่มความอดทนต่อความทุกข์ได้”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/urgency-culture-burnout


อ่านเพิ่มเติม ชีวิตในเมือง : อยู่เมืองใหญ่ ได้อะไร เสียอะไร

ชีวิตในเมือง

Recommend