“Palliative care” ป่วย-ประคับประคอง สู่ “วาระสุดท้าย” ให้มีสุข

“Palliative care” ป่วย-ประคับประคอง สู่ “วาระสุดท้าย” ให้มีสุข

การดูแลแบบประคับประคองเป็นแนวทางการรักษาที่กำลังได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย โดยมุ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย

ระหว่างที่ผมนั่งอยู่บนม้านั่งยาวริมระเบียงชั้นสองหน้าหอผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลขอนแก่น ผู้ป่วยเตียงหมายเลขสองก็สิ้นลมไปต่อหน้า ความตายของชายแปลกหน้าราวกับจะเปรียบเปรยให้เห็นว่า เมื่อเข้าสู่วาระสุดท้าย ชีวิตคือใบไม้ในฤดูแล้งที่พร้อมจะหลุดร่วงปลิดปลิวได้ทุกเมื่อ

ขอนแก่นในเดือนกุมภาพันธ์คือห้วงขณะของการผลัดใบ ดอกไม้ประจำเมืองทิ้งใบจากต้น แต่อีกไม่นาน เมืองจะเหลืองอร่ามไปด้วยดอกคูน ช่อดอกสีเหลืองสดใสพากันบานสะพรั่งในฤดูร้อนราวโคมระย้า แต่ตอนนี้กิ่งไม้แห้งโกร๋นที่ก่อนหน้าเคยสลับสล้างทำให้นึกถึงความตาย ตึกสูงร้างใจกลางเมืองได้รับการปรับปรุงเป็นโรงแรมแห่งใหม่ ฤดูกาลรังสรรค์ทั้งการเกิดและความตาย

ผมลอบมองชีวิตที่เพิ่งดับสูญผ่านช่องหน้าต่างบานเลื่อนที่เปิดแง้มระบายอากาศ เช้านี้เป็นวันแรกในการลงพื้นที่เตรียมเก็บข้อมูลสำหรับสารคดีเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของผม แต่เช้าเดียวกันนี้กลับเป็นบทสุดท้ายของใครบางคน

องค์การอนามัยโลกให้คําจํากัดความการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ “แพลเลียทีฟแคร์” (palliative care) ดังที่เรียกทับศัพท์กันทั่วไป ว่าเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคซึ่งคุกคามต่อชีวิต ทีมแพทย์จะเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระยะแรกของโรค ไม่เพียงมุ่งควบคุมอาการรบกวนจากโรคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านอื่นของชีวิตผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณ คุณค่า หรือความหมายของชีวิต ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ด้านประคับประคอง

เรามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าจนช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาว กระนั้น หลายครั้งหลายหนกระบวนการพยุงชีพก็ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเหลือประมาณ จนเกิดการตั้งคำถามถึงความหมายและคุณภาพของชีวิตจิตใจ ขณะที่การดูแลผู้ป่วยถูกแยกส่วนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์ สมมติว่าคุณป่วยเป็นมะเร็ง ร่างกายของคุณจะอยู่ในการดูแลของแพทย์มะเร็ง แพทย์ผ่าตัด แพทย์ฉายแสง แต่กลับไม่มีแพทย์ดูแลภาพรวมให้ชีวิตผู้ป่วย

ในกรณีที่หมดหนทางรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าต่อจากนี้ต้องเผชิญชะตากรรมที่เหลือด้วยตนเอง พวกเขาไม่เคยรู้ว่ายังมีทางเลือกที่จะรักษาแบบประคับประคอง หรือกระทั่งว่ารับการดูแลดังกล่าวควบคู่กันไปได้ตั้งแต่แรก ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มักเข้าใจว่า การดูแลแบบประคับประคองจะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกในการรักษาใดเหลืออยู่อีกแล้ว

สถานการณ์ดังกล่าว “เป็นการดูแลในช่วงสุดท้าย (end of life care) ไม่ใช่แพลเลียทีฟแคร์ครับ” ศ.ดร.นพ. อิศรางค์ นุชประยูร บอกและเสริมว่า การดูแลแบบประคับประคองเกี่ยวโยงกับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวด้วย “ถ้าใช้ชีวิตดี เราก็จะตายดีเช่นกัน” แพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร บอก

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง, โรงพยาบาลคูน
ที่โรงพยาบาลคูน พยาบาลกำลังเตรียมห้องสำหรับผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ามาใช้เวลาช่วงสุดท้าย ที่นี่เป็นสถานพยาบาลแห่งแรกทุ่ม่งเน้นให้การดูแลแบบประคับประคองเป็นหลัก ก่อตั้งโดย พญ. นิษฐา เอื้ออารีมิตร เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2565

สองสามทศวรรษที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองโดยเชื่อมโยงกับการ “ตายดี” จากกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม แพทย์ และองค์กรด้านศาสนา กระทั่งการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองได้เข้าไปอยู่ในระบบสุขภาพของประเทศ อย่างน้อยที่สุด โรงพยาบาลศูนย์ของจังหวัดต่างๆ ก็มีหน่วยงานดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง แม้จะยังคงขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ก็ตาม

ความตายได้รับการปรับภาพลักษณ์ให้เป็นเรื่องจับต้องได้มากขึ้น มีการบอกเล่าสู่สาธารณะผ่านบทเพลง คลิปวิดีโอ บทความและรายการพอดแคสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงงานอีเวนต์ต่างๆด้วย หลายปีก่อน กลุ่ม “Peaceful Death” จัดงานศพให้นักเขียนอย่าง “นิ้วกลม” ทั้งๆ ที่ก่อนงานศพเริ่มไม่กี่นาที ผมเห็นสเตตัสเชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมไว้อาลัยในเฟซบุ๊กที่ยังแอคทีฟของเขา “งานศพของคนเป็น” อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เราใคร่ครวญถึงความตายที่ยังมาไม่ถึง

นอกจากนี้ แม้การพูดถึงความตายระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นเรื่องยาก และเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน แต่ที่ผ่านมา นักกิจกรรมเพื่อสังคมและองค์กรที่เกี่ยวข้องก็พัฒนาเครื่องมือช่วยในการพูดคุยเรื่องแผนการดูแลสุขภาพและความตายให้ง่ายขึ้น

ผมเดินทางมายังเมืองขอนแก่นช่วงต้นเดือนมกราคม หลังจากนัดหมายกับประธานกลุ่ม Peaceful Death รวมถึงแพทย์และบุคลากรด้านการดูแลแบบประคับประคอง น่าแปลกที่พวกเขาล้วนอยู่ในเมืองนี้เพียงไม่นาน แต่กลับสามารถเปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อบ้านเกิดจนรู้สึกว่า ขอนแก่นเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการกลับมาตายเหมือนกัน

เวลาในชีวิตของผู้ป่วยระยะฟื้นฟูเป็นเหมือนซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่มีหลายตอน แต่เวลาของผู้ป่วยระยะท้ายเป็นเหมือนภาพยนตร์สั้น ซึ่ง “หนังแต่ละเรื่องก็สั้นยาวไม่เท่ากันครับ” นพ.วัชรพงษ์ รินทระ บอก

แพทย์หนุ่มผู้เป็นหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์แบบประคับประคอง โรงพยาบาลขอนแก่น กำลังเตรียมตัวตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในหอที่มีเตียงแปดเตียง ซึ่งแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งมาจากอาคารอายุรกรรมชาย 4 เปลี่ยนมาเป็นหอผู้ป่วยแบบประคับประคอง

“ถ้าคุณได้เห็นวอร์ดอายุรกรรม” หมอวัชรพงษ์กล่าว “มันคือสนามรบดีๆ นี่เอง เพราะหมอรักษาเต็มกำลังเพื่อให้คนไข้มีชีวิตยาวนานที่สุดครับ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง คนไข้ไปไม่ไหว การเดินหน้าไปต่อก็คือความทุกข์ทรมาน”

การเปลี่ยนสนามรบเป็นพื้นที่เจรจาสันติภาพ คือภารกิจท้าทายหมอผู้นี้ เพราะ “ถ้าเราไม่ทำวอร์ด ก็จะไม่มีใครมองเห็นความตายครับ” หมอวัชรพงษ์บอก

พยาบาลเลื่อนม่านปิดรอบเตียงหมายเลขสองที่ผู้ป่วยเพิ่งเสียชีวิตเพื่อให้ผู้เป็นภรรยาเปลี่ยนเสื้อผ้าให้จากชุดของโรงพยาบาลเป็นชุดตะละกงตามหลักศาสนาอิสลาม เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางกลับไปฝังร่างที่สุสานบ้านเกิดในจังหวัดนนทบุรี

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
นิรมล ไพโรจน์สกุลสุข เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะที่สี่ที่เลือกรักษาด้วยเคมีบำบัดควบคู่ไปกับการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีโอภาส สิริวรปัญญา คนรักที่ลาออกจากงานมาเป็นผู้ดูแล แม้นิรมลจะรักษาตัวกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่เธอก็เลือกพักฟื้นที่สถานพยาบาลซึ่งดูแลแบบประคับประคองควบคู่กันไป

ถัดจากเตียงหมายเลขสอง ผู้ป่วยเตียงหมายเลขหนึ่ง กวาดสายตามองความเคลื่อนไหวรอบตัว สำหรับผม เขาเป็นเหมือนผู้โดยสารบนเครื่องบินที่ยังหายใจสะดวกก็ด้วยระบบปรับแรงดันบรรยากาศ ทำให้ยังคงใช้ชีวิตเป็นปกติบนระดับความสูงหลายหมื่นฟุต โดยมีท่อช่วยหายใจและมอร์ฟีนช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีภาวะน้ำท่วมปอดอย่างเขาจึงยังคงไต่ระดับการบินไว้ได้ แม้พูดไม่ได้ แต่สติการรับรู้ยังแจ่มชัด

ญาติผู้ป่วยเตียงหมายเลขหนึ่งทั้งห้าคนเดินทางมาจากอำเภอหนองเรือ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นไปทางตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร ทั้งหมดยืนรับฟังหมอด้วยความสงบ สีหน้าคนบนเตียงดูวิตกกังวลมากขึ้นหลังจากได้ยินหมอถามครอบครัวของเขา “อยากให้หมอถอดท่อแล้วพาคนไข้กลับบ้านไหม”

บรรดาญาติมีท่าทียอมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดกับบุคคลอันเป็นที่รัก แต่คนที่ต้องตัดสินใจไม่ใช่คนทั้งห้าที่ยืนข้างเตียง หมอถามย้ำอีกครั้ง แต่คราวนี้คำถามพุ่งตรงมาที่ผู้ป่วย เขานิ่งราวกับกำลังคำนวณเวลาและเส้นทางในการเดินทางกลับบ้าน จนกระทั่งได้ยินเสียงญาติกระซิบถามอีกครั้ง “อยากกลับบ้านบ่” เขาจึงส่ายหน้าพลางยกมือขึ้นโบกบ่ายส่ายไปมา แสดงความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการ “ถอดท่อ” หรือคำถามที่ว่า “อยากกลับบ้านบ่” นั้นหมายความว่าอะไร ถ้าพูดได้ คงบอกความประสงค์ที่จะมีชีวิต

“เป็นสิทธิของคนไข้ครับ” หมอหนุ่มกล่าวกับญาติก่อนจะหันมาบอกผู้ช่วย “เคสนี้เราต้องประเมินกัน อีกที”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับความตาย ความหวาดกลัวในแววตาของเขายังติดค้างในความทรงจำของผม แววตาของผู้ร้องขอที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ แต่ความคาดหวังของเขาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง “ชีวิตเป็นสิทธิของผู้ป่วย” เขาคงได้ยินประโยคนี้จากหมอ

เขามีสิทธิในการเลือกอย่างเต็มเปี่ยม เพราะเป็นเจ้าของชีวิต รวมถึงหัวใจดวงนี้ที่เคยทำหน้าที่สูบฉีดลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกายเสมอมา แต่ถึงตอนนี้ไม่สามารถทำงานได้ดีดังเดิม ของเหลวจึงเอ่อท้นมาที่ปอดทำให้มีอาการหอบเหนื่อยรุนแรง แต่ที่เขาดูนิ่งสงบได้ก็เพราะมอร์ฟีน

มอร์ฟีน (morphine) มีรากศัพท์มาจากมอร์เฟียส (morpheus) ชื่อของเทพแห่งการหลับใหล มันเห่กล่อมให้หลีกเร้นจากความทรมานให้สุขสงบราวหลับฝัน

“เหมือนวันที่ฝนตกหนัก แต่เขาแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฝนตก เพราะเรากางร่มให้แน่นหนา” หมอวัชรพงษ์ กล่าว “เขาเลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองกำลังอยู่ในพายุครับ”

ที่วัดช่องนนทรี ผู้เป็นลูกกำลังมองดูร่างของมารดาขณะที่ญาติสนิทเดินทางมาร่วมพิธี การยอมรับว่าความเจ็บป่วยและความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้ผู้ที่ยังอยู่สามารถก้าวผ่านความโศกเศร้าไปได้ และในชุมชนที่ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด การอยู่ร่วมกันในช่วงสุดท้ายช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นได้

ย้อนหลังไปเพียงทศวรรษก่อน ยังไม่มีการอนุญาตให้นำยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดกลุ่มหลัก เช่น มอร์ฟีน ซึ่งใช้ในผู้ป่วยแบบประคับประคอง ออกไปใช้ภายนอกโรงพยาบาล กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดควบคุมทั้งสต็อกและการจ่ายยาให้ผู้ป่วย บางโรงพยาบาลไม่มีมอร์ฟีนด้วยซ้ำ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถกลับไปเสียชีวิตที่บ้านอย่างสงบในกรณีที่ต้องพึ่งพายาระงับปวดชนิดนี้ แต่หลักการหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองคือการลดความทุกข์ทรมานจากอาการรบกวนของโรคที่รุกราน การเข้าถึงยากลุ่มโอปิออยด์จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยตามแนวทางนี้

เพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริหารโรงพยาบาลมองเห็นถึงความจําเป็นในการใช้ยากลุ่มนี้ที่บ้าน หลายปีก่อน รศ.พญ. ศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงจัดหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้เภสัชกร พร้อมทั้งสร้างระบบควบคุมยาขึ้น ทำให้ในเวลาต่อมาศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งนี้สามารถนํายากลุ่มโอปิออยด์ออกไปใช้นอกโรงพยาบาลได้เป็นแห่งแรก

บนชั้นเจ็ดของอาคารหลังหนึ่งภายในโรงพยาบาลเป็นที่ตั้งของศูนย์การุณรักษ์ ผนังด้านหนึ่งมีข้อความ “Palliative care is about living.” ราวกับจะตอกย้ำว่า การดูแลแบบประคับประคองคือเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ภาพถ่ายผู้ป่วยแขวนบนผนังอีกฝั่งฉายให้เห็นผู้ป่วยระยะท้ายในอ้อมกอดของครอบครัว ภาพเหล่านี้มีเจตนาสื่อสารถึงความเป็นไปได้ของชีวิตที่สงบสุขสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย แสงแดดยามบ่ายส่องผ่านหน้าต่างฝั่งตะวันตกเข้ามาภายในห้อง อีกไม่นานพระอาทิตย์จะตกดิน

ทุกวันนี้ วิชาด้านการดูแลแบบประคับประคองยังไม่ได้รับความสนใจในโรงเรียนแพทย์มากเท่าที่ควร จะเป็นก็แต่วิชาเลือกของนักศึกษา “มหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่มีสักชั่วโมงให้หมอไปสอน” หมอศรีเวียงกล่าว แต่ถึงอย่างนั้น การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองกลับงอกเงยไปทั่วภาคอีสาน ทั้งนี้ก็เพราะกว่า 10 ปีมานี้ ศูนย์การุณรักษ์จัดอบรมความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรในระบบสุขภาพ ขณะเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชนอย่างกลุ่ม Peaceful Death ก็สร้างความตระหนักเรื่องการตายดีต่อสาธารณะ จนเกิดเป็นเครือข่ายบุคลากรและประชาชนที่เข้าใจหลักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังขยายไปยังภาคเหนือและภาคใต้ด้วย

“คนไข้สามารถตายที่บ้านได้อย่างสงบค่ะ” หมอศรีเวียงบอก “โดยเฉพาะในภาคอีสาน คุณเห็นภาพถ่ายคนไข้ที่แขวนอยู่ด้านนอกมั้ย นั่นคือคนไข้ที่เราดูแลที่บ้าน” ผมพยักหน้า ก่อนที่หมอจะบอกว่า เมื่อสองปีก่อนผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะท้ายคนหนึ่งถึงกับเดินทางจากกรุงเทพฯ มาซื้อคอนโดฯในเมืองขอนแก่นเพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์จากศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองแห่งนี้โดยเฉพาะ ในวาระสุดท้าย เขาได้รับการดูแลที่ศูนย์ดังกล่าวตามความปรารถนาที่ตั้งใจไว้

แม้ว่าเราจะมีระบบสาธารณสุขที่เป็นเหมือนตาข่ายรองรับไม่ให้ผู้ป่วยตกหล่น ด้วยระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจังหวัดสู่โรงพยาบาลอำเภอ จากโรงพยาบาลอำเภอสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เรายังมี “อสม.” หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นดังมดงานด้านสุขภาพของชุมชน แต่กระนั้น ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ก็บอกว่า “กรุงเทพฯไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ ไม่มีใครให้ใครมาเยี่ยมบ้านกันง่ายๆ หรอก จริงไหม”

ศูนย์การุณรักษ์, โรงพยาบาลศรีนครินทร์, อรรถกร รักษาสัตย์, ขอนแก่น
นพ. อรรถกร รักษาสัตย์ (คนกลางในภาพ) แพทย์ผู้ทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคองที่ศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น กำลังอ่านข้อมูลคนไข้ก่อนออกตรวจ ท่ามกลางแพทย์จากโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มาร่วมเรียนรู้

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งในเด็กผู้นี้ ก่อตั้ง “เยือนเย็น” วิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้นมาเมื่อหกปีก่อน เพื่อสร้างทางเลือกในระบบสุขภาพ ทำงานดูแลแบบประคับประคองที่บ้านผู้ป่วยทั้งโรคมะเร็งและกลุ่มผู้สูงอายุในกรุงเทพฯและปริมณฑล

“ผมค้นพบว่าเจ้าของชีวิตมักถูกแทรกแซงโดยคนรอบตัว” หมออิศรางค์ บอกว่าบทบาทหนึ่งของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจะต้องสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้คนรอบข้างเคารพการตัดสินใจของเจ้าของชีวิต “เพราะเรี่ยวแรงในการสื่อสารของเขาเหลือน้อยเต็มที”

ในปีแรกที่ก่อตั้งเยือนเย็น หมออิศรางค์ดูแลผู้ป่วย 50 คนด้วยตัวเขาเพียงคนเดียว มีเจ้าหน้าที่อีกสองคนทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเดินทาง นัดหมาย รับโทรศัพท์ ใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์เยี่ยมบ้านเพื่อจัดการอาการปวดและพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว “ลูกๆ ของผู้ป่วยหยุดงานวันเสาร์อาทิตย์ มันจึงเป็นเวลาที่เหมาะในการที่เราไปดูแลเขาที่บ้าน” เขาบอก

ปีต่อมาเขาดูแลผู้ป่วย 75 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 120 คนในปีที่สาม 240 คนในปีที่สี่ และ 360 คนในปีที่ห้า “ปีที่แล้วเราดูแลผู้ป่วย 450 คนครับ” หมออิศรางค์บอกว่า จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ย่อมพิสูจน์ถึงความต้องการการรับบริการแบบประคับประคอง

ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งใหม่ปีละ 1.4 แสนคน แต่จำนวนหมอโรคมะเร็งมีเพียง 400 คน ทำให้ภาระหน้าที่ของหมอไม่เป็นไปตามสัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วย “หมอไม่มีเวลาคุยกับคนไข้หรอกครับ แต่หมอแพลเลียทีฟแคร์มีเวลาเหลือเฟือในการคุยกับคนไข้ เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือคุณค่าในชีวิตของเขา เราทำความรู้จักคนไข้เพื่อปลดล็อกสิ่งที่ติดค้างในชีวิตผู้ป่วย” ผู้อำนวยการเยือนเย็น บอก

งานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2558 ระบุว่า ช่วงหกเดือนสุดท้ายก่อนตาย ผู้ป่วยต้องเข้ารับการแอดมิตเฉลี่ย 2.77 ครั้ง ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 19.77 วัน ค่าใช้จ่ายที่เบิกจากระบบของโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 60,565 บาท ค่าใช้จ่ายหนึ่งเดือนสุดท้าย 41,630 บาท

แต่จำนวนผู้ป่วยแบบประคับประคอง 450 คนที่หมออิศรางค์ดูแลอยู่จะลดการแอดมิตที่โรงพยาบาลได้ 953 ครั้ง ลดการอยู่โรงพยาบาล 6,880 วัน และลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขได้กว่า 17.2 ล้านบาท

ทั้งนี้งบประมาณจะลดลงดังตัวอย่างที่หมออิศรางค์เทียบให้เห็นนั้น จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อแพทย์ที่ดูแลแบบประคับประคองยืนอยู่แถวหน้าของระบบสุขภาพ การทำความเข้าใจชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเริ่มต้นรักษาจะช่วยคัดกรองไม่ให้ผู้ป่วยล้นระบบและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ตรงกับสภาพของโรค และตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย

“หมอก็จะได้ร่วมวางแผนกับคนไข้ ไม่ว่าเขาจะสู้ตายหรือขออยู่กับโรคอย่างสันติ” ถ้าผู้ป่วยเลือกอย่างหลัง ค่าใช้จ่ายจะลดลงทั้งระบบสุขภาพ ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดภาระงานของแพทย์

เตียงผู้ป่วยในแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดขอนแก่นพร้อมจะเต็มจนเกินอัตราที่กำหนดเสมอ แพทย์หญิงในแผนกดังกล่าวบอกผมว่า “วันนี้ถือว่าน้อยนะคะ” แต่เท่าที่ผมเห็นไม่มีเตียงไหนว่างเลย ในวันที่หนักหน่วง เตียงเสริมจะถูกเข็นมาแทรกตรงไหนก็ได้ที่มีพื้นที่ว่างขนาดเท่าเตียง

การุณรักษ์ฮอสพีซ, ศูนย์บริบาล, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย, palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
เจ้าหน้าที่เดินตรวจความเรียบร้อยของการุณรักษ์ฮอสพีซ ศูนย์บริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแห่งแรกของประเทศไทยในสังกัดโรงพยาบาลศรีนครินทร์

รางม่านถูกติดตั้งไว้กับเพดานตามจำนวนเตียงที่เรียงเป็นแถว ดูคล้ายกับช่องจอดรถโดยสารในสถานีขนส่ง สายน้ำเกลือและสายท่อจากเครื่องพยุงชีพล่ามร้อยชีวิตผู้ป่วยไว้กับความหวัง ออกซิเจนตีฟองอากาศอยู่ในขวด เสียงมอนิเตอร์ดังถี่เหมือนเสียงนาฬิกาปลุกที่เจ้าตัวไม่ตื่นขึ้นมาปิด เลือดและอุจจาระเปรอะเตียงผู้ป่วยที่นอนหลับไม่ได้สติ พวกเขาหลายคนสวมผ้าอ้อมเหมือนเด็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง แม้จะนอนเรียงรายกันเต็มทุกเตียง แต่ดูเหมือนว่าผู้ป่วยทุกคนล้วนแต่โดดเดี่ยว

หมอวัชรพงษ์กำลังพูดคุยกับญาติผู้ป่วยไตวายระยะท้าย เขาเสนอทางเลือกให้เธอตัดสินใจย้ายสามีไปรักษาและฟอกไตต่อที่หอผู้ป่วยแบบประคับประคอง

“เพิ่นรู้สึกตัวบ่ครับ” หมอหนุ่มถามภรรยาผู้ป่วยเป็นภาษาท้องถิ่น

แต่ผู้ตอบคำถามนี้กลับเป็นผู้ป่วยเตียงติดกัน “บ่ เพิ่นบ่รู้สึกตัวครับ” ชายผู้ตอบคำถามสวมสายให้ออกซิเจนทางจมูก แต่นั่งชันเข่าราวอยู่บนชายหาด “ผมมองเพิ่นมาสามวันแล้ว ไม่ขยับสักนิด”

“เรามีบุรุษพยาบาลคอยดูแลแล้ว” หมอวัชรพงษ์หันไปหยอกเจ้าของเสียง

“ผมนอนไม่หลับ ลุกขึ้นมากลางดึกก็หันไปมองเพื่อนที่นอนเตียงข้างๆ ไม่เคยเห็นเขาขยับตัว” เขาบอก

“ไปด้วยกันไหม” หมอวัชรพงษ์เอ่ยชวน

“ผมไม่กลัวนะ” ผู้ป่วยตอบทันที “ความตาย ยังไงก็หลบไม่พ้น”

หมอวัชรพงษ์บอกผมว่าภารกิจหนึ่งของการรับให้คำปรึกษาของแพทย์ด้านประคับประคองก็เพื่อคัดกรองผู้ป่วยมาที่วอร์ดเพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ เกณฑ์ที่ว่านั้นหมายถึงเมื่อการรักษาที่เป็นอยู่จะไม่ก่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยหรือทำให้อาการดีขึ้นอีกต่อไป นอกจากนี้ การย้ายผู้ป่วยยังช่วยลดความแออัดในแผนกอายุรกรรม แพทย์จะได้มีเวลากับผู้ที่มีความหวังในการรักษามากขึ้น

………………

ที่ตึกอายุรกรรมหญิง ผู้ป่วยวัย 48 นอนหลับไม่ได้สติ เครื่องพยุงชีพรั้งเธอไว้กับชีวิต เธอป่วยด้วยโรคตับอ่อนอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อหมอวัชรพงษ์ต้องการคุยกับญาติ จึงต่อสายโทร.หาทันที เขารายงานอาการของผู้ป่วยให้ญาติฟังอย่างละเอียด ก่อนจะถามอีกฝ่ายว่า “ยังอยากสู้ต่อรึเปล่า แต่ทั้งหมดนี้คือการยื้อกันวันต่อวันนะครับ ญาติรับสภาพได้รึเปล่า” สุดท้ายญาติของผู้ป่วยขอเดินหน้ารับการรักษาเต็มที่

บางครั้งความคาดหวังก็มักไม่สอดคล้องกับความจริง และนี่ก็คือสิ่งที่แพทย์ด้านดูแลแบบประคับประคองบอกผมว่า พวกเขาต้องเจรจาต่อรองทำให้ความหวังตรงกับความจริงที่สุด “ถ้าเขายังไม่พร้อม เราต้องให้เวลา” หมอบอก

ผู้ป่วยบางคนใช้โอกาสที่ยังมีสื่อสารถึงความต้องการในการรักษา ในวัย 60 กว่าปี สาย ดีแฮ ป่วยเป็นโรคไตวาย แต่ยังมีสติสัมปชัญญะดีเยี่ยม เธอปฏิเสธหมออย่างหนักแน่นด้วยน้ำเสียงและแววตาอ่อนโยน หลังจากที่หมอถามเธอว่า หากถึงวันที่หายใจลำบาก เธออยากสวมใส่ท่อช่วยหายใจไหม

“แม่เฒ่าของฉันเคยใส่ท่อ เพิ่นเจ็บหลายก่อนที่เพิ่นจะตาย” เธอบอก ปราศจากแววหวาดหวั่นในดวงตา

“แม่ก็เลยไม่อยากใส่ใช่ไหมครับ” หมอถาม เธอว่า “ใช่ค่ะ ฉันบอกลูกไว้แล้ว”

“ผมชื่อหมอแจ็คนะครับ” หมอวัชรพงษ์เขยิบเข้าไปใกล้ความรู้สึกของผู้ป่วย “แม่มีอะไรกังวลมั้ย”

“ไม่มีค่ะ แต่…” เธอว่า หรี่ตาเพ่งใบหน้าของหมอ “หมอแจ็คนี่ชื่อเหมือนหมอแถวบ้านฉันเลยค่ะ หมอรูปหล่อเนาะ”

“เห็นได้ชัดว่าคนไข้สติดีมาก” หมอแจ็คหันมาพูดกับผม พยาบาลหัวเราะนำไปก่อน กว่าผมจะเข้าใจมุกตลกของหมอ ยายสายก็ยิ้มกว้างแล้ว ช่างเป็นรอยยิ้มของคนป่วยที่อ่อนโยนและเปี่ยมพลังของการมีชีวิต

“คิดฮอดบ้านหลาย คิดถึงหลาน” เธอว่า “เย็นนี้ลูกชายจะมารับ หลังเขาเลิกงาน

“ความหวังของผู้ป่วยมะเร็งตับระยะท้ายคนนี้คือการมีชีวิตต่ออีกปีนึงค่ะ” พยาบาลรายงานข้อมูลของผู้ป่วย เห็นได้ชัดว่าเวลาคือสิ่งที่ผู้ป่วยระยะท้ายผู้นี้ต้องการ ซึ่งเหลือน้อยเต็มที

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง, ภูวัต ภูริวฑฺฒโน, วัดท่าประชุม
ข้อจำกัดทางพระวินัยทำให้การบริบาลพระสงฆ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก พระอาจารย์ภูวัต ภูริวฑฺฒโน จึงก่อตั้งกุฏิชีวาบาลขึ้นที่วัดท่าประชุม จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นต้นแบบของการจัดตั้งสถานบริบาลแบบประคับประคองสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศในนาม “วัดท่าประชุมโมเดล”

เช้าวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ ผมนั่งอยู่ในห้องประชุมชั้น 18 ของทีมสหวิชาชีพแห่งศูนย์การุณรักษ์ อันประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เภสัชกร ไปจนถึงนักสังคมสงเคราะห์

ข้อมูลการรักษาเบื้องต้นถูกนำเสนอบนจอโปรเจ็กเตอร์ที่ติดตั้งบนผนังด้านในกลางห้องประชุม การประชุมติดตามผลการรักษาคนไข้ในเช้าวันนี้ทำให้ความรับรู้ที่ผมมีต่อการทำงานของแพทย์เปลี่ยนไป

“คนไข้เป็นคนชอบดื่มค่ะ” พยาบาลรายงานนิสัยใจคอของผู้ป่วย “เขาเปิดร้านขายของชำ แต่เป็นพ่อค้าที่นั่งดื่มไปขายของไปเรื่อยๆ”
“สงสัยร้านชำร้านนี้จะต้องปิดแล้วล่ะมั้ง” หมอศรีเวียงให้ความเห็น “เห็นได้ชัดว่าเจ้าของร้านเป็นตับแข็ง”

ภาพอัลตราซาวนด์แสดงให้เห็นอวัยวะภายในของผู้ป่วย ข้อมูลที่นำเสนอโดยทีมสหวิชาชีพบอกเล่าเรื่องโรคและชีวิต เขาเป็นใคร มาจากไหน ป่วยด้วยโรคอะไร ประวัติการรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ปริมาณยาเท่าไร การตอบสนองเป็นอย่างไร ใช้สิทธิประเภทไหนในระบบประกันสุขภาพ แต่งงานหรือหย่าร้าง ลูกของเขาคือใคร ใครคือบุคคลสำคัญในครอบครัว ฯลฯ หัวข้อในที่ประชุมทำให้พวกเขาเป็นทีมแพทย์ที่กำลังวินิจฉัยโรคควบคู่ไปกับการสืบค้นชีวิต

“ตอนนี้ลูกชายคนไข้ถูกจำคุกคดียาเสพติดค่ะ” หนึ่งในทีมสหวิชาชีพที่ได้เยี่ยมบ้านพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว หรือที่พวกเขาเรียกว่า “แฟมิลีมีตติ้ง” บอก

“แสดงว่าบ้านหลังนี้อยู่กันสองคนตายาย” หมอศรีเวียงตั้งข้อสังเกต ก่อนจะถาม “คนไข้มีญาติพี่น้องคนอื่นไหม” พยาบาลรายงานว่าผู้ป่วยอึดอัดใจเมื่อต้องพูดถึงญาติพี่น้อง เผยให้เห็นรอยปริร้าวในความสัมพันธ์ของครอบครัว ถ้ากลับไปอยู่บ้าน ภรรยาของผู้ป่วยจะเป็นผู้ดูแล ผู้ป่วยอยากอยู่รอให้ลูกชายกลับบ้าน

เสื้อเชิ้ตสีดำของหมอศรีเวียงขับเน้นให้ผมสีควันบุหรี่ดูโดดเด่น (คราวก่อนที่เราเจอกัน หมอย้อมผมสีบรอนซ์) เธอนั่งกอดอกทิ้งสายตาลงบนโต๊ะ “ลูกของเขาจะพ้นโทษเมื่อไหร่” เธอถาม พยาบาลบอกเดือนพฤษภาคม ผู้ถามพยักหน้า แต่ยังเงียบเหมือนกำลังคำนวณวันเวลาที่กำลังเดินย่องอยู่บนความตาย “ไม่มีทาง ทำยังไงให้ลูกของเขาออกมาเยี่ยมพ่อได้ทันเวลา” หมอศรีเวียงถาม

ดูเหมือนเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ บางทีปัญหาชีวิตก็หนักหนาสาหัสกว่าสภาพโรค ภาพอัลตราซาวนด์เผยให้เห็นอวัยวะภายในของผู้ป่วยระยะท้าย แต่เรื่องราวของแต่ละคนเผยให้เห็นใบหน้าของชีวิตที่แพทย์จะต้องเริ่มต้นทำความรู้จัก

ชีวประวัติคนไข้เป็นเบาะแสให้ทีมผู้ดูแลแบบประคับประคองร่วมวางแผนการดูแลสุขภาพที่กำหนดโดยความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว แผนดูแลสุขภาพมีความเฉพาะส่วนบุคคล เหมือนช่างตัดสูทวัดรูปร่างผู้สวมใส่ แต่ “เรามักไม่ค่อยอยากคุยเรื่องอัปมงคลอย่างความตาย” หมอศรีเวียงบอก

กฎหมายอนุญาตให้กำหนดความประสงค์ที่จะปฏิเสธการรักษาซึ่งยืดการตายในวาระสุดท้ายผ่าน หนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า living will) ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คุ้มครองหมอและพยาบาลที่ทำตามหนังสือเจตนา ไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แต่กระนั้นหมอก็ยังเผชิญกับภาวะบีบคั้นทางจริยธรรม “พอถึงเวลาจริงๆ หมอไม่กล้าวินิจฉัยว่าเป็นวาระสุดท้าย” หมอศรีเวียงบอก

แต่การวางแผนดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning หรือ ACP) ผ่อนคลายกว่านั้น เอซีพีคือการวางแผนดูแลสุขภาพที่ทำไว้ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดความสามารถในการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้คิดทบทวนเรื่องชีวิต แสดงความต้องการของตนเองไว้ล่วงหน้า

“การวางแผนล่วงหน้าเป็นหัวใจสำคัญค่ะ” หมอศรีเวียงย้ำ “ทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองจะชวนคนไข้คิดอ่านวางแผนเรื่องนี้ บอกให้ญาติรับรู้ บอกให้หมอรับรู้ เมื่อวันนั้นมาถึง จะได้ไม่ถูกการรักษารุกรานชีวิต”

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
เพื่อระบบสาธารณสุขที่สมบูรณ์ขึ้น ศูนย์การุณรักษ์จึงมีการให้คำปรึกษาทางไกลและมีทีมแพทย์พยาบาลออกตรวจเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้านในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกเดินทาง

จากข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง 14 แห่งทั่วประเทศ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 24.7 ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยทั่วไป มักเป็นผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว และไม่มีการวางแผนการรักษาล่วงหน้า ขณะที่ผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินร้อยละ 45.7 เข้าเกณฑ์สมควรรักษาแบบประคับประคองได้ แต่ที่ต้องอยู่ในห้องฉุกเฉินเพราะไม่มีการวางแผนสุขภาพมาก่อน ส่วนใหญ่ญาติเป็นผู้ตัดสินใจ และต้องการให้รักษาด้วยเครื่องพยุงชีพอย่างเต็มที่

ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับคำปรึกษาจากทีมประคับประคอง สามารถวางแผนสุขภาพระยะท้ายได้สำเร็จถึงร้อยละ 88 ส่วนที่ไม่ได้รับคำปรึกษา วางแผนสำเร็จเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

เป็นที่รู้กันว่าเหลือเวลาไม่มากแล้ว หากผู้ป่วยถูกย้ายมาอยู่ห้อง “VIP1” ขณะที่ “พี่ตุ๋งติ๋ง” ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย กำลังนอนหลับยามบ่ายอยู่บนเตียงที่ปรับเป็นแนวระนาบ ประกายเพชร แก้วอินทร์ กำลังชวนผู้เป็นแม่กับดารุณี คำนึงเนตร น้องสาวของผู้ป่วย เล่นเกมไพ่อยู่ตรงโซฟาติดหน้าต่างบานใหญ่

“เราใช้เครื่องมือตรงนี้ในการสื่อสารกับคนไข้และญาติค่ะ” เครื่องมือที่นักสังคมสงเคราะห์ใช้ในการพูดคุยเรื่องยากๆ กับผู้ป่วยและครอบครัวคือ “เกมไพ่ฤดูฝน” หรือไม่ก็ “เกมไพ่ไขชีวิต”

“ถ้าคนไข้ยังไม่ได้ทำเอซีพี เราใช้ไพ่นี้ช่วยได้ค่ะ” ประกายเพชร บอก

บางคำถามไม่สามารถถามกันได้ตรงๆ บางคำตอบต้องหลบเลี่ยงความจริง กิจกรรมอย่างการเปิดไพ่ แต่ละใบที่เสนอ “คำถาม” ชวนคิด จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสื่อสารออกมา ทั้งความกังวลในอนาคต เรื่องติดค้างในอดีต สิ่งที่ต้องการในตอนนี้ เป็นต้น

ไพ่ใบหนึ่งมีคำถามว่า หากคุณรู้ว่าคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยระยะท้าย คุณจะบอกความจริงนี้กับเขาไหม “ทุกคนที่เป็นญาติมักจะตอบว่าไม่บอกค่ะ เพราะเขาคิดว่าถ้าบอกแล้วคนไข้จะทรุด” นักสังคมสงเคราะห์หญิงบอก

ไพ่อีกใบถามกลับว่า แล้วหากคุณเป็นผู้ป่วยสุดระยะท้าย คุณอยากรู้สถานการณ์จริงที่กำลังเกิดกับคุณไหม “ทุกคนตอบเหมือนกันว่าอยากรู้ค่ะ” ไพ่ใบต่อมาถาม หากคุณเป็นผู้ป่วยระยะท้าย คุณอยากให้แพทย์ดูแลรักษาอย่างไร ในกรณีที่คุณหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ คุณอยากให้แพทย์ใช้เครื่องพยุงชีพไหม “ทุกคนก็บอกว่าไม่ค่ะ” แล้วท่อช่วยหายใจล่ะ “หลายคนบอกว่าไม่เอา มันทรมาน เราจะได้เอซีพีของแต่ละคนจากการเล่นเกมไพ่นี้” ประกายเพชรเล่า

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
ที่โรงพยาบาลคูน เมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีภาวะกลืนอาหารลำบากร้องขอดื่มกาแฟ แม้จะลำบากใจ แพทย์เจ้าของไข้ก็เลือกเคารพความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งเพียงได้สูดกลิ่นกาแฟก็เบิกบานใจ

“ก่อนหน้านี้พี่ตุ๋งติ๋งยังคุยยังสื่อสารได้ค่ะ แต่แกจะปวดอยู่ตลอดเวลา” ดารุณี เล่าถึงความปวดแสนสาหัสของพี่สาว เมื่อผู้ป่วยเจ็บปวดตลอดเวลา เธอจึงไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่กลับเป็นเหมือนเขื่อนเก็บอารมณ์ของผู้ป่วยในช่วงเวลาที่อยู่เคียงข้าง กว่าสองปีที่เธอคอยดูแลจวบจนพี่สาวมีอาการทรุดลงในระยะสองเดือนที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูงจนโครงสร้างพื้นฐานของเขื่อนทรุดและใกล้แตกเต็มที่ กรณีเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับดารุณีเพียงคนเดียว แต่ผู้ดูแลผู้ป่วยระยะยาวจะอ่อนล้าและเหนื่อยหนัก ถึงขั้นที่ว่าครั้งหนึ่งเธออยู่ในภาวะเบิร์นเอาต์จนต้องนั่งรถทัวร์จากขอนแก่นกลับไปหาสามีและลูกที่ปทุมธานี ดารุณีนั่งร้องไห้ตลอดระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตร แต่อยู่บ้านได้ไม่กี่วัน ความรู้สึกผิดก็ฉุดเธอกลับขอนแก่น

บ่ายวันหนึ่ง พี่ตุ๋งติ๋งจับไพ่ใบหนึ่งขึ้นมา ไพ่ถามเธอว่าอยากได้อะไรจากผู้ดูแล ซึ่งหมายถึงแม่และน้องสาวนั่นเอง วันนั้นมีการทำบุญถวายสังฆทานข้างเตียงผู้ป่วย และสิ่งที่พี่ตุ๋งติ๋งต้องการที่แท้จริงคือโอกาสขอขมาผู้ดูแลทั้งสอง โดยเฉพาะในยามที่อารมณ์ของผู้ป่วยเช่นเธอแปรปรวนจนส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ดูแล

“มันเหมือนเป็นการปลดล็อกค่ะ” ประกายเพชรบอก บางครั้งเส้นทางของชีวิตที่ผ่านมา ก็สร้างรอยร้าวในครอบครัว ในวาระสุดท้ายอาจเป็นโมงยามสำคัญของการหันกลับมาสำรวจ อภัย และยอมรับกัน นี่คือนาทีทองอันมีค่าก่อนที่ต่างฝ่ายจะแยกย้ายจากกันไป

“วันนั้นพี่ตุ๋งติ๋งอยากร้องเพลงด้วยค่ะ” ดารุณีหัวเราะ “วันต่อมา นักดนตรีบำบัดจึงมาเล่นดนตรีให้ฟัง เราได้ร้องเพลงด้วยกัน แต่พอนึกถึงเพลงนี้ทีไร จะร้องไห้ทุกที” เธอหมายถึงเพลง “ครึ่งหนึ่งของชีวิต” ของเสาวลักษณ์ ลีละบุตร

การสร้างสัมพันธภาพระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ป่วยและครอบครัวเกิดขึ้นในเวลาแสนสั้น ช่วงเวลาที่มีอย่างจำกัดทำให้ประกายเพชรพบความพ้องพานระหว่างความตายกับเวลา สองสิ่งนี้ไม่เคยรอใคร “มันเลยทำให้เราไม่รอที่จะเข้าไปคุยหรือรับฟังว่าเขาต้องการอะไร” ประกายเพชรบอก

สองวันต่อมา ผมเดินทางมาที่ศูนย์การุณรักษ์ในช่วงเย็นอีกครั้ง เมื่อมองเข้าไปภายในวอร์ด ประตูห้อง VIP1 ถูกเปิดค้างไว้ มีเตียงวางเปล่าเตียงหนึ่งอยู่ที่หน้าประตู เมื่อถามเจ้าหน้าที่ตรงเคาน์เตอร์จึงรู้ว่าพี่ตุ๋งติ๋งจากไปแล้วเมื่อเช้านี้

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
ครอบครัวและเพื่อนบ้านมาต้อนรับการกลับบ้านของพ่อชา โคตรปลาบู่ อย่างอบอุ่นที่บ้านในอำเภอพล ภายในบ้านมีการกั้นม่านเป็นห้องพักผู้ป่วย โดยหยิบยืมเตียงจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งมีคลินิกการดูแลแบบประคับประคองให้คำปรึกษาและเยี่ยมเยียนต่อเนื่อง

ห่างจากเมืองขอนแก่นไปทางใต้ราว 60 กิโลเมตร มุมหนึ่งภายในบ้านของ ชา โคตรปลาบู่ มีรางม่านกั้นแบบเดียวกับในโรงพยาบาลติดตั้งไว้เพื่อกันเด็กๆ ภายในบ้านที่กำลังซน เตียงผู้ป่วยถูกยืมมาจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ วางชิดผนังริมหน้าต่าง

คลินิกดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลประจำอำเภอพล ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ที่นี่ยังเป็นศูนย์กลางดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ใครก็สามารถยืมอุปกรณ์สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้ ไม่ว่าจะถังออกซิเจน สายดูดเสมหะ หรือชุดทำแผล รวมถึงเบิกจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์

ภายในบ้านที่ว่างโล่งกลับครื้นเครงไปด้วยผู้คนมากมายที่เดินทางมารับขวัญวันกลับบ้าน ผู้เฒ่าหลายคนสวมผ้าซิ่นสีสดใสทำให้เหมือนอยู่ในงานเฉลิมฉลองเล็กๆ พวกเธอผูกด้ายสีขาวที่ข้อมือผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียง ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลประจำอำเภอพลเดินทางมาที่บ้านหลังนี้ หลังจากได้รับข้อมูลการส่งต่อผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดตั้งแต่เมื่อวาน พร้อมด้วยทีมแพทย์ชุมชนจาก รพ.สต. เพ็กใหญ่

หลังผ่าตัดสมองเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 ชาพักรักษาตัวอยู่หนึ่งเดือนในโรงพยาบาลขอนแก่น ก่อนที่จะลืมตาขึ้นมาได้อีกครั้ง หมอจึงส่งตัวกลับมายังโรงพยาบาลประจำอำเภอพล แต่ไม่นานปอดของเขาก็ติดเชื้อทำให้อาการทรุดลงเพราะหอบเหนื่อยรุนแรง แพทย์โรงพยาบาลอำเภอพลส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดขอนแก่นอีกครั้ง

หากแผนกอายุรกรรมเป็นสนามรบตามคำอุปมาของหมอวัชรพงษ์ ชาก็เป็นเหมือนทหารผู้กรำศึกหนัก เขาผ่านสงครามมามากเหลือเกิน หมอมีความเห็นว่าเขาควรได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

เดือนกว่าๆ ที่รักษาตัวที่หอผู้ป่วย ลูกๆ ตัดสินใจพาเขากลับมาดูแลที่บ้าน “อยู่ได้ซ่ำใด๋ก็ซ่ำนั้นเนาะ หมอบอกว่าถ้าให้ยาฆ่าเชื้ออีก ไตอาจจะวาย อยู่ได้ซ่ำใด๋ก็ซ่ำนั้นล่ะเนาะ” สุภาพร สมีพวง ผู้เป็นลูกสาวเล่าอาการของพ่อ

เมืองพลเป็นอำเภอใหญ่ ว่ากันว่าที่นี่คือสุขาวดีของการตายดี อำเภอแห่งนี้ประกอบด้วย 13 ตำบลกับ หนึ่งเทศบาล แต่ละตำบลมี รพ.สต. และ อสม. เป็นด่านหน้าใกล้ชิดกับผู้ป่วยในหมู่บ้าน โดยมีโรงพยาบาลประจำอำเภอเป็นข้อต่อตรงกลางระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาลแม่ข่ายในจังหวัด

“คนไข้จะไม่หายไปจากระบบค่ะ” พญ.ไทยอักษร รักษาภักดี แพทย์เวชศาสตร์ชุมชนประจำโรงพยาบาลอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น บอก กระนั้นประชาชนในอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ก็ยังเข้าไม่ถึงการดูแลแบบประคับประคองมากนัก ความที่ “มันยังเป็นเรื่องใหม่ พอพูดถึงมอร์ฟีน ชาวบ้านก็กลัวกันแล้วค่ะ กลัวว่าจะทำให้เสพติดหรือเสียชีวิต”

แพทย์หญิงที่เกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอหนองสองห้องผู้นี้ย้ำหลักการสำคัญของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองว่า ไม่ได้เป็นทั้งการยื้อชีวิตหรือเร่งความตาย แต่ “เรารักษาโดยเน้นคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ค่ะ” แพทย์หญิง บอก

เมืองพลมีภูมิหลังของประชากรที่แตกต่าง คนจีนอาศัยในเขตเทศบาล คนลาวอยู่ในหมู่บ้านเขตชนบท จากการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยประคับประคองและผู้ป่วยต่อเนื่องมายาวนานทำให้ จิตรกร ลือศิริ พยาบาลด้านการดูแลแบบประคับประคองมองเห็นความแตกต่างระหว่างคนในเขตเมืองและคนในชนบท แม้ว่าจะอยู่ในอำเภอเดียวกันก็ตาม

“คนในเมืองมีความห่างเหินกับเพื่อนบ้านค่ะ” จิตรกร บอก “พอมีคนตายก็ไปเจอกันที่วัด เขาไม่ได้เรียนรู้ความตายเหมือนชาวบ้าน”

palliative care, การดูแลแบบประคับประคอง
พรนิพนธ์ ศิริพร กอดเสื้อของบิดาผู้จากไปด้วยมะเร็ง เธอผ่านประสบการณ์ดูแลทั้งพ่อและแม่ในระยะท้ายด้วยแนวทางแบบประคับประคองทั้งจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และรู้สึกว่าตนเองซึ่งเป็นผู้ดูแลค่อยๆ เรียนรู้ที่จะผ่อนหนักเป็นเบา จนสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาได้ด้วยดี

จิตรกรบอกผมว่ากระบวนการจัดการศพเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตและความตาย เรียนรู้ความตายจากคนที่จากไป เข้าใจความรู้สึกการสูญเสียผ่านคนที่ยังอยู่ แต่ตอนไหนกันนะที่เรามอบบทบาทการจัดการศพคนในครอบครัวให้เป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ เราเดินหนีความตายที่แนบชิดกับชีวิตไปเรื่อยๆ จนทำให้เราห่างเหินจากความตาย “คนบ้านนอกถูกปลูกฝังให้ดูแลผู้สูงอายุ ฉันเป็นคนอาบน้ำศพให้ทั้งตาและยาย มันทำให้เราใกล้ชิดและรู้จักความตาย” เธอบอก

หมอและพยาบาลในเมืองใหญ่บอกผมว่า คนในชนบทมีแนวโน้มที่จะยอมรับความตายได้มากกว่าคนในสังคมเมือง เหตุผลน่าเศร้าข้อหนึ่งเพราะความยากจน ราคาของการมีชีวิตแพงกว่าเมื่อเทียบกับความตาย

“ชาวบ้านก็อยากจะไปต่อค่ะ” หมอไทยอักษรหมายถึงการเดินหน้ารับการรักษา ซึ่งบางครั้งก็สุ่มเสี่ยงต่อการยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่กลับมีค่าใช้จ่ายสูง “แต่พวกเขาติดปัญหาด้านการเงิน ถ้าเลือกที่จะไปต่อ แล้วคนข้างหลังจะอยู่ยังไง”

ผมอยากจะเชื่อว่ามีอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าเรื่องตลกร้ายจากความจน นั่นคือวิถีชีวิตของคนที่นี่ยังคงเกื้อกูลกัน หมอไทยอักษรเกิดในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หลายปีก่อน ป้าของไทยอักษรเป็นโรคมะเร็งลำไส้ เธอได้รับโอกาสเรียนรู้ชีวิตและความตายด้วยการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ก่อนที่หลายปีต่อมาจะเรียนจบเป็นแพทย์เวชศาสตร์ชุมชน “ป้ามีสติและตัดสินใจว่าจะเลือกกลับมาอยู่บ้าน ลูกหลานทุกคนยอมรับการตัดสินใจในครั้งนั้นของป้าค่ะ”

ในยามค่ำคืน เพื่อนบ้านญาติพี่น้องจะหอบผ้าห่มหมอนมุ้งมาปูที่นอนเรียงกันเต็มพื้นบ้านชั้นล่าง เปลี่ยนค่ำคืนโดดเดี่ยวให้เปี่ยมชีวิต “ในสังคมชนบทยังเป็นแบบนั้นค่ะ เขามาให้กำลังใจ มานอนเฝ้ากัน มาช่วยดูแลกัน ฉันได้สัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ เวลาที่คิดถึงคืนแบบนั้น มันอบอุ่นใจค่ะ” แพทย์หญิงรุ่นใหม่ผู้นี้บอก

ค่ำคืนงดงามที่เกิดในหมู่บ้านของหมอไทยอักษรเป็นเหมือนภาพฝันที่ล่วงผ่านไปแล้ว แต่วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death เชื่อว่านี่คือหนทางของสังคมไทยในการพาคนกลับไป “ตายดี” ที่บ้าน “ชุมชนในสังคมไทยยังเป็นแบบนั้นค่ะ เพียงแต่มันเหลือน้อยลงเรื่อยๆ เท่านั้นเอง” เธอบอก

เรากำลังนับถอยหลังเวลาของชีวิตในก้าวย่างอันรีบเร่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2506-2526 ทยอยเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ตลอด 20 ปีนับจากนี้ สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดทำให้เราฝากชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายไว้ที่โรงพยาบาล ในบางกรณีผู้ป่วยปรารถนาจะกลับมาตายที่บ้าน แต่ครอบครัวไม่พร้อมหรือบางทีก็ไม่มั่นใจที่จะดูแลชีวิตช่วงที่เปราะบางที่สุดของผู้ป่วยได้

“ทุกคนจะถูกผลักไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล คุณคิดว่าโรงพยาบาลจะแตกไหม” วรรณาบอกและเสริมว่า การขยายพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องทำให้ชุมชนมองเห็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่ม Peaceful Death เรียกว่า “ชุมชนกรุณา” นั่นคือการทำให้ระบบการเกื้อกูลในสังคมชนบทที่มีอยู่แล้วผสานเข้ากับระบบสุขภาพด้านการดูแลแบบประคับประคอง ก็จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ “ทำให้คนเข้าถึงการตายดีได้ในบริบทสังคมสมัยใหม่ได้”

“แพลเลียทีฟแคร์เป็นหน้าที่ของทุกคนค่ะ” วรรณา บอก “เราต้องทวงเอาชีวิตและความตายของเราคืนกลับมา นี่คือวิธีเดียวที่จะทำให้เราตายดีในแบบที่ต้องการ”

เรื่อง วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ติดตามสารคดี ประคับประคอง จากวอร์ดถึงบ้าน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/605937


อ่านเพิ่มเติม วันพรุ่งนี้ของ “ไทยชรา” ตอนที่ 1: แก่แล้วจน คือ “คนไทย” ปัญหาสังคม ผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุไทย

Recommend