ความรุนแรงครั้งล่าสุดในศรีลังกาบ่งชี้ความขัดแย้งแบบใดในประเทศนี้

ความรุนแรงครั้งล่าสุดในศรีลังกาบ่งชี้ความขัดแย้งแบบใดในประเทศนี้

เจ้าหน้าที่ทหารศรีลังกาตั้งแถวคุ้มกันหน้าโบสถ์ St. Anthony ซึ่งถูกระเบิดในเมือง Kochchikade กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา มีคนกว่า 300 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ระเบิดศรีลังกา ที่มีติดต่อกันในโรงแรมและโบสถ์ซึ่งเหล่าศาสนิกกำลังเข้าร่วมพิธีในงานวันอีสเตอร์ ภาพถ่ายโดย THARAKA BASNAYAKA, NURPHOTO/GETTY


ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองและสันติภาพอันเปราะบางในภูมิภาคเอเชียใต้เช่นศรีลังกา ได้สะท้อนเรื่องราวของวงจรการแก้แค้นระหว่างเชื้อชาติ และความจำเป็นที่ต้องสร้างอัตลักษณ์ความเป็นชาติร่วมกัน หลังเหตุการณ์ ระเบิดศรีลังกา

เหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์ที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 300 คน และบาดเจ็บกว่า 500 คน และการค้นพบระเบิดที่สถานีขนส่งกว่า 87 ลูก ดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบทใหม่ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในเรื่องของศาสนาและชาติพันธุ์มานานกว่า 70 ปี

เราอาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของศรีลังกาหลังได้รับเอกราชมาจากอังกฤษนั้นวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลซึ่งนับถือศาสนาพุทธและเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ร้อยละ 75 ของประชากร หรือราว 21 ล้านคน) กับชาวทมิฬ อันเป็นประชากรส่วนน้อยของศรีลังกาซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาถูกกวาดต้อน มาจากรัฐทมิฬนาฑู ของอินเดีย เพื่อให้เป็นแรงงานให้ชาวอังกฤษ

ระเบิดศรีลังกา, ชาวคริสต์ศรีลังกา
บรรดาญาติวางดอกไม้บนหลุมฝังศพของเหยื่อสามคนซึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยพวกเขาทั้งหมดเสียชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดวันอีสเตอร์ ณ โบสถ์ St. Sebastian ในเมือง Negombo ประเทศศรีลังกา เมื่อวันจันทร์ ที่ 22 เมษายน 2019 ภาพถ่ายโดย GEMUNU AMARASINGHE, AP

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อนักการเมืองชาวสิงหลซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศได้ครองอำนาจ ก็ออกนโยบายฟื้นฟูศาสนาพุทธซึ่งชาวสิงหลภาคภูมิใจ เพื่อให้ศรีลังกาเป็นดินแดนของชาวสิงหลที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม พวกเขาปฏิบัติต่อชาวทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเกิดความขัดแย้ง ทั้งแง่ของเชื้อชาติ ศาสนา วิถีชีวิต และภาษา ชาวทมิฬถูกผลักดันให้ไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศและถูกลิดรอนสิทธิต่างๆ อย่างเป็นระบบ คุณภาพชีวิตของชาวทมิฬก็เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ

ความขัดแย้งนี้ได้ปะทุในใจของชาวทมิฬจนเป็นที่มาของสงครามสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬ อีแลม ที่เริ่มต้นในปี 1976 สงครามนี้เป็นไปอย่างนองเลือดและฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศทั้งแง่เศรษฐกิจและพัฒนาประชากร แต่ในที่สุด ชาวทมิฬก็ได้ยอมแพ้ให้กับกองรัฐบาลที่นำโดยนายมหินทรา ราชปักษา ในเดือนพฤษภาคม ปี 2009

ถ้าเรามองโดยผิวเผิน สงครามดังกล่าวเป็นการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติและผู้ที่นับถือศาสนาพุทธและฮินดู แต่ทว่ากลับมีเหตุการณ์ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลาแห่งความขัดแย้งใหม่ขึ้น โดยในปี 1990 ระหว่างสงครามกลางเมือง มีเหตุการณ์คนทมิฬฮินดูได้ขับไล่ชาวมุสลิมกว่า 70,000 คนออกไปจากพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไฟแรกแห่งความไม่พอใจของชาวมุสลิมในศรีลังกา “มันเป็นจุดด่างพร้อยเอามากๆ ในประวัติศาสตร์ของเรา” – M.M. Zuhair อดีตสมาชิกสภาศรีลังกา ผู้เป็นชาวมุสลิม กล่าว

หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุด ชาวศรีลังกาเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ บรรดาผู้นำทางธุรกิจต่างกระตือรือร้นในการนำประเทศสู่โลกตะวันตก ในขณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงโคลัมโบ เริ่มเติบโตและพัฒนามากขึ้น แต่พื้นที่ทางตอนเหนือซึ่งเป็นที่มั่นของชาวทมิฬก็ยังอยู่ในสถานะ “แดนสนธยา” สื่อมวลชนที่เข้าไปในพื้นที่ต้องถูกติดตามและสอบสวนโดยเจ้าที่ตำรวจ สิ่งนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าสันติภาพของศรีลังกานั้นบังเกิดขึ้นจริงแล้วมากน้อยเพียงใด

ประวัติศาสตร์ของศรีลังกามาถึงจุดพลิกผันในเดือนมกราคม 2015 ซึ่งนายมหินทรา ราชปักษา ผู้ครองอำนาจมาอย่างยาวนานและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ รัฐบาลใหม่ของศรีลังกาตั้งใจจะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนกับชาวทมิฬ

Harsha de Silva รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลใหม่กล่าวว่า “ต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติว่าประเทศนี้เป็นของทุกคน และทัศนคตินี้ต้องมาจากทุกภาคส่วนในสังคม ผ่านการให้การศึกษากับเด็กๆ ในแนวคิดที่ว่า เราคือประเทศพหุสังคม และพหุศาสนา เขากล่าวและเสริมว่า “ในขณะเดียวกัน เราต้องให้ชาวศรีลังกาทุกคนภาคภูมิใจในเรื่องนี้ด้วย”

แต่ “เรื่องนี้” ของศรีลังกานั้นกลับยังไม่ชัดเจน เพราะบรรดาผู้นำมองไม่เห็นประโยชน์ในการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาวสิงหลก็ยังเป็นเชื้อชาติที่มีอิทธิพลในสังคมมากกว่าทมิฬ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมและอัตลักษณ์ของพวกเขาก็ถูกลืมเลือนจนแทบไร้คนพูดถึงในสังคม

ระเบิดศรีลังกา, ชาวคริสต์ปากีสถาน
ชาวคริสต์และมุสลิมในประเทศปากีสถานจุดเทียนเพื่ออุทิศให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ระเบิดที่ศรีลังกา ณ โบสถ์ Sacred Heart Cathedral ในเมืองลาฮอร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2019 เหตุการณ์ระเบิดส่งผลให้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นเป็นราว 300 คน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่าเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของประเทศ ภาพถ่ายโดย ARIF ALI, AFP/GETTY

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพชาวพุทธสุดโต่งเข้าไปมีส่วนกับการจลาจลเพื่อต่อต้านชาวมุสลิมในปี 2014 และ 2018 ในครั้งนั้น ชาวมุสลิมศรีลังกาได้กล่าวหาชาวพุทธว่าพยายามบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ด้านชาวพุทธก็กล่าวว่าชาวมุสลิมว่าเป็นผู้ทำลายสถานที่และวัตถุทางศาสนา ไม่มีใครทราบสาเหตุของการปะทะกันในครั้งนั้นอย่างชัดเจน

โรเบิร์ต ดราเปอร์ นักข่าวผู้มีประสบการณ์ในการรายงานข่าวความขัดแย้งในประเทศศรีลังกาของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ให้ความเห็นในบทความของเขาว่า แม้เราจะยังไม่ทราบว่าบุคคลกลุ่มใดที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดหลายแห่งในกรุงโคลัมโบครั้งล่าสุด แต่ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมือง อดีตประธานาธิบดีราชปักษามักกล่าวถึงชาวทมิฬว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งในห้วงยามของการโจมตีในวันอาทิตย์อีสเตอร์นี้ บรรดาสมาชิกครอบครัวของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้มองว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแสวงหาอำนาจอีกครั้ง และถ้าราชปักษาผู้เคยมีแนวทางปราบปรามกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬ อีแลม อย่างนองเลือดได้กลับมาครองอำนาจ ก็จะส่งผลให้วงจรแห่งความรุนแรงของศรีลังกานั้นไม่มีวันสิ้นสุด

“เราจะกลับมาธุรกิจของเราอีกครั้ง และตัดสินใจว่ากลับมาอย่างแข็งแกร่ง” Dileep Mudadeniya รองประธานด้านการตลาดของโรงแรมเครือ Cinnamon ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดในครั้งนี้ กล่าว

โศกนาฏกรรมวันอีสเตอร์ทำให้ศรีลังกามีโอกาสดี แต่ไม่ใช่โอกาสของการตอบโต้ด้วยความรุนแรง, การประกาศว่าจะแก้แค้น, หรือกลับไปสู่เป้าหมายทางธุรกิจดังเช่นที่เคย แต่เป็นโอกาสที่จะได้สร้างประเทศซึ่งเคยแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ขึ้นมาใหม่ และเป็นโอกาสเดียวที่ศรีลังกาจะได้ทบทวนตัวเองเป็นครั้งแรก เพื่อนำพารอยยิ้มกลับมายังประเทศชาติอีกครั้ง


อ่านเพิ่มเติม หายนะแห่งสงครามซีเรีย 

Recommend