การยอมรับตัวตนนักพรตข้ามเพศในเทศกาลกุมภเมลาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

การยอมรับตัวตนนักพรตข้ามเพศในเทศกาลกุมภเมลาอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู

ลักษมี นารายัน ตริปาธี นักกิจกรรมรณรงค์เพื่อคนข้ามเพศนำขบวนทางศาสนาระหว่างพิธีกุมภเมลาประจำปี 2019 เทศกาลทางจิตวิญญาณที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและเป็นการรวมตัวกันของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


“ฉันได้ทำความดีมาตลอดชีวิต เพื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นแน่” – คำกล่าวจากผู้นำกลุ่มนักพรตข้ามเพศ

ภาวิตรา นิมโพราคาร์ (PAVITRA NIMBHORAKAR) กล่าวว่า ในช่วงชีวิตของตลอด 43 ปีที่ผ่านมา เธอไม่เคยได้รับความรักและเคารพในช่วงเวลา 49 วันแห่งเทศกาล กุมภเมลา มากมายเท่าปีนี้มาก่อน

กุมภเมลา เป็นเทศกาลทางจิตวิญญาณของอินเดียที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเทศกาลรวมตัวของมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทศกาลนี้จัดเวียนทุกๆ 3 ปีใน 4 เมือง คือ หริทวาระ (Haridwar) นาสิก (Nashik) อุชเชน (Ujjain) และ อิลลาฮาบาด (Allahabad or Prayagraj) โดยเมืองทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่บรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ คงคา ยมุนา และสรัสวดี ซึ่งตามความเชื่อของศาสนาฮินดู พื้นที่บรรจบกันของแม่น้ำเหล่านี้เป็นสถานที่ซึ่งสสาร (essence) ของความเป็นอมตะกระเด็นออกจากเหยือกศักดิ์สิทธิ์ระหว่างการต่อสู้ระหว่างเทพเจ้ากับปีศาจ เหล่าผู้ศรัทธาราวกว่า 250 ล้านคนที่เข้าร่วมเทศกาลกุมภเมลาเชื่อว่าการได้ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคาในเทศกาลนี้ เป็นการชำระล้างบาปและความชั่วร้ายออกจากร่างกาย

กุมภเมลา
(บน) ภาวิตรา นิมโพราคาร์ ผู้นำกลุ่มคินนาร์ อัคฮาดา รับหน้าที่ดูแลสมาชิกนักพรตฮินดูกว่า 2,500 คนในเทศกาลกุมภเมลา (ล่าง) ลักษมี นารายัน ตริปาธี สวมกอดกับผู้ศรัทธา

ในฐานะที่ภาวิตราเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มนักพรต คินนาร์ อัคฮาดา (Kinnar Akhada) ซึ่งเป็นกลุ่มนักพรตข้ามเพศฮินดูที่ก่อตั้งในปี 2015 โดยลักษมี นารายัน ตริปาธี (Laxmi Narayan Tripathi) เธอได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลงานด้านเอกสารและความสะดวกสบายของสมาชิกกลุ่มที่มีอยู่กว่า 2,500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงข้ามเพศที่เข้าร่วมในเทศกาลกุมภเมลา

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เธอใช้เวลาเพื่อปราศัยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคินนาร์ (kinnars – คนข้ามเพศ) ในศาสนาฮินดู “เราถูกมองว่าเป็น ครึ่งคนครึ่งเทพ ตามคัมภีร์ของศาสนาฮินดู และได้รับพลังเพื่ออวยพรผู้คนจากพระราม” เธอกล่าวกับกลุ่มคนที่มาเยี่ยมเยือนเต็นท์และตั้งใจฟังพวกเธอ

กุมภาเมลา
ริชิกา เควัต อายุ 19 ปี จากเมืองอินโดร์ เตรียมตัวเข้าพิธีจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ shahi snan ซึ่งเป็นพิธีจุ่มน้ำในบริเวณที่แม่น้ำคงคาและยมุนาบรรจบกัน

ตลอดเวลาทั้ง 49 วัน ของเทศกาลปีนี้ที่จัดขึ้นระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ผู้คนราว 20,000 ถึง 30,000 คน รวมตัวกันในเต็นท์ของกลุ่มคินนาร์ อัคฮาดา ผู้คนจากหลายพื้นที่ทั่วอินเดียซึ่งเคยรับรู้เรื่องราวของนักพรตข้ามเพศเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์ยูทูป โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ได้เดินทางมาเพื่อพบและคุยกับพวกเธอในฐานะของ มาตาจี (Mataji-แม่) หรือ มหาราจจี (Maharajii – ผู้รู้) ผู้คนเหล่านั้นเล่าปัญหาให้พวกเธอฟัง เพื่อหวังจะให้ช่วยหาทางออก หรือบางครั้ง พวกเขาก็เพียงแค่อยากให้พวกเธอสัมผัสหรือกอด เพื่อให้ได้รู้สึกถึงพลังของนักบุญจากพวกเธอ ซึ่งผู้คนเหล่านี้คิดว่าเป็นตัวตนของพวกเธอ

นี่เป็นความแตกต่างที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับชีวิตเมื่อก่อนของภาวิตรา ในอดีต เธอถูกล้อเลียน ถูกบรรดาพี่ชายทำร้ายร่างกาย และถูกชาวบ้านข่มเหงในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย แต่เธอพยายามใช้ชีวิตมาจนถึงจุดที่เธอเป็นอยู่ในทุกวันนี้ “ฉันได้ทำความดีมาตลอดชีวิต เพื่อได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นแน่” เธอกล่าวอย่างตื้นตัน

นับตั้งแต่ครั้งโบราณ สมาชิกของกลุ่มนักพรต หรืออัคฮาดาต้องเป็นผู้ชาย ในบางกลุ่มอาจมีนักพรตหญิงเพียง 2-3 คนเป็นสมาชิกเท่านั้น และไม่เคยมีผู้หญิงเป็นผู้นำกลุ่มนักพรตมาก่อน อย่างไรก็ตาม มีนักพรตข้ามเพศที่เพิ่งได้รับการยอมรับเข้าร่วมกลุ่มนักพรต จูนา อัคฮาดา (Juna Akhada) ซึ่งเป็นกลุ่มนักพรตที่ใหญ่และเก่าแก่จากทั้งหมด 13 กลุ่มที่เข้าร่วมและตั้งเต็นท์ในเทศกาลกุมภเมลาของทุกปีเพื่อสวดมนต์ เทศนา และให้พรกับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน การได้เป็นส่วนหนึ่งของจูนา อัคฮาดา ทำให้สมาชิกที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศมีสิทธิที่จะจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ (Shahi snan) ณ วันฤกษ์ดีในจุดที่บรรจบกันของแม่น้ำในเมืองอิลลาฮาบาด ก่อนที่ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ นับล้านคนจะเข้าไปที่แหล่งน้ำ

กุมภเมลา
ภาวิตรา นิมโพราคาร์ ให้พรกับเหล่าผู้แสวงบุญ

ในขณะที่กลุ่มนักบวช คินนาร์ อัคฮาดา ได้เข้าร่วมพิธีกุมภเมลาใน ปี 2016 ที่เมืองอุชเชน สมาชิกของนักบวชถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมการอาบน้ำศักดิ์สิทธิโดยกลุ่มนักบวช ออล อินเดีย อัคฮารา ปาริชาด ซึ่งเป็นกลุ่มนักบวชที่รับหน้าที่จัดการเรื่องการจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นเพียงแค่พื้นที่เล็กๆ เพื่อตั้งแคมป์ของตัวเองในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ เมืองอิลลาฮาบาด พวกเขาก็ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับนักบวชกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่นเต็นท์หรือห้องน้ำส่วนตัว น้ำประปาและไฟฟ้าฟรี แต่ไม่มีรายงานว่าพวกเธอได้รับโอกาสในการจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเมืองนี้ด้วยหรือไม่

ในจำนวน 38,325 คน จากจำนวนประชากรกลุ่มคนข้ามเพศของอินเดียที่มีอยู่ราวครึ่งล้านนั้น เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2019 โดยเป็นการใช้สิทธิในฐานะคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่เคยมีตัวตนในสังคมมาก่อน จนกระทั่งศาลฎีกาอินเดียได้ยอมรับพวกเขาในฐานะเพศที่สามเมื่อเดือนเมษายน ปี 2014

กุมภเมลา
ลักษมี นารายัน ตริปาธี สวดอ้อนวอนต่อพระศิวะขณะกำลังจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำคงคา การจุ่มตัวลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จะช่วยล้างบาป ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับการถูกตราหน้าว่าตราบาปในสังคม การแบ่งแยก การพยายามระบุตัวตน (self – identification) และการถูกคุกคามก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยพระราชบัญญัติคนข้ามเพศ ฉบับปรับปรุงใหม่เมื่อปี 2016 ได้ปฏิเสธสิทธิของคนข้ามเพศในเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข และการจ้างงาน ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้การขอทานและการทำงานค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งที่ชีวิตของคนข้ามเพศต้องประกอบอาชีพเหล่านี้เพื่อเลี้ยงชีพ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินเดีย ชุดปี 2018 รายงานว่า บรรดาคนข้ามเพศกว่าร้อยละ 92 ต้องเลี้ยงชีพเป็นขอทานหรือต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเพศ เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นได้เลย กว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของการศึกษา และกว่าร้อยละ 62 ต้องทุกข์ทรมานจากการถูกทารุณกรรมและถูกคุกคาม และเผชิญหน้ากลุ่มคนที่ไม่ยอมรับหลายต่อหลายครั้ง

นักรณรงค์และผู้ก่อตั้งกลุ่มนักพรต คินนาร์ อัคฮาดา ตรีปาธี กล่าวว่า ศาสนาเป็นวิธีที่สามารถหลอมรวมกลุ่มคนข้ามเพศไปกับสังคมได้

กุมภเมลา
สาธุ หรือชายศักดิ์สิทธิ์ กำลังรวบรวมน้ำจากแม่น้ำคงคาระหว่างเทศกาลกุมภเมลา

อย่างไรก็ตาม ตรีปาธีเองก็ต้องประสบกับความไม่พอใจจากกลุ่ม LGBTQ เมื่อเธอสนับสนุนการสร้างวัดฮินดูในเมืองอโยธยา ณ จุดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระราม อย่างไรก็ตาม วัดดังกล่าวเป็นวัดของนักบวชฮินดูสายปฏิบัติแบบดั้งเดิม ซึ่งการก่อสร้างวัดได้ทำลายมัสยิดที่ตั้งอยู่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1992 การทำลายมัสยิดในครั้งนั้นทำให้เกิดการจลาจลของกลุ่มนิกายย่อยของศาสนาหลายกลุ่ม ที่ลงเอยด้วยสังหารคนไปราว 2,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม และเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กลุ่มคนข้ามเพศได้ร่างแถลงการณ์เพื่อประณามแนวคิดทางการเมืองของตรีปาธีและการสนับสนุนของในเรื่องการก่อสร้างวัดฮินดูแห่งนั้นซึ่งถือว่าเป็น “การกระตุ้นความเกลียดชังต่อสังคมอย่างชัดแจ้ง”

ราชิ บาดาเลีย คูมาร์ นักข่าวพลเมืองจากเมืองอิลลาฮาบาด ที่มาทำข่าวในพิธีกุมภเมลาในครั้งนี้ กล่าวว่าศาสนาได้ทำให้เหล่าคนข้ามเพศได้รับการเคารพมากขึ้น “ผู้คนมองคนข้ามเพศว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งต่างจากคนที่เต้นอยู่ตามถนน หรือขอทาน” เธอกล่าว

“แม้ศาสนาอาจดูเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ก็เป็นแรงสนับสนุนเพียงอย่างเดียวสำหรับกลุ่มคนที่อ่อนแอในสังคม” อโชก โรว์ คาวี ประธานกองทุนฮัมซาฟาร์ องค์กรของอินเดียที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชาว LGBT และบรรณาธิการของ บอมเบย์ โดสต์ นิตยสารของชาว LGBT เล่มแรกของอินเดีย กล่าวและเสริมว่า “มันเป็นเรื่องน่าสรรเสริญถ้ามีบางคนที่สามารถใช้ศาสนาเพื่อลบตราบาปและหลอมรวมกลุ่มคนข้ามเพศในสังคมได้”

เรื่อง PRITI SALIAN
ภาพ ISMAIL FERDOUS


อ่านเพิ่มเติม สายธารแห่งศรัทธาชนในพิธีกุมภ์เมลา 

Recommend