ประชากรโลก มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตนานขึ้น ในขณะเดียวกันมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใน สังคมผู้สูงอายุ
ตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ประชากรโลกมักมีอายุเฉลี่ยน้อยลงอยู่เสมอ ทว่า นับตั้งแต่วันประชากรโลก เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปกำลังมีจำนวนมากว่าเด็กอายุ 5 ขวบ
วันประชากรโลกก่อตั้งโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในปี 1989 เพื่อส่งเสริมให้ประเด็นเรื่องประชากรโลกเป็นที่สนใจ โดยการประเด็นเรื่องประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพียงเรื่องเดียว เนื่องจาก เรื่องโครงสร้างทางอายุของประชากรก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
การมีอายุยืนยาวขึ้นของประชากรโลก เป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของมนุษย์ แต่การที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้สร้างความกดดันในเรื่องที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นเดียวกัน โดยจำนวนประชากรโลกกำลังดำเนินไปในลักษณะที่กลุ่มคนสองช่วงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นในแบบที่สวนทางกัน โดยในปี 2050 อัตราส่วนของประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 มากกว่าเด็กอายุ 5 ขวบถึงสองเท่า
“ปีรามิดประชากรรูปทรงสามเหลี่ยม (คนอายุน้อยเป็นฐาน และคนอายุมากเป็นฐานยอดที่มีจำนวนน้อย) คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเมื่อครั้งอดีต แต่ตอนนี้มันกลับมีรูปร่างเป็นทรงถังน้ำ (ปากถังด้านบนกว้าง-ปลายถังด้านล่างแคบ)” โทชิโกะ คาเนดะ แห่งสำนักงานแหล่งข้อมูลอ้างอิงประชากร (The Population Reference Bureau) กล่าวว่า ภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลง ประกอบกับอายุคาดเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลักษณะประชากรเช่นนี้
กราฟประชากรรูปปีรามิดช่วยให้นักประชากรศาสตร์สามารถแสดงการกระจายตัวของช่วงอายุ กราฟนี้แสดงให้เห็นว่า จำนวนร้อยละของประชากรกำลังตกลงในทุกกลุ่ม โดยกราฟสามเหลี่ยม (หัวกลับ) แบบกราฟถังน้ำแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของประชากรนั้นช้าลง
ถึงเวลาเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง?
ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เป็นประเทศสูงอายุมาราวร้อยปีแล้ว ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ กำลังจะเป็นประเทศที่แก่ลงก่อนจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย คาเนดะอธิบาย หลายประเทศในแถบละตินอเมริกาและเอเชียกำลังแก่เร็วขึ้น และมีเวลาและทรัพยากรน้อยนิดที่จะเตรียมระบบเงินบำนาญและระบบสุขภาพ
อะไรคือผลลัพธ์ที่มาจากประชากรโลกที่แก่ลง สิ่งหนึ่งคือการดูแลผู้สูงอายุจะมีราคาแพงกว่าการดูแลผู้ที่มีอายุน้อย จึงก่อให้เกิดความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นว่า จะมีการจัดหาระบบการดูแลระยะยาว ระบบการจ่ายเงินบำนาญ และรักษาประชากรวัยแรงงานได้อย่างไร โดยในภูมิภาคที่พัฒนาแล้วเช่นยุโรป อันเป็นภูมิภาคที่ประชากรที่อายุมากกว่า 50 ปี ร้อยละ 10 ไม่มีบุตร การดูแลผู้สูงอายุคือความวิตกกังวลหลัก
เทรนผู้สูงอายุนั้นแพร่หลายในภูมิภาคเช่นญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม แม้ประชากรในยุคเบบี้บูมเมอร์ของสหรัฐอเมริกาจะเริ่มเข้าสู่อายุ 65 ปีในปี 2011 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่ดูเยาว์วัยกว่าเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ โดยส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรกลุ่มผู้อพยพที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประชากรทั่วไป
“ไม่ใช่ทุกประเทศที่สามารถพลิกกลับอัตราการลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์ได้ แม้ว่ารัฐบาลจะร้องขอประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้นอย่างที่ทำในยุโรปหรือญี่ปุ่น” คาเนดะกล่าวและเสริมว่า “เทรนผู้สูงอายุยังคงดำเนินอยู่เรื่อยไป”
อัตราการเจริญพันธุ์ยังคงใกล้หรือต่ำกว่าระดับที่ทดแทนได้ในทุกภูมิภาคบนโลกยกเว้นทวีปแอฟริกา ซึ่งมีสถานะการพัฒนาเศรษฐกิจในภาวะที่ซบเซา การเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงที่มีการพัฒนาอย่างจำกัด และการเพิ่มขึ้นของอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
การดำเนินการของรัฐบาล
ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศมีการใช้วิธีการที่ตรงกันข้ามกับประเทศที่กำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุดังเช่นญี่ปุ่นและอิตาลีโดยการออกมาตรการกำจัดการเพิ่มประชากร ประเทศจีนและอินเดียได้มีการริเริ่มใช้การวางแผนครอบครัวให้ประชากรในช่วงทศวรรษ 1970 แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศจีนได้รับผลกระทบโดยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม คาเนดะกล่าวว่า อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงสามารถให้ผลในเชิงบวกเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ลดลง แต่ประชากรยังไม่อยู่ในภาวะสูงอายุมากนัก รัฐบาลสามารถใช้จ่ายงบประมาณในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือการศึกษาในระดับสูงได้ และจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในอีกทางหนึ่ง โดยทั้งประเทศไทยและเกาหลีใต้ไขว่คว้าโอกาสนี้ไว้ได้ในช่วงที่มีโครงสร้างทางประชากรในแบบอุดมคตินี้
(ภาพปก) เนื่องจากลักษณะประชากรทั่วโลกเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ภาพถ่ายโดย JOEL SARTORE, NAT GEO IMAGE COLLECTION