พูดคุยพนักงานควบคุมรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ หญิง 2 คน ที่เพิ่งผ่านการฝึกฝนและรับตำแหน่งไม่กี่เดือน กับเรื่องราว “อาชีพในฝัน” ของพวกเธอ
“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไรจ๊ะ”
ถ้าในยุคที่ผมยังเป็นเด็กน้อย เราก็มักตอบคำถามยอดฮิตของผู้ใหญ่นี้ว่า “หนูอยากเป็นทหาร… ตำรวจ… หมอ… พยาบาล” กลับกันถ้ามาถามเด็กๆในยุคนี้คำตอบอาจต่างไป ด้วยเรื่องของยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่าน
เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเองได้ทำความรู้จักอาชีพหนึ่ง นั่นคือ “พนักงานควบคุมรถไฟฟ้า” พูดง่ายๆก็คือคนขับรถไฟฟ้านั่นแหละ ผมมองว่านี่เป็นอาชีพหนึ่งที่กำลังเติบโตในบ้านเรา เพียงแต่ไม่ได้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ทำให้น้องๆที่เรียนจบแล้ว กำลังจะเรียนจบ หรือน้องๆที่ยังอยู่ในวัยฝันหวานยังไม่ค่อยรู้ว่ามีอาชีพนี้อยู่ในบ้านเรา
ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ แนน – นิตยาวรรณ ชื่นชม และ บิว – ธิดารัตน์ งามตา 2 สาวตัวเล็กๆที่ทำหน้าที่เป็นพนักงานควบคุมรถไฟฟ้า อาชีพนี้มีพนักงานหญิงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่น้องทั้งสองคนนี้ถือว่าเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ด้วยชั่วโมงการทำงานเพียงแค่สองเดือนเท่านั้น ทั้งคู่เป็นพนักงานควบคุมรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งจัดว่าเป็นขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งเร็วที่สุดในเมืองไทย เพราะเป็นขบวนที่วิ่งระหว่างเมือง จึงจำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง
ผมนัดพบทั้ง 2 สาวที่สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน 2 ร่างบอบบางเดินเข้ามาทักทายด้วยรอยยิ้มอันอ่อนหวาน เมื่อหาที่นั่งได้แล้ว บทสนทนาระหว่างแนน บิว และผมก็เริ่มขึ้น
เรียนจบอะไรมาถึงได้เข้ามาทำงานนี้
บิว : หนูจบวิศวกรรมเหมืองแร่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตอนแรกก็ทำงานอื่นก่อนจนเพื่อนที่ทำงานเก่าด้วยกันลาออกมาทำอยู่รถไฟฟ้า เขาบอกว่างานนี้ดีนะ น่าลอง ผ่านไประยะหนึ่งหนูก็เริ่มหาข้อมูลแล้วมาสมัคร โดยเพื่อนที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้เป็นคนหาข้อมูลให้ว่าเขารับผู้หญิงด้วย หนูจึงเริ่มสนใจรถไฟฟ้าแบบจริงจัง
แนน : ส่วนหนูเรียนจบบรรณารักษ์จากมหาวิทยาลัยบรูพา ก็ต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะค่ะ เพราะเราเรียนเกี่ยวกับด้านเอกสารมามาก แต่ด้วยใจที่สู้และหวังไว้สูง จึงต้องพยายามมากกว่าคนอื่น อีกอย่างเริ่มมาจากหนูใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำและคิดอยู่เสมอว่าอยากทำงานเกี่ยวกับรถไฟฟ้า ช่วงที่เรียนอยู่ก็คิดว่ารถไฟฟ้าในบ้านเรากำลังเปิดอีกหลายเส้นทาง เลยอยากมาลองทำสายอาชีพนี้ แล้วมีเพื่อนทำเกี่ยวกับรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนคนนี้ด้วย จึงอยากมาเป็นคนขับรถไฟฟ้า ลองมาสมัครดู ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ เพราะคนมาสมัครเยอะโดยเฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงมีแค่ 2 คนเอง พอได้รับการคัดเลือกก็ดีใจมากค่ะ
เคยฝันไหมว่าจะได้มาทำงานนี้
แนน : คิดแค่ว่าอยากทำงานที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า แต่ไม่คิดว่าจะมาเป็นถึงคนขับรถไฟฟ้า
บิว : ไม่เคยคิดเลยค่ะ อาจเป็นเพราะว่าหนูเป็นคนต่างจังหวัดด้วยและไม่เคยเห็นรถไฟฟ้า คิดแค่อยากเป็นวิศวกร
ต้องพยายามแค่ไหนถึงจะได้อยู่ตรงจุดนี้
แนน : คนเรามีศักยภาพไม่เหมือนกัน อย่างหนูต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่น เพราะรู้ว่าตัวเองมีข้อเสียตรงไหนที่อาจยังไม่เหมาะกับงานนี้ หนูคิดว่ามันไม่เกี่ยวที่ว่าใครจะฉลาดกว่าหรือเรียนเก่งกว่า แต่เป็นเรื่องข้อดีข้อเสียของแต่ละบุคคลมากกว่าที่จะเหมาะกับงานนี้หรือไม่ ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราจะต้องพยายามและพัฒนาให้ได้ดีและมากกว่าคนอื่น เพราะเรารู้จักตัวเองมากกว่าที่คนอื่นจะรู้จักตัวเรา
บิว : หนูจะเครียดมากกว่า เพราะมาทีหลังเพื่อนๆ เขาเรียนกันไปก่อนแล้วเดือนหนึ่ง ครูก็บอกว่าเพื่อนรออยู่ มันเป็นความกดดันมากกว่า เราต้องทบทวนความรู้ตลอดเวลา เรียนเสร็จกลับบ้านอ่านชีตต่อ ครูถามต้องตอบได้ เราต้องเร่งตัวเราเองให้ทันเพื่อน หนูจึงต้องพยายามทบทวนมากกว่าคนอื่นนิดหนึ่ง
หลังประกาศผลว่าได้เข้าทำงานขับรถไฟฟ้าแล้วต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
แนน : เรียนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอร์พอร์ตลิงก์ เรียนเกี่ยวกับตัวรถไฟฟ้า การแก้ปัญหาเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและกรณีรถไฟฟ้าเสียเราจะต้องทำอะไรบ้าง
บิว : เรียนเหมือนกันเลยค่ะ ใช้เวลาเรียนและสอบทั้งหมด 6 เดือน เรียนทฤษฎีพร้อมกับปฏิบัติ ก่อนที่จะขับจริงจะมีสอนการเตรียมรถให้พร้อมก่อนให้บริการ ต้องสอบให้ผ่านตรงจุดนี้ก่อน ถึงจะได้ขับรถไฟฟ้าให้บริการ และถ้าสอบไม่ผ่านนั่นคือเราจะไม่ได้ทำงานตรงนี้เลย
แอร์พอร์ตลิงก์ต่างจากรถไฟฟ้า BTS และ MRT อย่างไร
แนน : แอร์พอร์ตลิงก์เป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มีความเร็วเฉลี่ย 125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ BTS และ MRT ใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้กระแสไฟฟ้าจากราง ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ใช้กระแสไฟฟ้าจากเสาด้านบนซึ่งมีความเสี่ยงแตกต่างกัน
ครอบครัวแปลกใจไหมที่ลูกสาวมาขับรถไฟฟ้า
บิว : หนูไม่ได้บอกรายละเอียด บอกเพียงแต่ว่าทำงานที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ไม่ได้บอกว่าทำตำแหน่งอะไร ที่บ้านเลยเฉยๆ แต่จะเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่ามากกว่าที่ตื่นเต้นกับงานของหนู
แนน : ไม่แปลกใจค่ะ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องทำที่นี่ คุณแม่สนับสนุนหนูในทุกเรื่อง
ทุกวันนี้รู้สึกเหมือนได้ทำงานในฝันไหม
บิว : มันเกินฝันค่ะ ตอนนี้เรายังรู้สึกว่าเราทำอะไรเนี่ย อย่างเวลากลับบ้านที่ต่างจังหวัดใครๆเจอก็ถามหนูว่าทำงานอะไร พอบอกไปทุกคนล้วนตื่นเต้นไปกับเรา
คิดว่าความเป็นผู้หญิงกับผู้ชายในการทำงานตรงนี้มีความต่างกันไหม
บิว : ต่างค่ะ ในเรื่องการใช้แรง อย่างเช่นการเปิด-ปิดประตูเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน บางครั้งมันต้องเปิดด้วยแรงคน เราต้องออกแรงมากกว่าผู้ชาย เพราะสรีระของเราเล็กกว่า
แนน : เราต้องฝึกร่างกายให้พร้อมและแข็งแรงอยู่เสมอ ที่ขาดไม่ได้คือฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง เรารู้ว่าสรีระของเราเล็ก ครูก็จะบอกให้ไปออกกำลังกาย ส่วนเรื่องจิตใจ ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ มันก็ต้องทำได้
2 เดือนกับการปฏิบัติงานจริง ได้อะไรบ้าง
บิว : หนูมีสมาธิขึ้นและนิ่งขึ้นเยอะเวลาขับรถส่วนตัว จากที่เป็นคนอารมณ์ร้อน ทุกวันนี้มีสติและสมาธิมากกว่าเดิมเยอะเลย
แนน : ก่อนหน้านี้หนูคิดในใจเลยว่าจะหางานใหม่ เพราะตอนปฏิบัติจริงมันกดดันมากๆ มันดิ่งสุดๆเลยในชีวิต คิดถึงครอบครัว บางทีเรากลับบ้านก็เอาความทุกข์ในใจเรากลับไปด้วย คนรอบข้างเห็นก็ไม่สบายใจ จนวันหนึ่งคุยกับตัวเองในกระจกว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงท้อ จนได้คำตอบว่าเราจะต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร บอกกับตัวเองว่าเราจะไม่ยอมแพ้ในสิ่งที่เราหวังไว้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามันสอนให้หนูสู้และไม่ยอมแพ้ หนูถึงได้มีวันนี้ที่เราหวังและฝันไว้
ความรู้สึกในวันแรกที่ขับรับผู้โดยสาร
บิว : ครั้งแรกที่ต้องบินเดี่ยวโดยไม่มีพี่เลี้ยงเป็นวันที่กดดันมาก ตื่นเต้นตลอด สุดท้ายเลยจุดจอดไปนิดหนึ่ง โชคดีที่ประตูยังเปิดได้ พอเสร็จงานก็ต้องเขียนรายงาน พอรอบสองรอบสามเริ่มคลายความกังวลลงไปได้เยอะพอควร
แนน : ตอนนั้นหนูเกร็งไปหมด ทำอะไรไม่ถูกว่าต้องทำอันไหนก่อนหลัง กลัวผิดพลาดไปหมด และรู้สึกว่าตัวเองช้ามาก แต่พอวิ่งได้ไม่กี่เที่ยวก็เริ่มคุ้นเคย ต้องใช้เวลาปรับตัว
หน้าที่ของผู้ควบคุมรถไฟฟ้าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน
แนน : รับรถให้ตรงตามตารางงานที่เราได้รับมอบหมายมาว่าในวันนั้นเราลงงานกี่โมง ในตารางงานจะบอกหมดว่าเราจะต้องรับรถขบวนไหน ฝั่งไหน แล้วขึ้นไปรับให้ตรงตามเวลาที่กำหนด และส่งต่อข้อมูลกับเพื่อนร่วมงานที่เราไปรับต่อว่ารถคันนี้ปกติดีไหม หรือมีอะไรบกพร่องตรงจุดไหน
บิว : จากนั้นเข้าประจำที่และดูความปลอดภัยของผู้โดยสารว่าเข้าภายในตัวขบวนรถหมดหรือยัง และมอง CCTV ประกอบการตัดสินใจในการปิดประตูรถ พอขบวนรถเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานีก็จะดูความเรียบร้อยของเส้นทางและคอยรายงานต้นทางว่าขบวนรถอยู่ตรงไหน รถคันนี้ใครขับ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ในช่วงที่พักเบรก ก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับรถตลอด
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้หญิงตัวเล็กๆที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรใหญ่ๆในเมืองหลวงของประเทศไทย พวกเธออาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่พวกเธอก็มีความฝันและพยายามตามหาความฝันของตัวเองโดยไม่ปล่อยให้เวลาและโอกาสหลุดมือไป พอได้ฟังน้องทั้งสองคนแล้วผมก็รู้สึกว่าอย่างน้อยในอนาคตพนักงานขับรถไฟฟ้าอาจเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆอีกหลายคน
เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล