พญานาค จากป่าดงดิบสู่วัฒนธรรมร่วมลุ่มแม่น้ำโขง

พญานาค จากป่าดงดิบสู่วัฒนธรรมร่วมลุ่มแม่น้ำโขง

พญานาค จากป่าดงดิบสู่วัฒนธรรมร่วมลุ่มแม่น้ำโขง

เรื่องราวของ พญานาค มีมาก่อนพระพุทธศาสนาด้วยซ้ำไป บางคนเชื่อว่าพญานาคมีตัวตนอยู่จริง บ้างก็บอกว่าเป็นเรื่องสมมุติที่แต่งกันขึ้นมา แม้ไม่มีการพิสูจน์ใดที่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ พญานาคเกี่ยวพันกับความรู้สึก ความศรัทธา ความนับถือ และความเกรงกลัว ของผู้คน โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ แต่ละประเทศก็มีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคแตกต่างทั้งคุณลักษณะและคุณสมบัติ

ที่มาตำนานพญานาค จากป่าดงดิบ หรือลุ่มน้ำโขง

ตำนานพญานาคมีต้นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย อาจเป็นเพราะภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าดงดิบอันกว้างใหญ่ ทำให้มีงูนานาชนิดชุกชุม และด้วยพิษอันร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้นับถืองูมาเนิ่นนาน และขยายไปสู่การนับถืองูใหญ่หรือพญานาค ฟากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีตำนานพญานาคแพร่หลายกว่า เชื่อกันว่าพญานาคมีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง จากการพบรอยแปลกประหลาดคล้ายรอยเลื้อยของงูขนาดใหญ่ ในช่วงวันออกพรรษา

ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์  พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่างๆบันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย พญานาคแปลงกายได้ ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไรก็ได้ แต่ในสภาวะ 4 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างพญานาคกับพญานาค และ ตอนตาย ร่างจะกลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม

พญานาค

อิทธิพลความเชื่อพญานาคส่งอิทธิพลมายังดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องพญานาคก็ได้ผสมกลมกลืน และได้รับการรวบรวมกับความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นจนทำให้เกิดความเชื่อและตำนานนิทานปรัมปราต่างๆ ขึ้นอีกมากมาย จนประเทศแถบอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ทั้งไทย ลาว กัมพูชา และพม่า ต่างมีคติความเชื่อเกี่ยวกับการบูชางูใหญ่ หรือ ‘พญานาค’ ใกล้เคียงกันในความเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา ตรงข้ามกับชาวตะวันตก ที่ถือว่าพญานาค หรืองูใหญ่เป็นตัวแทนของกิเลส เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย

พญานาค ความเชื่อยิ่งใหญ่สะท้อนชีวิตในกัมพูชา

จากนครวัดถึงตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการต่างๆ สังคมกัมพูชายกย่องพญานาคมาแต่อดีต เชื่อว่าพญานาคเป็นบรรพบุรุษและผู้สร้างเมืองให้แก่พวกเขา เห็นได้จากศิลปะโบราณ ตั้งแต่ภาพสลักเล่าเรื่อง และองค์ประกอบของศาสนสถาน เช่น บันได แม้แต่ทะเลสาบเขมรกลางกรุงพนมเปญก็มีตำนานกล่าวว่า พญานาคเป็นผู้ขุดให้และคอยปกป้องคุ้มครองชาวเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครวัด และบายน มีศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพญานาคมากเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่น

ปราสาทบากอง ซึ่งสร้างขึ้นในแผ่นดินของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มีการสร้างบันไดนาคไว้ตรงบริเวณทางเข้าปราสาท หรือบริเวณปราสาทธม เกาะแกร์มีการสร้างสะพานนาคเลื้อยอยู่บนพื้นดินบริเวณทางเข้าปราสาท เป็นต้น

การสร้างสะพานนาคแสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของช่างเขมร ที่นอกจากจะทำให้เกิดความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ตามคติจักรวาลวิทยาแล้ว ยังส่งผลดีในด้านชลประทานอีกด้วย

ปราสาทหินของกัมพูชาที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ มักปรากฏภาพสลักที่เกี่ยวข้องกับพญานาคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพสลักตอน ‘พระกฤษณะปราบนาคกาลิยะ’ เนื่องจากในยุคนั้น คนกัมพูชามักวิตกเรื่องการขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภค หรือทำการเกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้จึงต้องสลักภาพดังกล่าวไว้ด้วยหวังพึ่งพลังอำนาจของพระกฤษณะ หลังจากที่พระกฤษณะสามารถเอาชนะนาคกาลิยะได้แล้ว เหล่าโคบาลจึงสามารถใช้น้ำได้ตามปรกติ คนเขมรสมัยก่อนจึงเชื่อว่า ภาพสลักดังกล่าวจะช่วยทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ภาพดังกล่าวได้รับการสลักขึ้นเป็นจำนวนมาก

พญานาค

นอกจากนี้ ชาวกัมพูชายังให้ความเคารพพญานาคในฐานะบรรพบุรุษ ตามตำนานการเกิดชนชาติเขมร เรื่อง ‘พระทองนางนาค’ที่เล่าว่า กษัตริย์ต่างถิ่นนาม พระทอง ล่องเรือมาจากแดนไกลจนมาพบกับ นางนาคโสมา ต่อมาพระทองได้นางนาคเป็นชายา ฝ่ายพญานาคผู้เป็นพระสัสสุระได้สูบน้ำทะเลออกจนหมด เกิดเป็นแผ่นดินผุดขึ้นมานามว่า ดินแดนโคกโธลก เนื่องจากเหนือแผ่นดินนั้นมีต้นหมัน งอกขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง พญานาคได้ยกดินแดนนั้นให้เป็นของขวัญแต่งงาน ซึ่งต่อมาดินแดนนี้ได้กลายเป็นประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน และลูกหลานของพระทองกับนางนาคก็ได้กลายมาเป็นบรรพบุรุษของชาวกัมพูชา

พญานาคถูกยกย่องเป็นสัตว์สูงส่งตามคติศาสนาพราหมณ์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบลักษณะดังกล่าวในศาสนาพราหมณ์ของประเทศอินเดีย ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์ในกัมพูชาเสื่อมลง พุทธศาสนานิกายเถรวาทรุ่งเรืองขึ้น พญานาคในความเชื่อดั้งเดิมก็ได้เข้าไปผสมผสานกับพุทธศาสนาไปโดยปริยาย

พญานาคในพุทธศาสนา

ในพุทธประวัติ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา วันหนึ่งได้เสด็จไปประทับ ณใต้ร่มไม้จิก ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วันโดยมีฝนตกตลอดเวลาขณะนั้นได้มีพญานาคชื่อมุจลินทร์ เข้ามาเฝ้าพระองค์ โดยขดตัว 7รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกป้องพระองค์ไว้ เพื่อกันฝน และลมมิให้มาถูกพระวรกายของพระพุทธเจ้า เมื่อฝนหายแล้วพญานาคมุจลินทร์ได้คลายลำตัวออก แปลงร่างเป็นชายหนุ่มยืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ด้วยความศรัทธา ความเชื่อดังกล่าวนี้ เป็นที่มาของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก

พญานาค

ในเวลาต่อมา โดยสร้างเป็นรูปลักษณ์ที่พระพุทธองค์ ประทับนั่งอยู่บนตัวพญานาค มีเศียรพญานาคคอยปรกองค์ท่านไว้ จนถือกันว่าพญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดานั่นเอง กาลต่อมา มีพญานาคตนหนึ่งมานั่งฟังธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงได้แปลงกายเป็นมนุษย์มาขอบวชเป็นพระภิกษุ กับพระองค์จนสำเร็จ วันหนึ่งเมื่อจำวัดอยู่ได้กลายร่างคืนกลับเป็นพญานาค ภิกษุรูปอื่นไปเห็นเข้า จึงไปทูลแก่พระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงให้พระภิกษุนาคองค์นั้นสึกออกไป นาคผิดหวังมาก จึงขอถวายคำว่า“นาค” ไว้ใช้เรียกผู้ที่เข้ามาขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อไปเพื่อเป็นอนุสรณ์ในความศรัทธาของตนจากนั้นมาพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไม่ให้สัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นนาค ครุฑหรือสัตว์อื่นๆ เข้ามาขอบวชอีก และก่อนที่อุปัชฌาย์จะอุปสมบทให้แก่ผู้ใดก็ตาม จะต้องถามอันตรายิกธรรม หรือข้อขัดข้องที่จะทำให้ผู้นั้นบวชเป็นพระภิกษุไม่ได้ รวม 8 ข้อเสียก่อนหนึ่งในนั้นคือ ถามว่า  ท่านเป็นมนุษย์หรือเปล่า จนเป็นข้อปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

ในทศชาติชาดกมีเรื่องราวว่า พระพุทธองค์ทรงเสวยชาติเป็นพญานาคถึง 2 พระชาติ คือ พญานาคภูริทัตตนาคราช และพญานาคจำปานาคราช ก่อนที่จะมาทรงถือกำเนิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พญานาคที่เกี่ยงข้องในพุทธประวัติก็คือ เมื่อหลังการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ในสัปดาห์ที่ 4 กาลนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่สระมุจจลินท์ ก็มีฝนตกลงมาอย่างหนัก พญานาคมุจจลินท์จึงได้ขึ้นมาจากสระแล้วขนดกาย 7 รอบ แผ่พังพานเหนือพระเศียรเพื่อป้องกันลมฝนมนต้องพระวรกาย จึงเป็นต้นกำเนิดพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นด้วย

พญานาค

พญานาคในแดนอีสานและเหนือของไทย

พญานาค เป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลต่อชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงไทย-ลาว เรื่องพญานาคได้ปรากฏในวรรณกรรมปรัมปรา ความเชื่อ พิธีกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วิถีชีวิต และจิตรกรรม ปัจจุบันความเชื่อเรื่องพญานาคนับเป็นกระแสความนิยม และมีการนับถือบูชาที่เพิ่มขึ้นจนทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน เนื่องจากมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดกับแม่น้ำโขง

นาคล้วนมีส่วนร่วมในตำนานอีสานอย่างชัดเจน เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการเคลื่อนตัวของพญานาค รวมถึง บั้งไฟพญานาค โดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ดบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปีและเนื่องจากเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ดังนั้นเมื่อชาวนาจะทำพิธีแรกไถนา จึงต้องดูวัน เดือน ปี และทิศที่จะบ่ายหน้าควายเพื่อไม้ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกร็ดนาค ไม่อย่างนั้นการทำนาจะเกิดอุปสรรคขึ้น

จังหวัดหนองคาย ถูกเรียกขานในอีกนามหนึ่งว่า “นาคานคร” หมายถึง เมืองแห่งพญานาค ที่มีประวัติศาสตร์มีตำนาน เรื่องราวเล่าขาน สถาปัตยกรรม โบราณสถาน วัดวาอารามที่ถูกจารจารึกไว้ว่าเกี่ยวพันกับพญานาค มากที่สุด

พญานาค

แม่น้ำโขงที่เริ่มต้นจากอำเภอสังคม ไหลผ่านศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ ตัวเมือง โพนพิสัย รัตนวาปี ปากคาด ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรนั้น ชาวอีสานในแถบลุ่มแม่น้ำโขงต่างมีความเชื่อว่า แม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของพญานาครวมถึงตำนานอัศจรรย์แห่งบั้งไฟพญานาค ในวันออกพรรษา ทุกวันขึ้น15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2565 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดานาน 3 เดือน เมื่อพระองค์เสด็จกลับลงมา เหล่าพญานาคในแม่น้ำโขงต่างชื่นชมโสมนัสพร้อมใจกันจุดบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธองค์ บั้งไฟพญานาคจึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันอัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นเฉพาะในเขตจังหวัดหนองคาย

พญานาค

นอกจากนั้นชาวหนองคายยังเชื่อว่า มีเมืองบาดาลของพญานาคตั้งอยู่ในเขตอำเภอโพนพิสัย โดยตั้งอยู่ใต้แม่น้ำโขงลึกลงไป 1โยชน์ มีปราสาทราชวังที่วิจิตรงดงามอยู่ 7 ชั้น เรียงซ้อนกันอยู่ อำเภอโพนพิสัยจึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนนับหมื่น จากทั่วสารทิศที่แห่แหนไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคกันอย่างล้นหลาม หลังพระอาทิตย์ตกดิน จะปรากฏลูกไฟสีแดงอมชมพู  ไม่มีเสียง ไม่มีควันพุ่งทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้า ด้วยความสูงกว่า 100 เมตร จำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป ปรากฎการณ์อันแสนอัศจรรย์นี้ ร่ำลือระบือไกลไปทั่วโลก ในแต่ละปี ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศต่างมุ่งมั่นเดินทางมาเพื่อชมปรากฏการณ์เร้นลับนี้ ซึ่งยังคงหาข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้

ในภาคเหนือ ก็มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติ ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือ เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง

ดินแดนล้านนา พญานาคมีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (มะ–กะ–ระ-คา-ยะ-นาค ) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์มกรเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะภายนอกจะผสมระหว่างจระเข้กับพญานาค กล่าวคือ มีลำตัวยาวเหยียดคล้ายพญานาค แต่มีขายื่นออกมาจากลำตัว และส่วนหัวที่คายพญานาคออกมานั้นเป็นปากจระเข้ คนโบราณจึงมักนำมกรไปเฝ้าอยู่ตามเชิงบันไดวัด และที่สำคัญคือมีคนจำนวนไม่น้อยสับสนคิดว่า “ตัวมอม” เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับตัว “มกร” หรือ “เหรา” (เห-รา)ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถานในภาคเหนือ แต่หากพิจารณาลักษณะภายนอกของมกรแล้วจะพบว่ามีลักษณะแตกต่างกัน

พญานาค

พญานาค กายภาพ และวิมานอาศัย

พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่าที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อนๆ กัน  พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขึ้นลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้นๆ

พญานาค มีพิษสงร้ายแรง สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิดและพญานาคต้องคายพิษทุกๆ 15 วัน สัตว์มีพิษอื่นๆ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง ฯลฯต่างได้รับอานิสงส์ ความมีพิษมาจากพญานาคแทบทั้งสิ้น พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆได้ แปลงกายเป็นมนุษย์แล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้เมื่อพญานาคตัวเมียตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่ มีทั้งพันธุ์ที่มีเศียรเดียวพญานาคสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ถ้วนทั่ว ตั้งแต่ใต้บาดาล โลกมนุษย์ จนถึงสรวงสวรรค์

ในปัจจุบันผู้คนทั่วทุกภูมิภาคต่างนิยมเดินทางไปกราบไหว้สักการะพญานาคตามสถานที่ต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เช่น ที่คำชะโนด จ.อุดรธานี และ ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬกันอย่างเนืองแน่น

ถึงตอนนี้อาจไม่สำคัญว่าพญานาคเป็นเพียงตำนาน หรือมีอยู่จริง แต่ที่แน่ๆ เป็นความเชื่อเหนียวแน่นของผู้ที่มีศรัทธาทั้งในไทยและในภูมิภาคนี้ก็เป็นของจริง พญานาคจึงฝังแน่นอยู่ในศิลปวัฒนธรรม ในธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับศรัทธา หากใช้ให้เป็น สร้างสรรค์ให้ดี นี่อาจเป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ระดับภูมิภาคได้เลย

เรื่อง : เจนจบ ยิ่งสุมล

ภาพ:อิสรชน พงไพร


อ่านเพิ่มเติม นาค มาจากไหน ต้นกำเนิดตำนานนาค บรรพบุรุษแห่งลุ่มน้ำโขง

Recommend