NGTHAI รีวิวหนัง: The Cave นางนอน บันทึกภารกิจช่วยชีวิตระดับโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

NGTHAI รีวิวหนัง: The Cave นางนอน บันทึกภารกิจช่วยชีวิตระดับโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

บทรีวิวภาพยนตร์เรื่อง The Cave นางนอน ซึ่งบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ความร่วมมือในการช่วยชีวิตอันน่าประทับใจจากผู้คนทั่วโลกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ชวนย้อนพิจารณาถึงสังคมไทยที่เป็นอยู่

หลังจากปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ที่ประสบภัยติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ. เชียงราย เมื่อเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2561 ซึ่งระดมคนนับหมื่นจากทั่วโลกและเป็นที่จับตามองจากคนทั้งโลกจบไป ก็มีบริษัทภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติมากมายแสดงความสนใจว่าอยากนำเหตุการณ์ช่วยชีวิตที่เปรียบเสมือนการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์

เวลาผ่านไปราว 1 ปี มีการเริ่มฉายภาพยนตร์ The cave นางนอน โดยผู้กำกับ ทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ลูกครึ่งไทย-ไอริช ที่มีผลงานการกำกับภาพยนตร์ไทยเรื่อง ศพไม่เงียบ (Mindfulness and Murder) และ เพชฌฆาต (The Last Executioner) ซึ่งคว้ารางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาหลายรางวัล ได้รับความไว้วางใจให้มากำกับภาพยนตร์ภารกิจช่วยชีวิตซึ่งเป็นที่โจษจันในระดับโลกเรื่องนี้ ภาพยนตร์ The cave นางนอน เริ่มเข้าฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ ส่วนประเทศไทยก็เริ่มเข้าฉายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562the cave นางนอน

ความที่ภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวจากประเทศไทยที่คนไทย (และคนทั้งโลก) ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายจึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่มุมที่ดี เช่น ในที่สุดก็มีภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์นี้ไว้ และแง่มุมในอีกด้านที่เพจ facebook หรือผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์หลายคนมองว่าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการไทยอย่างรุนแรง จนมีการแสดงความกังวลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจถูกห้ามฉายในประเทศไทย

ตัวผมในฐานะหนึ่งในทีมงานกองบรรณาธิการออนไลน์ของนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ที่เคยนำเสนอเรื่องราวปฏิบัติการช่วยชีวิตครั้งนี้ลงในนิตยสารฉบับเดือนกันยายน 2561 ได้ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงขอนำเสนออีกมุมมองที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อผู้อ่านทุกท่าน

เรื่องราวที่จับใจคนทั้งโลก กับบทสรุปที่ทราบกันอยู่แล้ว

โดยรวมแล้ว ภาพยนตร์เริ่มเล่าเรื่องราวเหตุการณ์หลังการซ้อมฟุตบอลของทีมหมูป่าและเข้าไปเที่ยวเล่นในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ไปจนถึงฉากสุดท้ายที่เป็นการช่วยชีวิตทุกคนที่ติดอยู่ในถ้ำได้อย่างปลอดภัย และทุกคนที่มีส่วนในภารกิจต่างแสดงความยินดีร่วมกัน โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้มีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริงหลายคนมาร่วมแสดง ทั้งจิม วอร์นีย์ (Jim Warny) นักดำน้ำที่ภาพยนตร์วางบทบาทให้เป็นตัวละครสำคัญที่พาทีมหมูป่าออกมา, เอริก บราวน์ (Erik Brown) ครูสอนดำน้ำชาวแคนาดา ถันเซี่ยวหลง (Tan Xiaolong) ครูสอนดำน้ำในถ้ำชาวจีน และคนไทยอย่างนภดล นิยมค้า (ผู้ใหญ่ตุ้ม) ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของเครื่องสูบน้ำจากจังหวัดเพชรบุรีที่เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมสูบน้ำ และมีการพูดถึงจ่าแซม – นาวาตรี สมาน กุนัน ซึ่งในภาพยนตร์ได้ให้พื้นที่เล็กๆในการสดุดีเรื่องราวของเขาที่ได้สละชีวิตเพื่อภารกิจครั้งนี้

the cave นางนอน
CREDIT FREDRIK DIVALL. Copyright © 2019 Fredrik Divall. All Rights Reserved. (www.FredrikDivall.com)

ในส่วนของการถ่ายทอดเรื่องราวที่ปรากฎในภาพยนตร์ ต้องชื่นชมผู้กำกับที่คัดสรรเหตุการณ์สำคัญๆหลายเหตุการณ์มานำเสนอได้อย่างลื่นไหลจากหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นทีมช่วยเหลือชาวไทย ทั้งคนในพื้นที่และชาวบ้านจากต่างถิ่นที่อาสาสมัคร ทีมช่วยเหลือชาวต่างชาติ (ซึ่งภาพยนตร์เลือกเล่าจากมุมมองของพวกเขามากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะทีมงานผู้สร้างสามารถเก็บข้อมูลจากพวกเขาได้มากกว่า) และทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำเอง ภาพยนตร์มีการออกแบบงานสร้างและการถ่ายทำที่ออกมาใกล้เคียงเสียจนเสมือนผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นจริงๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศูนย์ช่วยเหลือหน้าถ้ำและช่วงเวลาการปฏิบัติการกู้ชีพภายในถ้ำ รวมไปถึงการใส่สัญลักษณ์ความเป็น “ไทย” ไม่ว่าจะเป็นการบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวบ้าน ดนตรีประกอบที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย ตัดสลับกับเหตุการณ์และผู้คนในชนบทรอบนอก ที่คาดว่าผู้ชมต่างชาติน่าจะให้ความสนใจthe cave นางนอน

อุปสรรค – ความรู้สึก – ความหวัง ที่นำพาผู้ชมไปตั้งแต่ต้นจนจบ

แม้เราจะทราบบทสรุปแล้วว่าผลของการช่วยเหลือนั้นเป็นอย่างไร แต่ในภาพยนตร์ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ – ความรู้สึก – ความหวัง ของตัวละครที่ปรากฏในเรื่อง ทั้งทีมงานกู้ชีพจากหลากหลายประเทศที่ภาพยนตร์ได้วางบทบาทให้พวกเขาต้องสู้กับอุปสรรคในการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เนื่องจากเหตุการณ์การช่วยเหลือครั้งนี้ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีทางเป็นไปได้” จึงทำให้พวกเขาต้องมาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ต้องประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงร่วมกันหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งการที่ภาพยนตร์วางตัวละครเอกอย่างนักดำน้ำ จิม วอร์นีย์ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นฮีโร่ในภารกิจครั้งนี้ ให้ต้องต่อสู้กับตัวเองและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ (ซึ่งต้องมีเป็นธรรมดาตามประสาปุถุชน) ตลอดจนเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ก็ทำให้ผู้ชมต้องนั่งลุ้นในรายละเอียดว่าพวกเขาจะฝ่าสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้เพื่อนำพาทีมหมูป่าที่รอคอยอย่างมีความหวังออกมาได้อย่างไร

เหตุการณ์การช่วยชีวิตในถ้ำที่ภาพยนตร์นำเสนอน่าจะตรึงผู้ชมได้ดีเช่นกัน เพราะการออกแบบงานสร้างที่สมจริงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศถ้ำที่คับแคบ และช่วงเวลาการนำตัวทีมหมูป่าออกมาซึ่งเปรียบได้กับเสี้ยวเวลาชีวิตแห่งความเป็นความตายthe cave นางนอน

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ชมน้ำตารื้นเป็นระยะๆ คือความรู้สึกของชาวบ้านที่คอยสนับสนุนเป็นการส่วนตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการระดม “ถอด” ท่อพีวีซีชนิดพิเศษซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งจากทั่วประเทศมาให้ยืมใช้สูบน้ำออกจากถ้ำ ภาพชาวบ้านจากหลากที่มาระดมทำอาหารเพื่อเลี้ยงทุกคนที่มีส่วนช่วยในภารกิจ และภาพยนตร์ยังมีการพูดถึงบรรดาชาวบ้านรอบนอกถ้ำที่ยอมให้สูบน้ำออกจากถ้ำมาท่วมพื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง พวกเขาตัดสินใจไม่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วยเหตุผลว่า “เงินนี้มีเพื่อช่วยเด็กๆ พวกเรารับไว้ไม่ได้ นาเสียหายยังปลูกใหม่ได้ แต่ชีวิตเด็กๆเสียไปทำอะไรไม่ได้” อันเป็นเหตุการณ์จริง และในภาพยนตร์ก็มีการถ่ายทอดเรื่องราวนี้เพื่อบันทึกถึงความเสียสละของพวกเขา

ท้ายที่สุดหลังจากช่วยชีวิตหมูป่าทั้งสิบสามคนออกมาได้สำเร็จ ภาพความซาบซึ้งจากญาติของเด็กๆที่ขอบคุณทีมช่วยเหลืออย่างจริงใจ ความรู้สึกดีใจตื้นตันของทีมช่วยเหลือระดับโลกที่สามารถฝ่าภารกิจอันยากลำบากร่วมกันได้สำเร็จ รวมไปถึงทีมหมูป่าที่รับรู้ว่า ในที่สุดพวกเขาก็ได้รับโอกาสให้มีชีวิตอยู่ต่อไปจากความช่วยเหลือของทุกคน

อย่างไรก็ตาม ในเชิงการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ เรื่องนี้อาจจะมีข้อติติงสำคัญ อันเนื่องมาจากตัวภาพยนตร์พยายามเล่าหลากเหตุการณ์จากหลายมุมมองอย่างรวดเร็วในเวลาที่จำกัด ทำให้ภาพยนตร์เหมือนเกลี่ยเล่าเหตุการณ์ตามลำดับเวลาไปเรื่อยๆ จึงขาดเอกลักษณ์หรือฉากจำที่จะคอยเสริมความประทับใจในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเล่าเหตุการณ์อันน่าประทับใจโดยรวม รวมถึงปมของตัวละครอันหลากหลายที่แต่ละคนต้องพบเจอและต่อสู้ในภารกิจครั้งนี้ ทำให้ภาพยนตร์ขาดเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถเล่าเรื่องได้ดีและไปให้สุดได้มากกว่าที่เป็นthe cave นางนอน

“สับเละ” ระบบราชการไทย

อีกหนึ่งประเด็นที่มีต่อภาพยนตร์เนื่องนี้ คือการมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการซึ่งมีความล่าช้า เนื่องจากต้องพึ่งพาการสั่งการจากผู้มีอำนาจเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปมปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่อุทยาน (ซึ่งในเหตุการณ์จริงเป็นใครนั้นยังไม่มีความชัดเจน) ไม่อนุญาตให้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ผู้ใหญ่ตุ้มขนมาจากเพชรบุรี ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากทีมงานช่วยเหลือไม่มีใบอนุญาตจากผู้มีอำนาจสั่งการ จนต้องมีการใช้ “เส้นสาย” จึงสามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังมีนัยยะเปรียบเทียบให้ผู้ชมเห็นว่า ทีมงานต่างชาติมีบทบาทการทำงานในเชิงรุกมากกว่าระบบราชการไทย ทั้งในขั้นตอนการปฏิบัติการภายในถ้ำ รวมไปถึงขั้นตอนการวางแผนร่วมกันที่หน่วยงานราชการไทยพยายามกีดกั้นแผนการและการอาสาต่างๆจากทีมงานต่างชาติ เนื่องจากเหตุผลว่า “เป็นความลับ” หรือ “ถ้าผิดพลาดไปใครจะรับผิดชอบ” ซึ่งเราต่างทราบดีว่าเป็นค่านิยมของผู้ปฏิบัติงานในระบบราชการไทยที่ฝังรากลึกมายาวนาน ทำให้เกิดอุปสรรคเพิ่มเติมในการช่วยเหลือเด็กๆไปอย่างไม่ควรและไม่จำเป็น ซึ่งถ้าเหตุการณ์ในเรื่องเป็นจริง ระบบราชการไทยจำเป็นต้องรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมเช่นนี้ทั้งจากตัวภาพยนตร์และผู้ชมที่ “เห็นด้วย” ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคม

ส่วนเรื่องมุกตลกจากนายกรัฐมนตรีไทยที่แทรกเข้ามาในเรื่อง……. ผมมองว่าเป็นเหตุการณ์เซอร์ไพรส์เล็กๆที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมท่ามกลางความตึงเครียดภายในเรื่องได้ดี (หรือบางท่านดูแล้วอาจเครียดยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้)

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อตำหนิระบบราชการไทยอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะการนำเสนอประเด็นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องเท่านั้น จุดมุ่งหมายหลักของภาพยนตร์คือการบันทึกปฏิบัติการช่วยชีวิตอันน่าตื้นตันและจับใจคนทั้งโลกมากกว่า

ถ้าได้มีโอกาสรับชม ผมเชื่อว่าผู้ชมจะสามารถสัมผัสเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนทั้งโลกอย่างจริงใจเพื่อช่วยเหลือและมอบความหวัง ให้เด็กติดถ้ำทั้ง 13 คนได้มีชีวิตอยู่ต่อไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์นี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงได้เป็นอย่างดี

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพประกอบจาก kapook sanook beartai


อ่านเพิ่มเติม ปฏิบัติการช่วย “13 หมูป่า” สามสัปดาห์ในโลกที่เคยเป็นไปไม่ได้

Recommend