นี่คือสาเหตุว่าทำไมคลื่นวัฒนธรรม บันเทิงเกาหลี เป็นแรงสร้างสรรค์ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 13 มิถุนายน 2021 คือวันที่บีทีเอส (BTS) วงบอยแบนด์จากวงการ บันเทิงเกาหลี ใต้ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกตั้งใจจัดคอนเสิร์ตครบรอบ 8 ปี ทว่างานดังกล่าวก็ถูกเลื่อนจัดไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ก่อนหน้านี้ ทางการเกาหลีใต้ได้คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่ที่ 20 ล้านคนในปี 2020 ซึ่งจะมากว่าสถิติที่มากที่สุดในปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 17.5 ล้านคน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชาวต่างชาติเหล่านี้คือกลุ่มคนที่หลงใหลวัฒนธรรมเกาหลีที่เติบโตขึ้นอย่างน่าตื่นตะลึงในระดับเวทีโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
วงบีทีเอสถือเป็นวงดนตรีวงแรกนับตั้งแต่ The Beatles ที่มีเพลงขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ตเพลงบิลบอร์ด (Billboard Chart) ถึง 3 ครั้งในปีเดียว จากนั้นได้มีปรากฏการณ์ภาพยนตร์เรื่อง ชนชั้นปรสิต (Parasite) ที่ได้สร้างปรากฏการณ์คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 2020 รวมไปถึงซีรี่ย์สารคดีจาก Netflix อย่าง Chef’s Table ได้เปลี่ยนจองกวัน แม่ชีวัย 60 ปีให้กลายเป็นคนดังของเกาหลีใต้ในแบบที่คาดไม่ถึง
สื่อต่างๆ เคยนิยามปรากฎการณ์นี้ว่า ‘ฮันรยู’ (Hallyu) หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี โดยจากการศึกษาโดยสถาบันวิจัยฮุนได มีนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาหลีใต้อยู่ที่ 10.41 ล้านคน โดยร้อยละ 7.6 ได้กล่าวถึงวงบีทีเอสว่าเป็นเหตุผลหลักในการมาเกาหลีใต้
การปิดพรหมแดนเนื่องจากโรคระบาด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวตกลงอยู่ที่ 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 32 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความว่า แม้แต่การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็มิอาจห้ามกระแสของ บันเทิงเกาหลี หรือวงการเค – ป็อป (K-POP) ได้
เกาะกระแสบันเทิงเกาหลี
แม้ทั้งโลกต่างตกอยู่ในภาวะเงียบงันและและภาคธุรกิจต่างๆ ซบเซาเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 แต่กระแสที่มาจาก บันเทิงเกาหลี มิได้ลดลงตาม ดังจะเห็นได้จากการประท้วงเรื่องสิทธิคนผิวดำ Black Live Matter ที่มีสาเหตุมาจากการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 วงบีทีเอสและค่ายเพลงที่บริหารจัดการวงได้ประกาศบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหว Black Live Matter เป็นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น กลุ่มแฟนคลับของวงบีทีเอสที่ใช้ชื่อว่าอาร์มี่ (ARMY, or Adorable Representative M.C. for Youth) ได้ระดมเงินบริจาคจนเท่ากับจำนวนดังกล่าวภายในเวลา 25 ชั่วโมง
ในปีถัดมา แมคโดนัลด์ ร้านอาการฟาสต์ฟู้ดชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลกได้ร่วมมือกับวงบีทีเอส ออกเมนูอาหารใหม่ที่ชื่อว่า BTS Meal ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวงบีทีเอส ออกจำหน่ายใน 49 ประเทศ และในส่วนของการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบสตรีมมิ่งในอินเตอร์เน็ตในปีเดียวกันก็ประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างงดงาม จนนิตยสารที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีอย่าง Rolling Stone ได้กล่าวยกย่องว่า “วงบีทีเอสได้พิสูจน์ว่าปรากฏการณ์การจ่ายเงินเพื่อดูคอนเสิร์ตแบบสตรีมมิ่งได้มาถึงแล้ว”
ในส่วนของวงเกิร์ลกรุ๊ปที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่างแบล็กพิงก์ (Blackpink) สารคดีของวงที่ออกเผยแพร่ในช่วงปี 2019 ผ่านช่องทางเว็บไซต์สตรีมมิ่งอย่าง Netflix ก็ได้เพิ่มความนิยมของพวกเธอ (ในสหรัฐอเมริกา) มากขึ้น ด้านเอ็มจีเอ็ม (MGM) ผู้บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และรายการบันเทิงในสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นโครงการรายการเรียลริตีที่ส่งนักร้องที่มีผลงานในสหรัฐอเมริกา ช่วงอายุ 13-25 ปี ไปที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อไปฝึกทักษะกับค่ายฝึกศิลปินของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของประเทศอย่างเอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มีวงบอยแบนด์ชื่อดังอย่างเอ็นซีที (NCT) อยู่ในสังกัด
ในขณะเดียวกัน สองรายการโทรทัศน์ยอดนิยมในสหรัฐอเมริกาอย่าง The Masked Singer ที่ออกอากาศในช่อง Fox และละครโทรทัศน์ (ซีรี่ส์) เรื่อง The Good Doctor ที่ออกอากาศในช่อง CBS ต่างเป็นรายการที่มีต้นกำเนิดมาจากเกาหลีใต้
ชอย จุง-บอง ศาสตราจารย์รับเชิญประจำบัณฑิตวิทยาลัยด้านการสื่อสารยอนเซ (Yonsei Graduate School of Communication) กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อเมื่อพิจารณาว่าเกาหลีใต้เคยมีสถานีโทรทัศน์ระดับชาติเพียง 2 ช่องในปี 1987 “มันไม่เคยมีมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ที่ประเทศกำลังพัฒนาแห่งนี้ได้สร้างการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในภูมิทัศน์วัฒนธรรมระดับโลก” เขากล่าวเสริม
จากรัฐบริวาร สู่ กระแสเกาหลี
เพื่อที่จะเข้าใจความสำคัญของปรากฏการณ์นี้ เมื่อเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของประเทศ เกาหลีอยู่ในห้วงแห่งการเป็นรัฐบริวาร (vassal state) ทั้งการถูกปกครองบางส่วนโดยประเทศจีน และการถูกญี่ปุ่นยึดครองในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อกระแสประชาธิปไตยเข้ามาในช่วงปี 1948 เกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองจากประเทศอาณานิคมยากจนมาสู่ศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรม และเริ่มกระบวนการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่อนาคต อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1990 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) เกาหลีใต้จำต้องรับความช่วยเหลือเงินจำนวนกว่า 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,890,800 ล้านบาท) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ในระหว่างนั้นเองที่รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มมีความคิดลงทุนในงานศิลปะ ในฐานะรูปแบบของอำนาจอ่อน (Soft power) ที่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศจากประเทศอุตสาหกรรมเป็นประเทศที่มีทุนวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ในระดับโลก พวกเขาทุ่มเงินไปในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการผลิตรายการโทรทัศน์ จนสามารถแจ้งเกิดคนบันเทิงที่มีความสามารถและโด่งดังอย่างผู้กำกับภาพยนตร์ บอง จุน-โฮ และ ปาร์ค ชาน-วุค
ด้านประธานบริษัท เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง อี ซู-มาน เชื่อในพลังด้านบวกของดนตรี K-POP ที่ว่าดนตรีสามารถเชื่อมต่อวัยรุ่น (และพ่อแม่ของพวกเขา) เข้าด้วยกันได้ “เขาอยากแสดงให้โลกเห็นว่า วัฒนธรรมสามารถมาก่อน แล้วเศรษฐกิจก็จะตามมาได้” คริส ลี หัวหน้าของ บ. เอสเอ็มฯ ในสหรัฐอเมริกา กล่าว
การทุ่มพนันของเกาหลีใต้ในครั้งนั้นสร้างผลตอบแทนอย่างงดงาม ความต้องการเนื้อหาบันเทิงจากเกาหลีใต้พุ่งทะยานจากท้องถิ่นสู่ระดับโลก
ทันใดนั้นเอง K-POP ก็ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในเกาหลีใต้เมื่อปี 2016 ประเทศจีนก็ได้โต้ตอบโดยการสั่งงดการแสดงคอนเสิร์ตวง K-POP และงดการออกวีซ่านักท่องเที่ยว และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ หนุ่มสาวชาวเกาหลีเหนือรับความบันเทิงจากดนตรี K-POP และละครโทรทัศน์เกาหลีที่ถูกลักลอบนำเข้ามาประเทศผ่านเฟลชไดร์ฟจากประเทศจีน จนผู้นำเผด็จการของประเทศอย่างคิม จอง-อึน ได้ออกมาประกาศว่าดนตรีนั้นเป็นมะเร็งอันชั่วร้าย
สุดยอดเพลงที่โด่งดังไปทั่วหัวระแหงอย่าง กังนัมสไตล์ (Gangnam Style) ในปี 2012 หนึ่งในวิดีโอแรกๆ ที่มิวสิกวิดีโอของมันสามารถทำยอดเข้าชมเตะ 1 พันล้านในเว็บไซต์ youtube ได้เริ่มทำให้โลกตะวันตกรู้จักกับอุตสาหกรรมนี้ และภาพยนตร์เรื่อง ชนชั้นปรสิต (Parasite) ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรางวัลออสการ์ ได้สร้างปรากฏการณ์การส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีครั้งใหญ่
ด้านวงบีทีเอสก็เดินหน้าทำสถิติของตัวเองต่อไป เพลง Butter ที่ปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้กลายเป็นวิดีโอที่มียอดการเข้าชมถึง 10 ล้านครั้งได้รวดเร็วได้ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพลงนี้มีการสตรีม (เล่นเพลง) 20.9 ล้านครั้งในแอปพลิเคชัน Spotify ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นยอดการสตรีมเพลงที่มากที่สุดในวันเดียวเท่าที่มีการให้บริการแอปพลิเคชันนี้
ทั้งหมดถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์แบบยิ่ง เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ย่านกังนัมยังเป็นพื้นที่ทำฟาร์มปศุสัตว์ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ตั้งของร้านเรือธงของสินค้าแบรนด์หรูอย่าง Cartier ไปแล้ว
ราคาแห่งความสำเร็จ
“ผมคิดว่าสิ่งที่ K-POP ทำให้กับเกาหลีคือการเปลี่ยนการที่ชาวเกาหลีรับรู้ความเป็นตัวเอง พัค กล่าว
นี่คือคำกล่าวของ แอนดรูว์ พัค เขาเป็นผู้ดำเนินการบริษัท Yodatrip บริษัทสตาร์อัปที่อยู่ในกรุงโซลซึ่งให้บริการระบบไกด์เสียงนำเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ผู้เขียนพบกับเขาครั้งแรกในโพลจังมาจา หรือร้านอาหารริมถนนในรูปแบบเกาหลีในกรุงโซลซึ่งผู้คนนิยมมาดื่มโชจู (เหล้ากลั่นแบบเกาหลี) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลี เขาดูประหลาดใจกับความสนใจของผู้เขียน และกล่าวว่า “เป็นเรื่องตลกที่ผู้คนรู้ว่าพวกเรา (คนเกาหลี) เป็นอย่างไรผ่านเลนส์ของสื่อต่างชาติ”
“ผมคิดว่าโดยภาพรวมแล้ว เกาหลีเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่สามารถเติบโตได้ในช่วงเวลา 50 ปี หากผ่านการดูแลเป็นอย่างดี” พัคกล่าว และชี้ให้เห็นว่า “มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรอกครับ”
ในตอนที่ผู้เขียนพบกับเขา กระแสการฆ่าตัวตายกำลังเขย่าวงการ K-POP อย่างยิ่ง ซัลลี สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (cyberbully) เนื่องจากเธอใช้เคสมือถือที่มีตัวหนังสือระบุว่า ผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง (Girls can do anything) ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในช่วงเดือนตุลาคม 2019 หกสัปดาห์ต่อมา ศิลปิน กู ฮา-รา ก็ได้จบชีวิตตัวเองหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับวิดีโอเพศสัมพันธ์ของเธอรั่วไหลออกมา
บางคนกล่าวว่าสาเหตุการตายเหล่านี้เกิดจากมาตรฐานความงามที่เหล่าดาราไอดอลเกาหลีต้องยึดถือเอาไว้
และไม่ใช่แค่ในวงการบันเทิงเกาหลีเท่านั้น ในกรุงโซล ผู้สมัครงานตามบริษัทต่างๆ บางครั้งต้องส่งภาพถ่ายหน้าตรงมากับใบสมัครงาน 1 ใน 5 ของผู้หญิงเกาหลีใต้มีรูปแบบการศัลยกรรมใบหน้าในแบบเดียวกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ตัวเลขดังกล่าวอยู่เพียงแค่ 1 ใน 20 เท่านั้น ในส่วนของสายการบินโคเรียนแอร์ การฝึกแต่งหน้ากลายเป็นข้อบังคับแม้กระทั่งพนักงานลูกเรือผู้ชาย
สำหรับคนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้ การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายลำดับต้นๆ ในหมู่พวกเขา ภัยจากโรคระบาดได้ทำให้ปัญหานี้ย่ำแย่ลงมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องพบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางการงานและอัตราค่าจ้างที่ลดต่ำลง จนเกิดภาวะซึมเศร้าในหมู่พวกเขามากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมก็เริ่มพูดถึงปัญหาทางจิตใจมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากศิลปินเพลงเกาหลีเอง ในเดือนพฤษภาคม 2021 ในการสัมภาษณ์นิตยสาร Rolling Stone ชูก้า หนึ่งในสมาชิกวงบีทีเอสได้เปิดเผยถึงเรื่องราวความทุกข์ทรมานและภาวะซึมเศร้าของตัวเอง ซึ่งได้เขียนในเนื้อเพลงของเพลงในมิกซ์เทปแรกของเขาในปี 2016
เมื่อถามถึงความรู้สึกของเขาในช่วงนี้ เขากล่าวว่า “ตอนนี้ผมรู้สึกสบายและดีขึ้นแล้ว แต่บางครั้งความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ก็มีเข้ามาบ้าง เหมือนกับอากาศหนาวที่เข้ามา ผมคิดว่า สำหรับทุกคนแล้ว ภาวะอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเก็บซ่อนเอาไว้ มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเอามาพูดคุยกันและแสดงออกมาครับ”
ในช่วงเวลาที่เราต้องดิ้นรนเพื่อปรับตัวในการเปิดพรหมแดนโลกอีกครั้งและพาตัวเองออกมาจากความโดดเดี่ยว วงบีทีเอสได้ส่งข้อความที่มีใจความว่า “คุณไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว” เมื่อได้ฟังท่อนแร็ปของเพลง Butter และการเต้นของพวกเขาในช่วงหน้าร้อน: ผู้เล่นทุกคนต่างขยับตัวในยามเสียงเบสทุ้ม เหล่าอาร์มี (ชื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับของวง BTS) จะคอยอยู่ข้างหลังเรา ไปกันเถอะ!
อ่านเพิ่มเติม 48 ชั่วโมงกับประสบการณ์ใหม่ในโซล