มีชัยพัฒนา โรงเรียนนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน-โรงเรียน-ชุมชน
สมัยยังเรียนชั้นมัธยม กิจวัตรของการเรียนคงหนีไม่พ้นเข้าห้องเรียน รอพักเที่ยง แล้วเลิกเรียนกลับบ้าน โดยทั่วไป เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโรงเรียนในฐานะที่เป็นแหล่งมอบการศึกษาให้กับนักเรียน ด้วยศักยภาพของโรงเรียนซึ่งมีทั้งทางด้านกายภาพ ในเรื่องอาคารสถานที่ และทางด้านองค์ความรู้พร้อมใช้เพื่อระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
โรงเรียน มีชัยพัฒนา มองเรื่องราวเหล่านี้ในมุมกลับกัน จากทรัพยากรที่มีในมือของโรงเรียนจะถูกใช้งานอย่างไรให้ได้เต็มประสิทธิภาพ? จากนักเรียน มองออกนอกรั้วโรงเรียนไปถึงชุมชน พร้อมกับความตั้งใจที่อยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน
“ผมทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลง เป็น Change Maker ปรับตัวมาตลอด รวมถึงวันนี้ก็ประมาณ 50 ปีแล้ว” คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียน เล่าให้เราฟัง “มีอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อสัก 18 ปีก่อน ผมเริ่มหาทุนมาให้นักเรียนเป็นทุนการศึกษา ให้เงินไปก็คิดว่าดี แต่พอเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว มันไม่ได้มีอะไรที่ผมคิดว่าจะดีขึ้น มันเป็นวงจรที่ส่งเด็กกลับไปเข้าไปในระบบเดิม เราก็เลยเริ่มคิดว่าต้องหาระบบใหม่ สร้างระบบที่เป็นของเราเอง”
ระบบที่ว่า คือระบบการศึกษาที่เน้นทักษะชีวิตไปพร้อมกับทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาสามารถบริหารจัดการการใช้ชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายให้ครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น นี่แหละคือชีวิตจริงที่ทุกคนต้องเจอในอนาคต
โรงเรียนที่เชื่อในความสามารถของปัจเจกบุคคล
เรามีโอกาสได้ฟังการเล่าเรื่องโรงเรียนผ่านประสบการณ์จริงของนักเรียน 5 คน น้ำเสียงฉะฉานเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนประจำแห่งนี้ที่ทุกคนได้ใช้ชีวิตตลอดทั้งวันและทั้งเทอม
แม้สถานที่ตั้งของโรงเรียนจะอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มาจากหลากหลายภูมิภาคทั่วทั้งประเทศไทย โดยบทบาทการบริหารจัดการโรงเรียนในหลายด้าน รวมไปถึงการคัดเลือกครูและนักเรียนแรกเข้า เป็นหน้าที่ของนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด ด้วยความคิดที่ว่าโรงเรียนต้องเป็นของนักเรียนทุกคน
“หนูรู้จักโรงเรียนนี้จากรุ่นพี่ที่แนะนำผ่านผู้ปกครองค่ะ” น้องทรายเริ่มต้นเล่า “ตอนแรกที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง เห็นรุ่นพี่ทำเกษตรกันอยู่ รุ่นพี่เขาก็ยกมือไหว้สวัสดีพ่อแม่ ซึ่งหนูไม่เคยเจอนักเรียนที่ไหนทำแบบนี้ เลยประทับใจตั้งแต่แรก พอชมบรรยากาศ ได้ยินรุ่นพี่เล่าให้ฟังถึงเรื่องการพัฒนาตัวเองและทักษะด้านต่างๆ เลยอยากลองมาใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำแบบไม่มีพ่อแม่ดู”
ส่วนน้องวิว น้องน้อยหน่า และน้องน้ำทิพย์ จากจังหวัดน่าน รู้จัก โรงเรียนมีชัยพัฒนา ผ่านทางโครงการ School-BIRD (School-Based Integrated Rural Development) ซึ่งเป็นโครงการที่นักเรียนของโรงเรียนมีชัยฯ ออกไปทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะอาชีพให้กับชาวบ้านและชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง จนเกิดเป็นโครงการนำร่อง ขยายไปกว่า 22 จังหวัดทั่วประเทศ อย่างที่เป็นแรงจูงใจให้น้องน้อยหน่ามาเรียนที่นี่ “เพราะคุณยายปลูกผัก เลยอยากนำเกษตรหรือนวัตกรรมใหม่ๆ จากโรงเรียนกลับไปพัฒนาที่บ้าน”
“โรงเรียน มีชัยพัฒนา มาทำโครงการ School-BIRD ที่โรงเรียน ทำแปลงเกษตร ให้ความรู้ เลยทำให้รู้จักกับรุ่นพี่ ซึ่งพอรู้ว่าโรงเรียนใช้การจ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีช่วยเหลือสังคมคนละ 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้คนละ 400 ต้นต่อปี ก็ยิ่งเป็นจุดที่สนใจมาก เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว โรงเรียนยังสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแบบที่ไม่เคยเห็นโรงเรียนไหนสอน” น้องวิวเล่า
น้องน้ำทิพย์ช่วยเสริมว่า “พอเห็นพี่วิวมาเรียนก่อนแล้วเล่าให้ฟัง ก็เลยอยากมาเรียนตาม เพราะเห็นการสอนที่ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม ก็รู้สึกว่ามุมมองของตัวเองเปลี่ยนไป ไม่ได้เลือกมองผ่านปัญหาไปเฉยๆ แต่ลงมือแก้ไขปัญหาด้วย อนาคตจึงอยากเป็นนักธุรกิจที่นำกำไรจากธุรกิจกลับมาช่วยเหลือผู้คนในชุมชนที่ตัวเองอยู่”
เช่นเดียวกันกับน้องเปรี้ยวที่มีพี่สาวเรียนอยู่ที่นี่ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวพี่ที่มองเห็นหลายอย่างในมุมมองกว้างขึ้น บวกกับบรรยากาศของโรงเรียนท่ามกลางธรรมชาติ “บรรยากาศโรงเรียนทำให้รู้สึกสบาย ไม่ได้กดดันเหมือนโรงเรียนอื่น” ทำให้เธอตัดสินใจมาเรียนที่นี่ได้ไม่ยาก
โรงเรียนนวัตกรรม : การศึกษาบูรณาการกับชีวิต
ความหมายของคำว่า ‘นวัตกรรม’ ในด้านการศึกษาของโรงเรียน มีชัยพัฒนา คือการจัดหลักสูตรที่เน้นการเสริมสร้างศักยภาพของตัวนักเรียน ทั้งการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลาง และการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียน อย่างการเน้นการฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพชุมชนโดยไม่ละทิ้งบ้านเกิดของตัวเอง
นักเรียนที่นี่จะได้สำรวจศักยภาพของตัวเอง ไปพร้อมกับการศึกษาจากโครงงาน (Project-Based Learning) ผ่านการพัฒนากิจกรรมที่มีอยู่แล้ว อย่างธุรกิจทางการเกษตร เงินออมเงินกู้สำหรับทำธุรกิจในโรงเรียน ร่วมกันกับการริเริ่มกิจกรรมใหม่จากความสนใจและความช่างสังเกต จนเกิดเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและสร้างความเท่าเทียมทั้งในโรงเรียนและแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างการออกแบบแปลงฝึกเกษตรสำหรับผู้นั่งรถเข็น หรือศูนย์ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โรงเรียนโสตศึกษา สุรินทร์
“มุมมองการศึกษาแบบโรงเรียนมีชัยฯ ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนไปได้หลายอย่างตามที่เขาสนใจ” คุณมีชัยเล่า “ความเก่งไม่มีแค่เรื่องเดียว ระหว่างเรียนหนังสือในโรงเรียน เขาก็ได้จัดการบริหารภายในเป็นไปจนถึงเป็นผู้ตรวจสอบการใช้เงินด้วย หรือการสร้างระบบเศรษฐกิจย่อยๆ ในโรงเรียนให้เขาได้เรียนรู้ อย่างการทำอาหารว่างขายในโรงเรียน เพราะเราเชื่อในศักยภาพของเด็ก เด็กทำอะไรได้เยอะ”
เราจึงมองเห็นความเป็นผู้นำหรือนวัตกรในตัวนักเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ด้วยการปูพื้นฐานเบื้องต้นผ่านทักษะการใช้ชีวิต แล้วลงมือปฏิบัติเองพร้อมกับค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจ
“ผมพยายามให้เขาคิดว่า มันไม่มีอะไรอยู่กับที่ แล้วเราสามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ทั้งหมด แต่ให้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนว่าควรจะทำอย่างไร อย่างเช่นการเข้าไปในชุมชน อย่าไปถามว่า เขามีปัญหาอะไร แต่ต้องไปทำความรู้จักฝากเนื้อฝากตัว แล้วเชิญผู้ใหญ่มาดูที่โรงเรียน มาดูว่าบ้านเราเป็นอย่างไร เขาก็จะอุ่นใจและอยากมาร่วมมือกันพัฒนา แล้วมีส่วนไหนที่เราอยากทำให้ชุมชนดีขึ้น เพราะโรงเรียนก็จำเป็นต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชนเช่นเดียวกัน”
จากแปลงเกษตร สู่เศรษฐกิจชุมชน
แปลงเกษตรคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหลากหลายในโรงเรียน เพราะจากแปลงเกษตร จากความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย จากความสนใจที่แตกต่าง นำไปสู่ปลายทางที่การสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับชุมชน ผ่านหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
จุดเริ่มต้นนักเรียนที่นี่จะได้ลงมือทำแปลงเกษตรเป็นของตัวเอง จากแปลงส่วนนี้ขยายความคิดของนักเรียนออกได้หลากหลาย ตั้งแต่การทดลองคิดทำแปลงเกษตรที่แก้ไขข้อจำกัดหรือปัญหาที่ตัวเองค้นพบ อย่างการทำแปลงในยางรถยนต์ การปลูกผักไร้ดินในลำไผ่ การปลูกผักข้างรั้วในขวดน้ำใช้แล้ว และยังคิดต่อเนื่องให้กับบุคคลอื่นในสังคม อย่างการทำแปลงฝึกเกษตรสำหรับผู้นั่งรถเข็น และถูกนำไปใช้งานจริงในโรงเรียนพันธมิตรทุกภูมิภาค
แปลงผักไม่ได้หยุดเพียงแค่การปลูกผัก แต่ยังมองในมิติที่รอบด้านมากกว่า ตั้งแต่การทำสหกรณ์ เงินออมและเงินกู้ยืมสำหรับทำธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ของการทำการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย แต่มีรายได้ดี ไปจนถึงการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ซึ่งทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชนสามารถเรียนรู้และใช้บริการเหล่านี้ โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง
ทั้งหมดนี้ เกิดจากเป้าหมายสำคัญของโรงเรียน คือการทำแปลงเกษตรเพื่อขจัดความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตในชุมชน โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดและครอบครัว
สร้างคนดี สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และขจัดความยากจน
วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่กว้างออกไปมากกว่าการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศแล้ว สำคัญคือจะต้องช่วยเหลือผู้ปกครองของนักเรียนให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วย
“เหตุผลที่เป็นโรงเรียนประจำ เพราะเด็กจะได้รู้จักหลายจังหวัด หลายวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ รู้จักความหลากหลาย อย่างที่ผมบอกเขาว่า ต้องการให้เค้ารู้จัก Fruit Salad ไม่ใช่ผลไม้แบบเดียว – ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำสำหรับผู้ปกครองด้วย” คุณมีชัยเสริม
ซึ่งกรอบการพัฒนาของโรงเรียนไม่เพียงจำกัดเฉพาะในชุมชนรายรอบ หรือโรงเรียนพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่ทางโรงเรียนได้เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน SDGs สำหรับโรงเรียนไทยในชนบทและการพัฒนาชุมชน ตามหัวเรื่องที่ว่า ‘เด็กๆ คืออนาคต’ เพื่อมุ่งเน้นบทบาทของเยาวชนและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ก็เป็น 17 ข้อตามที่สหประชาชาติกล่าวไว้ แต่เราบวกเพิ่มเข้าไปอีก 4 คือ การเห็นอกเห็นใจและการแบ่งปัน การสร้างสังคมที่เคารพกฎหมาย การยกย่องความซื่อสัตย์และขจัดคอร์รัปชั่น และการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว”
“เราก็เลยมองว่า ถ้าอยากจะทำให้สังคมดีขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือทำผ่านโรงเรียน เพราะนอกจากมีนักเรียนแล้ว ยังมีที่ดิน มีอาคาร มีน้ำ มีไฟ มีครู มีผู้อำนวยการ มีชุมชนอยู่รอบ น่าจะไปได้ดี ที่กำลังดำเนินการอยู่ทำได้ดีมาก ตอนนี้เรากำลังขยายต่อในเรื่องสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ให้กับผู้สูงอายุ และบทบาทของผู้หญิงในหมู่บ้านต่อไป”
หากพูดถึงการวัดเป้าหมายความสำเร็จสำหรับนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาแล้ว อาจไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่คือการที่เด็กทุกคนรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี
“นักเรียนบางคนที่นี่ก็ ใช้เวลาช่วง Gap Year ออกไปค้นหาตัวเอง หรือบางคนที่เรียนต่อมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะเรียนรู้และตอบปัญหา เพราะหลักสูตรของเราสอนทุกเรื่องในชีวิต อย่างกฎหมาย รากฐานประชาธิปไตย หรือการแบ่งปัน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เป็นคนดี และมีความสุข”
ท้ายที่สุดเราถามถึงปลายทางความเป็นเลิศของนักเรียนโรงเรียนนี้
“ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” คุณมีชัยตอบ
“คำว่าสมบูรณ์ก็คือไม่ต้องมีอะไรวิเศษ หวือหวา ดีทุกด้าน ซ้ายก็ได้ขวาก็ได้ ทุกทิศทาง เป็นความเหมาะสมที่ดีได้ ไม่ต้องเป็นเลิศในเรื่องไหนเลย แต่มีความเหมาะสมอย่างยั่งยืน กลิ้งไปไหนได้อย่างดี และสมบูรณ์ในเรื่องที่ตัวเองปรารถนา”
โรงเรียนมีชัยพัฒนา – Bamboo School
ที่อยู่ : 186 หมู่ที่ 13 ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ 31130
โทร : 08-9949-6539
เว็บไซต์ : www.mechaipattana.ac.th
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพถ่ายบุคคล เอกรัตน์ ปัญญะธารา