กำเนิดวิทย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการบ่มเพาะให้ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ และสร้างคนเก่งที่เป็นคนดี
หากพูดถึงคำว่า ‘คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์’ เชื่อว่าหลายคนจะคิดถึงชื่อวิชาที่ต้องเรียนจนจบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ แต่ที่ โรงเรียน กำเนิดวิทย์ ความหมายของคำนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องของวิชาการ แต่เป็นเรื่องของกระบวนการคิด สร้างสรรค์ และหลักเหตุผลที่หลอมรวมเข้าในทุกวิชาเรียน
“ทำไมเราต้องมาสนใจเด็ก gifted?” ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการ โรงเรียน กำเนิดวิทย์ เริ่มต้นเท้าความถึงดำริของโรงเรียนที่มองภาพใหญ่คือการสร้างบุคลากร เพื่อนำนวัตกรรมกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
“ถ้าเราหันกลับไปดูว่า ทำไมประเทศของเราถึงยากจน ถ้าเราดูย้อนหลังปี 1965 GDP ของเราสูงกว่าเกาหลีนะ แต่หลังจากนั้นอีก 20-30 ปี เราน้อยกว่าเขา 4-5 เท่า หรือจีนที่พึ่งเปิดประเทศไม่นาน ตอนนี้เขาล้ำหน้ากว่าเราไปมาก ทำไมเราทำไม่ได้?
“ณ วันนี้ เรามีคนที่ประกอบอาชีพนักวิจัย นักประดิษฐ์ อยู่ประมาณ 1,300 คนต่อประชากรล้านคน ในขณะที่ญี่ปุ่นกับเกาหลีอยู่ที่ประมาณ 6 พัน ทั้งหมดทั้งประเทศไทยมีนักวิจัยประมาณ 8-9 หมื่นคน ถือว่าดีขึ้นเยอะแล้วนะ เทียบกับสมัยก่อนที่มีอยู่ 3-4 พันคน แต่มันก็ยังไม่พอ เพราะการจะทำงานอะไรให้สำเร็จ มันต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่มากถึงคำว่า Critical Mass”
“ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะเป็นผู้นำเข้าองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดเวลา นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เราจำเป็นต้องเอาปัญญาที่ดีกว่า เติมลงในวัตถุดิบ นี่คือความหมายของมูลค่าเพิ่ม”
เราจะปั้นเด็กได้อย่างไร?
จากความตั้งใจอันแรงกล้าของ ดร.ธงชัย ในการสร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการเป็นครูวิทยาศาสตร์ มาสู่การทำงานที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ร่วมงานโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์เต็มตัวแห่งแรก และมีโอกาสได้ร่วมในการทำโครงการกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จนมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย
“โรงเรียนที่ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีโอกาสทำ คือโรงเรียนกำเนิดวิทย์” ดร.ธงชัย เล่า “วันดีคืนดีก็มีโทรศัพท์มาถึงผมว่า ซีอีโอของ ปตท. จะขอพบ บอกว่า อยากจะขอเชิญอาจารย์มาสร้างมหิดลแห่งที่ 2 ในตอนนั้นก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว แต่เพราะนี่คือแพสชั่น ผมเลยตอบรับทำโรงเรียนไปโดยยังไม่ได้กลับมาปรึกษาครอบครัวเลย”
โรงเรียนกำเนิดวิทย์จึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยเป้าหมายสูงสุดที่ความต้องการสร้างเด็กหัวกะทิของประเทศให้เป็นนักวิจัย คิดค้นทฤษฎี นวัตกรรม และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำกลับมาขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้
“เอาคนเก่งที่เป็นคนดีอยู่แล้ว มาสร้างให้เป็นคนดีมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องทำตามอุดมการณ์ให้ได้ เพราะฉะนั้นความสำเร็จของนักเรียนกำเนิดวิทย์ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าไปเรียนอะไรที่ไหนอย่างไร อันนั้นเรื่องเล็กมาก แต่ใน 20 ปีข้างหน้า เด็กของเราจะเป็นผู้นำที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร?”
นี่นำมาซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนในห้องเรียนห้องละ 18 คน รวมเป็น 72 คนต่อระดับชั้น ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการเรียนการสอนแบบแล็บในห้องเรียน และการกระตุ้นให้นักเรียนสร้างโปรเจกต์ของตัวเองให้ได้อย่างน้อย 1 ชิ้นก่อนจบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย พร้อมกับกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เน้นนักเรียนเป็นผู้ผลักดันและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ตลอดเวลาภายในโรงเรียนประจำแห่งนี้
เด็กที่นี่คิดอะไร?
แม้ทั้งสี่คนจะมาจากต่างที่มา มีความสนใจในวิทยาศาสตร์ต่างแขนง และรู้จักกำเนิดวิทย์ในระดับที่ต่างกัน แต่เมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ สิ่งที่ทุกคนตอบอย่างตรงกันคือ ‘ทุกคนเติบโตขึ้นมากทั้งในทักษะการเรียน ทักษะสังคม และทักษะการแบ่งปัน จนได้ค้นพบความสนใจของตัวเอง และรู้ว่าอยากทำอะไร’
“หัวใจสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะมาเรียนที่นี่คือ เราจะได้ค้นหาตัวเอง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มั่นใจว่าตัวเองชอบอะไรขณะนั้น ผมอยู่ในสายคอมพิวเตอร์มาตลอด แต่ไม่ได้ลองวิชาอื่น แต่พออยู่ที่นี่ก็ได้ลองทำอะไรที่ใหญ่ขึ้นมา และเยอะขึ้น” น้องแชมป์เล่า
“โรงเรียนเราจะเรียนแค่ 4 วัน วันพุธในทุกระดับชั้นจะเป็นวิชาว่างให้เราไปทำโปรเจกต์ ทำงานวิจัย และวิชา Seminar” น้องแชมป์เล่าผ่านการทำโปรเจกต์ของเขาเรื่องการพัฒนา Machine Learning เพื่อทำนายการเกิดปฏิกิริยาของยา
“อย่างในโรงเรียนทั่วไปจะมี Project-Based Learning วิชาโครงงาน แต่พอมาที่นี่ โครงงานที่เราทำมันเหนือกว่าขั้นเดิมไปเยอะพอสมควร เราเรียนรู้การทำทบทวนงานวิจัย หรือการอ่านเปเปอร์งานวิจัย เพื่อหา ช่องว่างของงานวิจัยที่เราจะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาในโครงงานของเรา และถ้าสำเร็จจริงๆ เราก็สามารถส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์ได้ ซึ่งมันคืออีกขั้นหนึ่งของการทำโครงงาน จากจุดที่เราเคยเห็นว่าเราเป็นผู้เรียนตลอดเวลา แต่เราได้เป็นผู้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ มาด้วย”
“พอมาเรียนที่นี่ ได้ลองอะไรหลายๆ อย่างที่อยากเรียน” น้องผักหวานเสริม “อย่างวิชาเลือกภาษาญี่ปุ่น หรือเรียน SOLIDWORKS AutoCAD ขึ้นรูปกลึงเหล็ก เพราะที่โรงเรียนมีอุปกรณ์ครบครัน และครูก็สนับสนุนให้เราทำอะไรที่อยากทำทั้งเรื่องวิชาการ หรือในเรื่องความสนใจอื่นๆ อย่างการอ่านนิยาย หรือเปิดชุมนุม ก็คุยกับครูได้ คุณครูให้การสนับสนุนเต็มที่”
และกิจกรรมชุมนุมนี่เอง ที่ทำให้น้องผักหวานได้ค้นพบตัวเองผ่านมุมมองที่ซับซ้อนขึ้นกว่าที่เคย “การที่ได้ทำชุมนุมจนได้เป็นประธานชุมนุมเพื่อทำ Khan Academy ภาคภาษาไทย ทำให้หนูได้เรียนรู้การประสานงาน บริหารองค์กร การจัดการความขัดแย้ง หนูเลยเปลี่ยนจากสายวิศวะ มาสนใจงานด้านการศึกษา ถ้าหนูสามารถออกแบบหลักสูตร หรือทำการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกขึ้นง่ายขึ้นได้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี เหมือนกับได้เป้าหมายชีวิตอันใหม่มา”
ส่วนน้องยูโรที่รู้จักโรงเรียนจากคำบอกเล่าของเพื่อนที่มางาน Open House พร้อมกับความคาดหวังในการพัฒนาด้านวิชาการและภาษาอังกฤษผ่านการเรียนที่นี่ “ทุกปีจะมีการทดสอบความชำนาญภาษาอังกฤษโดยใช้ข้อสอบแบบรอบด้าน ทั้งข้อเขียนแบบ TOEFL สอบพูดแบบ IELTS และการนำเสนองาน ทำให้เรารู้ตัวว่าภาษาอังกฤษพัฒนาไปถึงระดับไหน”
“การเรียนวิทยาศาสตร์ที่นี่ จะประยุกต์มากขึ้น อย่างถ้าเรียนเรื่องพืช ก็จะดูด้วยว่าเราสามารถทำนวัตกรรมอะไรได้บ้างเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพืช นำไปประยุกต์ร่วมกับวิชาอื่น หรือจินตนาการว่าพืชชนิดใหม่จะมีระบบการทำงานอย่างไร นอกจากนั้นผมได้เห็นอะไรที่กว้างกว่า อย่างล่าสุดกำลังเรียนวิชาเลือก Special Topic in Chemistry และได้เห็นเครื่องมือทางเคมีที่มากขึ้นกว่าเดิม ชอบการที่สาธิตให้ดูในห้องเลย และก็มีแล็บให้ทำเยอะมากในทุกวิชา”
นอกจากการเรียนวิชาทางสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เข้มข้นแล้ว การเรียนการสอนสังคมศึกษาและการใช้ชีวิตภายในโรงเรียนนี้ก็เกิดผ่านการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ และใช้หลักเหตุหลักผลมาใช้ในการเรียนรู้สังคม
“ยกตัวอย่างวิชาสังคมศึกษานะคะ” น้องเชอรี่เล่าบ้าง “ปกติเราจะคิดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีนี้ แต่ที่นี่จะศึกษาว่า ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงเกิดขึ้น คนคิดอะไรอยู่ จะหาเหตุผลเบื้องหลัง ซึ่งครูจะสอนปัจจัยว่าอะไรที่ทำให้ชนะการสู้รบ หรือการตั้งคำถาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ครูให้เราไปหาอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วสังเคราะห์องค์ความรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง สิ่งที่เราต้องทำคือ การทำการบ้านก่อนเข้าห้องเรียน”
“แล้วหนังสือที่ใช้ร่วมในการเรียนก็จะมีหนังสือนอกหลักสูตรด้วย” น้องแชมป์ช่วยแชร์ “อย่างเรียนเรื่องประชาธิปไตย ก็ได้อ่านประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน หรือหนังสือในหลักสูตรต่างประเทศและระดับมหาวิทยาลัย อย่าง Justice ของ Michael J. Sandel หรือ Public Philosophy จะมีหนังสือให้อ่านประจำสัปดาห์ แล้วมาอภิปรายกันในห้อง”
น้องเชอรี่เสริมในเรื่องการใช้ชีวิตนักเรียนประจำของที่นี่ “ที่นี่น่าอยู่ ไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อม แต่ผู้คนทำให้โรงเรียนเป็นที่ที่น่าอยู่มาก เช่นกิจกรรม Town Hall การประชุมส่วนกลางที่มาอภิปรายกันว่า กฎระเบียบที่เป็นอยู่ ส่วนไหนดีไม่ดี ต้องเปลี่ยนไหม ซึ่งครูก็จะรับฟังความเห็นจากนักเรียนโดยตรง แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี ทำให้การอยู่โรงเรียนสนุกและมีความสุขมากขึ้น”
นักเรียนของกำเนิดวิทย์ ถึงปีนี้จบไปเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว นักเรียนรุ่นแรกเริ่มจบปริญญาตรี และประมาณ 1 ใน 3 ของรุ่นได้ทุนการศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งอุดมการณ์ของโรงเรียนในการมุ่งหวังให้นักเรียนกลายเป็นบุคลากรฟันเฟืองสำคัญที่กำลังแตกหน่อเติบโตทีละเล็กละน้อย เพื่อรอวันเติบใหญ่และกลับมาพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ต้องเรียนรู้ได้มากพอที่จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับประเทศและสังคมให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่โรงเรียนพยายามพูดอยู่ตลอดเวลา” น้องแชมป์ทิ้งท้าย“และพวกเราก็พยายามจะเป็นแบบนั้น เรียนอะไรก็ได้ แต่เรียนเสร็จแล้วต้องสร้างคุณค่าให้สังคมและประเทศชาติ”
โรงเรียนกำเนิดวิทย์
อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
โทร. 0-3301-3888
www.kvis.ac.th
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข