Barefoot College โรงเรียนทางเลือก ในอินเดียที่ขับเคลื่อนชุมชนและสร้างคนด้วย ‘ความรู้’

Barefoot College โรงเรียนทางเลือก ในอินเดียที่ขับเคลื่อนชุมชนและสร้างคนด้วย ‘ความรู้’

Barefoot College วิทยาลัยทางเลือกในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ที่สร้างขึ้นเพื่อคนจน เพื่อให้ชาวบ้านนำทักษะยกระดับคุณภาพชีวิต โดยปราศจากการแบ่งแยกทางด้านชนชั้นวรรณะและฐานะ

บังเกอร์ รอย (Bunker Roy) ก่อตั้งวิทยาลัยเท้าเปล่า (Barefoot College) ขึ้นในปี 1972 เพื่อสอนคนชนบทให้มีทักษะที่สามารถนำไปเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้านของพวกเขา โดยเชื่อว่า แม้จะเป็นคนจนที่ไม่ได้รับการศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่พวกเขามีสิทธิ์ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อนำไปพัฒนาชีวิตและทักษะของพวกเขาเอง

ที่วิทยาลัยเท้าเปล่าแห่งนี้ให้คุณค่ากับคนและงานทุกงานเท่ากัน ครูมีสถานะเทียบเท่ากับนักเรียน คนที่ไม่รู้หนังสือก็มีสถานะเท่ากับคนที่รู้หนังสือ และแม้วิทยาลัยเท้าเปล่าจะไม่มีการให้ใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรใด ๆ แต่ความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติที่ได้รับการฝึกอบรมจากที่นี่นั้นมีค่ามากกว่าใบกระดาษเหล่านั้นมาก

วิทยาลัยเท้าเปล่า ยังรับแนวคิดแบบคานธีมาปรับใช้ หัวใจของความเชื่อแบบคานธีเชื่อว่าความรู้ ทักษะและสติปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถพบได้ในชุมชน เราควรนำทักษะและความรู้เหล่านั้นมาเรียนรู้พัฒนา ก่อนที่จะไปเรียนรู้ทักษะจากข้างนอก ด้านวิทยาลัยเท้าเปล่าเองก็นำแนวคิดนี้มาใช้

โดยนำความรู้และทักษะแบบดั้งเดิมของคนในชนบทมาใช้ในการสร้างบ้านเรือนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่คนไร้บ้าน ใช้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝนในโรงเรียนชนบทและชุมชนที่ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และยังใช้กิจกรรมการชักหุ่นกระบอกมาสอดแทรกเนื้อหาด้านเศรษฐกิจเชิงสังคมเข้าไปด้วย

เป้าหมายของ รอย จึงเป็นการสร้างวิทยาลัยที่ราคาถูก กระจายความเจริญจากเมืองใหญ่ และขับเคลื่อนชุมชน โดยยึดหลักนำ “ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในหมู่บ้าน” มาสร้างความเจริญในชนบท

 

“วิทยาลัยเท้าเปล่า” ที่ไม่ได้สอนเพียง “ความรู้ในห้องเรียนแบบเปล่า ๆ”

วิทยาลัยเท้าเปล่าตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 8 เอเคอร์ โดยใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด มีการเปิดคอร์สอบรมโซลาร์เซลล์มาตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งได้ฝึกอบรมวิศวกรโซลาร์เซลล์ไปกว่า 300 คน และได้นำแสงสว่างไปสู่บ้านเรือนมากกว่า 13,000 หลังทั่วประเทศอินเดีย ยังมีบ้านกว่า 6,000 หลัง มากกว่า 120 หมู่บ้าน ใน 24 ประเทศจากอัฟกานิสถานถึงยูกันดาที่ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์นี้

ในอินเดีย ประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ของบ้านในชนบทไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งครัวเรือนเหล่านั้นถือเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในประเทศอินเดีย พวกเขาต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

บักฟัท นานดัน (Bhagwat Nandan) เจ้าหน้าที่ประสานงานของหน่วยงานโซลาร์เซลล์ของวิทยาลัย กล่าวว่า วิศวกรของรอยได้เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ และสามารถประหยัดน้ำมันก๊าด (kerosene) ที่ใช้เพื่อจุดเตาไฟและตะเกียง ไปได้อย่างน้อย 1.5 ล้านลิตรต่อปี

“วรรณะหญิง” ผู้นำความเจริญมาสู่ชนบท

ในขณะที่เส้นแบ่งของวรรณะเริ่มกลายเป็นเพียงเส้นเบลอ ๆ ในเมืองใหญ่ แต่หมู่บ้านในชนบทของอินเดียกลับยังมีวรรณะ “ดาลิต” ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่ “ไม่ควรไปจับต้อง” เป็นกลุ่มคนที่มีความยากจนแร้นแค้นเป็นอย่างมากและถูกทิ้งขว้างจากคนในสังคม ยิ่งไปกว่านั้นหากบุคคลนั้นเป็นผู้หญิงในวรรณะดาลิตด้วยแล้ว คนในสังคมก็ยิ่งมองข้ามพวกเธอ

แต่วิทยาลัยเท้าเปล่า กลับให้ความสำคัญกับ “วรรณะหญิง” โดยเฉพาะผู้หญิงยากจนในชนบทที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้หญิงวัยกลางคน หญิงที่ผ่านการหย่าร้าง หญิงที่ทุพพลภาพทางร่างกาย รวมถึงหญิงที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ล้วนได้รับความสำคัญเป็นพิเศษในการสอนงานมากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น เพราะพวกเธอเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับโอกาสในการจ้างงานและต้องการรายได้เพื่อมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวมากที่สุด

ซานโตส เดวี (Santosh Devi) หญิงวัย 19 ปี จากรัฐราชสถานอันห่างไกล แม้เธอจะรู้หนังสือเพียงน้อยนิด แต่เธอได้ก้าวข้ามอุปสรรคด้านวรรณะที่ติดตัวเธอมาตั้งแต่กำเนิด กลายมาเป็นหญิงดาลิต (Dalit หรือ วรรณะจัณฑาล) คนแรกของอินเดียที่เป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์

ซานโตส ได้รับการสอนให้เป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์ที่วิทยาลัยเท้าเปล่าในหมู่บ้านทิโลเนีย (Tilonia) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองไจเปอร์ (Jaipur) 100 กิโลเมตร ที่นี่ปราศจากการแบ่งแยกด้านเพศ วรรณะ เชื้อชาติ อายุ หรือการศึกษา และได้อบรมผู้หญิงจำนวน 15,000 คนให้มีทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ความรู้ทางการแพทย์ และการสร้างเครื่องวัดคุณภาพน้ำ

ซานโตส อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของชาวดาลิต บาลาจี กี ดานี (Balaji Ki Dhani) หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีบ้านที่ทำขึ้นมาจากโคลน 20 หลัง ซึ่งบ้านของซานโตสเป็นบ้านปูนซีเมนต์เพียงหลังเดียวในนั้น เธอสร้างบ้านด้วยเงินที่เธอได้มาจากการเป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์ และด้วยอาชีพนี้ ทำให้บ้านหลังอื่น ๆ ในหมู่บ้านมีพลังงานโซลาร์เซลล์ใช้ด้วยเช่นกัน

ตามธรรมเนียมในชนบทของอินเดีย ผู้หญิงต้องทำทั้งงานบ้านและงานเกษตรกรรม “ก่อนที่ฉันจะมาเป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์ ฉันต้องทำงานในไร่นาทั้งวัน แล้วก็ต้องรีบกลับมาบ้านเพื่อที่จะทำอาหารเย็นก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน ฉันแทบจะไม่มีเวลาได้พักหายใจเลย” แม้ว่าตอนนี้ซานโตสจะไม่ได้ทำงานในไร่นาแล้ว แต่เธอก็มีงานยุ่งทั้งวันจากการซ่อมโคมโซลาร์เซลล์ให้คนในหมู่บ้าน

โชติ เดวี (Choti Devi) หญิงวรรณะสูงในวัย 60 ปลาย ๆ เป็นเพื่อนบ้านของซานโตสเมื่อไม่นานมานี้ เธอได้เล่าถึงความรู้สึกชื่นชมที่มีต่อโคมโซลาร์เซลล์

“การมีแสงไฟทำให้การนอนในตอนกลางคืนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ในหน้าฝนมักจะมีแมลงมีพิษมาอยู่รอบ ๆ บ้าน แต่ตอนนี้เมื่อเรามีแสงไฟในตอนกลางคืน พวกเราก็ไม่ต้องกังวลกับมันมากนัก โคมโซลาร์เซลล์ยังทำหน้าที่ช่วยให้เราต้อนฝูงวัวฝูงควายกลับเข้าบ้านในช่วงเวลาเย็นได้เป็นอย่างดี” 

ผู้สูงวัยที่ “ไม่ถูกลืม”

นักศึกษาในวิทยาลัยเท้าเปล่าแห่งนี้ส่วนมากเป็นเหล่าหญิงสูงวัยจากหลายประเทศ ทั้งชาวอินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และอีกหลากหลายเชื้อชาติ อย่างในคอร์สอบรมนานาชาติก็พบหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จากชนบทที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นจำนวนมาก

เหตุที่ รอย รับหญิงสูงวัยเหล่านี้มาอบรมเพราะเขาเชื่อว่าคนเฒ่าคนแก่เหล่านี้คือผู้ที่มีศักยภาพสามารถช่วยพัฒนาหมู่บ้านในชนบทได้ “มันก็สมเหตุสมผลที่เราจะเลือกผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงสูงวัย เพราะพวกเธอรักในถิ่นฐานบ้านเกิด และยังไม่ทิ้งหมู่บ้านไปทำงานในเมืองเหมือนที่พวกหนุ่มสาวชอบทำเวลาได้ใบปริญญา”

หญิงเหล่านี้เรียนการทำแผงโซลาร์เซลล์ผ่านการฟังและจดจำ ใช้ชาร์ตโค้ดสีช่วยในการจำรูปแบบ ตำแหน่งและสายไฟต่าง ๆ โดยปราศจากการอ่านหรือเขียน

กูมาน สิงห์ (Guman Singh) ครูในวิทยาลัยเท้าเปล่ากล่าวว่า “แม้ช่วงแรกจะยาก จนทำให้พวกเธอรู้สึกท้อแท้ใจ แต่พอพวกเธอเริ่มปรับตัวได้ และเข้าใจโค้ดสีต่าง ๆ มันก็จะง่ายขึ้น เรายังสอนพวกเธอผ่านรูปภาพ สัญลักษณ์และการลงมือปฏิบัติจริง”

มาทิลดาห์ ชิกวาตา (Matildah Chikwata) หญิงวัย 43 ปี จากหมู่บ้านในประเทศซิมบับเว (Zimbabwe) ที่บ้านเกิดของเธอ เธอขายผักเป็นอาชีพ ได้เงินวันละ 5 ดอลล่าร์

“พวกเราแทบจะใช้จ่ายอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งการนำผักไปขายที่เมืองใกล้ ๆ เราก็ทำไม่ได้ เราเลยต้องอาศัยเพื่อนบ้านเดินมาซื้อผักจากบ้านของเราเอง แม้ผู้คนที่นี่ล้วนยากจนเช่นเดียวกัน แต่พวกเธอใช้สองมือในการต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้น ฉันก็อยากกลับไปที่บ้าน ไปสอนคนอื่นให้ใช้สองมือคู่นี้ทำประโยชน์แบบนี้บ้าง ดังนั้นถ้าคนอายุขนาดฉันยังเรียนได้ ทุกคนก็เรียนได้”

คอร์สอบรมหญิงสูงวัยโซลาร์เซลล์เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลอินเดีย จนออกทุนให้หญิงสูงวัยจากทั่วโลกมาเรียนที่นี่

สืบค้นและเรียบเรียง ภัทราพร ชัยบุตร

ภาพ Barefoot College

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


ช้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : เจาะลึกระบบการศึกษาเยอรมันที่สอนให้เยาวชนเข้าใจ Climate Change ในทุกมิติ

Recommend