ป่วย ขัดสน ยากจน ขาดอาหาร วิกฤตชีวิตอัฟกานิสถานยุคตาลีบัน

ป่วย ขัดสน ยากจน ขาดอาหาร วิกฤตชีวิตอัฟกานิสถานยุคตาลีบัน

แม้ความยากลำบากจะแผ่วงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ชาวอัฟกันมากมายยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ช่วยเหลือและเป็นความหวังให้กับอัฟกานิสถาน

คุณนาวิด อามีนี (Navid Amini) เป็นนักเรียนแพทย์อายุ 24 ปี เขามีความฝันที่จะเรียนรู้ในวิชาการแพทย์และทำงานช่วยเหลือชาวอัฟกันมาโดยตลอด จนเมื่ออัฟกานิสถานถูกตาลีบันยึดครองคนไข้ของคุณอามีนีมีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังมีสภาพหิวโซ ยากจนและย่ำแย่ลงเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ คนไข้รายหนึ่งเป็นแม่ม่ายผู้ขอความอนุเคราะห์ในเรื่องยาและอาหารให้เธอและลูกๆ อีกห้าชีวิตของเธอจากคุณอามีนีและคุณหมอท่านอื่นๆ แม้คุณอามีนีจะอยากให้เงินกับเธอ แต่เขากังวลว่าเขาจะทำอย่างไรหากมีคนไข้ในสภาพนี้รายอื่นๆ อีก คุณอามีนีเกิดความกังวลว่าสิ่งที่เขาทำจะเพียงพอต่อการช่วยเหลือชาวอัฟกันหรือไม่

ในคืนหนึ่ง คุณอามีนีนอนนึกถึงครอบครัวชาวอัฟกันอีกหลายครอบครัวที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก “ผมพยายามนึกถึงช่วงเวลาที่ชาวอัฟกันเคยมีความสุข แต่มันไม่เคยมีอยู่เลย”

คุณลาธีฟากำลังต้มถั่วเลนทิลอยู่ในเต้นท์ที่เป็นทั้งห้องครัวและห้องอาบน้ำของครอบครัวของเธอ ชาวอัฟกันหลายครอบครัวอาศัยอยู่อย่างยากลำบากและไม่มีแม้แต่เงินซื้ออาหารและของจำเป็นอื่นๆ
เด็กน้อยอายุสองเดือนกำลังหลับอยู่ใกล้กองไฟภายในบ้านในเมืองคาบูล กองไฟนี้เป็นแหล่งให้ความอบอุ่นเดียวของบ้าน

กว่าสามส่วนสี่ของงบประมาณรัฐบาลอัฟกันเป็นเงินหนุนจากต่างชาติ แต่เงินส่วนนั้นได้หายไปทันทีเมื่อสหรัฐอเมริกาเรียกถอนกองกำลังทหาร และอัฟกานิสถานถูกยืดครองโดยตาลีบันในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันและความอดอยากแผ่วงกว้างอย่างรวดเร็ว ชีวิตของชาวอัฟกันหม่นหมองและมืดมิดลงทุกวัน แต่ยังคงมีหนุ่มสาวชาวอัฟกันอีกหลายชีวิตคอยเป็นแสงสว่างในความมืดและมุ่งทำงานจิตอาสา คอยช่วยเหลือชาวอัฟกันเท่าที่พวกเขาทำได้

คุณนาวิด อามีนี (Navid Amini) กำลังดูภาพเอ็กซ์เรย์ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารที่โรงพยาบาลเมอร์ไวส์ (Mirwais Hospital) ของจังหวัดกันดะฮาร์ มีเด็กอายุต่ำกว่าห้าขวบอีก 45 รายต้องเข้าโรงพยาบาลในสาเหตุเดียวกัน

วิกฤตขาดแคลนอาหารแผ่วงกว้าง

แผนภูมิแสดงพื้นที่เผชิญวิกฤตขาดความมั่นคงทางอาหาร สีแดงอ่อน- ขั้นวิกฤต สีแดงเข้ม – ขั้นฉุกเฉิน การวัดข้อมูลด้วย “ระบบการแบ่งความมั่นคงทางอาหารบนฐานของภาวะวิกฤติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ” หรือ “Integrated Food Security Phase Classification” (IPC) แสดงให้เห็นว่ากว่าร้อยละ 55 ของประชากรอัฟกันจะเผชิญวิกฤตขาดความมั่นคงทางอาหารหรือเลวร้ายกว่านั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2565 นี้

ในตอนนี้ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) รายงานว่ามีเด็กอัฟกันอายุต่ำกว่า 5 ปีกว่าหนึ่งล้านคนเป็นโรคขาดสารอาหารรุนแรงและเด็กหญิงจำนวนมากเป็นโรคโลหิตจาง ในขณะที่โครงการอาหารโลก (World Food Programme) รายงานว่าตอนนี้ชาวอัฟกันกว่า 9 ล้านชีวิตกำลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรง และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่าชาวอัฟกันกว่า 24 ล้านชีวิตต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เหล่าผู้คนในเมเดน ชาฮ์ (Maiden Shahr) เมืองหลวงของจังหวัดวาร์ดัก (Wardak) เล่าว่าพวกเขาหางานทำไม่ได้ แม้แต่พนักงานของโครงการอาหารโลกบางรายยังมีความขัดสนในการหาเลี้ยงญาติๆ ของพวกเขา

นานาชาติยังคงหาทางช่วยเหลือชาวอัฟกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลตาลีบันได้รับผลประโยชน์ แต่หนุ่มสาวชาวอัฟกันหลายคนรู้ว่าอัฟกานิสถานคงรอการช่วยเหลือจากต่างชาติไม่ไหว พวกเขาจึงลงมือทำงานการกุศลด้วยตัวพวกเขาเอง บางรายทำการแจกจ่ายเสื้อผ้าให้กับครอบครัวยากจน บางคนแอบสอนหนังสือให้เด็กผู้หญิงที่ต้องออกจากโรงเรียน มีผู้ประกอบกิจการเบเกอรี่แจกจ่ายขนมปัง และบางรายเป็นอาสาให้กับองค์กร “เลิร์น อัฟกานิสถาน” (Learn Afghanistan)

คุณเมอร์ดิล ราฮ์มาติ เจ้าของกิจการร้านขนมปังหลายสาขาในเมืองคาบูลกำลังแจกขนมปังฟรีที่หน้าร้านของเขาในย่านไคแอร์ คานา (Khair Khana)

“เลิร์น อัฟกานิสถาน” เป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2561 องค์กรเลิร์นมีเป้าหมายในการพัฒนาระบบและส่งเสริมการเรียนรู้จากที่บ้าน แต่เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา องค์กรเริ่มมีการแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้ด้วยเช่นกัน องค์กรนี้รับทุนสนับสนุนจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและจากเว็บไซต์ระดมทุน GoFundMe ปัจจุบันเลิร์นมีทีมงาน 15 ชีวิตและอาสาสมัครอีกมากมายซึ่งรวมถึงคุณอามีนีและเพื่อนของเขา คุณชาเบีย ซาฮีด (Shabir Zahid)

ผู้รับอาหารจากเลิร์น อัฟกานิสถานหลายรายเป็นแม่ม่าย ผู้หญิงในจังหวัดกันดะฮาร์ไม่ค่อยมีโอกาสทำงานนอกบ้านและแม่ม่ายหลายรายมีความขัดสนในการเลี้ยงดูลูกๆ แม่วัย 30 ปีรายหนึ่งเล่าว่าเธอไม่ให้ลูกสาวออกไปเล่นข้างนอกเพราะถ้าลูกสาวป่วย เธอจะไม่มีเงินรักษาลูกสาวของเธอ

ผู้ทำงานจิตอาสา

คุณอามีนีและคุณซาฮีดทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรเลิร์นด้วยการนำอาหารไปแจกจ่ายตามโรงพยาบาลและตามบ้านเรือน เช้าเดือนกุมภาพันธ์ในเมืองกันดะฮาร์นี้ ทั้งสองคนไปรอรับอาหารจากคุณโมฮัมมัด คาเบีย โฮทาคิ (Mohammad Kabir Hotaki) ซึ่งเขารับทำอาหารจัดห่อเพื่อให้องค์กรนอกภาครัฐนำไปแจกจ่าย

คุณอามีนี (ชายที่ยืนอยู่) และคุณชาเบีย ซาฮีด (ชายที่นั่งหันหลัง) เพื่อนของเขากำลังจัดห่ออาหารใส่ถุงพลาสติกเพื่อไปแจกจ่าย ในห่อมีอาหารเช่นแกงไก่ ขนมปังและผลไม้ คุณโมฮัมมัด คาเบีย (ชายที่นั่งอยู่ตรงกลาง) อายุ 32 ปี เคยเป็นพ่อครัวทำอาหารให้งานพิธีมาก่อน แต่ช่วงที่ผ่านมามีการจ้างทำอาหารจากองค์การนอกภาครัฐที่จะนำอาหารไปบริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันคุณชาเบีย ซาฮีดมีอายุ 21 ปี ก่อนที่คุณซาฮีดจะผันตัวมาเป็นพนักงานจิตอาสา เขาเคยเป็นทหารกองทัพอัฟกันมาก่อน หลังจากที่กองทัพยุบตัวลงและตาลีบันเข้ายึดเมืองกันดะฮาร์ คุณซาฮีดกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านของเขาจนกระทั่งมีเพื่อนชักชวนให้ช่วยทำงานกับเลิร์น “ผมอยากทำความดีให้กับประเทศแต่มันก็มีวิธีอื่นนอกจากการเป็นทหาร” คุณซาฮีดกล่าวในขณะที่เขากำลังจัดห่อออาหารใส่ถุงพลาสติก

หลังจากจัดห่ออาหารเสร็จ คุณอามีนีและซาฮีดนำอาหารไปส่งให้โรงพยาบาลเมอร์ไวส์ ที่โรงพยาบาลมีเด็กหลายรายป่วยด้วยโรคขาดสารอาหาร หลายเตียงมีเด็กน้อยสองถึงสามคนนอนอยู่ด้วยกัน คุณหมอโมฮัมมัด ซาดีก (Mohammad Sadiq) ตรวจสอบรายชื่อคนไข้ที่ต้องการอาหารมากที่สุดก่อนนำอาหารไปแจกจ่าย

อาซีซา เด็กหญิงอายุ 10 ปีกำลังกล่อมลูกพี่ลูกน้องวัย 5 เดือนของเธอที่ต้องมาโรงพยาบาลเพราะโรคขาดสารอาหาร เด็กน้อยรายนี้มีชื่อว่าเอซาทุลล่า “เขาป่วยและร่างกายอ่อนแอมาก” เด็กหญิงกล่าว อาซีซามักไปโรงเรียนตอนเช้าก่อนกลับมาดูแลเอซาทุลล่าอยู่เสมอ แต่วันนี้เธอเลือกที่จะขาดเรียน แม่ของเอซาทุลล่าทำงานเลี้ยงครอบครัวด้วยงานทำความสะอาด

แม้คุณซาดีกจะยินดีกับการบริจาค แต่ความช่วยเหลือแบบชั่วคราวนี้ก็ยังทิ้งความกังวลสำหรับอนาคตให้กับคุณหมอ “ความช่วยเหลืออย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน มันต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาด้วย เอาอาหารมาให้ผม ผมกินได้หนึ่งเดือนแล้วก็หิวอีก ทางที่ดีคือเอาแม่ไก่ให้ผม 10 ตัวแล้วผมจะได้เอาไข่มากินหรือขาย”

คนงานที่โกดังของโครงการอาหารโลกในจังหวัดกันดะฮาร์กำลังขนถุงเสบียงลงจากรถบรรทุก เสบียงเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปในหกจังหวัดทางตะวันตกและทางใต้ของประเทศ

ปัจจุบันคุณซาดีกมีอายุ 50 ปี แม้แพทย์ผู้นี้ยังยืนหยัดทำหน้าที่ของเขา แต่เขาก็ไม่ได้วางแผนจะทำงานนี้ไปตลอด พ่อและพี่ชายของเขาเสียชีวิตในสงคราม ทำให้เขากลายเป็นเสาหลักเดียวของครอบครัว ตอนนี้เขาเริ่มคิดถึงการไปหางานในต่างประเทศ “มันเป็นการตัดสินใจที่ลำบากนะ แต่ถ้าสถานการณ์มันไม่ดีขึ้น ผมคงต้องไปจริงๆ” คุณซาดีกกล่าว

ข่าวสารจากคลินิกนายแพทย์

ในย่านชานเมืองทางตอนใต้ของจังหวัดกันดะฮาร์ มีคลินิกเล็กๆ ของนายแพทย์อีกราย คุณหมอราฟิวอุลลา ฟาซลิ (Rafiullah Fazli) อายุ 28 ปี ผู้บริหารคลินิกชี้ไปที่แผนภูมิบนกำแพงและเล่าว่าปีที่แล้ว คลินิกมีคนไข้ราว 500 รายต่อเดือน แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นถึง 1,500 รายต่อเดือน และกว่าร้อยละ 80 ของคนไข้ต่างเป็นโรคขาดสารอาหารหรือโรคอื่นๆ ที่สาเหตุเกี่ยวข้องกับความยากจน

คามิล่า แม่วัย 18 ปีพาลูกสาวชื่อแจนแนทวัย 6 เดือนมาที่คลินิกในกันดะฮาร์เมื่อเธอรู้สึกว่าลูกสาวของเธอสุขภาพไม่ดี “เทียบกับเด็กคนอื่นๆ วัยเดียวกันแล้ว ร่างกายเธอดูอ่อนแอมาก เธอไม่พยายามที่จะคลานด้วย” คุณคามิล่าเล่า คุณหมอวินิจฉัยว่าเด็กน้อยเป็นโรคขาดสารอาหารรุนแรง แต่เธอยังมีโอกาสฟื้นตัวดีเพราะมารักษาได้ทันท่วงที
คามิล่าและคุณแม่อีกรายกำลังนั่งรอคุณหมอ เด็กที่นี่ทุกคนกำลังเป็นโรคขาดสารอาหาร ครอบครัวของคามิล่าไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อของเช่นแป้งและน้ำมันหรือของจำเป็นอื่นๆ สามีของคามิล่าเคยทำงานขับรถลากรายได้วันละ 200 อัฟกานี ซึ่งในตอนนี้ รายได้ของเขาลดเหลือครึ่งหนึ่งจากเดิม

“สถานการณ์มันแย่ลงทุกวัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างเป็นโรคขาดสารอาหารและยาก็แพงขึ้นเรื่อยๆ” คุณหมอกล่าว เขาเล่าว่าเขาและพนักงานไม่รับเงินเดือนมาสามเดือนแล้ว และพวกเขายังต้องยอมอดมื้อเที่ยงเพื่อรับคนไข้เพิ่มขึ้นด้วย

“เราทุกคนเหนื่อยกันมาก” คุณอาร์โซ โฮแท็ก (Arzo Hotak) แพทย์ผดุงครรภ์อายุ 23 ปีของคลินิกเล่า เธอมีความฝันอยากจะเป็นนักการทูตที่วอชิงตัน ดี.ซี. แต่พ่อแม่ของเธออยากให้เธอทำอาชีพนี้ซึ่งพวกเขาคิดว่าเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับผู้หญิงอย่างเธอ และคุณโฮแท็กก็มีท่าทีจะยอมรับความคิดนั้น “จริงๆ แล้วงานนี้ดูเหมือนจะช่วยเหลือคนได้มากกว่านะ ในสถานการณ์แบบนี้”

แต่เธอก็ยังไม่ละทิ้งความฝันของเธอ ทุกๆ เช้าเธอจะเดินทางไปเข้าเรียนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยก่อนมาเปิดคลินิกตอน 8 โมงครึ่ง ท่ามกลางการต่อต้านของตาลีบัน

คุณนากีบุลลา สมาชิกกลุ่มตาลีบันกำลังยืนถกเถียงกับผู้หญิงที่มาเข้าแถวรอการบริจาคอาหารตั้งแต่เช้าในเมเดน ชาฮ์ โครงการอาหารโลกมีคิวมอบอาหาร 600 ชุดให้ผู้ที่ลงชื่อไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ยังมีผู้คนมากมายที่ไม่ได้ลงชื่อพยายามขอความช่วยเหลือ
ซุลต่าน โมฮัมมัด เซดาคัท นักรบตาลีบันวัย 35 ปีกำลังยกปืนเป็นสัญญาณให้ผู้คนถอยห่างออกจากถุงอาหารของโครงการอาหารโลก เซดาคัทและนักรบตาลีบันรายอื่นอาสาเป็นผู้ดูแลการแจกจ่ายถุงอาหารในเมเดน ชาฮ์ ผู้คนมากมายที่ไม่ได้ลงชื่อรับอาหารไว้ล่วงหน้าพยายามแซงคิวมาที่หน้าถุงอาหาร

เครือข่ายลับให้ความช่วยเหลือ

ตลาดแมนดาวี (Mandawi) เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของคาบูลและเป็นแหล่งสินค้าให้กับหญิงสาวสองรายอายุ 24 ปีและ 19 ปี ที่ตลาดมีข้าวสารอาหารแห้งเช่นถั่วเลนทิลขายแบบเปิดกระสอบ หญิงสาวทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายลับที่คอยให้ความช่วยเหลือชาวอัฟกัน 55 ครอบครัว (เพื่อความปลอดภัยของหญิงสาวทั้งสองคน จึงต้องสงวนชื่อไว้)

ตลาดแมนดาวี (Mandawi) เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของคาบูล และเป็นแหล่งสินค้าของหญิงสาวสองรายในครั้งนี้ในการซื้ออาหารให้ครอบครัวในเครือข่าย ภาพถ่ายโดย KIANA HAYERI สำหรับ NATIONAL GEOGRAPHIC

ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองหลวงคาบูลเคยเป็นชนชั้นกลาง แต่ความยากจนเริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกในเครือข่ายลับส่วนใหญ่เคยเป็นพนักงานของรัฐบาลและต้องสูญเสียรายได้เมื่อตาลีบันขึ้นมามีอำนาจ หลายคนเป็นผู้หญิงที่เคยทำงานเช่นตำรวจและพนักงานอัยการซึ่งกำลังใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ และมีสมาชิกของเครือข่ายคอยซื้อเสบียงไปให้ หญิงสาววัย 19 ปีเคยได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายก่อนที่เธอตัดสินใจออกมาช่วยทำงานด้วยตัวเอง

หัวหน้าของหญิงสาวทั้งสองคนพูดอย่างขำๆ ว่าสองคนนี้เก็บเงินได้ไม่ดีและเอาไปแจกคนอื่นซะหมด หลังจากที่เธอสองคนแวะซื้อเตาและฟืนไฟให้ชายคนขับแท็กซี่อายุ 75 ที่ไม่มีเครื่องทำความร้อนที่บ้าน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นี้ หญิงสาวทั้งสองคิดว่ามันยังเป็นการทำเพื่อตัวพวกเธอเองของอีกด้วย

“ช่วงเวลานี้ทุกคนในประเทศต่างรู้สึกเจ็บปวดและสิ้นหวังกันไปหมด” หญิงวัย 24 ปีผู้เคยเป็นนักศึกษากล่าว

ส่วนหญิงอายุ 19 ปีเล่าว่าการให้เวลาแก่ผู้อื่นทำให้เธอลืมทุกสิ่งที่เธอเสียไป

“ฉันอยากออกไปทำงานตอนกลางคืนด้วย ฉันไม่อยากมีเวลาว่างไปคิดถึงอนาคต”

เด็กชายนาบิ วัย 2 ขวบกำลังจูบคุณแม่ของเขา คุณเมอร์ซอลผู้เป็นแม่วัย 21 ปีกำลังตั้งครรภ์อยู่ สามีของคุณเมอร์ซอลยังคงพยายามหางานเลี้ยงดูครอบครัวหลังจากที่รัฐบาลถูกโค่นโดยตาลีบัน อาหารหลักในการดำรงชีวิตของครอบครัวเธอประกอบไปด้วยข้าว ขมมปังและมันฝรั่ง

 เรื่อง NANNA MUUS STEFFENSEN

ภาพ KIANA HAYERI 

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม หลังตอลิบานหวนคืน ชีวิตของ ชาวอัฟกานิสถาน ที่ถูกแบ่งแยกจะเป็นเช่นไร

Recommend