ชวนดูสารคดี Downfall: The Case Against Boeing เจาะลึกโศกนาฎกรรมเครื่องบินตก เหตุกำไรมาเหนือความปลอดภัย
เครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง (Boeing) เป็นที่จับตามองจากสาธารณชนอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737-800 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบิน ไชนา อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ประสบอุบัติเหตุตก เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 132 คน เสียชีวิต ขณะทำการบินจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 และปี 2019 เครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง รุ่น 737 MAX ได้ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกถึง 2 ครั้งใหญ่ๆ ได้แก่เหตุการณ์เที่ยวบิน JT 610 ของสายการบินไลออนแอร์ เดินทางจากกรุงจาการ์ตา ตกลงทะเลเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 189 ราย และเหตุการณ์เที่ยวบิน เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 302 เมื่อเดือนมีนาคม 2019 เดินทางจากเมืองแอดดิสอาบาบา ตกลงพื้นโลกหลังเทกออฟได้เพียง 6 นาที เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 157 ราย
ทั้งสองเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 346 คน มาจากการโดยสารเครื่องบินพาณิชย์ที่ห่างกันไม่ถึง 6 เดือน และยังเป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกันจากบริษัทโบอิ้ง ทำให้สังคมรู้สึกถึงความอันตรายและความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินรุ่นนี้ ในภายหลังได้ข้อสรุปว่า สาเหตุของโศกนาฎกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้หรือปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ แต่เกิดจากการละเลยความปลอดภัยของบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน อันเนื่องมาจากการมองผลประกอบการหรือ ‘กำไร’ ของธุรกิจมากกว่าชีวิตของผู้คน จนเกิดเหตุสลดดังกล่าว
เรื่องราวของโศกนาฎกรรมในครั้งนั้น รวมถึงการสอบสวนที่เปิดโปงด้านมืดของอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานครั้งใหญ่ของบริษัทชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ได้ถูกถ่ายทอดออกมาในสารคดี Downfall: The Case Against Boeing ทาง Netflix ที่ได้สตรีมในช่วงปี 2022 นี้เอง
(ชมภาพยนตร์ตัวอย่างของสารคดี Downfall: The Case Against Boeing ได้ที่นี่)
เครื่องบินโบอิ้ง ระบบความปลอดภัยที่ถูกตั้งคำถาม
สารคดีเปิดเรื่องให้เราได้รับรู้ถึงชื่อเสียงและความนิยมที่มีมาอย่างยาวนานของเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้งที่ประสบความสำเร็จด้วยจำนวนเครื่องบินกว่า 10,000 ลำ ที่มีการใช้งานในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นตัวแทนความสำเร็จของอุตสาหกรรมการผลิตอากาศยานในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องบิน Boeing 737 Max ซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลาใกล้กัน สารคดีได้เริ่มถ่ายทอดการจำลองนาทีแห่งชีวิตที่เกิดขึ้นภายในห้องนักบินก่อนอุบัติเหตุ และถ่ายทอดความรู้สึกจากผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของตัวเองจากทั้งสองเหตุการณ์ สังคมจึงเริ่มตั้งคำถามถึงความปลอดภัยจากการโดยสารเครื่องบินรุ่นนี้
การหาคำตอบจากกล่องดำบันทึกการบิน และคำชี้แจงจากบริษัทโบอิ้งล้วนชี้สาเหตุไปที่ระบบความปลอดภัยทางการบินอย่าง ระบบเอ็มแคส (MCAS) ที่เป็นระบบที่ผลิตมาเพื่อเครื่องบินรุ่นนี้ ในช่วงนี้ สารคดีได้เล่าถึงสมมติฐานของบริษัทโบอิ้งว่าโศกนาฎกรรมเกิดจากความผิดพลาดของนักบินที่ไม่รู้จักการรับมือกับระบบใหม่นี้
คำอธิบายนี้ทำให้นักบินหลายคนรู้สึกงุนงง เนื่องจากในขณะนั้น บรรดานักบินโดยทั่วไปต่างไม่รู้จักระบบ MCAS นี้มาก่อนเช่นกัน ซึ่งขัดกับหลักการทำงานของนักบินโดยทั่วไปว่าพวกเขาต้องรู้จักเครื่องบินที่ตัวเองทำการบินเป็นอย่างดี และพวกเขาไม่เคยรู้ข้อมูลนี้จากบริษัทโบอิ้งมาก่อน ราวกับว่าทางบริษัทโบอิ้งได้จงใจปกปิดระบบความปลอดภัยนี้ เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
กำไร VS ความปลอดภัย
สารคดีได้ถ่ายทอดถึงความเศร้าโศกของผู้ที่สูญเสียและความพยายามหาสาเหตุที่แท้จริงโดยการทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองของสหรัฐอเมริกา และตัดภาพไปที่การให้สัมภาษณ์ของบรรดาพนักงานระดับสูงของบริษัทที่เคยรับผิดชอบการผลิตเครื่องบินรุ่นต่างๆ ของโบอิ้งซึ่งเคยมีชื่อเสียงในเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินมาอย่างยาวนาน (ในสารคดีเล่าย้อนไปถึงช่วงราวๆ ทศวรรษที่ 1960) ก่อนที่พวกเขาจะเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่เนื่องจากการควบรวมกิจการกับบริษัท McDonnell Douglas ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอากาศยานที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ
บรรดาผู้บริหารชุดใหม่ได้ออกนโยบายที่มุ่งเน้นการทำกำไรให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยการเร่งผลิตและทำยอดขายจากเครื่องบินให้ได้มากที่สุด โดยเริ่มละเลยความสำคัญด้านความปลอดภัย เช่นการลดจำนวนพนักงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในการผลิตเครื่องบิน ลดมาตรฐานการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อให้เครื่องบินผลิตได้มากและเร็วขึ้น
สารคดีได้เล่าเรื่องมาจนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Airbus จากฝั่งยุโรปได้ครองส่วนแบ่งการตลาดเหนือ Boeing ได้สำเร็จ ในช่วงทศวรรษที่ 2000 และมีปัจจัยที่บริษัท Airbus ได้คิดค้นเครื่องบินรุ่นใหม่อย่าง A320neo ที่ตอบโจทย์เรื่องการประหยัดเชื้อเพลิง จนทำให้ Boeing ต้องปรับปรุงเครื่องบินรุ่นใหม่ออกมาทำตลาดแข่ง จนนำไปสู่การผลิตเครื่องบินรุ่น Boeing 737 Max โดยมีระบบ MCAS เป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องบินรุ่นใหม่นี้ แต่โบอิ้งกลับปกปิดข้อมูลเรื่องระบบ MCAS เนื่องจากต้องการลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมนักบินให้รู้จักระบบใหม่นี้เพื่อจูงใจให้บรรดาสายการบินซื้อเครื่องบินรุ่นนี้ออกไปให้มากและเร็วที่สุดเพื่อทำกำไร (และบริษัทโบอิ้งสามารถทำยอดขายและกำไรได้อย่างรวดเร็วจริงๆ) และเริ่มทำการบินในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2018 ก่อนที่เครื่องบินใหม่เอี่ยมนี้จะกลายเป็นเครื่องบินรุ่นมรณะใน 2 อุบัติเหตุทางการบินที่อินโดนีเซียและเอธิโอเปีย
โดยสารคดีได้ขมวดปมที่สำคัญว่า หากบริษัทผู้ผลิตได้ทำการอบรมและให้ข้อมูลเรื่องระบบ MCAS อย่างถูกต้องกับบรรดานักบินที่ทำการบินกับเครื่องบินรุ่นนี้ ก็อาจจะไม่เกิดโศกนาฏรรมครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากมาย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
หวนมองจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ
แม้เราจะไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน MU5735 ที่ตกในจีนได้ในขณะนี้ แต่สารคดีเรื่อง Downfall: The Case Against Boeing อาจทำให้ผู้ชมได้หวนคิดถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากเครื่องบินโบอิ้งซึ่งเกิดจากการมุ่งเน้นการทำกำไรจนละเมิดจริยธรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ผลิตอากาศยานคือ “ความปลอดภัย” และสิ่งที่สารคดีได้ฉายภาพให้ผู้ชมรู้สึกเศร้าคือผลกระทบอันรุนแรงจากการละเมิดจริยธรรมพื้นฐานในครั้งนี้ไม่ได้ตกกับผู้บริหารที่มีส่วนจงใจละเลย แต่กลับเป็นบรรดาผู้เสียชีวิตและผู้ที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากเหตุการณ์ดังกล่าว
แม้ในที่สุดแล้ว ผลการสอบสวนจะคลี่คลายและได้มีการออกกฎหมาย มาตรการความปลอดภัยเพื่อการเดินอากาศในสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม และได้มีการปรับปรุงเครื่องบินรุ่นนี้ให้กลับมาทำการบินได้อีกครั้ง แต่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า การละเลยในเรื่องความปลอดภัย และจริยธรรมทางธุรกิจ จนทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตผู้คนมากมาย จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
และเราหวังว่า สารคดีเรื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
สามารถรับชมสารคดี Downfall: The Case Against Boeing ได้ทาง Netflix
เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ