โฉมหน้าใหม่ครอบครัวไทย

โฉมหน้าใหม่ครอบครัวไทย

เรื่อง กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

เก้าอี้สิบตัวเรียงเป็นแถวหน้ากระดานอยู่ด้านหน้าเวทีที่ประดับประดาด้วยผ้าจับจีบสวยงาม เมื่อพิธีกรขานเลขระดับชั้นเรียน ผู้ปกครองซึ่งล้วนอยู่ในเสื้อสีเหลือง ก็ทยอยกันเดินมานั่งประจำเก้าอี้ ยังไม่ทันไร เด็กน้อยต่างวิ่งออกจากแถวมาหาผู้ปกครองของตน มอบดอกพุทธรักษาประดิษฐ์และการ์ดอวยพรทำเอง ก่อนจะหมอบกราบบุคคลตรงหน้า

วันนี้คือวันพ่อแห่งชาติ

โรงเรียนวัดปริวาส เขตยานนาวา จัดงานวันพ่อตามขนบอย่างเช่นทุกปี  ในอดีต ภาพชินตาคือเหล่าคุณพ่อจะมานั่งเรียงแถวให้ลูกกราบ  แต่บ่ายวันนี้ ผู้ปกครองที่มานั่งมีทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่สาว พี่ชาย ปะปนกันไป

เราอดคิดไม่ได้ว่า  พิธีที่จัดขึ้นตามขนบในวันนี้อาจสะท้อนภาพของครอบครัวไทยที่หลากหลายมากขึ้น  และห่างไกลจากคำว่า “ประเพณี” ออกไปทุกที

คุณแม่หลากหลายทางเพศ

สะพานข้ามแยกเกษตรกำลังถูกทุบเพื่อเปิดทางให้รถไฟฟ้า

สี่โมงเย็นของวันจันทร์อันเร่งรีบ รถติดหนักที่แยกรัชโยธิน  “ไปเจอกันที่ป้ายรถเมล์หน้าเมเจอร์ วันนี้ พี่ทำงานที่นั่น” เสียงตามสายนัดแนะสถานที่นัดพบ

“มุ้ย” ทำงานเป็นสายตรวจพิเศษของขสมก. หญิงร่างสูงโปร่งคนนี้มีหน้าที่ตรวจบริการรถเมล์ทั้งของรัฐและเอกชน มุ้ยคอยถ่ายภาพการจราจรอันคับคั่งเพื่อรายงานไปยังสำนักงาน และคอยดูว่ารถเมล์ทำตามกฎระเบียบหรือไม่ หากมีอุบัติเหตุหรือเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง เธอจะเป็นคนแรกที่เข้าแก้ปัญหา

หากจะบอกว่ามุ้ยเป็นเหมือน “แม่”  ของเหล่าคนขับและกระเป๋ารถเมล์ก็คงไม่ผิดนัก ในชีวิตนอกงาน มุ้ยก็เป็นคุณแม่  แต่ที่พิเศษคือ เธอเป็นคุณแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในอดีต  มุ้ยเคยแต่งงานกับผู้ชายและมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง  การแต่งงานครั้งนั้นจบลง ต่อมาเมื่อเข้าทำงานที่ ขสมก. มุ้ยพบรักกับเพื่อนร่วมงานเพศหญิง ปัจจุบัน  ทั้งสองอยู่กินกันมาหลายปีแล้ว  และต่างทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองของลูกชายวัย 18 ปี

การจะดูแลความเรียบร้อยของรถเมล์นั้น ต้องเป็น “คนจริง” ไม่อ่อนข้อให้กับความคดงอใดๆ ตัวตนของมุ้ย    ก็เช่นกัน เธอไม่เคยปิดบังเรื่องครอบครัว  หญิงสาวผมรวบตึง ตาโต เปิดเผยเรื่องนี้โดยไม่มีความลังเลในสายตา  เธอเปรียบตัวเองเป็นหัวลูกศรที่แหวกอากาศถางทางให้คนที่ตามมา แม้ตัวเองจะเจ็บกว่า เธอว่าไม่เป็นไร  มุ้ยยังใช้ความชัดเจนเรื่องนี้ในการทำงานด้วย เธอเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขสมก. ซึ่งในอดีตมีส่วนผลักดันให้กระเป๋ารถเมล์สามารถเลือกใส่กางเกงได้เพื่อความสะดวกในการทำงาน (สมัยก่อนบังคับให้ใส่กระโปรงเท่านั้น) และเธอยังตั้งใจผลักดันประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานต่อไป

ครอบครัวดิษยบุตรพาลูกๆ ไปฝึกซ้อมปีนหน้าผาจำลองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบโฮมสคูล (Homeschooling) โดยการศึกษารูปแบบนี้เด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรและอนาคตของตนเอง โดยผู้ปกครองมีบทบาทเพียงแค่ประคับประคองและสนับสนุน แต่ไม่ใช่การสอน

ครอบครัวโฮมสคูล

ช่วงสายวันเสาร์ แม้ห้างจะเพิ่งเปิด  แต่รถเก๋งขนาดครอบครัวต่างพากันจับจองที่ทางในลานจอดรถของห้างชานเมืองจนเกือบเต็ม

ครอบครัวดิษยบุตรซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกสาวสามคนก็มาที่ห้างนี้เช่นกัน ลูกสาวฝาแฝดวัย 12 ปี มาเข้าชั้นเรียนเต้นแจ๊ส ส่วนพ่อแม่และพี่สาวคนโตวัย  15 ปี มาส่งและรอรับ

ถ้าว่ากันเรื่องโครงสร้าง ครอบครัวนี้เป็นแบบ “ประเพณี”  นั่นคือ ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ตามขนบแต่ในปัจจุบัน ความหลากหลายของครอบครัว ไม่ได้มีแต่เฉพาะเรื่องโครงสร้าง หากยังเลยไปถึงเรื่องแนวความคิดในการใช้ชีวิตด้วย

ครอบครัวดิษยบุตรเลือกการศึกษาแบบ “โฮมสคูล”

การเรียนเต้นแจ๊สคือหนึ่งในกิจกรรมการเรียนของฝาแฝดในวันนี้

ก่อนมาที่นี่ ฉันเข้าใจว่า โฮมสคูลคือโรงเรียนที่มีพ่อแม่สอนเอง แต่ความเข้าใจนี้ผิด “เราเป็นคนจัดการเรียนรู้  วางตัวเองเป็นครูใหญ่ แล้วก็คุยกับลูก นั่งทำแผนการศึกษาว่า ในแต่ละกลุ่มประสบการณ์ เราจะเรียนอะไรบ้าง”  ธนิดา ผู้เป็นแม่ กล่าว

การเรียนแบบโฮมสคูลมีทั้งการที่ลูกๆ ศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน และการทำกิจกรรมนอกบ้าน หลักใหญ่ใจความคือ การเรียนนั้นต้องขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง  ลูกสาวทั้งสามคนของบ้านนี้ลงทะเบียนไว้กับโรงเรียนรุ่งอรุณ  ซึ่งแปลว่า เมื่อจบการศึกษา น้องจะได้รับวุฒิอย่างเป็นทางการจากที่นี่ และโรงเรียนยังทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบหลักสูตรการเรียนที่ทางบ้านออกแบบมาอีกด้วย

การตัดสินใจทำโฮมสคูลนั้นเกิดจากความรู้สึกที่ว่า  เมื่อไปโรงเรียน ลูกๆเริ่มพึ่งพาคนอื่นในการเรียน และเริ่มเรียนเพื่อคนอื่น (เช่น ต้องสอบผ่านเพื่อพ่อแม่)  แต่ครอบครัวรู้สึกว่า ทุกคนจะต้องอยู่และทำเพื่อตนเองก่อน

การศึกษาทางเลือกนี้ ถึงแม้จะอิสระ แต่ต้องใช้แรงใจ และความเชื่อมั่นอย่างมาก

“ถ้าเรียนในระบบ เราจะรู้เลยว่า หนึ่งสองสามสี่ห้า จบปริญญา”  นรรัตน์ ผู้เป็นพ่อกล่าว ส่วนธนิดาเสริมว่า “เหมือนกับว่าเราเห็นยอดเขา ทางนี้ (การเรียนในระบบ) ทุกคนไปเป็นหมู่คณะ เดินทางเรียบ ถนนสบาย แต่เราบอกว่าไม่เอา เราจะไปทางนั้น เราเห็นเป้าหมายอยู่ แต่ลูกต้องถางพงไปด้วยนะ อย่าลากแม่มากนัก ทุกคนต้องช่วยกันทาง ไม่ใช่ให้พ่อแม่ทางทางอย่างเดียว มันไม่ได้”

“มนุษย์ที่เริ่มต้นเดินตามทาง แล้วคิดว่า มีแต่ทางนี้ เราว่าน้อยเกินไป มนุษย์มีศักยภาพมากกว่านั้น แต่เราถูก ครอบงำจากความกลัวสารพัดจนกลายเป็นข้อจำกัด กลัวไม่เหมือนคนอื่น กลัวไม่มั่นคง เราอยากให้ลูกเป็นอิสระ” ธนิดาทิ้งท้าย

Recommend