เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

การผสมผสานอันซับซ้อนระหว่างพิธีกรรมอันเก่าแก่และทันสมัยในรอบ 70 ปี

กระแสการอำลาทั่วมุมโลกจนถึงการไว้อาลัยในที่สาธารณะทุกรูปแบบเกิดขึ้นอย่างล้นหลามหลังเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2022 ที่ผ่านมา นี่คือปรากฏการณ์แรกของสหราชอาณาจักรซึ่งไม่เคยมีให้เห็นมาก่อนนับตั้งแต่การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่หก พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปี 1952

โดยหลักการแล้ว การการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ทำให้เกิดช่วงเวลา ‘การผลัดแผ่นดิน’ (Demise of the Crown) หรือจุดสิ้นสุดของอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรที่การเสด็จสวรรคตไปซึ่งถ่ายทอดไปสู่รัชทายาท

กระบวนการที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธี กำหนดการไว้ทุกข์ และอื่นๆ ล้วนผ่านการพิจารณา ทบทวน และซักซ้อมอย่างละเอียดถี่ถ้วนนับศตวรรษ เอ็ดเวิร์ด ยัง ราชเลขานุการส่วนตัวของพระองค์แจ้งข่าวการการเสด็จสวรรคตกับลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรด้วยรหัสลับ “สะพานลอนดอนล่มแล้ว (London Bridge is down)”

ธงสหราชอาณาจักรถูกอัญเชิญครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยให้กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผืนธงโบกสะบัดอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มารวมตัวกัน ณ พระราชวังบัคกิงแฮมหลังเหตุการณ์การเสด็จสวรรคตของพระองค์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 พระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถจะถูกอัญเชิญไว้ที่โบสถ์อนุสรณ์พระเจ้าจอร์จที่ 6 ภายในปราสาทวินด์เซอร์หลังสิ้นสุดการครองราชย์นับ 70 ปี ภาพถ่ายโดยซามีร์ ฮุสเซ็น/ เกตตี้

สิ่งที่อยู่ภายใต้ชื่อของกษัตริย์

หลังจากข่าวการเสด็จสวรรคตกระจายสู่สาธารณะชน รัฐสภาจะเปิดประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระราชโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้รับตำแหน่งผู้ขึ้นเป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม ทันทีหลังพระมารดาเสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ทรงเลือกพระนามชาร์ลด้วยตนเองแม้ชื่อนี้จะมาพร้อมกับชื่อเสียงที่ไม่น่ายินดีนัก ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าชาลส์ที่หนึ่งผู้เผด็จการและยั่วยุให้เกิดสงครามกลางเมืองจนกระทั่งถูกประหารชีวิต, พระเจ้าชาร์ลที่สอง ผู้รู้จักกันในนามว่า “กษัตริย์สำราญ (Merry Monarch)” ที่เต็มไปด้วยเรื่องฉาวของพฤติกรรมชู้สาว ในตอนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชย์ในปี 1953 พระองค์ถูกถามว่าจะใช้ชื่ออะไรสำหรับรัชสมัยแห่งการปกครอง พระองค์ทรงตอบว่า “เราจะใช้ชื่อของเราเอง มิเช่นนั้นจะเป็นอะไรไปได้อีกเล่า”

สมเด็จพระราชินีคามิลล่า, พระเจ้าชาร์ลส์ที่สาม, เจ้าชายจอร์จแห่งคอร์นวอลล์และเคมบริดจ์, เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์, เจ้าหญิงแคทเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ และองค์พระราชินีผู้ล่วงลับทรงยืนอยู่บนระเบียงของพระราชวังบักกิงแฮมระหว่างงานพิธีเดินสวนสนามในเดือนมิถุนายน 2015 ภาพถ่ายโดย แม็กซ์ มัมบี้ อินดิโก้/เก็ตตี้

ที่จริงแล้ว พระมเหสีของพระราชาจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีหากอ้างอิงจากประเพณีดั้งเดิมของราชวงศ์อังกฤษที่มอบยศถาบรรดาศักดิ์อันอัดเทียมกับพระสวามี ทว่า คามิลลา พระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าชายชาร์ลที่สาม ได้ระบุว่าเธอจะใช้คำนำหน้าพระนามเป็นเจ้าฟ้าหญิงแทนเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าหญิงไดอาน่าผู้เป็นอัครมเหสีองค์แรกก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1997

ทว่าในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ก่อนวันฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จพระราชีนีนาถผู้ล่วงลับทรงประกาศ “ความปรารถนาอย่างจริงใจ” ว่าให้คามิลลารับตำแหน่งสมเด็จพระราชินีเมื่อเวลามาถึงเพื่อเป็นการยอมรับต่อ “ความจงรักภักดี” ของเธอ

รัฐธรรมนูญอังกฤษมิได้มอบสิทธิในการสืบราชสันตติวงศ์แก่คู่สมรสของพระมหากษัตริย์แม้ว่าพวกเธอจะได้รับตำแหน่งนำหน้าชื่อหลังจากได้รับการสถาปนาขึ้นครองบัลลังก์ก็ตาม เจ้าชายฟิลิป พระสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองตลอดเวลา 73 ปี นั้นนับว่าเป็นผู้ครองตำแหน่งคู่สมรสที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ อย่างไรก็ตาม การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิปในวันที่ 9 เมษายน 2021 ด้วยพระชนมพรรษา 99 ปี มิได้มีผลต่อการสืบราชสันติวงศ์ของกษัตริย์เนื่องจากพระองค์มิได้รับสิทธิ์ในการสืบบัลลังก์ ปัจจุบัน ผู้มีสิทธิ์สืบราชสันติวงศ์ลำดับที่หนึ่งได้แก่เจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่สามผู้สืบทอดตำแหน่งพระมหากษัตริย์องค์ใหม่

พิธีกรรมคงเดิม เพิ่มเติมคือกษัตริย์องค์ใหม่

ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่พระราชินีสวรรคต จะมีการเรียกรวม “สภาการขึ้นครองราชย์” (Accession Council) อันได้แก่เหล่าที่ปรึกษาส่วนพระองค์ทั้งหลายและเหล่านักการเมือง ข้าราชการคนสำคัญคนอื่น ๆ โดยสภาจะลงมติยืนยันชื่อผู้สืบทอดบัลลังก์อย่างเป็นทางการ

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์คุกเข่าต่อหน้าสมเด็จพระราชินีนาถระหว่างรับตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ในปี 1969 ณ เมืองกวินเนด ประเทศเวลส์ ห้าสิบสามปีต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ภาพถ่ายโดย อดัม วูลฟิต คอลเลกชันภาพเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

ต่อมาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเข้าพบกับคณะองคมนตรีใหม่ และตรัสคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะ “ธำรงรักษา” ไว้ซึ่งศาสนจักรแห่งสก็อตแลนด์ที่ไม่ได้นำโดยกษัตริย์อังกฤษ แตกต่างจากศาสนจักรแห่งอังกฤษ (กษัตริย์ทรงปกครองศาสนจักรอังกฤษ แต่ทางศาสนจักรสก็อตแลนด์นั้นยอมรับพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุดแต่เพียงเท่านั้น แม้ชื่อของศาสนจักรจะเกี่ยวกับประเทศแต่แท้จริงแล้วมิได้ขึ้นตรงกับรัฐใด) จากนั้นจะมีการประกาศการขึ้นครองราชย์ในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร บางครั้งก็จะประกาศไปพร้อมกับการยิงสลุตด้วย

การตอบสนองของสื่อที่ตระเตรียมมาอย่างดี

ในขณะเดียวกัน สื่อทั้งหลายของสหราชอาณาจักรต่างอยู่ระหว่างการรายงานข่าวของควีนเอลิซาเบธกันอย่างไม่หยุดหย่อน ตามที่วางแผนกันไว้มานานกว่าทศวรรษ สถานีวิทยุของอังกฤษเองก็มี “วิธีดำเนินการสำหรับข่าวมรณกรรม” อย่างระมัดระวัง ได้แก่การกำหนดประเภทเพลงที่สามารถเล่นได้ในช่วงเวลาโศกนาฏกรรมแห่งชาติในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าแม้แต่กองบรรณาธิการของบีบีซีเองก็ยังกลัวคำร้องเรียนที่เลี่ยงไม่ได้ว่าการรายงานข่าวของพวกเขาไม่เหมาะสมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ประชาชนแห่งกรุงลอนดอนเข้าร่วมพระราชพิธีอัญเชิญหีบพระบรมศพของกษัตริย์จอร์จที่ 6 ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปี 1936 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1952 พระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นพิธีฝังพระบรมศพของราชวงศ์อังกฤษครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี ภาพถ่ายจากฮูลตันดัชคอลเลคชัน/ เกตตี้

ในปี 2002 ปีเตอร์ ซิสสันส์ หัวหน้าผู้ประกาศข่าวของบีบีซีถูกโจมตีโดยสื่อหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์อย่างหนัก เนื่องจากเขาสวมเนคไทสีแดงเข้มขณะรายงานข่าวเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถ ภายหลังเขาได้เปิดเผยว่าเขาและคนอื่น ๆ จำเป็นต้องซ้อมเตรียมไว้สำหรับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ รวมถึงของพระราชวงศ์พระองค์อื่นผู้สำคัญยิ่งกว่านั้นทุก ๆ หกเดือน

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไปคือพระราชพิธีพระบรมศพที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ และพิธีฝังที่วิหารสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ณ ปราสาทวินด์เซอร์ แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะมีพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ แต่อย่าคาดหวังว่าจะมีพิธีพระบรมราชาภิเษกเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากพิธีที่มีมายาวนากว่าพันปีนี้จัดว่าเป็นพิธีฤกษ์งามยามดี จะไม่มีการนำมาจัดร่วมกับการไว้ทุกข์ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าพิธีนี้จะจัดขึ้นในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่ไม่เกินหนึ่งปี หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถสวรรคต

เรื่อง เอริน เบลคมอร์

แปล กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ, พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม พระราชประวัติวัยเยาว์ของ ควีนเอลิซาเบธ ที่สอง: พระราชินีผู้ไม่คาดคิดครองราชย์

Recommend